ข้ามไปเนื้อหา

คริกเกต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รุ่นสำหรับพิมพ์ไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไปและอาจมีข้อผิดพลาด โปรดอัปเดตบุ๊กมาร์กและใช้ตัวเลือกสำหรับพิมพ์ที่มีมาให้ในเบราว์เซอร์แทน
คริกเกต
สมาพันธ์สูงสุดสภาคริกเกตนานาชาติ
เล่นครั้งแรกภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 16
ลักษณะเฉพาะ
การปะทะไม่มี
ผู้เล่นในทีมฝั่งละ 11 คน (สามารถใช้ตัวสำรองในบางสถานการณ์)
แข่งรวมชายหญิงไม่มี
หมวดหมู่กีฬาประเภททีม, กีฬาไม้ตีและลูกบอล
อุปกรณ์ลูกคริกเกต, ลูกคริกเกต, วิคเกต (สตัมป์, เบล), เครื่องป้องกัน
สถานที่สนามคริกเกต
อภิธานอภิทานศัพท์คริกเกต
จัดแข่งขัน
ประเทศ ภูมิภาคทั่วโลก (เป็นที่นิยมในเครือจักรภพ ดินแดนโพ้ทะเลของบริเทน โยเฉพาะในเอเชียใต้)
โอลิมปิก(เฉพาะในโอลิมปิกฤดูร้อน 1900)

คริกเกต เป็นกีฬาไม้ตีและลูกบอล ที่เล่นระหว่างสองทีมของผู้เล่นสิบเอ็ดคนในสนามที่ศูนย์กลางมีพิทช์ความยาว 22 หลา (20 เมตร) กับวิคเกตที่ปลายแต่ละด้านของพิทช์ แต่ละวิคเกตประกอบด้วยลูกเกลียวไม้เรียกว่าเบลสองลูก วางอยู่บนแท่งไม้สามแท่งที่เรียกว่าสตัมป์ การแข่งขันคริกเกตเกิดขึ้นเมื่อผู้โยนโยนลูกคริกเกตจากด้านหนึ่งของพิทช์ไปหาผู้ตีที่อยู่อีกด้านของพิทช์ โดยผู้ตีนั้นจะสามารถทำรันได้ด้วยการตีลูกและวิ่งไปยังอีกด้านของพิทช์ โดยการวิ่งข้ามฝั่งหนึ่งครั้งจะเท่ากับหนึ่งรัน หากผู้ตีสามารถตีลูกไปจนถึงเส้นขอบสนามได้ ทีมของผู้ตีจะได้สี่รัน และหากหากผู้ตีสามารถตีลูกไปข้ามออกเส้นขอบสนามได้ ทีมของผู้ตีจะได้หกรัน

ในขณะที่ทีมของผู้โยนจะต้องทำให้ผู้ตีถูกกำจัดออกจากการแข่งขัน (นิยมเรียกว่าการทำให้ผู้ตีเอาต์) โดยการทำให้ผู้ตีเอาต์นั้นอาจเป็นการโยนลูกเพื่อทำลายวิคเก็ตให้เบลตกลงมาจากสตัมป์ (เรียกว่าโบลด์) การรับลูกคริกเกตก่อนลูกตกถึงพื้น (เรียกว่าคอท) การทำลายวิคเก็ตก่อนที่ผู้เล่นฝั่งผู้ตีจะวิ่งไปถึงอีกฝั่งของพิตช์ (เรียกว่ารันเอาต์) การที่ผู้รักษาวิคเก็ตรับลูกวิคเกตที่ผู้ตีตีไม่โดน แล้วทำลายวิคเก็ตก่อนที่ผู้เล่นผู้ตีจะกลับไปอยู่ในแดนของผู้ตีได้ทัน (เรียกว่าสตัมป์) หรือการทำโยนลูกให้โดนผู้ตีโดยที่ไม่โดนไม้คริกเกต โดยวิถีของลูกจะไปชนวิกเก็ต (เรียกว่าเลกบีฟอร์วิคเกต)

หากผู้โยนโยนบอลครบหกครั้ง จะถือว่าผู้โยนโยนครบโอเวอร์และต้องสลับให้ผู้อื่นเป็นผู้โยนแทน เมื่อผู้เล่นเอาต์ถึงสิบจากสิบเอ็ดคน หรือทีมของผู้โยนโยนลูกจนครบโอเวอร์ที่จำกัดไว้ จะถือว่าอินนิงส์จะสิ้นสุดลงหนึ่งอินนิงส์ และทีมจะสลับบทบาทกัน คริกเกตถูกตัดสินโดยผู้ตัดสินสองคน โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้ตัดสินที่สามและผู้ตัดสินแมทช์ในการแข่งขันระดับนานาชาติ

คริกเกตเป็นกีฬาที่มีหลายรูปแบบ โดยรูปแบบของคริกเกตที่เป็นนิยมนั้นมีตั้งแต่ทเวนตี 20 [Twenty20; นิยมเรียกว่าที20 (T20)] ซึ่งแต่ละทีมจะมีโอกาสตีฝั่งละ 20 โอเวอร์ และเกมโดยทั่วไปจะกินเวลาสามชั่วโมง คริกเกตทีมชาติหนึ่งวัน [One Day International; นิยมเรียกว่าโอดีไอ (ODI)] ที่แต่ละทีมจะดีฝั่งละ 50 โอเวอร์ และเกมโดยทั่วไปจะกินเวลาหกชั่วโมง และคริกเกตเทสต์ (Test Cricket) ซึ่งแต่ละทีมจะตีฝั่งละสองอินนิงส์ และแต่ละนนิงส์จะยาวกี่อินนิงส์ก็ได้ โดยคริกเกตเทสต์จะมีเวลาเล่นนานถึงห้าวัน ตามธรรมเนียมแล้วนักคริกเกตเฟิสต์คลาส (ซึ่งรวมถึงนักคริกเกตเทสต์) จะเล่นในชุดสีขาวล้วน แต่ในคริกเกตแบบจำกัดโอเวอร์ (ซึ่งรวมที20 และโอดีไอ) นักกีฬาจะสวมชุดสีตามสโมสรหรือสีประจำทีม นอกเหนือจากชุดอุปกรณ์พื้นฐานแล้ว ผู้เล่นบางคนสวมอุปกรณ์ ป้องกันเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากลูกคริกเกต ซึ่งเป็นทรงกลมแข็งที่ทำจากหนังอัด โดยมีตะเข็บเย็บที่ยกขึ้นเล็กน้อยล้อมรอบแกนไม้ก๊อกที่มีชั้นเชือกรัดแน่นหลายชั้น

วิธีการชนะในคริกเกตนั้นมีสองรูปแบบ โดยทีมที่ตีก่อนจะต้องป้องกันไม่ให้ทีมคู่แข่งทำรันให้ทันทีมของตน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ทีมตรงข้ามเอาต์ทั้งทีม หรือการจำกัดไม่ให้ทีมตรงข้ามทำรันไม่ทันเท่ากับที่ทีมตนทำได้ในจำนวนโอเวอร์ที่จำกัดไว้ ในขณะที่ทีมที่ตีทีหลังจะชนะได้หากสามารถทำรันได้ทันก่อนที่จะถูกทำให้เอาต์ทั้งทีม หรือก่อนหมดจำนวนลูกที่จะตีได้[1]

มีการอ้างอิงว่าคริกเกตมีการเล่นครั้งแรกที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 และได้แพร่กระจายไปทั่วโลกพร้อมกับการขยายตัวของจักรวรรดิอังกฤษ โดยมีการแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 หน่วยงานกำกับดูแลของเกมคือสภาคริกเกตนานาชาติ หรือไอซีซี (International Cricket Council; ICC) ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 100 สมาคม โดยสิบสองสมาคมนั้นมีสถานะเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ ที่จะสามารถแข่งคริกเกตเทสต์ได้ กฎการแข่งขันของคริกเกต (Laws of Cricket) ได้รับการดูแลโดยสโมสรคริกเกตแมรีลโบน (Marylebone Cricket Club; MCC) ใน ลอนดอน คริกเกตเป็นที่นิยมใน เอเชียใต้ ออสตราเลเซีย สหราชอาณาจักร แอฟริกาตอนใต้ และ หมู่เกาะเวสต์อินดีส[2] มีการแข่งขันคริกเกตหญิงมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ทีมชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการเล่นโอดีไอคือ ทีมชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ชนะในการแข่งขันโอดีไอของไอซีซีเจ็ดรายการ รวมถึงคริกเกตโลกถึงห้าสมัย โดยทีมชาติออสเตรเลียยังเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในคริกเกตเทสต์อีกด้วย ทีมที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาตินั้นประกอบไปด้วย ทีมชาติอินเดีย ทีมชาติอังกฤษ ทีมชาติศรีลังกา ทีมชาติปากีสถาน ทีมสหชาติเวสต์อินดีส ทีมชาตินิวซีแลนด์ และทีมชาติแอฟริกาใต้

ประวัติ

ต้นกำเนิด

ภาพจากหนังสือ แคนติเคิลส์ออฟโฮลีแมรี จากศตวรรษที่ 13 แสดงถึงการแข่งขันเกมคลับบอล ที่ผู้โยนต้องโยนลูกจากด้านล่าง และแสดงถึงผู้เล่นฝั่งโยนที่ยืนสนาม

คริกเกตเป็นหนึ่งในหลาย ๆ เกมใน "คลับบอล (club ball)" ที่เกี่ยวข้องกับการตีลูกเช่นเดียวกับเบสบอล (ซึ่งมี ความคล้ายคลึงกันมากกับคริกเกต[3] ) กอล์ฟ ฮ็อกกี้ เทนนิส สควอช แบดมินตันและเทเบิลเทนนิส[4] โดยความแตกต่างระหว่างคริกเกตและเกมไม้ตีกับลูกอื่น ๆ นั้นคือการติดตั้งวิคเกตอยู่ด้านปลายทั้งสองของพิทช์ที่ผู้ตีต้องป้องกัน[5] นักประวัติศาสตร์คริกเกตแฮร์รี อัลแธมได้ระบุไว้ถึง "คลับบอล" สามกลุ่ม: "กลุ่มฮ็อกกี้" ซึ่งลูกบอลถูกส่งไปมาระหว่างสองเป้าหมาย (ประตู); "กลุ่มกอล์ฟ" ซึ่งลูกบอลถูกส่งไปยังเป้าหมายที่ไม่มีการป้องกัน (หลุม) และ "กลุ่มคริกเกต" ซึ่ง "ลูกบอลมุ่งเป้าไปที่เครื่องหมาย (วิคเกต) และถูกส่งออกไป"[6]

เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าคริกเกตมีต้นกำเนิดมาจากการละเล่นเด็ก ในมณฑลทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษในช่วงยุคกลาง[5] แม้ว่าจะมีการอ้างถึงการเล่นคริกเกตมาในช่วงก่อนหน้านี้ หลักฐานถึงการเล่นคริกเกตชัดเจนที่สุดมาจากคดีในศาลในกิลด์ฟอร์ด ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1597 (แบบเก่า) ซึ่งเทียบเท่าเท่ากับมกราคม ค.ศ. 1598 ในปฏิทินสมัยใหม่ โดยคดีนั้นเกี่ยวข้องกับการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่ง โดยศาลได้ยินคำให้การของเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ อายุ 59 ปี ชื่อว่า จอห์น เดอร์ริกผู้ให้การเป็นพยานว่า:[7][8][9]

ในสมัยที่ยังเป็นผู้ศึกษาในโรงเรียนเอกชนกิลด์ฟอร์ด เขาและเพื่อนของเขาหลายคน ได้มีการวิ่งเล่นที่(สนาม)คริกเกตและสถานที่อื่น ๆ

เมื่อพิจารณาจากอายุของเดอร์ริกแล้ว เขาได้ศึกษาที่โรงเรียนเมื่อราว ๆ ครึ่งศตวรรษก่อน จึงเป็นที่แน่นอนว่ามีการเล่นคริกเกตในช่วงประมาณปี 1550 โดยกลุ่มเด็กชายในเซอร์รีย์[9] สมมติฐานที่มองว่าคริกเกตน้นเดิมเป็นเกมสำหรับเด็กมาจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ฝรั่งเศส 1611 ของแรนเดิล คอตเกรฟว่า "ไม้คฑา (crosse)" คือ "ไม้ที่เด็กผู้ชายใช้เล่นคริกเกต" และคำกริยา " crosser " หมายถึง " ไปเล่นคริกเกต"[10][11]

อีกแหล่งที่มาที่เป็นไปได้สำหรับชื่อกีฬานี้คือคำภาษาอังกฤษโบราณ "คริซ (cryce)" หรือ "คริก (cric) " ซึ่งหมายถึงไม้ค้ำยันหรือไม้เท้า ในพจนานุกรม ของซามูเอล จอห์นสัน เขาเขียนว่า "คริกเกต" มาจาก "คริซ (cryce), แซ็กซัน, แท่งไม้"[7] ใน ภาษาฝรั่งเศสโบราณ คำว่า " คริเกต์ (criquet) " ดูเหมือนจะหมายถึงไม้กระบองหรือไม้เท้า[12] และหากพิจารณาจากความสัมพันธ์ทางการค้าในยุคกลางที่แน่นแฟ้นระหว่างมณฑลทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษและเคาน์ตีแห่งแฟลนเดอร์ส โดยรายหลังนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของของดัชชีแห่งเบอร์กันดี ชื่อนี้อาจได้มาจากภาษาดัตช์ตอนกลาง (ที่ใช้อยู่ใน แฟลนเดอร์ส ในขณะนั้น) คำว่า "คริก (krick)" ( - e ) หมายถึงไม้เท้า (ไม้หักมุม)[12] อีกแหล่งที่มาที่เป็นไปได้คือคำภาษาดัตช์กลาง "คริกสโตล (krickstoel)" ซึ่งหมายถึงเก้าอี้เตี้ยตัวยาวที่ใช้สำหรับคุกเข่าในโบสถ์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับวิคเกต เตี้ยยาวที่มีสตัมป์สองตัววางขนานกันที่ใช้ในคริกเกตตอนต้น[13] ไฮเนอร์ กิลไมส์เตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษายุโรปของมหาวิทยาลัยบอนน์ กล่าวว่า "คริกเกต" มาจากวลีภาษาดัตช์กลางที่ใช้สำหรับฮอกกี้, met de (krik ket)sen (เช่น "ใช้ร่วมกับแท่งไม้")[14] กิลไมส์เตอร์ได้สันนิจฐานว่าคริกเกตอาจเป็นกีฬาที่มีรากฐานมาจากเฟลมิช ไม่เพียงแค่ชื่อของกีฬาเพียงอย่างเดียว[14]

การเติบโตของคริกเกตสมัครเล่นและคริกเกตอาชีพในอังกฤษ

วิวัฒนาการของไม้ตีคริกเกต: "ไม้ฮอกกี้" ดั้งเดิม (ซ้าย) ได้พัฒนาไปเป็นไม้รูปตรงจากประมาณปี 1760 เมื่อได้มีผู้ริเริ่มการโยนลูกคริกเกตไส่พิทช์ แทนท่จะเป็นการกลิ้งลูกแบบเดิม

แม้ว่าเป้าหมายหลักของเกมนี้คือการทำคะแนนการทำรันให้ได้มากที่สุด แต่รูปแบบแรกของคริกเกตนั้นแตกต่างจากเกมสมัยใหม่ในแง่มุมทางเทคนิคที่สำคัญบางประการ โดยคริกเกตที่เล่นในอเมริกาเหนือที่รู้จักกันในชื่อวิคเกตยังคงรักษาลักษณะเหล่านี้ไว้หลายประการ[15] โดยลูกคริกเกตจะถูกผู้โยนโยนลงโดยมีวิถีใต้วงแขน ตามพิทช์ไปสู่ผู้ตีที่ถือไม้ตีที่มีรูปร่างคล้ายไม้ฮอกกี้ โดยผู้ตีจะต้องปกป้องวิกเกตที่ประกอบด้วยสตัมป์ขนาดเล็กสองแท่ง โดยรันที่ผู้ตีทำได้จะถูกเรียกว่านอตช์ (notches) เพราะผู้บันทึกรันจะบันทึกรันไว้โดยการเขียนขีดเล็ก ๆ[16][17][18]

ในปี ค.ศ. 1611 ซึ่งเป็นปีที่พจนานุกรมของคอตเกรฟได้รับการตีพิมพ์ บันทึกของศาลสงฆ์ ที่ซิดเลแชมในมณฑลซัสเซ็กซ์ได้ระบุว่านักบวชสองคนคชื่อบาร์โธโลมิว ไวแอตต์และริชาร์ด แลทเทอร์ ได้ขาดจากการไปโบสถ์ในวันอีสเตอร์เพราะพวกเขากำลังเล่นคริกเกต พวกเขาถูกปรับ 12 เพนนีและถูกสั่งให้ ทำการปลงอาบัติ[19] บันทึกนี้คือการกล่าวถึงครั้งแรกของการมีส่วนร่วมของผู้ใหญ่ในกีฬาคริกเกต และศตวรรษที่ 17 คือเวลาเดียวกันกับที่มีการจัดการแข่งขันระหว่างตำบลหรือหมู่บ้านที่ที่เก่าแก่ที่สุดที่หมู่บ้านเชฟนีย์ มณฑลเคนท์[7][20] ในปี ค.ศ. 1624 ผู้เล่นชื่อแจสเปอร์ วินอลเสียชีวิตหลังจากที่เขาถูกลูกคริกเกตกระแทกที่บริเวณศีรษะโดยไม่ได้ตั้งใจในการแข่งขันระหว่างสองทีมในซัสเซกซ์[21]

คริกเกตยังคงเป็นกิจกรรมที่หาได้ยากในท้องถิ่นในช่วงเวลาส่วนใหญ่ในศตวรรษที่ 17[11] เป็นที่ทราบกันดีจากในบันทึกของคดีในศาลสงฆ์ และบางครั้งจากการบันทึกโดยพวกพิวริทันว่ามีการเล่นคริกเกตอยู่ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างการจัดตั้งเครือจักรภพ[22][23] พวกพิวริทันถือว่าการเล่นคริกเกตเป็นสิ่งที่ "หยาบคาย" ที่จะเล่นกันวันสะบาโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีฝูงชนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วม หรือมีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง[24][25]

นักประวัติศาสตร์สังคมชื่อเดเรก เบอร์ลีย์ได้กล่าวว่ามี "ความนิยมในคริกเกตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ " ในปี ค.ศ. 1660[26] การพนันในคริกเกตได้กลายเป็นปัญหาที่สำคัญมากพอที่รัฐสภาจะผ่านพระราชบัญญัติการพนันปี ค.ศ. 1664 ถึงกระนั้นเงินเดิมพัน 100 ปอนด์ที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น ก็ยังคงเป็นจำนวนเงินมหาศาลที่ยังมากกว่าเงินที่ประชากรมากกว่า 99% หาได้ตลอดทั้งปี[26] คริกเกตถูกมองว่าเป็นกีฬาการพนันควบคู่ไปกับการแข่งขันชิงรางวัล การแข่งม้า และกีฬาเลือด[27] ผู้อุปถัมภ์ร่ำรวยในสมัยนั้นนิยมจัดการแข่งขันเพื่อเงินเดิมพันสูงโดยสร้างทีมที่พวกเขามีส่วนร่วมกับผู้เล่น ที่ได้ถือว่าเป็นผู่เล่นมืออาชีพคนแรกของคริกเกต[28]

ในช่วงปลายศตวรรษ คริกเกตได้พัฒนาเป็นกีฬาหลักที่แพร่หลายไปทั่วอังกฤษ และถูกนำไปเผยแพร่ในต่างประเทศแล้วโดยกะลาสีเรือและอาณานิคมชาวอังกฤษ – การอ้างอิงถึงคริกเกตในต่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดได้ถูกบันทึกในปี 1676[29] หนังสือพิมพ์ฉบับปี 1697 ได้รายงานถึง "การแข่งขันคริกเกตที่ยิ่งใหญ่" ที่เล่นในซัสเซ็กซ์ที่มีเดิมพัน "นัดละห้าสิบกินี" ซึ่งเป็นการแข่งขันที่โดยทั่วไปถือว่าเป็นการแข่งขันระดับเฟิร์สคลาสนัดแรก[30][31]

ผู้อุปถัมภ์และผู้เล่นคนอื่น ๆ จากชนชั้นทางสังคมที่เรียกว่า "ผู้ดี" ได้เริ่มจัดประเภทตัวเองเป็น "มือสมัครเล่น"[fn 1] เพื่อสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนจากนักกีฬามืออาชีพที่เมาจากชนชั้นแรงงาน การแบ่งแยกนั้นเคยชัดเจนถึงขั้นมีการแบ่งแยกห้องแต่งตัวและสิ่งอำนวยสะดวกต่าง ๆ[32] ผู้ดีรวมทั้งขุนนางระดับสูงเช่นดยุคแห่งริชมอนด์ ได้ใช้ สิทธิ์ของผู้ดี (noblesse oblige) เพื่อเป็นการอ้างความเป็นผู้นำในการแข่งขันกีฬาใด ๆ ที่พวกเขามีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผูดีเหล่านี้ต้องการจะเล่นเคียงข้างนักกีฬาที่ "ที่สถานะทางสังคมที่ด้อยกว่าพวกเขา"

จนกระทั่งช่วงกลางศตวรรษที่ 20 นักกีฬาสมัครเล่นมักถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำมากกว่า เนื่องจากพวกเขาเป็นคนที่มีการศึกษาในโรงเรียนเอกชนในระดับมัธยม และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์หรือมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในระดับอุดมศึกษา[33]

ในทางทฤษฎี นักคริกเกตสมัครเล่นจะเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการเล่น เช่นค่าเดินทางหรือค่าอุปกรณ์ ในขณะที่คู่หูมืออาชีพของเขาเล่นภายใต้สัญญาและได้รับค่าจ้างหรือค่าธรรมเนียมจากการแข่งขัน ในทางปฏิบัติ มือสมัครเล่นหลายคนมักจะได้เงินมากกว่าค่าใช้จ่ายที่พวกเขาใช้ และคำว่า "มือสมัครเล่นเก๊ (shamateur)" ก็ได้เป็นคำเยาะเย้ยต่อนักกีฬาสมัครเล่นจนกระทั่งสถานะการแบ่งแยกระหว่างมือสมัครเล่นและมืออาชีพได้ถูกยกเลิกในปี ค.ศ. 1962[34][35]

คริกเกตอังกฤษในศตวรรษที่ 18 และ 19

ภาพวาด นักคริกเกตหนุ่ม (The Young Cricketer) โดยฟรานซิส โคตส์, 1768

คริกเกตได้วิวัฒนาการในหลายแง่มุมจนได้เป็นกีฬาประจำชาติของอังกฤษในศตวรรษที่ 18[ต้องการอ้างอิง] การอุปถัมภ์และการเดิมพันถูกมองว่าเป็นตัวขับเคลื่อนความสำเร็จของกีฬา[36] คริกเกตโด่งดังในลอนดอนตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1707 และในช่วงกลางของศตวรรษ ได้มีฝูงชนจำนวนมากแห่กันไปที่สนามอาร์ทิเลอรีกราวนด์ในฟินส์บรี[ต้องการอ้างอิง] คริกเกตวิคเกตเดียวได้ดึงดูดเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชมและนักพนัน ความนิยมในคริกเกตได้ไปถึงจุดสูงสุดในฤดูกาล 1748[37] ราวปี 1760 ผู้โยนได้เปลี่ยนวิธีการส่งลูกโดยการโยนลงพิทช์ แทนที่จะกลิ้งหรือร่อนลูกไปหาผู้ตี และการเปลี่ยนวิธีการส่งลูกก็ทำให้เกิดการปฏิวัติในการออกแบบไม้ตี โดยีมการออกแบบไม้ตีทรงตรงที่ทันสมัยแทนไม้ฮอกกี้แบบเก่า เพราะไม้ทรงตรงสามารถจัดการกับลูกกระดอนจากการโยนได้ดีกว่า[38][ต้องการอ้างอิง]

สโมสรแฮมเบิลดันได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1760 สโมสรคริกเกตแมรีลโบน [Marylebone Cricket Club; หรือเอ็มซีซี (MCC)] ได้ก่อตั้งขึ้นในอีกยี่สิบปีต่อมา แฮมเบิลดันเป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกีฬา หลังจากมีการเปิด สนามคริกเกตลอร์ดสในปี ค.ศ. 1787 [ต้องการอ้างอิง] ก่อนที่จะถูกแทนที่โดยเอ็มซีซีในอีกไม่นานหลังจากนั้น โดยเอ็มซีซีนี้เองก็ได้เป็นผู้ร่างกฎของคริกเกต ฉบับใหม่ที่นำมาใช้ในช่วงหลังของศตวรรษที่ 18 ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเช่น การให้วิคเกตประกอบไปด้วยสตัมป์สามแท่ง และการคิดค้นกฎเลกบีฟอร์วิคเกต [Leg Before Wicket; หรือแอลบีดับเบิลยู (lbw)][39]

ศตวรรษที่ 19 การโยนใต้วงแขนถูกแทนที่ด้วยการโยนขนานวงแขน และถูกแทนที่อีกที่โดยการโยนเหนือวงแขน การโยนสองรูปแบบหลังนั้นเคยเป็ฯประเด็นถกเกียงกันในช่วงแรกที่มีการใช้[40] การจัดเกมในระดับเทศมณฑลได้นำไปสู่การก่อตั้งสโมสรระดับเทศมณฑล โดยเริ่มจากซัสเซ็กซ์ ในปี ค.ศ. 1839[41] ในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 1889 แปดสโมสรชั้นนำของมณฑลได้ก่อตั้งลีกคริกเกตเฟิร์สคลาสลีกแรกของโลกในชื่อเคาน์ตีแชมเปียนชิป ซึ่งเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1890[42]

ผู้เล่นที่มีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 19 คือดับเบิลยูจี เกรซ ผู้เริ่มต้นอาชีพที่ยาวนานและทรงอิทธิพลในปี 1865 ซึ่งเกรซนี่เองเป็นผู้ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างมืออาชีพและมือสมัครเล่นเริ่มพร่ามัวขึ้น เนื่องจากเขานั้นเป็นนักกีฬาสมัครเล่นโดยนิตินัย แต่กลับรับรายได้แบบนักกีฬาอาชีพโดยพฤตินัย เกรซเองถูกกล่าวว่าได้รับเงินสำหรับการเล่นคริกเกตมากกว่านักกีฬามืออาชีพทุกคนที่เล่นร่วมสมัยกับเขาเสียอีก[ต้องการอ้างอิง]

ช่วงเวลาสองทศวรรษที่ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมักถูกเรียกว่า "ยุคทองของคริกเกต" ซึ่งมักจะเป็นวลีที่กล่าวถึงเพื่อหวนความหลังถึงช่วงเวลาก่อนสงครามโลก โดยช่วงเวลานั้นได้เริ่มมีการจัดการแข่งขันเคาน์ตีแชมเปียนชิป และการแข่งขันคริกเกตเทสต์เป็นประจำทุกปี พร้อมกับยังได้ผลิตนักคริกเกตชั้นนำอีกมากมาย[43]

คริกเกตได้กลายเป็นกีฬาระดับนานาชาติ

ทีมอังกฤษทีมแรกที่เดินทางไปต่างประเทศบนเรือไปยังอเมริกาเหนือ พ.ศ. 2402

ในปี ค.ศ. 1844 ได้มีการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกระหว่าง สหรัฐอเมริกาและแคนาดา[44] ในปี ค.ศ. 1859 ทีมผู้เล่นชาวอังกฤษได้เดินทางไปอเมริกาเหนือในทัวร์ต่างประเทศครั้งแรก[45] ในขณะเดียวกัน จักรวรรดิอังกฤษนั้นมีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายเกมไปยังต่างประเทศ และในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิอังกฤษก็เป็นที่ยอมรับในออสเตรเลีย แคริบเบียน อินเดีย ปากีสถาน นิวซีแลนด์ อเมริกาเหนือ และแอฟริกาใต้[46]

ในปี ค.ศ. 1862 ทีมจากอังกฤษได้ออกทัวร์ออสเตรเลียเป็นครั้งแรก[47] ในขณะที่ทีมออสเตรเลียทีมแรกที่เดินทางไปต่างประเทศประกอบด้วยคนเลี้ยงปศุสัตว์ชาวอะบอริจินที่ไปทัวร์อังกฤษในปี ค.ศ. 1868[48] การแข่งขันทีมชาติหนึ่งวันนัดแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1971 ระหว่างออสเตรเลียและอังกฤษที่สนามคริกเกตเมลเบิร์น[49]

ในปี ค.ศ. 1876–1877 ทีมชาติอังกฤษได้เข้าร่วมการแข่งขันที่ได้รับการยอมรับย้อนหลังว่าเป็นการแข่งขันคริกเกตเทสต์นัดแรกที่สนามคริกเกตเมลเบิร์น กับทีมชาติออสเตรเลีย[50] การแข่งขันระหว่างอังกฤษและออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1882 ทำให้เกิดซีรีส์ที่เรียกว่าดิแอเชส และยังคงเป็นการแข่งขันที่มีชื่อเสียงที่สุดของคริกเกตเทสต์[51] คริกเกตเทสต์เริ่มขยายตัวในปี ค.ศ. 1888-89 เมื่อทีมชาติแอฟริกาใต้เล่นกับทีมชาติอังกฤษ ทำให้ทีมชาติแอฟริกาใต้กลายเป็นทีมที่สามที่ได้รับสถานะทีมคริกเกตเทสต์

โลกคริกเกตในศตวรรษที่ 20

ดอน แบรดแมน จากออสเตรเลีย ผู้มีค่าเฉลี่ยการตีที่ 99.94

ในปี ค.ศ. 1909 ได้มีการก่อตั้งสภาคริกเกตนานาชาติ [International Cricket Council หรือไอซีซี (ICC)] ขึ้น โดยไอซีซีนั้นเป็นองค์กรหลักที่มีหน้าที่จัดการการแข่งขันคริกเกตระดับนานาชาติในระดับต่าง ๆ

ช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองถูกครอบงำโดยดอน แบรดแมน ของออสเตรเลีย ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ตีที่ยิ่งใหญ่ในประวิติศาสตร์ของคริกเกตเทสต์ คริกเกตเทสต์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยการให้สถานะแก่ทีมสหชาติเวสต์อินดีสทีมสหชาติเวสต์อินดีส (1928) ทีมชาตินิวซีแลนด์ทีมชาตินิวซีแลนด์ (1930) และทีมชาติอินเดีย (1932) ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และทีมชาติปากีสถาน (1952) ทีมชาติศรีลังกาทีมชาติศรีลังกา (1982) ทีมชาติซิมบับเว (1992) ทีมชาติบังคลาเทศ (2000) ทีมไอร์แลนด์ และ ทีมชาติอัฟกานิสถาน (ปี 2018 ทั้งสองทีม) ในช่วงหลังสงคราม[52][53] ทีมชาติแอฟริกาใต้ถูกห้ามเล่นคริกเกตนานาชาติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ถึง 1991 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการคว่ำบาตรการแบ่งแยกสีผิว[54]

การเพิ่มขึ้นของคริกเกตจำกัดโอเวอร์

คริกเกตเข้าสู่ยุคใหม่ในปี ค.ศ. 1963 เมื่อมณฑลต่าง ๆ ของอังกฤษเริ่มมีการแข่งคริกเกตจำกัดโอเวอร์[55] เมื่อพบว่าคริกเกตจำกัดโอเวอร์นั้นสามารถทำเงินได้มากกว่า ทำให้มีการแข่งขันครอกเกตจำกัดโอเวอร์หนึ่งวัน เรียกว่าคริกเกตลิสต์เอ (List A Cricket) ขึ้น[56] ในเวลาต่อมาจึงได้มีการแข่งขันคริกเกตทีมชาติหนึ่งวันในปี ค.ศ. 1971 ไอซีซีได้เห็นศักยภาพของคริกเกตทีมชาติหนึ่งวัน จึงได้จัดการแข่งขันคริกเกตโลก (Cricket World Cup) เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1975[57]โดยผู้ชนะทีมแรกคือทีมเวสต์อินดีส โดยทีมชาติออสเตรเลียเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยได้เป็นผู้ชนะในรายการนี้ถึงห้าสมัย

ในศตวรรษที่ 21 ได้มีการแข่งขันคริกเกตรูปแบบใหม่ในชื่อทเวนตี 20 [Twenty20; นิยมเรียกว่าที20 (T20)] โดยที20 ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในโลกคริกเกต โดยไอซีซ๊ได้มีการจัดแข่งขันรายการคริกเกตที20 โลก (T20 Cricket World Cup) มานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 โดยผู้ชนะทีมแรกคือทัมชาติอินเดีย

หลังจากการแข่งขันคริกเกตที20 โลกก็ได้มีการแข่งขันลีกที20 ระหว่างทีมแฟรนไชส์ขึ้นมาทั่วโลก เช่นอินเดียนพรีเมียร์ลีก [Indian Premier League หรือไอพีแอล (IPL)] ในประเทศอินเดีย แคริบเบียนพรีเมียร์ลีก [Caribbean Premier League หรือซีพีแอล (CPL)] ในภูมิภาคแคริบเบียน และปากีสถานซูเปอร์ลีก [Pakistan Super League หรือพีเอสแอล (PSL)] ในประเทศปากีสถาน

หลังจากที่คริกเกตเทสต์นั้นมีการแข่งขันอยู่ในระดับทัวร์มากว่า 140 ปี ในปี ค.ศ. 2019 ไอซีซีได้มีการจัดการแข่งขันคริกเกตเทสต์ชิงแชมป์โลก [ICC World Test Championship หรือดับเบิลยูทีซี (WTC)] ขึ้น โดยรายการนี้เป็นรายการที่แข่งขันเป็นแบบลีก แล้วมีการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศสำหรับทีมที่จบสองอันดับแรก โดยผู้ชนะเทสต์โลกทีมแรกในฤดูกาล 2019-21 คือทีมชาตินิวซีแลนด์[58]

กฎและการเล่น

สนามคริกเกตทั่วไป

ในคริกเกต กฎของเกมระบุไว้ในหนังสือที่เรียกว่า กฎของคริกเกต (The Laws of Cricket) ซึ่งกฎเหล่านี้มีการบังคับใช้ทั่วโลก กฎของคริกเกตมีกฎหลัก 42 ข้อ (เขียนด้วยตัว "L" ใหญ่เสมอ) กฎฉบับเก่าที่สุดที่เป็นที่รู้จักถูกร่างขึ้นในปี ค.ศ. 1744 และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1788 โค้ดดังกล่าวก็ได้เป็นเจ้าของและดูแลโดย สโมสรคริกเกตแมรีลโบน (Marylebone Cricket Club; MCC) ในลอนดอน[59]

พื้นที่เล่น

คริกเกตเป็นเกมไม้ตีและลูกที่เล่นในสนามคริกเกต (ดูภาพด้านขวา) ระหว่างสองทีมจากผู้เล่นสิบเอ็ดคน[60] สนามมักจะมีรูปร่างเป็นวงกลมหรือวงรี และขอบของพื้นที่เล่นจะถูกทำเครื่องหมายด้วยขอบเขตซึ่งอาจเป็นรั้ว ส่วนหนึ่งของอัฒจันทร์ เชือก เส้นที่ทาสี หรือหลายอย่างรวมกัน ขอบเขตจะต้องทำเครื่องหมายตามความยาวทั้งหมดหากเป็นไปได้[61]

ในศูนย์กลางของสนามโดยประมาณเป็นพิทช์ (Pitch) สี่เหลี่ยม (ดูภาพด้านล่าง) ซึ่งกลุ่มแท่งไม้ที่เรียกว่าวิคเกต (Wicket) วางอยู่ที่ปลายแต่ละด้าน; วิคเกตทั้งสองนั้นถูกวางไว้ห่างกันระหว่างพิทช์ ซึ่งเป็นพื้นผิวเรียบกว้าง 10 ฟุต (3.0 เมตร) และยาว 22 หลา (20 เมตร)[62] โดยพิทช์นั้นมักจะมีหญ้าที่ถูกตัดให้สั้นมาก ซึ่งทำให้มีแนวโน้มที่พิทช์จะเสื่อมสภาพในขณะที่การแข่งขันดำเนินไป (คริกเกตสามารถเล่นบนพื้นผิวเทียมได้เช่นกัน โดยอาจเล่นบนพื้นพรม) วิคเกตแต่ละตัวจะประกอบด้วยสตัมป์ (Stumps) ไม้สามแท่ง และมีเบล (Bail) สองตัววางอยู่ข้างบน[63]

สนามคริกเกตและครีส

ดังที่แสดงไว้ข้างต้น ระยะพิทช์ถูกทำเครื่องหมายที่ปลายแต่ละด้านด้วยเส้นทาสีขาวสี่เส้น: โบว์ลิงครีส (Bowling Crease) ป็อปปิงครีส (Popping Crease) และรีเทิร์นครีส (Return Crease) สตัมป์ทั้งสามถูกจัดชิดตรงกลางโบว์ลิงครีสซึ่งยาวแปดฟุตแปดนิ้ว ป็อปปิงครีสนั้นถูกวาดสี่ฟุตต่อหน้าโบว์ลิงครีสและขนานไปกับมัน โดยปกตินั้นป็อปปิงครีสนั้นจะยาวสิบสองฟุต และรีเทิร์นครีสนั้นจะถูกวาดในมุมฉากกับป็อปปิงครีสเพื่อตัดปลายของโบว์ลิงครีส โดยปกตินั้นป็อปปิงครีสนั้นจะยาวแปดฟุต ทำให้รีเทิร์นครีสยาวต่อจากโบว์ลิงครีสไปอีกสี่ฟุต[64]

รูปแบบและการจบการแข่งขัน

ไม้คริกเกตเอสจี สมัยใหม่ (มุมมองด้านหลัง)

ก่อนการแข่งขันเริ่มต้น กัปตันทีม (ซึ่งเป็นผู้เล่นด้วย) จะโยนเหรียญเพื่อตัดสินใจว่าทีมใดจะตีก่อนในอินนิงส์แรก[65] โดยอินนิงส์เป็นคำที่ใช้สำหรับแต่ละช่วงของการเล่นในการแข่งขัน[65] ในแต่ละอินนิงส์ ทีมหนึ่งจะเป็นฝ่ายตี พยายามที่จะทำรัน ในขณะที่อีกทีมเป็นฝ่ายโยนลูกและวางผู้เล่นประจำตำแหน่งเพื่อที่จะจำกัดรันให้น้อยที่สุดและกำจัดผู้ตีออกไป[66][67] เมื่ออินนิงส์แรกจบลง ทีมจะเปลี่ยนบทบาท โดยการแข่งขันคริกเกตหนึ่งนัดอาจมีสองถึงสี่อินนิงส์ขึ้นอยู่กับประเภทของการแข่งขัน

การแข่งขันที่มีสี่อินนิงส์ตามกำหนดการจะเล่นในระยะเวลาสามถึงห้าวัน การแข่งขันที่มีสองอินนิงส์ที่กำหนดไว้มักจะเสร็จสิ้นภายในวันเดียว[65] ในระหว่างอินนิงส์ สมาชิกทั้งหมดสิบเอ็ดคนของทีมที่ประจำตำแหน่งจะลงสนาม ในขณะเดียวกัน จะมีสมาชิกของทีมที่ตีลูกเพียงสองคนเท่านั้นที่อยู่บนสนามในเวลาใดก็ตาม ข้อยกเว้นคือ ถ้าผู้ตีป่วยหรือมีการบาดเจ็บประเภทใดก็ตามที่จำกัดความสามารถในการวิ่ง ในกรณีนี้ผู้ตีจะได้รับอนุญาตให้รันเนอร์ที่สามารถวิ่งระหว่างประตูได้เมื่อผู้ตีทำรัน[68] อย่างไรก็ตาม การใช้รันเนอร์นั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในคริกเกตทีมชาติ[69]

การจัดลำดับผู้ตีในคริกเกตนั้นจะมีการประกาศมาก่อนการแข่งขัน แต่กัปตันทีมสามารถเปลี่ยนลำบกับผู้ตีได้ตามสถานการณ์ ซึ่งต่างจากเบสบอลที่ลำดับผู้ตีจะตายตัวตลอดการแข่งขัน[60]

วัตถุประสงค์หลักของแต่ละทีมคือการทำคะแนนให้มากกว่าคู่ต่อสู้ แต่ในคริกเกตบางรูปแบบ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องกำจัดผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามทั้งหมดในอินนิงส์สุดท้ายเพื่อชนะการแข่งขัน มิฉะนั้นผลการแข่งขันจะจบลงด้วยการเสมอ (Drawn)[70] ถ้าทีมที่ตีลูกสุดท้ายมีแต้มทำรันได้น้อยกว่าคู่ต่อสู้ จะถือว่า "แพ้ n รัน" (โดยที่ n คือความแตกต่างระหว่างจำนวนรันที่ทำได้โดยทีมทั้งหมด) หากทีมที่ตีลูกสุดท้ายทำรันได้มากพอที่จะชนะ เรียกว่ามี "ชนะด้วย n วิคเกต" โดยที่ n คือจำนวนวิคเกตที่ทีมที่ชนะยังเหลืออยู่ในขณะที่ทีมนั้นได้ชัยชนะไป ตัวอย่างเช่น ทีมที่ชนะโดยที่เสียไปแล้วหกวิคเกต (กล่าวคือมีผู้ตีทีมชนะเอาต์ไปแล้วหกคน) จะหมายความว่าทีมนั้นชนะการแข่งขัน "โดยสี่วิคเกต"[70]

ในการแข่งขันที่แต่ละทีมได้ตีฝั่งละสองอินนิงส์ ยอดรวมรันอินนิงส์แรกและอินนิงส์ที่สองของทีมหนึ่งอาจน้อยกว่ารันในอินนิงส์แรกของอีกทีมหนึ่ง ทีมที่มีคะแนนมากกว่าจะเรียกว่า "ชนะโดยอินนิงส์และ n รัน" และไม่จำเป็นต้องตีอีก: n คือความแตกต่างระหว่างคะแนนรวมของทั้งสองทีม

หากทีมที่ตีในอิงนิงส์สุดท้ายถูกทำให้เอาต์ทั้งทีม และทั้งสองฝ่ายได้จำนวนรันเท่ากัน การแข่งขันจะถือว่าเท่า (Tie) กัน ผลลัพธ์นี้ค่อนข้างหายากในการแข่งขันสองอินนิงส์โดยมีเพียง 63 นัด จากกว่า 6,000 นัดในการแข่งขันระดับเฟิร์สคลาส ตั้งแต่ผลเท่ากันครั้งแรกที่มีการบันทึกในปี ค.ศ. 1741 จนถึงผลเท่ากันครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2020 ในคริกเกตเฟิร์สคลาส (รวมถึงคริกเกตเทสต์) หากเวลาที่เหลือในการแข่งขันหมดก่อนที่จะได้ผู้ชนะ การแข่งขันนัดนั้นจะถือว่าเสมอกัน[70]

ในการแข่งขันที่แต่ละทีมได้ตีฝั่งละหนึ่งอินนิงส์ จะมีการกำหนดโอเวอร์สูงสุดที่แต่ละทีมจะตีได้ การแข่งขันดังกล่าวจะเรียกว่า "คริกเกตจำกัดโอเวอร์" หรือการแข่งขัน "หนึ่งวัน" และฝ่ายที่ทำคะแนนได้มากกว่าจะชนะโดยไม่คำนึงถึงจำนวนวิกเก็ตที่เสียไป เพื่อไม่ให้เกิดผลเสมอ ในบางกรณีที่การแข่งขันที่ผลเท่ากัน จะมีการให้แต่ละทีมตีทีมละอินนิงส์ที่ยาวเพียงหนึ่งโอเวอร์ ซึ่งเรียกว่าซูเปอร์โอเวอร์ โดยซูเปอร์โอเวอร์ครั้งถัดไปสามารถเล่นได้หากซูเปอร์โอเวอร์แรกยังจบลงด้วยการเท่ากัน หากการแข่งขันประเภทนี้ถูกขัดจังหวะชั่วคราวเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่ดี จะมีการใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนซึ่งรู้จักกันในชื่อ วิธีดักเวิร์ธ-ลิวอิส-สเตอร์น [Duckworth-Lewis-Stern Method; นิยมเรียกว่าดีแอลเอส (DLS)] เพื่อใช้ในการคำนวณจำนวนรันที่ทีมที่ตีทีหลังต้องทำให้ถึงเพื่อชนะ ในสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถเริ่มเล่นใหม่ได้ตามปกติ ตัวอย่างเช่น สภาพอากาศที่เปียกชื้นหรือหิมะตกอย่างยาวนาน จนการแข่งขันไม่สามารถดำเนินให้ถึงจำนวนโอเวอร์ขั้นต่ำที่สามารถนำวิธีดีแอลเอสได้ การแข่งขันแบบวันเดียวจะสามารถถูกประกาศว่า "ไม่มีผลการแข่งขัน (no-result)" ได้[70]

ในทุกรูปแบบของคริกเกต ผู้ตัดสินสามารถละทิ้งการแข่งขันได้หากแสงอาทิตย์ไม่ดีหรือมีฝนตกทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้[71] มีกรณีที่การแข่งขันต้องถูกยกเลิกโดยที่ไม่มีการเล่น แม้แต่การแข่งขันคริกเกตเทสต์มีกำหนดจะเล่นเป็นเวลาห้าวันก็เคยมีเหตุการณ์ที่การแข่งขันต้องถูกยกเลิกโดยที่ไม่มีการเล่นเลย ตัวอย่างเช่น คริกเกตเทสต์นัดที่สามของซีรีส์ดิแอเชส 1970/71 ระหว่างทีมชาติอังกฤษและทีมชาติออสเตรเลีย[72]

อินนิงส์

อินนิงส์ (innings ลงท้ายด้วย 's' ทั้งในรูปเอกพจน์และพหูพจน์) เป็นคำที่ใช้สำหรับแต่ละช่วงของการเล่นระหว่างการแข่งขัน ขึ้นอยู่กับประเภทของการแข่งขันที่เล่น แต่ละทีมจะได้ตีฝั่งละหนึ่งหรือสองอินนิงส์ บางครั้งสมาชิกทั้ง 11 คนของฝ่ายตีจะได้ลงมาตี แต่ด้วยเหตุผลหลายประการ อินนิงส์หนึ่งสามารถสิ้นสุดได้ก่อนที่นักกีฬาทุกคนจะได้ตี

อินนิ่งจะสิ้นสุดลงหากทีมตีลูกบอล "เอาต์ทั้งทีม" คือ "เมื่อผู้ตีสิบจากสิบเอ็ดคนถูกกำจัดหรือขอรีไทร์ (Retired) หรือไม่มีผู้ตีที่จะเข้ามาตีแทนอีกแล้ว"[65] ในสถานการณ์นี้ ผู้ตีที่ไม่ได้ถูกทำให้เอาต์หลังจากอินนิงส์ของทีมตนจบลงจะถูกเรียกว่าเรียกว่า ไม่เอาต์ ; ซึ่งอาจเกิดจากการที่ผู้เล่นคนอื่น ๆ ถูกทำให้เอาต์จนเหลือผู้ตีเพียงคนเดียว

อินนิงส์อาจสิ้นสุดก่อนเวลาขณะที่ยังมีผู้ตีอยู่สองคนในสนาม:[65]

  • กัปตันทีมผู้ตีอาจประกาศจบอินนิงส์ (Declared) แม้ว่าผู้เล่นบางคนของตนบางคนยังไม่ได้ตี โดยการประกาศจบอินนิงส์นั้นอาจมาจากการที่กัปตันทีมนั้นเชื่อว่าทีมของตนทำรันได้มากพอแล้ว และเป็นการเผื่อเวลาไว้ให้มากพอที่ทีมของตนสามารถทำให้ทีมคู่แข่งเอาต์ได้ทั้งทีมเพื่อผลชนะ
  • มีการเล่นจนถึงจำนวนโอเวอร์ที่กำหนดไว้ (เช่น ในการแข่งขันจำกัดโอเวอร์)
  • การแข่งขันสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควรเนื่องจากสภาพอากาศไม่ดีหรือหมดเวลาการแข่งขัน
  • ในอินนิงส์สุดท้ายของการแข่งขัน ทีมผู้ตีทำรันได้ถึงเป้าหมายและเป็นทีมที่ชนะการแข่งขัน
โอเวอร์

กฎของคริกเกตระบุว่า ตลอดอินนิงส์ "จะต้องมีการสลับฝั่งในการโยนลูกในทุก ๆ 6 ครั้ง"[73] ชื่อ "โอเวอร์ (Over)" เกิดขึ้นเพราะกรรมการเรียก "โอเวอร์!" เมื่อโยนลูกครบหกลูก เมื่อถึงจุดนี้ ผู้โยนอีกคนหนึ่งโยนลูกที่อีกด้านหนึ่งของพิทช์ และทีมผู้โยนจะมีการเปลี่ยนแปลงการยืนตำแหน่งในสนาม ในขณะที่ผู้ตีทั้งสองคนจะยังยืนอยู่ที่เดิม นั่นทำให้นอนสไตรเกอร์ (Non-striker คือผู้ตีที่อยู่ตรงข้ามด้านที่ผู้ตีอีกคนพบกับลูกที่ผู้โยนโยนมา) กลายเป็นสไตรเกอร์ (Striker) โดยไม่ต้องเดินสลับฝั่ง

ผู้โยนจะไม่สามารถโยนสองโอเวอร์ติดต่อกัน แม้ว่าผู้ตีสามารถ (และมักจะ) โยนลูกสลับโอเวอร์ได้จากด้านเดียวกันของพิทช์ ทำให้มีการใช้คำว่า "สเปลล์ (Spell)" หมายถึงช่วงเวลาที่ผู้โยนนั้นโยนตลอดอินนิงส์โดยไม่มีการเปลี่ยนฝั่งที่โยน

ในระหว่างโอเวอร์ผู้ตัดสินทั้งสองคนจะมีการเปลี่ยนตำแหน่ง โดยผู้ตัดสินที่อยู่ด้านหลังวิคเกตฝั่ง A (ที่เคยเป็นฝั่งของนอนสไตรเกอร์ในโอเวอร์ที่แล้ว) จะยืนอยู่ตำแหน่ง "สแควร์เลก [(Square Leg) คือยืนอยู่ด้านหลังผู้ตี ตั้งฉากระหว่างสไตรเกอร์กับนอนสไตรเกอร์]" ที่ฝั่ง A ส่วนผู้ตัดสินที่ยืนอยู่ตำแน่งสแควร์เลกฝั่ง B (ที่เคยเป็นฝั่งของสไตรเกอร์ในโอเวอร์ที่แล้ว) จะมายืนยืนอยู่ด้านหลังวิคเกตที่ฝั่ง B[73]

เสื้อผ้าและอุปกรณ์

ภาพนักคริกเกตชาวอังกฤษดับเบิลยูจี เกรซ กำลัง "ตั้งการ์ด" ในปี ค.ศ. 1883 แผ่นสนับแข้งและไม้ตีของเขายังคงมีความคล้ายคลึงกับที่ใช้ในปัจจุบัน ในขณะที่ถุงมือมีวิวัฒนาการเล็กน้อยจากอดีต ผู้เล่นสมัยใหม่หลายคนใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวมากกว่าที่ เกรซมีให้ โดยเฉพาะหมวกและสนับแขน

ผู้รักษาวิคเกต (ผู้ที่ยืนตำแหน่งหลังวิคเกตฝั่งสไตรเกอร์) และผู้ตีจะสวมอุปกรณ์ป้องกันเนื่องจากเพื่อป้องกันลูกคริกเกตที่แข็ง และสามารถถูกโยนด้วยความเร็วมากกว่า 145 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (90 ไมล์ต่อชั่วโมง) ชุดป้องกันรวมถึงแผ่นสนับแข้ง (ออกแบบมาเพื่อปกป้องเข่าและหน้าแข้ง) ถุงมือผู้ตีหรือถุงมือผู้รักษาวิคเกต หมวกนิรภัยสำหรับศีรษะ และกระจับสำหรับผู้เล่นชายในกางเกง (เพื่อป้องกันบริเวณเป้า)[74] ผู้ตีบางคนจะใส่แผ่นรองเสริมด้านในเสื้อและกางเกง เช่น แผ่นรองต้นขา ผ้ารองแขน แผ่นป้องกันซี่โครง และแผ่นรองไหล่ ผู้ยืนตำแหน่งที่อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับผู้ตีมาก (เช่น ถ้าอยู่เคียงข้างหรืออยู่ข้างหน้าเขา) จะได้รับอนุญาตให้สวมอุปกรณ์ป้องกัน แต่จะไม่สามารถสวมถุงมือหรืออุปกรณ์ป้องกันขาภายนอกได้[75]

โดยทั่วไปแล้ว ชุดที่นักคริกเกตสวมใส่ในสนามจะรวมถึงเสื้อคอปกแขนสั้นหรือแขนยาว กางเกงขายาว เสื้อสวมหัวทำด้วยผ้าขนสัตว์ (ถ้าจำเป็น); หมวกคริกเกต (สำหรับทีมที่ยืนตำแหน่ง) หรือหมวกนิรภัย และรองเท้าที่มีหนามแหลมหรือรองเท้าบูทเพื่อเพิ่มการยึดเกาะ ปกติชุดที่นักคริกเกตใส่ในคริกเกตเฟิร์สคลาสและคริกเกตเทสต์จะเป็นสีขาวล้วน แต่สำหรับคริกเกตจำกัดโอเวอร์ นักคริกเกตจะใส่ชุดสีประจำทีมแทน[76]

ไม้และลูกคริกเกต

Used white ball
Used red ball
ลูกคริกเกตจะมีสองประเภท โดยทั้งสองลูกนั้นมีขนาดเท่ากัน:

i) ลูกคริกเกตสีขาวที่ใช้แล้ว นิยมใข้ในคริกเกตจำกัดโอเวอร์ เพราะลูกสีขาวนั้นจะเห็นภายใต้แสงไฟในเวลากลางคืนได้ง่ายกว่า (ซ้าย)

ii) ลูกคริกเกตสีแดงที่ใช้แล้ว นิยมใช้ในคริกเกตเทสต์และคริกเกตเฟิสต์คลาสรูปแบบอื่น ๆ เนื่องจากลูกสีแดงมีความทนทานมากกว่า(ขวา)

แกนหลักของคริกเกตคือการที่ผู้โยน โยนลูกจากฝั่งใดด้านหนึ่งของพิทช์ไปสู่ผู้ตี ที่ยืนอยู่อีกฝั่งของพิทช์ (ดูต่อไปที่ส่วนย่อย : การเล่นพื้นฐาน)

โดยปกติไม้คริกเกตนั้นทำจากไม้ของต้นหลิวขาว (Salix alba) และมีรูปทรงแบบใบมีดที่มีด้ามเป็นทรงกระบอก ด้านไม้จะต้องมีความกว้างไม่เกิน 4.25 นิ้ว (10.8 เซนติเมตร) และมีความยาวไม่เกิน 38 นิ้ว (97 เซนติเมตร) ทั้งนี้ ไม่มีมาตรฐานสำหรับน้ำหนักของไม้คริกเกต ซึ่งมักจะอยู่ระหว่าง 2 ปอนด์ 7 ออนซ์ ถึง 3 ปอนด์ (1.1 และ 1.4 กิโลกรัม)[77][78]

ในส่วนลูกคริกเกตนั้นจะเป็นทรงกลมที่หุ้มหนังแข็ง มีเส้นรอบวง 9 นิ้ว (23 เซนติเมตร) โดยมี "ตะเข็บ" หกแถวติดเปลือกหนังของลูกเข้ากับเชือกและด้านในของไม้ก๊อก รอยต่อของลูกบอลใหม่นั้นโดดเด่นและช่วยให้ผู้โยนสามารถส่งลูกในลักษณะวิถีที่คาดเดาได้ยาก[fn 2] ในระหว่างการแข่งขัน คุณภาพของลูกจะเสื่อมลงจนใช้ไม่ได้อีกต่อไป ในระหว่างการเสื่อมสภาพนี้ พฤติกรรมในการบินของลูกจะเปลี่ยนไปและอาจส่งผลต่อผลของการแข่งขัน ดังนั้น ผู้เล่นจะพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกบอลโดยการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติทางกายภาพของลูก การขัดลูกบอลและทำให้เปียกด้วยเหงื่อหรือน้ำลายนั้นถูกกฎของคริกเกต ทำให้มีการการขัดผิวของลูกคริกเกตเพียงด้านเดียวเพื่อเพิ่มการแกว่งของลูกบอลในอากาศ แต่การถูสารอื่น ๆ เข้าไปในลูก การเกาพื้นผิว หรือการดึงที่ตะเข็บจะเป็นการงัดแงะลูกที่ผิดกฎ[79]

บทบาทของผู้เล่น

การเล่นพื้นฐาน: ผู้โยนสู่ผู้ตี

ระหว่างการเล่นปกติ ผู้เล่นสิบสามคนและผู้ตัดสินสองคนอยู่ในสนาม ผู้เล่นสองคนเป็นผู้และที่เหลือเป็นสมาชิกของทีมที่ยืนตำแหน่งทั้งหมดสิบเอ็ดคน ผู้เล่นอีกเก้าคนในทีมของผู้ตีจะอยู่นอกสนามในศาลาของสนาม ภาพด้านล่างแสดงให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการโยนลูกและใครอยู่บนหรือใกล้กับสนาม[80]

ผู้ตัดสิน
วิคเกต
ผู้ตีนอนสไตรเกอร์
ผู้โยน
ลูกคริกเกต
พิทช์
ป็อปปิงครีส
ผู้ตีสไตรเกอร์
วิคเกต
ผู้รักษาวิคเกต
สลิปที่หนึ่ง
รีเทิร์นครีส

ในภาพ ผู้ตีสองคน (หมายเลข 3 และ 8; ใส่ชุดสีเหลือง) ยืนสนามที่ปลายแต่ละด้านของพิทช์ (6) ผู้เล่นฝั่งยืนตำแหน่ง สามคน (4 10 และ 11; ใส่ชุดสีน้ำเงินเข้ม) อยู่ประจำตำแหน่งของตน ผู้ตัดสินคนหนึ่งในสองคน (1; สวมหมวกสีขาว) ประจำการอยู่หลังวิคเกต (2) ที่ปลายของพิทช์ ของผู้โยน (4) กำลังลูกคริกเกต (5) จากปลายิทช์ไปยังผู้ตี (8) ที่ปลายอีกด้านหนึ่งซึ่งเรียกว่า "สไตรเกอร์ (striker)" ผู้ตีอีกคน (3) ที่ปลายพิทช์ที่ผู้โยนอยู่จะถูกเรียกว่า "นอนสไตรเกอร์ (non-striker)" ผู้รักษาวิคเกต (wicketkeeper) (10) ซึ่งเป็นตำแหน่งเฉพาะของทีมยืนสนาม ยืนอยู่ด้านหลังประตูของสไตรเกอร์ (9) และข้างหลังเขาเป็นหนึ่งในผู้ยืนสนามในตำแหน่งที่เรียกว่า "สลิปที่หนึ่ง (First slip)" (11) ในขณะที่ผู้ตีและสลิปที่หนึ่งสวมชุดธรรมดาเท่านั้น ผู้ตีสองคนและผู้รักษาวิคเกตสวมอุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ หมวกนิรภัย ถุงมือบุนวม และอุปกรณ์ป้องกันขา (แผ่นสนับแข้ง)

ในขณะที่ในภาพจะเห็นผู้ตัดสิน (1) ยืนอยู่ที่ปลายพิทช์ของผู้โยน จะยังมีผู้ตัดสินอีกคนหนึ่งยืนอยู่ในสนาม โดยปกติแล้วจะอยู่ในหรือใกล้กับตำแหน่งการลงสนามที่เรียกว่า "สแควร์เลก" เพื่อให้เขาอยู่ในแนวเดียวกับป็อปปิงครีส (7) ที่ปลายสนามของกองหน้า โบว์ลิงครีส (ไม่มีหมายเลข) คือรอยที่วิคเกตตั้งอยู่ระหว่างรีเทิร์นครีส (12)

ผู้โยน (4) นั้นมีความตั้งใจที่จะทำลายวิคเกต (9) ด้วยการโยนลูกใส่ (5) หรืออย่างน้อยที่สุดก็เพื่อป้องกันไม่ให้สไตรเกอร์ (8) ทำรันได้ โดยสไตรเกอร์ (8) มีหน้าที่ป้องกันวิคเกต และตีลูกเพื่อทำรัน

ผู้เล่นบางคนมีความสามารถทั้งในการตีลูกและการโยนลูกหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้เล่นเหล่านี้จะถูกเรียกว่าออลราวน์เดอร์ ผู้ตีแต่ละคนจะถูกจำแนกตามรูปแบบของพวกเขา โดยทั่วไปจะเป็นผู้โยนลูกเร็ว หรือผู้โยนลูกปั่น ในขณะที่ผู้ตีจะถูกจำแนกตามว่าพวกเขาถนัดที่จะตีข้างขวาหรือซ้าย

การยืนสนาม

ตำแหน่งในคริกเกตสำหรับผู้ตีมือขวา

จากภาพด้านบน มีผู้เล่นสามคนจากสิบเอ็ดคนยืนประจำตำแหน่ง ส่วนอีกแปดคนอยู่ที่อื่นในสนาม ตำแหน่งของพวกเขากำหนดตามแผนการเล่นที่ใช้โดยกัปตันหรือผู้โยน การยืนตำแหน่งในคริกเกตมักจะเปลี่ยนตลอดในระหว่างการโยนลูกแต่ละครั้ง ตามคำสั่งของกัปตันหรือผู้โยน[75]

หากผู้ยืนตำแหน่งได้รับบาดเจ็บหรือป่วยในระหว่างการแข่งขัน จะมีการอนุญาตให้ผู้เล่นสำรองลงสนามแทนได้ ในคริกเกตระดับนานาชาติ ผู้เล่นสำรองจะไม่สามารถโยนหรือทำหน้าที่เป็นกัปตันได้ ยกเว้นในกรณีที่มีการใช้ผู้เล่นสำรองในกรณีที่มีผู้เล่นได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง[69] ผู้เล่นสำรองจะต้องออกจากสนามเมื่อผู้เล่นที่บาดเจ็บพร้อมกลับ[81] กฎของคริกเกตได้รับการปรับปรุงในปี ค.ศ. 2017 เพื่ออนุญาตให้ผู้เล่นสำรองสามารถทำหน้าที่เป็นผู้รักษาวิคเกต[82]

การโยนและการกำจัดผู้ตี

เกลนน์ แม็คกราธ์ จากทีมชาติออสเตรเลีย ถือสถิติเป็นผู้ที่ทำวิคเกตได้มากที่สุดในรายการคริกเกตโลก[83]

ผู้โยนส่วนใหญ่มักได้รับเลือกให้เข้าร่วมทีมเนื่องจากทักษะของพวกเขาในฐานะผู้โยนโดยเฉพาะ แม้ว่าผู้เล่นบางคนจะเป็นออลราวเดอร์หรือเป็นผู้ตีที่โยนลูกเป็นครั้งคราว ผู้โยนจะโยนหลายครั้งในระหว่างอินนิงส์ แต่ไม่สามารถโยนสองโอเวอร์ติดต่อกันได้ หากกัปตันต้องการให้ผู้โยน "เปลี่ยนฝั่ง" ผู้โยนคนอื่นต้องโยนลูกที่ยังเหลืออยู่ในโอเวอร์นั้น ๆ[73]

โอเวอร์หนึ่ง ๆ จะเริ่มขึ้นเมื่อผู้โยนเริ่มวิ่งเข้าหาพิทช์เพื่อโยนลูก (run-up)[73] ผู้โยนลูกเร็ว (Fast bowlers) มักจะวิ่งเป็นระยะไกลเพื่อเป็นการสร้างโมเมนตัมในการโยน ส่วนผู้โยนลูกปั่น (Spin Bowlers) มักจะวิ่งเพียงำม่กี่ก้าวก่อนโยนลูฏ ผู้โยนที่เร็วที่สุดสามารถส่งลูกด้วยความเร็วมากกว่า 145 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (90 ไมล์ต่อชั่วโมง) และบางครั้งพวกเขาก็อาศัยความเร็วเป็นหลัก เพื่อพยายามเอาชนะผู้ตีที่ถูกบังคับให้ตอบสนองอย่างรวดเร็ว ผู้โยนลูกเร็วคนอื่น ๆ อาศัยการผสมผสานระหว่างความเร็วและเล่ห์เหลี่ยมโดยทำให้ลูกวิ่งเป็นรอยตะเข็บ (Seam bowling) หรือวิ่งส่ายเป็นทางโค้ง (Swing bowling) การโยนประเภทนี้สามารถหลอกลวงผู้ตีให้ตีลูกอย่างผิดวิธีได้ ตัวอย่างเช่น เพื่อให้ลูกแตะขอบไม้ตีแล้วสามารถ "รับลูกจากข้างหลัง" โดยผู้รักษาวิคเกตหรือผู้ยืนตำแหน่งสลิปได้[84] ในขณะผู้โยนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าผู้โยนลูกปั่น ที่โยนด้วยความเร็วที่ค่อนข้างช้าและอาศัยกลอุบายในการหลอกล่อผู้ตี ผู้โยนลูกปั่นมักจะ "ซื้อวิคเกต" โดย "โยนลูกขึ้น" (ในวิถีพาราโบลาที่ช้ากว่าและชันกว่า) เพื่อล่อให้ผู้ตีตีลูกที่ไม่ดี ผู้ตีลูกต้องระวังให้มากในการโยนลูกแต่ละครั้ง เนื่องจากลูกปั่นมักจะ "บิน" หรือถูกหมุน เพื่อที่จะทำให้ผู้ตีรับมือได้อย่างไม่ถูกต้อง และเขาอาจ "ติดกับ" และถูกทำให้เอาต์[85] ระหว่างผู้ตีลูกเร็วและผู้ตีลูกปั่น จะมีผู้โยนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะโยนลูกด้วยความเร็วระดับปานกลาง โดยเน้นไปที่ความแม่นยำของการโยนเพื่อเป็นการทำลายสมาธิของผู้ตี[84]

ในคริกเกต มีถึงเก้าวิธีที่ผู้ตีสามารถถูกกำจัดได้ ห้าวิธีแรกสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ส่วนสี่วิธีหลังนั้นพบได้ยากมาก

  1. โบลด์ (bowled): การโยนลูกเพื่อทำลายวิคเก็ตให้เบลตกลงมาจากสตัมป์[86]
  2. คอท (caught): การรับลูกคริกเกตก่อนลูกตกถึงพื้น โดยลูกนั้นจะต้องถูกไม้หรือถุงมือของผู้ตีก่อน[87]
  3. รันเอาต์ (run out): การทำลายวิคเก็ตก่อนที่ผู้เล่นฝั่งผู้ตีจะวิ่งไปถึงอีกฝั่งของพิตช์ได้ทัน[88]
  4. สตัมป์ (stumped): การที่ผู้รักษาวิคเก็ตรับลูกวิคเกตที่ผู้ตีตีไม่โดน แล้วทำลายวิคเก็ตก่อนที่ผู้ตีจะกลับไปอยู่ในป็อปปิงครีสของตนได้ทัน[89]
  5. เลกบีฟอร์วิคเกต (leg before wicket; นิยมเรียกว่าแอลบีดับเบิลยู (lbw)]: การทำโยนลูกให้โดนผู้ตีโดยที่ไม่โดนไม้คริกเกต โดยวิถีของลูกจะไปชนวิกเก็ต[90]
  6. ฮิทวิคเกต (hit wicket) การที่ผู้ตีขยับร่างกาย ไปชนทำลายวิคเกตโดยไม่ตั้งใจ[91]
  7. ออบสตรัคติงเดอะฟีลด์ (obstructing the field): การกระทำที่เข้าข่ายรบกวนการเล่นของทีมที่ยืนตำแหน่ง เช่น การตีลูกสองครั้งในการโยนลูกครั้งเดียว[92][93]
  8. ไทม์เอาท์ (timed out): การที่ผู้ตีที่จะเข้ามาตีในสนาม ลงมาในสนามไม่ทันเวลาที่กำหนด[94]
  9. รีไทร์เอาต์ (retired out): การทีผู้ตีออกจากการแข่งขันโดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากกัปตันทีมฝั่งตรงข้ามและผู้ตัดสิน[95]

กฎของคริกเกตระบุว่าทีมยืนสนามซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นผู้โยนจะต้องเรียกร้องผู้ตัดสิน (appealing) ก่อนที่ผู้ตัดสินจะตัดสินได้ ถ้าหากผู้ตีเอาต์ กรรมการยกนิ้วชี้และพูดว่า "เอาต์!" หากผู้ตีไม่เอาต์ ผู้ตัดสินจะส่ายหัวและพูดว่า "ไม่เอาต์"[96]

การตี การวิ่ง และรันพิเศษ

ทิศทางในการตีของผู้ตีมือขวา ในมุมมองที่ผู้ตีมองลงด้านล่างของภาพ สำหรับผู้ตีมือซ้าย ทิศทางของผู้ตีจะเป็นภาพสะท้อน ของภาพนี้

ผู้ตีจะเข้ามาตีตามลำดับการตี ซึ่งกัปตันทีมจะตัดสินใจล่วงหน้าและนำเสนอต่อกรรมการ แต่ลำดับการตีสามารถยืดหยุ่นได้เมื่อกัปตันทีมเสนอชื่อทีมอย่างเป็นทางการ[60] โดยทั่วไปในคริกเกตนานาชาติ จะไม่อนุญาตให้ใช้ผู้เล่นทดแทนในการตี[81] ยกเว้นในกรณีที่ใช้แทนการถูกกระทบกระแทกทางสมอง[69]

ตามปกติแล้ว ผู้ตีส่วนไหญ่จะยืนตำแหน่งโดยต้องหมอบลงเล็กน้อย โดยให้เท้าชี้ขนานวิคเกต มองไปในทิศทางของผู้โยน และจับไม้ตีให้ข้ามเท้าไป และปลายไม้วางอยู่บนพื้นใกล้กับนิ้วเท้าของเท้าหลัง[97]

ผู้ตีที่มีทักษะสามารถ "ยิง (shot)" หรือ "วาดวง (stroke)" ได้หลากหลายท่าทั้งในรูปแบบป้องกันและโจมตี แนวคิดหลักของการตีคือการตีลูกให้ได้ผลดีที่สุดกับพื้นผิวเรียบของใบของไม้ ถ้าลูกสัมผัสกับด้านข้างของไม้ จะถูกเรียกว่า "โดนขอบ" ผู้ตีไม่จำเป็นต้องเล่นลูกและสามารถให้ลูกผ่านไปยังผู้รักษาวิคเกตได้ ในทำนองเดียวกันเขาไม่ต้องพยายามวิ่งเมื่อเขาตีลูกด้วยไม้ตีเช่นกัน และผู้ตีไม่ได้พยายามตีลูกบอลให้แรงที่สุดเสมอไป และผู้ตีที่ดีสามารถทำรันได้ด้วยการตีอย่างคล่องแคล่วเพียงด้วยการหมุนข้อมือ หรือเพียงแค่ "บล็อก" ลูกบ แต่ให้นำลูกให้หนีออกจากผู้ยืนสนามเพื่อที่เขาจะได้มีเวลาวิ่ง ในครกิเกตมีการเล่นช็อตที่หลากหลาย และผู้ตีสามารถตีลูกออกไปในทุกทิศทางที่ต้องการ ท่าตีต่าง ๆ ในคริกเกตมักนิยมถูกเรียกตามทิศทางของผู้ตีตามรูปด้านข้าง: เช่น "คัต (cut)" "ไดรฟ์ (drive)" "ฮุก (hook)" หรือ "พุล (pull)"[98]

สไตรเกอร์จะต้องป้องกันไม่ให้ลูกชนวิคเกตและพยายามที่จะทำรัน โดยการใช้ไม้ตีตีลูกเพื่อให้เขาและเพื่อนผู้ตีของเขามีเวลาที่จะวิ่งออกจากปลายด้านหนึ่งของพิทช์ก่อนที่ฝ่ายสนามจะคืนบอลได้ ในการทำรัน ผู้ตีทั้งสองต้องแตะพื้นที่อยู่หลังป็อปปิงครีสด้วยไม้ตีหรือร่างกายของผู้ตีเอง การวิ่งที่เสร็จสิ้นแต่ละครั้งจะมีค่าเท่ากับหนึ่งรัน[99]

ซาชิน เทนดุลกร เป็นผู้เล่นเพียงคนเดียวที่ทำเซนจูรี คือทำรันได้ถึง 100 รันในหนึ่งอินนิงส์ ได้ถึง 100 ครั้งในคริกเกตทีมชาติ

การตัดสินใจของผู้ตีที่จะพยายามวิ่ง จะขึ้นอยู่กับผู้ตีที่มีมุมมองที่ดีกว่าเกี่ยวกับความคืบหน้าของลูกบอล ว่าควรที่จะวิ่งทำรันหรือไม่ และสิ่งนี้จะได้รับการสื่อสารโดยการเรียกว่า "ใช่" "ไม่" หรือ "รอ" ผู้ตีสามารถทำคะแนนได้มากกว่าหนึ่งรันจากการโจมตีครั้งเดียว: การโจมตีที่คุ้มค่าหนึ่งถึงสามรันนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ขนาดของสนามนั้นมักจะเป็นเรื่องยากที่จะทำถึงสี่รันหรือมากกว่านั้น[99] เพื่อชดเชยสิ่งนี้ การตีที่ไปถึงขอบเขตของสนามจะได้รับสี่รันโดยอัตโนมัติหากลูกบอลสัมผัสพื้นระหว่างเส้นทางไปยังขอบเขต หรือหกรันหากลูกบอลบินข้ามเขตโดยไม่สัมผัสพื้นภายในเขต ในกรณีเหล่านี้ ผู้ตีไม่จำเป็นต้องวิ่ง[100] การทำได้ห้ารันหรือมากกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ โดยมักจะมาจากการ "โยนเกิน (overthrow)" โดยผู้เล่นสนามที่พยายามส่งลูกกลับ หากสไตรเกอร์ทำแต้มได้เป็นเลขคี่ ผู้ตีทั้งสองยืนสลับกัน และนอนสไตรเกอร์จะเป็นสไตรเกอร์แทน ในขณะที่รันทั้งหมดจะถูกรวมเข้ากับยอดรวมของทีม ในการนับรันส่วนตัวจะมีเพียงแค่สไตรเกอร์เท่านั้นที่มีรายชื่อเป็นผู้ทำรัน[99]

ทีมของผู้ตีสามารถได้จากรันพิเศษ (extras) (เรียกว่า "รันจิปาถะ (sundries)" ในออสเตรเลีย) ซึ่งเป็นรันที่มาจจากข้อผิดพลาดที่เกิดจากฝ่ายสนาม โดยรันพิเศษนั้นมีสี่ที่มา:

  1. โนบอล (no-ball): การโยนลูกอย่างผิดกฎ เช่น การที่เท้าหน้าของผู้โยนเหยียบเลยป็อปปิงครีส การยืดข้อศอกในการโยน (การขว้าง) หรือการโยนลูกสู่ผู้ตีที่ตำแหน่งที่สูงกว่าเอวโดยไม่กระดอนพื้นก่อน[101]
  2. ไวด์ (wide): การที่ผู้โยนโยนลูกในวิถีที่ผู้ตีไม่สามารถตีลูกโดน เช่น การโยนลูกที่สูงหรือห่างตัวเกินไป หรือการโยนลูกที่ผู้ตีไม่สามารถตีให้โดนโดยยังคงยืนในตำแหน่งเดิมอยู่[102]
  3. บาย (bye): การที่ผู้โยนโยนลูกไม่ถูกผู้ตีหรือไม้ตี แต่มีความผิดพลาดจากผู้เล่นสนาม (มักเป็นผู้รักษาวิคเกต) จนผูตีฉวยโอกาสวิ่งทำรันได้[103]
  4. เลกบาย (leg bye): การที่ผู้โยนโยนลูกไปถูกร่างกายผู้ตี แต่ไม่โดนไม้หรือถุงมือของผู้ตี แล้วผูตีฉวยโอกาสวิ่งทำรันได้[103]

ถ้าผู้โยนโยนโนบอลหรือไวด์ เขาจะต้องโยนลูกอีกครั้งเป็นการทดแทน[fn 3][101][102]

ทั้งนี้ รันพิเศษจะไม่ถูกนับเป็นรันส่วนตัวที่สไตรเกอร์ทำได้ และบายกับเลกบายไม่ถูกนับเป็นรันส่วนตัวที่ผู้โยนเสีย

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ

กัปตันทีมมักจะเป็นผู้เล่นที่มีประสบการณ์มากที่สุดและมีกลยุทธ์ที่เฉียบแหลมที่สุดในทีม ในคริกเกต กัปตันทีมนั้นจะเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อทีมมากกว่ากัปตันในกีฬาอื่น ๆ ในกฎของคริกเกต กัปตันมีหน้าที่รับผิดชอบในการเสนอชื่อผู้เล่นของเขาให้เป็นผู้ตัดสินก่อนการแข่งขัน เป็นผู้ที่เลือกผู้โยนในโอเวอร์หนึ่ง ๆ เป็นผู้ที่จัดวางตำแหน่งการยืนของผู้ร่วมทีมในสนาม และดูแลให้ผู้เล่นของเขาประพฤติตน "ภายในจิตวิญญาณและประเพณีของการแข่งขันตลอดจนการประพฤติตนในกฎของคริกเกต"[60]

ผู้รักษาวิคเกต (wicket-keeper) [(บางครั้งเรียกว่า "ผู้รักษา (keeper)"] เป็นผู้มีทักษะการรับลูกมากกว่าเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ เขาเป็นสมาชิกคนเดียวของฝ่ายสนามที่สามารถทำสตัมป์สตัมป์ได้ และเป็นคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้สวมถุงมือและอุปกรณ์ป้องกันขาภายนอก[104] โดยทั่วไปแล้ว ทีมหนึ่งทีมจะประกอบด้วยผู้ตีเชี่ยวชาญพิเศษห้าหรือหกคน ผู้โยนเชี่ยวชาญพิเศษสี่หรือห้าคน และผู้รักษาวิคเกท[105][106]

ผู้ตัดสินและผู้บันทึกคะแนน

ผู้ตัดสินส่งสัญญาณการตัดสินไปยังผู้บันทึกคะแนน

การแข่งขันในสนามถูกควบคุมโดยผู้ตัดสินสองคน คนหนึ่งยืนอยู่หลังประตูที่ปลายนักโยน อีกคนอยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่า "สแควร์เลก" ซึ่งอยู่ห่างจากผู้ตีฝั่งสไตรเกอร์ประมาณ 15-20 เมตร จากป็อปปิงครีส ผู้ตัดสินมีความรับผิดชอบหลายอย่างรวมทั้งการพิจารณาว่าลูกได้รับการโยนอย่างถูกต้อง (เช่นไม่ได้เป็นโนบอล หรือไวด์ ) การตัดสินว่ามีการทำรันแล้ว การตัดสินว่าผู้ตีเอาต์หรือไม่ (ฝ่ายสนามต้องอุทธรณ์ผู้ตัดสินก่อน [โดยปกติแล้วจะใช้วลี "เป็นยังไงบ้าง (How's that?)" หรือ "โอวซัท? (Owzat?) หรือเพียงแค่ตะโกนเฉย ๆ "] ผู้ตัดสินยังคอยดูเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของการแข่งขัน และความเหมาะสมของสภาพ สนาม และสภาพอากาศในการเล่น ผู้ตัดสินได้รับอนุญาตให้หยุดการแข่งขันหรือละทิ้งการแข่งขันเนื่องจากสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้เล่น เช่น สนามที่เปียกชื้นหรือแสงที่เริ่มมัวลง[71]

ในการแข่งขันทางโทรทัศน์ มักจะมีผู้ตัดสินคนที่สามนอกสนามที่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับเหตุการณ์บางอย่างได้โดยใช้หลักฐานทางวิดีโอ สำหรับคริกเกตเทสต์และโอดีไอ เล่นระหว่างประเทศสมาชิกสมบูรณ์ทั้งสิบสองชาติ จะต้องมีผู้ตัดสินที่สามประจำอยู่เสมอ การแข่งขันเหล่านี้ยังมีผู้ตัดสินแมตช์ที่มีหน้าที่ดูแลให้การเล่นเป็นไปตามกฎหมายและจิตวิญญาณของการแข่งขัน[71]

รายละเอียดการแข่งขัน รันและการกำจัดผู้ตีนั้นจะถูกบันทึกโดยผู้บันทึกคะแนนสองคน โดยคนหนึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละทีม ผู้บันทึกคะแนนจะถูกกำกับโดยสัญญาณมือของผู้ตัดสิน (ดูภาพด้านขวา) ตัวอย่างเช่น ผู้ตัดสินยกนิ้วชี้เพื่อส่งสัญญาณว่าผู้ตีเอาต์ (ถูกกำจัด) เขายกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ ถ้าคนตีทำได้หกรัน ผู้บันทึกคะแนนต้องบันทึกทุกรันที่ทำได้ ทุกวิคเกตที่ทำได้ และทุกโอเวอร์ที่มีการโยน ในทางปฏิบัติ พวกเขายังเขียนข้อมูลเพิ่มเติมจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน[107]

สถิติการแข่งขันจะสรุปไว้ในตารางสรุปสถิติ ในสมัยก่อนที่ตารางสรุปสถิติจะเป็นที่นิยม การบันทึกคะแนนส่วนใหญ่ทำโดยการเขียนขีดแทนรันบนไม้[108] อ้างอิงจากโรว์แลนด์ โบเวน ตารางสรุปสถิติที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักถูกนำมาใช้ในปี ค.ศ. 1776 โดยที. แพรตต์ จากเมืองซีฟโนกส์ และในไม่ช้าตารางสรุปสถิติก็มีการใช้งานโดยทั่วไป[109] เชื่อกันว่าตารางสรุปสถิติถูกพิมพ์และขายที่สนามคริกเกตลอร์ดสเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1846[110]

"จิตวิญญาณของคริกเกต"

นอกจากการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว นักคริกเกตยังต้องเคารพ "จิตวิญญาณของคริกเกต (Spirit of Cricket)" ซึ่งเป็นแนวคิดที่รวมความเป็นน้ำใจนักกีฬา การเล่นที่ยุติธรรม และความเคารพซึ่งกันและกัน "จิตวิญญาณของคริกเกต" นี้ถือเป็นส่วนสำคัญของกีฬามานานแล้ว แต่มีการกำหนดไว้อย่างคลุมเครือเท่านั้น ท่ามกลางความกังวลว่า "จิตวิญญาณของคริกเกต" กำลังจะอ่อนแอลง ในปี ค.ศ. 2000 ได้มีการเขียนคำนำเข้าไปในกฎหมายซึ่งแนะนำให้ผู้เข้าร่วมทุกคนเล่นด้วยจิตวิญญาณของการแข่งขัน คำนำได้รับการปรับปรุงล่าสุดในปี ค.ศ. 2017 ที่เขียนเปิดว่า:[111]

"ความน่าดึงดูดและความสนุกสนานของคริกเกตส่วนมาก มาจากการที่การแข่งขันนั้นไม่ได้มีการเล่นตามเพียงแค่กฎเท่านั้น แต่ยังเล่นตามจิตวิญญาณของคริกเกตอีกด้วย"

คำนำเป็นคำกล่าวสั้น ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเน้น "พฤติกรรมเชิงบวกที่ทำให้คริกเกตเป็นการแข่งขันที่น่าตื่นเต้นที่ส่งเสริมความเป็นผู้นำ มิตรภาพ และการทำงานเป็นทีม"[112] บรรทัดที่สองระบุว่า "ความรับผิดชอบหลักในการสร้างความยุติธรรมนั้นอยู่ที่กัปตัน แต่ความรับผิดชอบนั้นขยายไปถึงผู้เล่นทุกคน เจ้าหน้าที่การแข่งขัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคริกเกตรุ่นเยาว์ ครู ผู้ฝึกสอน และผู้ปกครอง"[111]

กรรมการเป็นผู้ตัดสินการเล่นที่ยุติธรรมและไม่ยุติธรรม การเข้าไปแทรกแซงในกรณีที่มีการเล่นที่เป็นอันตรายหรือไม่เป็นธรรม หรือในกรณีที่ผู้เล่นมีพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ จะต้องอยู่ภายใต้กฎของคริกเกต

รูปแบบก่อนหน้าของ "จิตวิญญาณของคริกเกต" มีการระบุถึงการกระทำที่ถือว่าเป็นการทำให้ "จิตวิญญาณของคริกเกต" เสื่อมเสีย (เช่น การอุทธรณ์ทั้งที่รู้าผู้ตีไม่เอาต์) แต่รายละเอียดทั้งหมดตอนนี้ครอบคลุมอยู่ในกฎของคริกเกต กฎกติกาการเล่นและประมวลวินัยที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว โดยการตัดสินว่าการกระทำต่าง ๆ นั้นอยู่ใน "จิตวิญญาณของคริกเกต" หรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับผู้ตัดสิน กัปตันทีม สโมสร และหน่วยงานกำกับดูแล

คริกเกตหญิง

มิฐาลี ราชจากทีมชาติอินเดีย เป็นผู้เล่นเพียงคนเดียวที่ทำได้ 6,000 รันในคริกเกตทีมชาติหนึ่งวันหญิง

บันทึกแรกเกี่ยวกับคริกเกตหญิงนั้นถูกบันทึกในเซอร์รีย์ ในปี ค.ศ. 1745[113] การพัฒนาคริกเกตนานาชาติได้เริ่มขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 และการคริกเกตเทสต์หญิงนัดแรกระหว่างทีมชาติออสเตรเลียและทีมชาติอังกฤษ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1934[114] ในปีถัดมาทีมชาตินิวซีแลนด์ได้ร่วมเล่นคริกเกตเทสต์ด้วย และในปี ค.ศ. 2007 ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ กลายเป็นทีมที่สิบที่ได้เล่นคริกเกตเทสต์ โดยคู่แข่งทีมแรกคือทีมชาติแอฟริกาใต้

ในปี ค.ศ. 1958 ได้มีการก่อตั้งสภาคริกเกตสตรีสากล (International Women's Cricket Council)[114] ในปี ค.ศ. 1973 การแข่งขันคริกเกตโลกครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงในอังกฤษ[114] ในปี ค.ศ. 2005 สภาคริกเกตสตรีสากลได้รวมเข้ากับสภาคริกเกตนานาชาติ (ICC) เพื่อสร้างองค์กรแบบครบวงจรเพื่อช่วยในการจัดการและพัฒนาคริกเกต

ทีมชาติออสเตรเลียคือเป็นทีมชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในคริกเกตหญิง โดยเป็นผู้ชนะคริกเกตโลกหญิงทั้งในรูปแบบโอดีไอและที20 ถึงรายการละห้าสมัย และเป็นทีมที่ครองอันดับหนึ่งในการจัดอันดับทีมโอดีอของไอซีซีมาหลายปี[115]

การปกครอง

ประเทศสมาชิกของไอซีซี ประเทศที่เล่นคริกเกตเทสต์ (สมาชิกเต็มรูปแบบ) จะแสดงเป็นสีแดง ประเทศสมาชิกสมทบจะแสดงเป็นสีส้ม โดยประเทศที่มีสถานะโอดีไอจะแสดงเป็นสีเข้ม สมาชิกที่ถูกระงับหรือสมาชิกเก่าจะแสดงเป็นสีเทาเข้ม

สภาคริกเกตนานาชาติ หรือไอซีซี (International Cricket Council; ICC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ดูไบ เป็นองค์กรปกครองคริกเกตระดับโลก ก่อตั้งขึ้นในชื่อ ราชคณะคริกเกต (Imperial Cricket Conference) ในปี ค.ศ. 1909 โดยตัวแทนจากอังกฤษ ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะคริกเกตนานาชาติ (International Cricket Conference) ในปี ค.ศ. 1965 และเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันในปี ค.ศ. 1989[114] ในปี พ.ศ. 2021 ไอซีซีมีสมาชิก 105 ประเทศ โดย 12 ประเทศมีสถานะเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบและสามารถเล่นคริกเกตเทสต์ได้[116] โดยไอซีซีมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดระเบียบและกำกับดูแลการแข่งขันคริกเกตระดับนานาชาติที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริกเกตโลกชายและหญิง ทั้งในรูปแบบโอดีไอและที20 นอกจากนี้ไอซีซียังมีหน้าที่แต่งตั้งผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ในการแข่งขันคริกเกตเทสต์ โอดีไอ และที20 ทีมชาติ

ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศจะมีคณะกรรมการคริกเกตระดับชาติซึ่งควบคุมการแข่งขันคริกเกตที่เล่นในประเทศของตน เลือกผู้เล่นในทีมชาติ และจัดทัวร์เหย้าและเยือนสำหรับทีมชาติ[117] ในภูมิภาคเวสต์อินดีส ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ประกอบไปด้วยชาติที่เคยเป็นอาณานิคมของจักรววรดิอังกฤษในแคริบเบียน คริกเกตในภูมิภาคนี้จะถูฏควบคุมโดยคริกเกตเวสต์อินดีส[118]

ตารางด้านล่างแสดงรายชื่อสมาชิกเต็มรูปแบบของไอซีซี และคณะกรรมการคริกเกตในแต่ละประเทศ:[119]

ชาติ องค์การปกครอง เป็นสมาชิกตั้งแต่[120]
อัฟกานิสถาน คณะกรรมการคริกเกตอัฟกานิสถาน 22 มิถุนายน ค.ศ. 2017
ออสเตรเลีย คริกเกตออสเตรเลีย 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1909
บังกลาเทศ คณะกรรมการคริกเกตบังกลาเทศ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2000
อังกฤษ คณะกรรมการคริกเกตอังกฤษและเวลส์ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1909
อินเดีย คณะกรรมการควบคุมคริกเกตในอินเดีย 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1926
ไอร์แลนด์ คริกเกตไอร์แลนด์ 22 มิถุนายน ค.ศ. 2017
นิวซีแลนด์ คริกเกตนิวซีแลนด์ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1926
ปากีสถาน คณะกรรมการคริกเกตปากีสถาน 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1952
แอฟริกาใต้ คริกเกตแอฟริกาใต้ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1909
ศรีลังกา คริกเกตศรีลังกา 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1981
เวสต์อินดีส คริกเกตเวสต์อินดีส 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1926
ซิมบับเว คริกเกตซิมบับเว 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1992

รูปแบบของคริกเกต

คริกเกตเทสต์ระหว่างทีมชาติแอฟริกาใต้กับทีมชาติอังกฤษในเดือนมกราคม ค.ศ. 2005 ชายใส่กางเกงสีดำเป็นผู้ตัดสิน ทีมในคริกเกตเทสต์ คริกเกตเฟิสต์คลาส และคริกเกตคลับ ผู้เล่นจะใส่ชุดสีขาวล้วนและเล่นด้วยลูกคริกเกตสีแดง

คริกเกตเป็นกีฬาที่มีความซับซ้อน และมีการเล่นคริกเกตในหลายรูปแบบโดยสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ คือ คริกเกตเฟิสต์คลาส (First Class Cricket) และคริกเกตจำกัดโอเวอร์ (Limited Overs Cricket) รูปแบบคริกเกตที่ได้รับการยกว่าเป็นมาตรฐานสูงสุดของกีฬาคือคริกเกตเทสต์ (Test Cricket; อาจเขียนด้วยตัว "T") ซึ่งถือว่าเป็นสับเซ็ตของคริกเกตเฟิสต์คลาส โดยทีมที่ลงเล่นในคริกเกตเทสต์นั้นเป็นทีมที่เป็นตัวแทนของสิบสองประเทศที่เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของไอซีซี (ดูด้านบน) โดยซีรีส์แรกที่ได้ชื่อว่าเป็นการแข่งขันคริกเกตเทสต์ซีรีส์แรก คือการแข่งขันระหว่างทีมชาติออสเตรเลีย และทีมชาติอังกฤษ ในออสเตรเลียในฤดูกาล 1876–1877 ; ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1882 ซีรีส์เทสต์ส่วนใหญ่ระหว่างทีมชาติออสเตรเลียและอังกฤษจะนิยมเรียกว่าดิแอเชส (The Ashes) คำว่า "เฟิสต์คลาส (First Class)" ที่แปลว่า "ชั้นหนึ่ง" โดยทั่วไปใช้กับคริกเกตที่เล่นกันฝั่งละสองอินนิงส์ในประเทศที่เป็นสมาชิกเต็มรูปแแบบของไอซีซี คริกเกตเทสต์จะมีเวลาในการเล่นทั้งหมดห้าวัน และสามถึงสี่วันในคริกเกตเฟิสต์คลาส ในการแข่งขันทั้งหมดเหล่านี้ แต่ละทีมจะได้เล่นกันฝั่งละสองอินนิงส์ และผลเสมอสามารถเกิดขึ้นได้[121]

คริกเกตแบบจำกัดโอเวอร์มีกำหนดให้มีผลแพ้ชนะภายในวันเดียว และแต่ละทีมจะได้เล่นกันฝั่งละหนึ่งอินนิงส์ และสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ คือคริกเกตลิสต์เอ (List A Cricket) ซึ่งปกติจะเล่นห้าสิบโอเวอร์ต่อทีม; และคริกเกตทเวนตี20 [Twenty20; อ่านว่า ทเวนตีทเวนตี นิยมเรียกว่า ที20 (T20)]ซึ่งแต่ละทีมจะเล่นยี่สิบโอเวอร์ต่อทีม โดยคริกเกตแบบจำกัดโอเวอร์ทั้งสองแบบจะเล่นในระดับสากลในฐานะคริกเกตทีมชาติหนึ่งวัน [Limited Overs Internationals หรือโอดีไอ (LOI)] และคริกเกตทีมชาติที20 [Twenty20 Internationals หรือที20ไอ (T20I)] ตามลำดับ

มีการเริ่มเล่นคริกเกตลิสต์เอในอังกฤษในฤดูกาล 1963 ในฐานะถ้วยแพ้คัดออกที่แข่งขันกันโดยสโมสรระดับเฟิร์สคลาส ในปี ค.ศ. 1969 ได้มีการจัดการแข่งขันระดับชาติขึ้น แนวคิดนี้ค่อย ๆ นำมาใช้กับประเทศคริกเกตชั้นนำอื่น ๆ และการแข่งขันแบบจำกัดโอเวอร์ระหว่างประเทศครั้งแรกเริ่มเล่นในปี 1971 ในปี 1975 ได้มีการจักแข่งขันคริกเกตโลกครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ ในขณะที่ที 20 เป็นรูปแบบใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การแข่งขันเสร็จสิ้นภายในเวลาประมาณสามชั่วโมง โดยปกติการแข่งขันในรูปแบบนี้จะนิยมเล่นกันในช่วงเย็น มีการคริกเกตที20 โลกครั้งแรกในปี ค.ศ. 2007 คริกเกตแบบจำกัดโอเวอร์จะไม่มีการเสมอ และการแข่งขันที่ยังไม่จบจะถูกประกาศว่า "ไม่มีผลการแข่งขัน"[122][123]

คริกเกตวิคเกตเดียวเคยเป็นรูปแบบที่เป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 18 และ 19 และเคยถูกยกว่าเป็นรูปแบบที่เป็นมาตรฐานสูงสุดของกีฬา ในรูปแบบนี้ แม้ว่าแต่ละทีมอาจมีผู้เล่นตั้งแต่หนึ่งถึงหกคน แต่ก็มีผู้ตีเพียงครั้งละหนึ่งคนเท่านั้น และเขาต้องเผชิญหน้าการโยนลูกทุกครั้งในขณะที่อินนิงส์ของเขายังคงอยู่ แทบไม่มีการเล่นคริกเกตวิคเกตเดียวนับตั้งแต่มีการเล่นคริกเกตแบบจำกัดโอเวอร์ แต่ละทีมจะได้เล่นฝั่งละสองอินนิงส์และสามารถมีผลเสมอได้[124]

การแข่งขัน

มาการแข่งขันคริกเกตทั้งในระดับนานาชาติและในประเทศ มีการแข่งขันชิงแชมป์ระดับนานาชาติที่สำคัญหนึ่งรายการต่อรูปแบบ และในประเทศที่เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของไอซีซี จะมีการแข่งขันในประเทศระดับประเทศอย่างน้อยหนึ่งรายการต่อรูปแบบ ในปัจจุบันได้มีการจัดแข่งขันลีกที20เป็นจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งทำให้เกิดวลีว่า "ปรากฏการณ์ที20"[125]

การแข่งขันระดับนานาชาติ

การแข่งขันระดับนานาชาติส่วนใหญ่จะเล่นเป็นส่วนหนึ่งของ 'ทัวร์' เมื่อทีมชาติของประเทศหนึ่งเดินทางไปยังอีกประเทศหนึ่งเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และเล่นการแข่งขันหลายประเภทกับประเทศเจ้าภาพ บางครั้งจะมีการมอบถ้วยรางวัลให้กับทีมผู้ชนะซีรีส์คริกเกตเทสต์ โดยซีรีส์ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดคือรายการดิแอชเชสระหว่างทีมชาติอังกฤษและออสเตรเลีย และรายการบอร์เดอร์-กาวาสการโทรฟีระหว่างทีมชาติออสเตรเลียกับอินเดีย

นอกจากนี้ ไอซีซียังจัดการแข่งขันสำหรับหลายประเทศพร้อมกัน เช่น รายการคริกเกตโลก รายการคริกเกตที20โลก และรายการไอซีซีแชมเปียนส์โทรฟี ไอซีซียังมีการจัดการแข่งขันลีกสำหรับคริกเกตเทสต์ที่นำผลการแข่งขันจากซีรีส์คริกเกตเทสต์ต่าง ๆ คือ ไอซีซีเวิลด์เทสต์แชมเปียนชิป โดยเริ่มการแข่งขันครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019 มีการแข่งขันลีกสำหรับโอดีไอ ไอซีซีเวิลด์คัพซูเปอร์ลีก เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 เพื่อเป็นการหาทีมเข้าสู่รายการคริกเกตโลก

ไอซีซียังเป็นผู้ที่ทำการจัดอันดับทีมเทสต์ ทีมโอดีไอ และทีมที20 และมีการจัดอันดับผู้เล่นในตำแหน่งผู้ตี ผู้โยน และออลราวเดอร์ในทั้งสามรูปแบบอีกด้วย

การแข่งขันสำหรับประเทศสมาชิกของไอซีซีที่มีสถานะเป็นสมาชิกร่วม ประกอบไปด้วย ไอซีซีอินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ สำหรับการแข่งขันคริกเกตเฟิสต์คลาส และเวิลด์คริกเกตลีกสำหรับการแข่งขันแบบวันเดียว การแข่งขันในรอบสุดท้ายของรายการนี้ยังทำหน้าที่เป็นรอบคัดเลือกของคริกเกตโลกอีกด้วย

การแข่งขันระดับประเทศ

สโมสรคริกเกตมณฑลยอร์คเชอร์ในปี ค.ศ. 1895 เป็นทีมแรกที่ชนะการแข่งขันเคาน์ตีแชมเปียนชิปในปี ค.ศ. 1893

คริกเกตเฟิสต์คลาส

คริกเกตเฟิร์สคลาสในอังกฤษส่วนใหญ่จะเล่นโดย 18 สโมสรระดับเทศมณฑลซึ่งแข่งขันในลีกเคาน์ตีแชมเปียนชิป (County Championship) แนวคิดของแชมป์ระดับประเทศมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แต่การแข่งขันอย่างเป็นทางการยังไม่เป็นที่ยอมรับจนถึงปี ค.ศ. 1890[42] สโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือยอร์คเชอร์ ซึ่งเป็นผู้ชนะในรายการนี้ที่ 33 สมัย[126]

ต่อมาได้มีก่อตั้งการแข่งขันลีกชิงแชมป์ระดับเฟิร์สคลาสในออสเตรเลียขึ้นในปี ค.ศ. 1892-93 ในชื่อเชฟฟิลด์ชิลด์ (Sheffield Shield) ในออสเตรเลีย ทีมระดับเฟิร์สคลาสเป็นตัวแทนของรัฐต่าง ๆ[127] โดยทีมนิวเซาธ์เวลส์เป็นทีมทีชนะเป็นจำนวนครั้งมากที่สุดที่ 47 สมัย

ในอินเดีย ได้มีจัดแข่งขันลีกคริกเกตเฟิสต์คลาสเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1934-35 ในชื่อรันจีโทรฟี (Ranji Trophy) โดยทีมมุมไบเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยได้ตำแหน่งชนะเลิศที่ 41 สมัย

ประเทศสมาชิกไอซีซีเต็มรูปแบบประเทศอื่น ๆ เองก็ได้มีการแข่งขันคริกเกตเฟิสต์คลาสระดับชาติของตนเอง โดยประกอบไปด้วย อาห์มัด ชาห์ อับดาลี โฟร์เดย์ทัวร์นาเมนท์ (อัฟกานิสถาน); ลีกคริกเกตแห่งชาติ (บังคลาเทศ); การแข่งขันชิงแชมป์ระหว่างจังหวัด (ไอร์แลนด์); พลันเกตชิลด์ (นิวซีแลนด์); ไควด์-อี-อาซัม โทรฟี (ปากีสถาน); เคอร์รีคัพ (แอฟริกาใต้); พรีเมียร์โทรฟี (ศรีลังกา); เชลล์ชิลด์ (เวสต์อินดีส); และโลแกนคัพ (ซิมบับเว)

คริกเกตลิสต์เอ

การแข่งขันคริกเกตลิสต์เอรายการแรกคือรายการจิลเลตต์คัพ (Gillette Cup) ซึ่งประกอบด้วยทีมมณฑลทั้ง 18 ทีมของอังกฤษ โดยมีการแข่งขันครั้งแรกในปี ค.ศ. 1963 การแข่งขันคริกเกตลิสต์เอในประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่รายการรอยัลลอนดอนวันเดย์คัพ (Royal London One-Day Cup) ในประเทศอังกฤษ วิชัย ฮาซาเร โทรฟี (Vijay Hazare Trophy) ในประเทศอินเดีย และมาร์ชวันเดย์คัพ (Marsh One-Day Cup) ในประเทศออสเตรเลีย

คริกเกตที 20

การแข่งขันอินเดียนพรีเมียร์ลีกที่ไฮเดอราบาด ปี ค.ศ. 2015

ที20 บลาสต์ [T20 Blast] เป็นการแข่งขันคริกเกตที20 รายการแรกที่เริ่มมีการแข่งขันขึ้นในปี ค.ศ. 2003 ในชื่อทเวนตี20คัพ (Twenty20 Cup) โดยประกอบด้วยทีมมณฑลทั้ง 18 ทีมของอังกฤษเช่นเดียวกับจิลเลตต์คัพ จดประสงค์ของการแข่งขันรูปแบบใหม่นั้นเกิดขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มฐานผู้รับชมคริกเกตในอังกฤษที่กำลังลดลง ซึ่งในรอบชิงชนะเลิศระหว่างเซอร์รีย์และมิดเดิลเซกส์ มียอดผู้ชมที่ 27,509 คน ซึ่งเป็นยอดผู้ชมที่สูงที่สุดในคริกเกตมณฑล (ยกเว้นการแข่งขันคริกเกตลิตส์เอรอบชิงชนะเลิศ) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953[128] ซึ่งความสำเร็จนี้ได้ทำให้มีการเริ่มจัดแข่งขันคริกเกตที 20 ขึ้นมาในประเทศต่าง ๆ

อินเดียนพรีเมียร์ลีก [(Indian Premier League หรือไอพีแอล (IPL)] เป็นลีกคริกเกตแฟรนไชส์ที่เล่นในรูปแบบที 20 ที่จัดแข่งขันในประเทศอินเดีย และเป็นลีกที่ได้ชื่อว่ามีมูลค่าสูงที่สุดในคริกเกต โดยมีมูลค่าที่ 475 พันล้านรูปีในปี ค.ศ. 2019[129] ไอพีแอลเริ่มมีการแข่งขันเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2008 จากความสำเร็จของคริกเกตที 20โลกในปีก่อนหน้านั้น ทีมประสบความสำเร็จมากที่สุดในไอพีแอลคือทีมมุมไบอินเดียนส์ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศที่ 5 สมัย

ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับคริกเกตได้ได้ให้ความเห็นว่าไอพีแอลนั้นได้ส่งผลต่อวงการคริกเกตทั่วโลก โดยนอกจากจะทำให้วงการคริกเกตมีเงินสะพัดในระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนแล้ว ความสำเร็จไอพีแอลยังส่งผลให้มีการก่อตั้งการแข่งขันแฟรนไชส์ที 20 ขึ้นมาทั่วโลก เช่น แคริบเบียนพรีเมียร์ลีก [Caribbean Premier League หรือซีพีแอล (CPL)] ในภูมิภาคแคริบเบียน ปากีสถานซูเปอร์ลีก [Pakistan Super League หรือพีเอสแอล (PSL)] ในประเทศปากีสถาน และบิกแบชลีก [Big Bash League หรือบีบีแอล(BBL)] ในประเทศออสเตรเลีย[130][131]

อื่น ๆ

ไมเนอร์เคาน์ตีสคริกเกตแชมเปียนชิป เป็นรายการแข่งขันคริกเกตสามวันที่เริ่มมีการแข่งขันในปี ค.ศ. 1895 โดยมีทีมจากมณฑลที่ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันในเคาน์ตีแชมเปียนชิป และทีมสำรองจากทีมในเคาน์ตีแชมเปียนชิป ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1959 ทีมสำรองทั้งหลายได้แยกออกมาแข่งขันคริกเกตสามวันในชื่อเซเคินด์ XI แชมเปียนชิป

คริกเกตสโมสรและโรงเรียน

การแข่งขันคริกเกตที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักกันคือการแข่งขันคริกเกตระดับหมูบ้านที่ฟมู่บ้านเชฟนิง (Chevening) ในมณฑลเคนต์ ซึ่งอนุมานได้จากคดีในศาลในปี 1640 ที่บันทึกถึง "การเล่นคริกเกต" ของทีม "วีลด์และพวกอัปแลนด์ (Weald and the Upland)" กับทีม "ชอล์คฮิลล์ (Chalk Hill)" เมื่อ "ประมาณสามสิบปีแล้ว" ( คือ ป. 1611 ). การแข่งขันระหว่างตำบลเริ่มได้รับความนิยมในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 17 และยังคงพัฒนาต่อไปจนถึงศตวรรษที่ 18 โดยมีลีกท้องถิ่นลีกแรก ๆ ก่อตั้งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19[20]

ในระดับรากหญ้า มีการเล่นคริกเกตระดับสโมสรมักจะหมายถึงคริกเกตระดับสมัครเล่นที่ผู้เล่นเล่นเป็นงานอดิเรก แต่บางครั้งอาจหมายถึงคริกเกตที่เล่นในการแข่งขันในช่วงสุดสัปดาห์หรือในตอนเย็น คริกเกตระดับโรงเรียนซึ่งมีหลักฐานว่ามีการเล่นเป็นครั้งแรกในตอนใต้ของอังกฤษในศตวรรษที่ 17 และยังคงเล่นดันอย่างทั่วไปในทณฑลที่คริกเกตเป็นที่นิยม[132] แม้ว่ารูปแบบการแข่งขันจะมีความแตกต่างกันเมื่อเทียบกับคริกเกตมืออาชีพ การแข่งขันระดับสมัครเล่นยังคงเล่นภายใต้กฎของคริกเกต และการแข่งขันของสโมสร/โรงเรียนยังถือว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นทางการและมีการแข่งขันเป็นรายการชิงแชมป์[133] นอกจากนี้ ยังมีการเล่นคริกเกตในระดับสมัครเล่นในแบบที่ไม่เป็นทางการมากมาย เช่น คริกเกตฝรั่งเศส[134]

คริกเกตและวัฒนธรรม

อิทธิพลของคริกเกตในชีวิตประจำวัน

คริกเกตมีผลกระทบในวงกว้างต่อวัฒนธรรมสมัยนิยม ทั้งในเครือจักรภพแห่งประชาชาติ และที่อื่น ๆ ตัวอย่างเช่น มีอิทธิพลต่อศัพท์เฉพาะของชาติเหล่านี้ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ด้วยวลีต่าง ๆ เช่น

  1. "นั่นไม่ใช่คริกเกต (that's not cricket)" หมายถึง ไม่ยุติธรรม
  2. "มีอินนิงส์ที่ดี (had a good innings)" หมายถึง มีอายุยืนยาว
  3. " วิคเกตเหนียว (sticky wicket)" หรือ "บนวิคเกตเหนียว (On a sticky wicket)" [หรือที่รู้จักว่า "สุนัขเหนียว (sticky dog)" หรือ "หม้อกาว (glue pot)"][135] เป็น คำอุปมา[136] ใช้เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่ยากลำบาก มีต้นกำเนิดมาจากคำที่ใช้เรียกสภาพการตีลูกยากในคริกเกต ซึ่งเกิดจากสนามที่เปียกชื้น ซึ่งเป็นสภาพวิคเกตที่เห็นได้ทั่วไปในอดีต[137]

คริกเกตในศิลปะและวัฒนธรรมสมัยนิยม

คริกเกตเป็นหัวข้อที่กวีชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงหลายคนเคยใช้ รวมถึงวิลเลียม เบลก และลอร์ดไบรอน[138] โดย บียอนด์อะบาวน์ดารีย์ (Beyond a Boundary) (1963) เขียนโดยนักเขียนชาวตรินิแดด ซี.แอล.อาร์. เจมส์ เป็นหนังสือที่มักได้รับการขนานนามว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดในกีฬาทุกประเภทที่เคยเขียนมา[139]

ทอม วิลส์ นักคริกเกตและผู้ร่วมคิดค้นออสเตรเลียนฟุตบอล

ในทัศนศิลป์ ได้มีภาพวาดคริกเกตที่โดดเด่น ได้แก่ภาพ เคนต์พบแลงคาเชอร์ที่แคนเทอบรี (Kent vs Lancashire) (1907) ของอัลเบิร์ต เชอวาลิเยร์ เทย์เลอร์ และภาพ เหล่านักคริกเกต (The Cricketers) (1948) ของ รัสเซล ดรายส์เดล ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น "ภาพวาดจากออสเตรเลียที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20"[140] จิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ชาวฝรั่งเศส กามีร์ ปีซาโร ได้วาดภาพคริกเกตเมื่อไปเยือนอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1890 ภาพยนตร์ของผู้ตีของ ฟรานซิส เบคอน ที่เป็นแฟนคริกเกตตัวยง[138] ภาพคริกเกตของเวนดี นานัน ศิลปินชาวแคริบเบียน[141] ถูกนำใช้ในฉบับแรกของชุดสแตมป์ "เวิลด์ออฟอินเวนชัน (World of Invention)" ของราชไปรษณีย์อังกฤษ ซึ่งเป็นการฉลองการประชุมคริกเกตลอนดอนในวันที่ 1-3 มีนาคม ค.ศ. 2007 ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในการประชุมเชิงศิลปะระดับนานาชาติครั้งแรกที่เกี่ยวกับคริกเกต และเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองการแข่งขันคริกเกตโลก 2007[142]

อิทธิพลของคริกเกตต่อกีฬาอื่น ๆ

คริกเกตมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับออสเตรเลียนฟุตบอล และผู้เล่นหลายคนได้เข้าแข่งขันในระดับสูงสุดในกีฬาทั้งสองประเภท[143] ในปี ค.ศ. 1858 ทอม วิลส์ นักคริกเกตชาวออสเตรเลียผู้โด่งดังได้เรียกร้องให้มีการสร้าง "สโมสรฟุตบอล" เพื่อให้นักคริกเกตยังคงสภาพร่างกายในช่วงนอกฤดูกาล ในปีต่อมาสโมสรฟุตบอลเมลเบิร์นได้ก่อตั้งขึ้น ในขณะที่วิลส์และสมาชิกอีกสามคนได้เขียนกฎฉบับแรกของของกีฬาขึ้นมา[144] โดยทั่วไปแล้ว ออสเตรเลียนฟุตบอลจะเล่นในสนามคริกเกตที่ดัดแปลงให้เหมาะสม[145]

ในอังกฤษ สโมสรแอสโซซิเอชันฟุตบอลหลายแห่งมีต้นกำเนิดมาจากการที่นักนักคริกเกตที่ต้องการตั้งสโมสรเพื่อเล่นฟุตบอล ในแผนการรักษาร่างกายให้สมบูรณ์ตลอดช่วงฤดูหนาว ในปี ค.ศ. 1884 สโมสรฟุตบอลดาร์บีเคาน์ตีได้ก่อตั้งขึ้นในฐานะสาขาหนึ่งของสโมสรคริกเกตมณฑลดาร์บีเชอร์[146] ในช่วงนั้นเอง สโมสรแอสตันวิลลา (1874) และสโมสรเอฟเวอร์ตัน (1876) ได้ก่อตั้งโดยสมาชิกของทีมคริกเกตของโบสถ์ท้องถิ่น[147] สนามบรามอลล์เลน ของ เชฟฟีลด์ยูไนเต็ด เคยเป็นสนามเหย้าของสโมสรคริกเกตเชฟฟีลด์และสโมสรคริกเกตมณฑลยอร์กเชอร์ ; ไม่มีการใช้สำหรับฟุตบอลจนกระทั่งปี ค.ศ. 1862 และถูกใช้ร่วมกันโดยยอร์คเชอร์และเชฟฟิลด์ยูไนเต็ดจาก ค.ศ. 1889 ถึง 1973[148]

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อดีตนักคริกเกตที่เกิดในอังกฤษชื่อเฮนรี แชดวิก จากบรุกลิน นิวยอร์ก ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างใบบันทึกคะแนนเบสบอลใบแรก[149] ซึ่งเขาดัดแปลงมาจากใบบันทึกคะแนนคริกเกต ใบบันทึกคะแนนใบแรกปรากฏให้เห็นในฉบับปี 1859 ของนิตยสาร คลิปเปอร์ (Clipper)[150] ใบบันทึกคะแนนของแชดวิกมีความสำคัญต่อ "แก่นแท้ทางประวัติศาสตร์" ของเบสบอลเป็นอย่างมาก จนทำให้บางครั้งนักประวัติศาสตร์เบสบอลได้เรียกแชดวิกว่า "บิดาของเบสบอล" เพราะเขาผู้เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยทำให้เบสบอลเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงศตวรรษที่ 19[151]

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถ

หมายเหตุ

  1. คำว่า "มือสมัครเล่น" ในบริบทนี้ ไม่ได้หมายถึงผู้ที่เล่นคริกเกตเป็นงานอดิเรก ผู้เล่นสมัครเล่นหลายคนนั้นเล่นคริกเกตเฟิร์สทคลาสเป็นงานเต็มเวลา ซึ่งรสมไปถึงผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กีฬาคนหนึ่งอย่างดับเบิลยู.จี. เกรซ
  2. ความแตกต่างที่สำคัญของคริกเกตกับกีฬาไม้ตีและลูกกีฬาอื่น ๆ คือในขณะที่เบสบอลและเทนนิสจะมีการเปลี่ยนลูกเพื่อให้คงสภาพที่ดีที่สุดในการเล่น ในคริกเกตจะมีการใช้ลูกคริกเกตอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการเปลี่ยนลูกในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบ
    • ในคริกเกตเทสต์ จะมีการเปลี่ยนลูกทุก ๆ 80 โอเวอร์ หรือจนกว่าจะขึ้นอินนิงส์ใหม่
    • ในคริกเกตโอดีไอ จะมีการใช้ลูกคริกเกตสองลูกในแต่ละอินนิงส์ โดยการเปลี่ยนลูกจะเกิดขึ้นในโอเวอร์ที่ 34
    • ในคริกเกตที 20 จะมีการใช้ลูกคริกเกตเพียงลูกเดียวตลอดทั้งอินนิงส์
  3. ในกรณีของคริกเกตจำกัดโอเวอร์ หากผู้โยนโยนโนบอล ลูกที่ผู้โยนต้องโยนทดแทนจะเรียกว่าฟรีฮิต (free hit) ซึ่งผู้ตีจะไม่สามารถถูกทำให้เอาต์จากวิธีการใด ๆ ยกเว้นรันเอาต์ได้

อ้างอิง

  1. https://australiansportscamps.com.au/blog/how-to-teach-cricket-to-kids-beginners/
  2. "ICC survey reveals over a billion fans – 90% in subcontinent".
  3. "Cricket, baseball, rounders and softball: What's the difference?". www.bbc.co.uk. สืบค้นเมื่อ 5 September 2020.
  4. Major (2007), p. 17.
  5. 5.0 5.1 Barclays (1986), p. 1.
  6. Altham (1962), pp. 19–20.
  7. 7.0 7.1 7.2 Altham (1962), p. 21.
  8. Underdown (2000), p. 3.
  9. 9.0 9.1 Major (2007), p. 19.
  10. Altham (1962), p. 22.
  11. 11.0 11.1 Major (2007), p. 31.
  12. 12.0 12.1 Birley (1999), p. 3.
  13. Bowen (1970), p. 33.
  14. 14.0 14.1 Terry, David (2000). "The Seventeenth Century Game of Cricket: A Reconstruction of the Game" (PDF). The Sports Historian, No. 20. London: The British Society of Sports History. pp. 33–43. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 November 2009. สืบค้นเมื่อ 2 May 2016.
  15. Hardman, Ray (31 October 2013). "Before There Was Baseball, There Was Wicket". www.wnpr.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 5 September 2020.
  16. Birley (1999), p. 9.
  17. Barclays (1986), pp. 1–2.
  18. Major (2007), pp. 21–22.
  19. McCann (2004), p. xxxi.
  20. 20.0 20.1 Underdown (2000), p. 4.
  21. McCann (2004), pp. xxxiii–xxxiv.
  22. McCann (2004), pp. xxxi–xli.
  23. Underdown (2000), pp. 11–15.
  24. Birley (1999), pp. 7–8.
  25. Major (2007), p. 23.
  26. 26.0 26.1 Birley (1999), p. 11.
  27. Birley (1999), pp. 11–13.
  28. Webber (1960), p. 10.
  29. Haygarth (1862), p. vi.
  30. McCann (2004), p. xli.
  31. Major (2007), page 36.
  32. Major (2007), pp. 268–269.
  33. Williams (2012), p. 23.
  34. Williams (2012), pp. 94–95.
  35. Birley (1999), p. 146.
  36. Birley (1999), pp. 14–16.
  37. Ashley-Cooper, F. S. (1900). "At the Sign of the Wicket: Cricket 1742–1751". Cricket: A Weekly Record of the Game. Cardiff: ACS. pp. 4–85. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 September 2017. สืบค้นเมื่อ 8 September 2017.
  38. Nyren (1833), pp. 153–154.
  39. Wisden. "Evolution of the Laws of Cricket". Wisden Cricketers' Almanack, 100th edition (1963 ed.). London: Sporting Handbooks Ltd. pp. 184–187.
  40. Birley (1999), pp. 64–67, 97–101.
  41. Barclays (1986), p. 456.
  42. 42.0 42.1 "Annual Meeting of County Secretaries – the programme for 1890". Cricket: A Weekly Record of the Game. Cardiff: ACS. 1889. pp. 478–479. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 September 2017. สืบค้นเมื่อ 3 July 2017.
  43. Frith, David (1978). The Golden Age of Cricket: 1890–1914. Guildford: Lutterworth Press. ISBN 0-7188-7022-0.
  44. Das, Deb (n.d.). "Cricinfo – Cricket in the USA". ESPNcricinfo. สืบค้นเมื่อ 9 March 2007.
  45. Birley (1999), pp. 96–97.
  46. Barclays (1986), pp. 62, 78, 87, 99, 113, 127 & 131.
  47. Birley (1999), p. 97.
  48. "The Australian Eleven: The first Australian team". National Museum of Australia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-08. สืบค้นเมื่อ 30 December 2014.
  49. Anthony Bateman; Jeffrey Hill (17 March 2011). The Cambridge Companion to Cricket. Cambridge University Press. p. 101. ISBN 978-0-521-76129-1.
  50. Reg Hayter, "The Centenary Test Match", Wisden 1978, pp. 130–32.
  51. Lewis, Wendy; Simon Balderstone; John Bowan (2006). Events That Shaped Australia. New Holland. p. 75. ISBN 978-1-74110-492-9.
  52. Wisden. "Dates in Cricket History". Wisden Cricketers' Almanack, 100th edition (1963 ed.). London: Sporting Handbooks Ltd. p. 183.
  53. "Notes by the Editor". Wisden Cricketers' Almanack online. ESPNcricinfo. 1982. สืบค้นเมื่อ 2 July 2017.
  54. Booth, Douglas (1998). The Race Game: Sport and Politics in South Africa. Routledge. p. 88. ISBN 0-7146-4799-3.
  55. Wisden. "One-Day Knockout Competition, 1963". Wisden Cricketers' Almanack, 100th edition (1963 ed.). London: Sporting Handbooks Ltd. pp. 1074–1076.
  56. Barclays (1986), pp. 495–496.
  57. Barclays (1986), pp. 496–497.
  58. "Not luck, not fluke - New Zealand deserve to be the World Test Champions". ESPNcricinfo (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
  59. "Laws". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 4 July 2017.
  60. 60.0 60.1 60.2 60.3 "Law 1 – Players". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 1 July 2017.
  61. "Law 19 – Boundaries". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 3 July 2017.
  62. "Law 7 – The pitch". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2017. สืบค้นเมื่อ 3 July 2017.
  63. "Law 8 – The wickets". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 3 July 2017.
  64. "Law 9 – The bowling, popping and return creases". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2017. สืบค้นเมื่อ 3 July 2017.
  65. 65.0 65.1 65.2 65.3 65.4 "Law 12 – Innings". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2017. สืบค้นเมื่อ 2 July 2017.
  66. "Law 18 – Scoring runs". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 2 July 2017.
  67. "Law 27 – Appeals". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2017. สืบค้นเมื่อ 2 July 2017.
  68. "LAW 25 BATTER'S INNINGS; RUNNERS | MCC". www.lords.org. สืบค้นเมื่อ 5 January 2020.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  69. 69.0 69.1 69.2 "ICC Test Match Playing Conditions" (PDF). ICC. 1 September 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-09-03. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.
  70. 70.0 70.1 70.2 70.3 "Law 21 – The result". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 January 2017. สืบค้นเมื่อ 2 July 2017.
  71. 71.0 71.1 71.2 "Law 3 – The umpires". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 4 July 2017.
  72. "Australia v England, 3rd Test, 1970/71". CricketArchive. สืบค้นเมื่อ 4 July 2017.
  73. 73.0 73.1 73.2 73.3 "Law 22 – The over". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2017. สืบค้นเมื่อ 4 July 2017.
  74. "Appendix D". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2017. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  75. 75.0 75.1 "Law 41 – The fielder". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2017. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  76. Birley (1999), p. 343.
  77. "Law 6 – The bat". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2017. สืบค้นเมื่อ 4 July 2017.
  78. "Appendix E – The bat". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2017. สืบค้นเมื่อ 4 July 2017.
  79. "Law 5 – The ball". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2017. สืบค้นเมื่อ 4 July 2017.
  80. ภาพนี้เป็นภาพถ่ายจากการแข่งขันโอดีไอระหว่าง ทีมชาติออสเตรเลียและทีมชาติศรีลังกา โดยผู้โยนมุตติยะห์ มุระลิถารันจากศรีลังกากำลังโยนลูกไปหาผู้ตีออสเตรเลียอดัม กิลคริสต์
  81. 81.0 81.1 "Law 2 – Substitutes, etc". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2017. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  82. Marylebone Cricket Club. "Summary of changes to the Laws of Cricket 2017 Code" (PDF). Lords the Home of Cricket. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 June 2017. สืบค้นเมื่อ 4 May 2018.
  83. "Most wickets taken in an ICC World Cup career (male)". Guinness World Records. สืบค้นเมื่อ 23 June 2015.
  84. 84.0 84.1 "Types of fast bowling". TalkCricket. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  85. "Spin bowling". TalkCricket. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  86. "Law 30 – Bowled". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-03. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  87. "Law 32 – Caught". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  88. "Law 38 – Run out". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  89. "Law 39 – Stumped". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  90. "Law 36 – Leg before wicket". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  91. "Law 35 – Hit wicket". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  92. "Law 37 – Obstructing the field". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  93. "Law 34 – Hit the ball twice". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  94. "Law 31 – Timed out". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2017. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  95. "Law 2 – Section 9: Batsman retiring". MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2017. สืบค้นเมื่อ 18 July 2017.
  96. "Law 27 – Appeals". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2017. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  97. "Grip, Stance, Back-Lift". สืบค้นเมื่อ 12 October 2019.
  98. "Batting". TalkCricket. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  99. 99.0 99.1 99.2 "Law 18 – Scoring runs". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  100. "Law 19 – Boundaries". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  101. 101.0 101.1 "Law 24 – No ball". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2017. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  102. 102.0 102.1 "Law 25 – Wide ball". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2017. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  103. 103.0 103.1 "Law 26 – Bye and Leg bye". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2017. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  104. "Law 40 – The wicket-keeper". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 April 2017. สืบค้นเมื่อ 4 July 2017.
  105. "Bowling Strategy". TalkCricket. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  106. "Batting Strategy". TalkCricket. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  107. "Law 4 – The scorers". Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2017. สืบค้นเมื่อ 4 July 2017.
  108. Bowen (1970), p. 57.
  109. Bowen (1970), p. 266.
  110. Bowen (1970), p. 274.
  111. 111.0 111.1 "Preamble to the Laws". Laws of Cricket. MCC. สืบค้นเมื่อ 4 June 2020.
  112. "Summary of changes to the Laws of Cricket 2017 Code" (PDF). Laws of Cricket. MCC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 June 2017. สืบค้นเมื่อ 10 September 2018.
  113. "ICC History of Cricket (pre-1799)". ICC. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  114. 114.0 114.1 114.2 114.3 "ICC History of Cricket (20th century)". ICC. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  115. "ICC Launches Global Women's T20I Team Rankings" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 12 October 2018.
  116. "About the ICC". ICC. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  117. "About the England and Wales Cricket Board". ECB. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  118. "Cricket West Indies". Cricket West Indies. สืบค้นเมื่อ 7 July 2017.
  119. "ICC Rankings". International Cricket Council. ICC Development (International) Limited. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-07. สืบค้นเมื่อ 9 February 2016.
  120. "A brief history ..." Cricinfo. สืบค้นเมื่อ 2 May 2008.
  121. Rundell, Michael (2006). Dictionary of Cricket. London: A&C Black Publishers Ltd. p. 336. ISBN 978-0-7136-7915-1. สืบค้นเมื่อ 17 October 2011.
  122. "ICC clarification of limited overs". ESPNcricinfo. สืบค้นเมื่อ 8 July 2017.
  123. "The first official T20". ESPNcricinfo. 12 March 2016. สืบค้นเมื่อ 8 July 2017.
  124. Major (2007), pp. 155–167 & 404–410.
  125. "The T20 Revolution - The Freelancers". Cricbuzz (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 9 September 2020.
  126. Playfair. Marshall, Ian (บ.ก.). Playfair Cricket Annual (70th edition) (2017 ed.). London: Headline. p. 216.
  127. Harte, p. 175.
  128. Weaver, Paul (25 May 2009). "Usman Afzaal gives Surrey winning start but absent fans fuel concerns". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 17 May 2012.
  129. Laghate, Gaurav (20 September 2019). "IPL brand valuation soars 13.5% to Rs 47,500 crore: Duff & Phelps". The Economic Times. สืบค้นเมื่อ 22 September 2019.
  130. "IPL world's 6th most attended league, Big Bash 9th: Report".
  131. "The lowdown on the major T20 leagues".
  132. Birley (1999), pp. 9–10.
  133. Birley (1999), pp. 151–152.
  134. "Rules of French Cricket". topend sports. สืบค้นเมื่อ 8 July 2017.
  135. Green, Jonathon (1987). Dictionary of Jargon. Routledge. p. 528. ISBN 9780710099198.
  136. Marcus Callies; Wolfram R. Keller; Astrid Lohöfer (2011). Bi-directionality in the Cognitive Sciences: Avenues, Challenges, and Limitations. John Benjamins Publishing. pp. 73–. ISBN 978-90-272-2384-5.
  137. Robert Hendrickson (2001). World English: From Aloha to Zed. Wiley. ISBN 978-0-471-34518-3.
  138. 138.0 138.1 Smart, Alastair (20 July 2013). "The art of cricket: Enough to leave you stumped", The Telegraph. Retrieved 12 March 2016.
  139. Rosengarten, Frank (2007). Urbane Revolutionary: C. L. R. James and the Struggle for a New Society. University Press of Mississippi, ISBN 87-7289-096-7 p. 134
  140. Meacham, Steve (6 June 2009). "Montmartre, with eucalypts". Sydney Morning Herald. Fairfax. สืบค้นเมื่อ 31 August 2009.
  141. "Caribbean cricket art, in the middle". BBC News. สืบค้นเมื่อ 11 June 2016.
  142. "Cricket: Dawn of a New World". Bletchley Park Post Office. March 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-16. สืบค้นเมื่อ 11 June 2016.
  143. Blainey, Geoffrey (2010). A Game of Our Own: The Origins of Australian Football. Black Inc. p. 186. ISBN 978-1-86395-347-4.
  144. de Moore, Greg (2008). Tom Wills: His Spectacular Rise and Tragic Fall. Allen & Unwin. pp. 77, 93–94. ISBN 978-1-74175-499-5.
  145. Hess, Rob (2008). A National Game: The History of Australian Rules Football. Viking. p. 44. ISBN 978-0-670-07089-3.
  146. Goldstein, p. 184.
  147. Goldstein, pp. 15 & 184.
  148. Goldstein, p. 458.
  149. His Hall of Fame plaque states, in part: "Inventor of the box score. Author of the first rule-book ... Chairman of rules committee in first nationwide baseball organization." Lederer, Rich. By the Numbers: Computer technology has deepened fans' passion with the game's statistics. Memories and Dreams (Vol. 33, No. 6; Winter 2011[–2012], pp. 32–34). National Baseball Hall of Fame official magazine.
  150. Pesca, Mike (30 July 2009). "The Man Who Made Baseball's Box Score a Hit". National Public Radio. สืบค้นเมื่อ 8 March 2014.
  151. Arango, Tim (12 November 2010). "Myth of baseball's creation endures, with a prominent fan". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 8 November 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

องค์กรและการแข่งขัน

สื่อ

ข่าวสารและข้อมูลอื่น ๆ