บานประตูวิหารวัดพระฝาง
บานประตูวิหารวัดพระฝาง | |
---|---|
ชื่อสามัญ | ประตูวัดพระฝาง |
ประเภท | บานประตูศาสนสถาน |
ศิลปะ | ศิลปะอยุธยา |
ความกว้าง | 1.20 เมตร (หนา 0.20 เมตร) |
ความสูง | 5.30 เมตร (อกเลาขนาด 0.15 x 0.24 เมตร) |
วัสดุ | ไม้เนื้อแข็ง |
สถานที่ประดิษฐาน | บานจริง จัดแสดงอยู่ที่อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย, บานจำลอง จัดแสดงในวิหารหลวงวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ |
ความสำคัญ | บานประตูไม้จำหลักปิดทองโบราณขนาดใหญ่ แสดงถึงชั้นเชิงในฝีมือช่างไม้ของคนในสมัยอยุธยาที่หาชมได้ยาก และได้รับการยกย่องว่าเป็นบานประตูไม้จำหลักที่มีความใหญ่และสวยงามที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา |
บานประตูวัดพระฝาง เป็นบานประตูไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกโบราณสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นบานประตูพุทธศาสนสถานที่มีความสวยงามมากที่สุด 1 ใน 3 คู่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ คือ บานประตูวิหารวัดพระฝาง, บานประตูพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ และบานประตูวิหารวัดดอนสัก โดยประตูวิหารวัดพระฝางนี้เป็น 1 ใน 2 คู่ บานประตูสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน[1]
ปัจจุบันบานประตูวัดพระฝางบานเดิมจัดแสดงอยู่ที่อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย ภายในตัวเมืองอุตรดิตถ์ [2]ส่วนบานจำลองสร้างใหม่ติดตั้งจัดแสดงอยู่ในกรอบประตูวิหารหลวงวัดพระฝาง สามารถเข้าชมได้ทุกวัน
ประวัติ
[แก้]ความสำคัญ
[แก้]บานประตูวัดพระฝาง คู่นี้แกะสลักในสมัยอยุธยา เป็นบานประตูไม้จำหลักปิดทองโบราณขนาดใหญ่ แสดงถึงชั้นเชิงในฝีมือช่างไม้ของคนในสมัยอยุธยาที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน บานประตูคู่นี้แต่ละบานมีขนาดกว้าง 1.2 เมตร สูง 5.5 เมตร และหนาถึง 16 เซนติเมตร ทำจากไม้ปรุแกะสลักเป็นลายกนกก้านขด ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ บานละ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มทรงข้าวบิณฑ์มีกนกใบเทศขนาบ สองข้างขวามือด้านบนมีอกเลาประตูอยู่ตรงกลาง แกะสลักเป็นลายเทพพนม ตอนบนอกเลา 4 องค์ตอนล่างอกเลา 4 องค์ กล่าวกันว่างดงามเป็นที่สองรองจากประตูพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ในกรุงเทพมหานครฯ
ในพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช 2444 ได้ทรงกล่าวถึงบานประตูวัดพระฝางไว้ว่า[3]
"พระวิหารหลวงที่เมืองฝางก็เปนลักษณเดียวกันกับที่ทุ่งยั้ง ลายประตูก็เปนลายสลักก้านขด แต่ที่ซึ่งเปนภาพต่าง ๆ นั้นเปนกระหนกใบตั้งปิดทอง... แต่สลักลายเช่นนี้ ใช้ขุดไม้ลงไปให้ลายเด่นออกมา เช่นบานวัดสุทัศน์ แต่เด่นออกมามากกว่าวัดสุทัศน์ ใช้ไม้หนาขุดเอาจริง ๆ ไม่ได้สลักลายมาทาบ ทำงามดีมาก"
— พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช ๒๔๔๔
สถานที่จัดแสดง
[แก้]เดิมบานประตูคู่นี้ติดตั้งเป็นบานประตูของพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุประจำเมืองฝาง (วัดพระฝาง) มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในระยะหลังเมืองฝางเสื่อมความเจริญ วัดพระฝางและวิหารหลวงจึงถูกทิ้งให้รกร้างทรุดโทรมขาดการดูแลรักษา อันตรายต่อการถูกโจรกรรมและถูกทำลายจากภัยธรรมชาติ ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 พระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้นจึงได้ขออนุญาตกรมศิลปากรนำมาเก็บรักษาไว้อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย ซึ่งอยู่ในตัวเมืองอุตรดิตถ์แทน โดยจากประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในรายการที่ 29.1-29.2 ลงวันที่ 9 กันยายน 2530 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 104 หน้าที่ 10 ตอนที่ 235 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 ได้ระบุว่าบานประตูทั้งคู่นี้ ยังคงเป็น "สมบัติของวัดพระฝาง"[4] [5] จนถึงปัจจุบัน
การอนุรักษ์
[แก้]ในปี พ.ศ. 2534 กรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่มาอนุรักษ์เนื้อไม้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ บานประตูวัดพระฝางจึงมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
บานประตูวัดพระฝางจำลอง
[แก้]ในปี พ.ศ. 2550 สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม[6] ได้จัดทำบานประตูวัดพระฝางจำลอง เพื่อนำไปติดตั้งที่เดิม ยังกรอบประตูของวิหารหลวงวัดพระฝาง ในคราวงานสมโภชพระฝางทรงเครื่องจำลอง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ในปัจจุบันมีบานประตูวัดพระฝาง 2 คู่
-
ลายเทพพนม ศิลปะอยุธยา (บานดั้งเดิม)
-
ลวดลายบานประตูวัดพระฝาง (บานดั้งเดิม) ในอาคารธรรมสภา (ชั้นสอง)
ดูเพิ่ม
[แก้]- วัดธรรมาธิปไตย สถานที่เก็บรักษาบานประตูวิหารวัดพระฝางบานจริง
- เมืองสวางคบุรี
- วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ศูนย์กลางเมืองสวางคบุรีโบราณ
- ชุมนุมพระเจ้าฝาง ชุมนุมอิสระหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
- โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา สถานที่เกี่ยวเนื่องกับที่ตั้งค่ายพระตำหนักหาดสูงคราวปราบชุมนุมพระเจ้าฝางตามพระราชพงศาวดาร
- พระฝางจำลอง (พระพุทธรูป) องค์จำลองสร้างใหม่ ที่ประดิษฐานในอุโบสถวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
- พระฝาง (พระพุทธรูป) องค์จริงที่ประดิษฐานในวิหารสมเด็จ วัดเบญจมบพิตร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ______. (2550). อุตรดิตถ์. แพร่: ห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่ไทยการพิมพ์.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ[ลิงก์เสีย], เล่ม 92, ตอน 109, 10 มิถุนายน พ.ศ. 2518, หน้า 1422
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2465). พระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ ในรัชกาลที่ 5 นับในหนังสือเรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆเปนภาคที่ 5. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทย. หน้า 46-47
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ, เล่ม 104, ตอน 235, 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530, หน้า 10
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2518/D/109/1422.PDF
- ↑ โครงการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานวัดพระฝางสว่างคบุรีมุนีนาถ (วัดพระฝาง).เว็บไซต์สำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง[ลิงก์เสีย]