ข้ามไปเนื้อหา

วังไกลกังวล

พิกัด: 12°35′18″N 99°57′18″E / 12.588439°N 99.955121°E / 12.588439; 99.955121
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระตำหนักวังไกลกังวล)
วังไกลกังวล
แผนที่
ชื่อเดิมสวนไกลกังวล
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทวัง
ที่ตั้งตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน
เมือง ประจวบคีรีขันธ์
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2469
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร

วังไกลกังวล เป็นวังในพื้นที่ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่พระราชฐานที่ดูแลโดยสำนักพระราชวัง สำหรับเป็นรโหฐานที่ประทับแปรพระราชฐานในต่างจังหวัด

ประวัติ

[แก้]

วังไกลกังวลสร้างขึ้นตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระคลังข้างที่ ให้สร้างขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2469 เพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานในขณะนั้นเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง เพื่อใช้งานในการแปรพระราชฐานมาพักในจังหวัดริมทะเล

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพระนามเรียกวังแห่งนี้ว่า "สวนไกลกังวล" ทรงเอาแบบอย่างชื่อมาจากพระราชวังซ็องซูซีในประเทศเยอรมนีซึ่งมีความหมายเดียวกัน ทรงสมโภชขึ้นตรงวังเมื่อ พ.ศ. 2472 เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีพระบรมราชโองการประกาศยกเป็นพระราชวัง ดังนั้น จึงยังคงเรียกว่า วังไกลกังวล[1]

พระตำหนักและอาคารประกอบ

[แก้]
  • พระตำหนักเปี่ยมสุข เป็นพระตำหนักตึกแบบสเปนสูงสองชั้นพร้อมทั้งหอสูง เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในอดีตเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
  • พระตำหนักน้อย เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระราชบิดาและพระราชมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โปรดเสด็จไปประทับพักผ่อนเมื่อตามเสด็จไปหัวหิน และเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  • พระตำหนักปลุกเกษม เป็นตำหนักโปร่ง ๆ แบบไทยปนสมัยใหม่ มีห้องนอนหลายห้อง ด้านหลังตั้งโต๊ะและเก้าอี้หมู่ และใกล้ ๆ กันนั้นมีห้องน้ำและห้องส้วมชั้นล่างมีห้องอีกหลายห้องเหมือนกัน สำหรับหม่อมเจ้าหญิงที่เป็นโสด ซึ่งใกล้ชิดในราชสำนักโดยเสด็จพระราชดำเนินไปตากอากาศด้วย ปัจจุบัน เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • พระตำหนักเอิบเปรม เอมปรีย์ เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งพระตำหนักมีลักษณะชั้นเดียวคู่ฝาแฝด การก่อสร้างและการวางห้องเครื่องใช้ คล้ายคลึงกันตำหนักฝาแฝดนี้เตี้ยเกือบติดพื้นดินซึ่งสร้างเป็นแบบบังกาโลสำหรับตากอากาศชายทะเลอย่างแท้จริง
  • ศาลาเริง เป็นศาลาเอนกประสงค์สำหรับเลี้ยงพระ พระราชทานเลี้ยง ทรงกีฬา ทรงดนตรีทั้งไทยเดิมและเทศ จัดฉายภาพยนตร์ที่ทรงถ่าย รวมไปถึงภาพยนตร์ต่างประเทศ การ์ตูนสำหรับเด็กในพระราชอุปการะ พร้อมจัดงานรื่นเริงและการแสดงต่าง ๆ
  • ศาลาราชประชาสมาคม เดิมเรียกว่า อาคารอเนกประสงค์ มีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ใต้ถุนโล่ง ชั้นล่างใช้เป็นลานจัดกิจกรรม ชั้นบนเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ สำหรับให้ข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้โดยไม่ต้องเสด็จฯ กลับกรุงเทพมหานคร เช่น พิธีพระราชทานกระบี่ของนักเรียนนายร้อย เป็นต้น โดยต่อมาในปี พ.ศ. 2556 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่ออาคารอเนกประสงค์ว่า ศาลาราชประชาสมาคม หมายถึง พระมหากษัตริย์และประชาชนเกื้อกูลระหว่างกัน และใช้เป็นสถานที่เสด็จออกมหาสมาคมครั้งสุดท้ายของพระองค์[2]

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใช้วังไกลกังวลเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในช่วงฤดูร้อน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงออกนามเรียกวังแห่งนี้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง "ทองแดง" ไว้ว่า "วังไกลกังวล"

ปัจจุบัน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จมาประทับที่วังไกลกังวลอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากพระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง อยู่ระหว่างบูรณะซ่อมแซม

การเข้าเยี่ยมชม

[แก้]

ก่อนปี พ.ศ. 2549 มีการบูรณะส่วนต่างและให้เข้าได้เฉพาะในสวนสาธารณะเท่านั้น โดยต้องตรวจบัตรประชาชน สามารถเข้าใช้ออกกำลังกายและใช้สถานที่ได้เฉพาะเวลาเย็นเท่านั้น[3]

ปัจจุบัน ไม่ได้เปิดให้เข้าเยี่ยมชมแล้ว[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม, หน้า 16 จากเวปไซต์ราชบัณฑิตยสถาน
  2. "ความเป็นมาของศาลาราชประชาสมาคม". แนวหน้า. 5 พฤษภาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2024.
  3. ประกาศการใช้ที่พื้นที่สาธารณะในสวนสาธารณะทะเลน้อย[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

12°35′18″N 99°57′18″E / 12.588439°N 99.955121°E / 12.588439; 99.955121