แขวงสุวรรณเขต
แขวงสุวรรณเขต ແຂວງສະຫວັນນະເຂດ | |
---|---|
ร้านอาหารในแม่น้ำโขง | |
แผนที่แขวงสุวรรณเขต | |
แผนที่ประเทศลาวเน้นแขวงสุวรรณเขต | |
พิกัด: 16°32′N 105°47′E / 16.54°N 105.78°E | |
ประเทศ | ลาว |
เมืองเอก | ไกสอน พมวิหาน |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 21,774 ตร.กม. (8,407 ตร.ไมล์) |
ประชากร (สำมะโนเดือนกรกฎาคม 2561) | |
• ทั้งหมด | 1,037,553 คน |
• ความหนาแน่น | 48 คน/ตร.กม. (120 คน/ตร.ไมล์) |
เขตเวลา | UTC+07 |
รหัสไปรษณีย์ | 13000 |
รหัส ISO 3166 | LA-XI |
สุวรรณเขต หรือ สะหวันนะเขด (ลาว: ສະຫວັນນະເຂດ, สะหวันนะเขด) เป็นชื่อหน่วยทางการปกครองระดับแขวงหนึ่งของประเทศลาวอยู่ทางตอนกลางของประเทศ มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศคือ 21,774 ตร.กม มีประชากรมากกว่า 1.037 ล้านคนจากการสำรวจสำมะโนครัวใน พ.ศ. 2561 พลเมืองส่วนใหญ่ร้อยละ 70% ทำเกษตรกรและอุตสาหกรรม ทิศเหนือติดกับ แขวงคำม่วน ทิศใต้ติดกับแขวงสาละวัน ทิศตะวันออกติดกับเวียดนาม และทิศตะวันตกติดกับไทย
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ได้มีพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 อย่างเป็นทางการ สะพานแห่งนี้เป็นเส้นทางเชื่อมตะวันออก-ตะวันตกจากเวียดนามถึงพม่า ทำให้แขวงสุวรรณเขตกลายเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญอีกแห่งของลาว รัฐบาลลาวได้ประกาศจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโนขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุน
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]แผนที่ | รหัสเมือง | เมือง (ไทย) | เมือง (ลาว) | เมือง (อังกฤษ) |
---|---|---|---|---|
13-01 | ไกสอน พมวิหาน (เดิม : คันธบุรี) |
ໄກສອນ ພົມວິຫານ (เดิม : ຄັນທະບູລີ) |
Kaysone Phomvihane (เดิม : Khanthabouly) | |
13-02 | อุทุมพอน | ອຸທຸມພອນ | Outhoumphone | |
13-03 | อาดสะพังทอง | ອາດສະພັງທອງ | Atsaphangthong | |
13-04 | พีน | ພີນ | Phine | |
13-05 | เซโปน | ເຊໂປນ | Sepone | |
13-06 | นอง | ນອງ | Nong | |
13-07 | ท่าปางทอง | ທ່າປາງທອງ | Thapangthong | |
13-08 | สองคอน | ສອງຄອນ | Songkhone | |
13-09 | จำพอน | ຈຳພອນ | Champhone | |
13-10 | ซนบุลี | ຊົນບຸລີ | Xonnabouly | |
13-11 | ไซบูลี | ໄຊບູລີ | Xaybuly | |
13-12 | วีละบุลี | ວີລະບຸລີ | Vilabuly | |
13-13 | อาดสะพอน | ອາດສະພອນ | Atsaphone | |
13-14 | ไซพูทอง | ໄຊພູທອງ | Xayphouthong | |
13-15 | พะลานไซ | ພະລານໄຊ | Phalanxay |
ประวัติ
[แก้]ก่อนสมัยขอมเรืองอำนาจดินแดนแถบนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของนครรัฐศรีโคตรบูร (สีโคดตะบูนหรือสีโคดตะบอง) นครรัฐสำคัญในพุทธตำนานท้องถิ่น ต่อมาในสมัยขอมเรืองอำนาจได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิประเทศหรือสุวัณณภูมิรัฐที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและเป็นดินแดนเผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกับเวียงจันทน์ พ.ศ. 2120 รัชกาลพระยาศรีวรวงษาธิราชหรือพระมหาอุปราชศรีวรวงษา (พ.ศ. 2118-23) หม่อมบ่าวหลวง (เจ้าคำโพน) กวานดงเขนยเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูและนางสิมมาภริยา ได้อพยพไพร่พลจากน้ำน้อยอ้อยหนูทางภาคเหนือของล้านช้างลงมาตั้งหมู่บ้านชื่อว่าบ้านหลวงโพนสิมแล้วยกขึ้นเป็นเมืองชื่อเมืองหลวงมหาสุวัณณภูมคำโพนสิมมาเขตต์ (เมืองโพนสิมเก่า) โดยถือเอาแร่ทองคำและภูมิประเทศซึ่งเป็นเนินดินสูงมาเป็นนิมิตเมือง ปัจจุบันห่างจากตัวเมืองสุวรรณเขตราว 18 กิโลเมตรในเส้นทางไปพระธาตุอิงฮัง วัดพระธาตุอิงฮัง บ้านธาตุอิงฮัง นครไกสอนพมวิหาน ครั้นถึง พ.ศ. 2185 ท้าวแก้วสิมพลีบุตรชายคนรองอพยพไพร่พลหลายสิบครัวแยกออกไปตั้งบ้านเมืองใหม่ในริมฝั่งแม่น้ำโขงชื่อว่าบ้านท่าแฮ่ (ท่าแหหรือท่าแห่) แล้วสร้างวัดขึ้นโดยใช้หินแฮ่ที่มีอยู่มากในบริเวณริมโขงมาเป็นวัสดุก่อสร้าง
ต่อมาท้าวแก้วสิมพลีจึงอพยพไพร่พลข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งที่ปากห้วยบังมุกแล้วตั้งเป็นเมืองใหม่ชื่อว่ามุกดาหารบุรีสีมุตติกนคร (เมืองบังมุก) โดยถือเอาหอยกาบมุกที่ปากห้วยบังมุกเป็นนิมิตเมือง ฝ่ายพี่ชายชื่อท้าวคำสิงห์ได้อพยพไพร่พลไปสร้างบ้านท่าสะโน (ท่าสะโหน) แล้วข้ามแม่น้ำโขงไปตั้งบ้านชะโนด (สะโนด) ในอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารปัจจุบัน ครั้นหม่อมบ่าวหลวงบิดาถึงแก่อนิจกรรมชาวเมืองจึงตั้งท้าวหลวงท่อมเป็นเจ้าเมืองสืบต่อโดยมีผู้คนอาศัยอยู่เบาบางไม่ถึงร้อยหลังคาเรือน หลัง พ.ศ. 2256 สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรหรือเจ้าหน่อกษัตริย์ (พ.ศ. 2256-80) สถาปนาตนเป็นปฐมกษัตริย์นครจำปาสักได้โปรดฯ ให้เจ้าจารย์จันทสุริยวงศ์โอรสเจ้าศรีวิชัยแห่งราชวงศ์เวียงจันทน์ศิษย์คนสำคัญของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กไปปกครองเมืองหลวงโพนสิมร้างอยู่หลายสิบปี มีเมืองพิน เมืองนอง เมืองตะโปน (เซโปน) เป็นเมืองขึ้น ต่อมา พ.ศ. 2310 เจ้าจันทกินรี (เจ้ากินรี) บุตรเจ้าจารย์จันทสุริยวงศ์ได้อพยพไพร่พลจากเมืองหลวงโพนสิมมาสร้างเมืองบังมุกร้างของท้าวแก้วสิมพลีและได้รับนามยศเป็นเจ้าพระยาสีโสราชอุปราชามันธาตุราชเจ้าเมืองมุกดาหารบุรีสีสัตตตาลนคร โดยถือเอาแก้วมุกดาหารที่เสด็จลอยออกจากต้นตาลเจ็ดยอดในเวลากลางคืนเป็นนิมิต[ต้องการอ้างอิง]
ในเขตตัวเมืองสุวรรณเขตปัจจุบันแต่เดิมมีหมู่บ้านหนึ่งเรียกกันว่า บ้านท่าแฮ่ (ท่าแร่) เพราะอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ ทองคำ และนัยว่าอุดมด้วยหินแฮ่ จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นที่มาของชื่อแขวงสุวรรณเขตด้วย คำว่าสุวรรณเขตนั้นมาจากคำว่า สุวรรณ หรือ สุวัณฺณ แปลว่าทอง ซึ่งคนลาวเรียกว่าคำ รวมกับคำว่า เขต หรือ เขตฺต ที่แปลว่าเขตแดนหรือดินแดน ดังนั้นคำว่า สุวรรณเขต จึงหมายถึงดินแดนแห่งทองคำ นอกจากนี้ ในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาตั้งศูนย์กลางการปกครองอาณานิคมบริเวณตอนกลางของลาวนั้น ฝรั่งเศสได้อาศัยการตั้งชื่อแขวงสุวรรณเขตนี้จากหมู่บ้านที่ชื่อว่า บ้านนาคำ อย่างไรก็ตาม ชนชั้นปกครองแขวงสุวรรณเขตในสมัยอาณานิคมได้เลือกใช้คำศัพท์คำว่า สะหวัน แทนคำว่า สุวรรณ จึงทำให้แขวงสุวรรณเขตได้ชื่อว่าสะหวันนะเขด ซึ่งแปลว่าดินแดนแห่งสวรรค์มาแต่บัดนั้น ในปัจจุบันคนลาวไม่เรียกแขวงสะหวันนะเขตว่าสุวรรณเขตอีกแล้ว มีแต่เพียงเอกสารเก่าของลาวเท่านั้นที่เรียกชื่อเมืองนี้ว่า สุวรรณเขต[ต้องการอ้างอิง]
หลังจากลาวตกเป็นประเทศอาณานิคมแล้ว ฝรั่งเศสได้สร้างเมืองสุวรรณเขตให้เป็นศูนย์กลางทางการปกครองที่สำคัญแห่งหนึ่งของลาวตอนกลาง พร้อมทั้งวางผังเมืองใหม่ โดยตั้งท้าววรกุมาร (ปุ้ย) นายด่านบ้านผักขยานากุดจาน เมืองอาดสะพังทอง ซึ่งเคยเป็นอดีตกรมการเก่าเมืองมุกดาหาร ให้เป็น พญาปุ้ย เจ้าเมืองสุวรรณเขตคนแรก และตั้ง ท้าวฮ่อม หลานชายของพระอมรฤทธิธาดา (กุ) เจ้าเมืองพาลุกากรภูมิ (เมืองตาลุกะหรือบ้านบังทราย) ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงขึ้นเป็นเจ้าเมืองคันธบุรีคนแรก ต่อมาหลังจากนั้นไม่นานได้มีการตั้งเมืองคันธบุรีเป็นเมืองหลวงของแขวงสุวรรณเขต เมืองหลวงของแขวง ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น เมืองไกสอน พมวิหาน สำหรับเมืองคันธบุรีนี้ เดิมเคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านข้าโอกาสกัลปนาเพื่อปลูกสวนดอกไม้ไว้สำหรับเก็บมานมัสการพระธาตุอิงฮัง หมู่บ้านนั้นชื่อว่า บ้านดงดอกไม้ เมื่อมีการตั้งบ้านดงดอกไม้ขึ้นเป็นเมือง จึงใช้ชื่อว่า เมืองคันธบุรี แปลว่าเมืองที่มีแต่กลิ่นหอมของดอกไม้นั่นเอง[ต้องการอ้างอิง]
ประชากร
[แก้]ชนเผ่าในแขวงสุวรรณเขตมีทั้งหมด 8 ชนเผ่า ได้แก่ เผ่าลาว, เผ่าผู้ไท, เผ่ามังกอง (มะกอง), เผ่าตะโอ้ย, เผ่าปะโกะ, เผ่าส่วย, เผ่ากะตาง, เผ่าตรี{{[ต้องการอ้างอิง]
สถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]- วัดพระธาตุโพ่น
- วัดพระธาตุอิงฮัง
- วัดรัตนรังษี
- วัดไชยสมบูรณ์
- สะพานมิตรภาพ 2
- วัดเจ้า
- ปราสาทเฮือนหิน
- อนุสาวรีย์ท่านกุ วรวงศ์
- ตลาดสิงคโปร์
- โบสถ์เซนต์เทเรซ่า
- เซโปน
- ป่าสงวนภูช้างแห
- พิพิธภัณฑ์แขวงสุวรรณเขต
- พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์
- ถนนสีเมือง
- ลานพญานาค ริมโขง วัดชัยภูมิ
- ศาลหลักเมืองแขวงสุวรรณเขต
- วัดป่าถ้ำเจีย
- วัดป่ามหาโชค
เทศกาลและงานประเพณีประจำปี
[แก้]- เทศกาลสงกรานต์
- งานมนัสการพระธาตุอิงฮัง
- งานมนัสการพระธาตุโพ่น
- บุญบั้งไฟ
- ประเพณีเข้าพรรษา
- ประเพณีออกพรรษา-เทศกาลแข่งเรือ
การคมนาคม
[แก้]ทางหลวง
[แก้]- ทางหลวงหมายเลข 13 เชื่อมต่อกับแขวงคำม่วน แขวงบอลิคำไซ นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงสาละวัน และแขวงจำปาศักดิ์
- ทางหลวงหมายเลข 9 จากตะวันตกสู่ตะวันออก ระหว่างแขวงสุวรรณเขตไปยังดานัง เวียดนาม
ท่าอากาศยาน
[แก้]ด่านพรมแดนที่สำคัญ
[แก้]- ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ 2 เปิด 06.00–22.00 น.
- ด่านพรมแดนสุวรรณเขต-มุกดาหาร เปิด 06.00–18.00 น.
- ด่านพรมแดนแดนสะหวัน-ลาวบาว เปิด 07.00–18.00 น.
คมนาคม
[แก้]- เส้นทางหมายเลข 9 เป็นเส้นทางเชื่อมเศรษฐกิจ ทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก หรือ EWEC.
- เส้นทางหมายเลข 13 เป็นเส้นทางตัดผ่านแต่เหนือถึงใต้
การเดินทาง
[แก้]- เที่ยวบินจาก แขวงสุวรรณเขต ถึง นครหลวงเวียงจันทร์
- เที่ยวบินจาก แขวงสุวรรณเขต ถึง ปากเซ แขวงจำปาศักดิ์
- เที่ยวบินจาก แขวงสุวรรณเขต ถึง ดานัง เวียดนาม
- เที่ยวบินจาก แขวงสุวรรณเขต ถึง กรุงเทพมหานคร ไทย
จากจังหวัดมุกดาหาร ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 แล้วให้นั่งรถสองแถวหรือรถสามล้อมาด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดมุกดาหาร จากนั้นให้มาติดต่อทำหนังสือเดินทางและซื้อตั๋วเรือข้ามแม่น้ำโขงที่นี่ โดยใช้เวลาประมาณ 25 นาที ก็จะถึงแขวงสุวรรณเขตหรือมาโดยรถโดยสารประจำทาง ที่หมอชิต 2 มีรถโดยสารไปจังหวัดมุกดาหารทุกวัน โทรศัพท์ 0 2936 2841-8, 0 2936 2852-66 เมื่อมาถึงสถานีขนส่ง แล้วให้นั่งรถสองแถวหรือรถสามล้อมาด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดมุกดาหาร จากนั้นให้มาติดต่อทำหนังสือเดินทางและซื้อตั๋วเรือข้ามแม่น้ำโขงที่นี่ ก็จะถึงเมืองแขวงสุวรรณเขต
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- สัญญา ชีวะประเสริฐ. (2555). ความทรงจำของเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขง: มุกดาหาร และสะหวันนะเขด. วารสารประวัติศาสตร์ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ). หน้า 49-60.
- ธวัชชัย พรหมณะ. (2545). ความสำคัญของการอพยพเคลื่อนย้ายกลุ่มชาติพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำโขงต่อความเป็นเมืองสุวรรณเขต ระหว่าง ค.ศ. 1893-1954. สารนิพนธ์ ศศ.ม. (ประวัติศาสตร์เอเชีย). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ดูได้ที่ http://thesis.swu.ac.th/swuthesis/His%28M.A.)/Thawatchai_P.pdf