ข้ามไปเนื้อหา

สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก FC Barcelona)

สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา
ชื่อเต็มสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา
(กาตาลา: Futbol Club Barcelona)
ฉายาL'equip blaugrana (ทีม)
Culers หรือ Culos (ผู้สนับสนุน)
Blaugranes หรือ Azulgranas (ผู้สนับสนุน)
ก่อตั้ง29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 (124 ปี)
สนามสนามกีฬาโอลิมปิกยูอิส กุมปัญส์
ความจุ54,367[1]
ประธานฌูอัน ลาปอร์ตา
ผู้จัดการฮันส์-ดีเทอร์ ฟลิค
ลีกลาลิกา
2023–24ลาลิกา อันดับที่ 2 จาก 20
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน
สีชุดที่สาม
ฤดูกาลปัจจุบัน

สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา (กาตาลา: Futbol Club Barcelona) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บาร์เซโลนา หรือคุ้นเคยในอีกชื่อว่า บาร์ซา (กาตาลา: Barça) เป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพสเปน ตั้งอยู่ที่เมืองบาร์เซโลนา แคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน ปัจจุบันเล่นอยู่ในลาลิกา ลีกสูงสุดของฟุตบอลสเปน

ก่อตั้งในชื่อ ฟุบบ็อลกลุบบาร์ซาโลนา ใน ค.ศ. 1899 โดยกลุ่มของนักฟุตบอลชาวสวิส, อังกฤษ, เยอรมัน และ กาตาลา นำโดยฌูอัน กัมเป สโมสรถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและสะท้อนความเป็นชาตินิยมของชาวกาตาลา โดยมีคำขวัญทางการว่า Més que un club (แปลว่า "[เป็น] มากกว่าสโมสร") เพลงประจำสโมสรคือเพลง "กันดัลบาร์ซา" เขียนโดย เฌามา ปิกัส และฌูแซ็ป มาริอา อัสปินัส และสิ่งที่แตกต่างจากสโมสรอื่นคือ ผู้สนับสนุนหรือแฟนคลับของทีมมีสิทธิ์เป็นเจ้าของและบริหารทีม บาร์เซโลนาเป็นสโมสรที่มีมูลค่าทีมสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกด้วยมูลค่า 5.51 พันล้านดอลลาร์ และเป็นสโมสรที่ร่ำรวยที่สุดในโลกเป็นอันดับ 4 ในด้านของรายได้ โดยมีรายได้ประจำปี 800 ล้านยูโร ใน ค.ศ. 2023[2][3] สโมสรยังเป็นคู่ปรับอันยาวนานกับเรอัลมาดริดและนัดการแข่งขันระหว่างสองทีมนี้เรียกว่า "เอลกลาซิโก" บาร์เซโลนามักใช้ชุดแข่งขันทีมเหย้าเป็นสีกรมท่าและสีแดงโกเมนเป็นหลัก จึงเป็นที่มาของฉายา "เบลากรานา" (Blaugrana)

สำหรับการแข่งขันในประเทศ สโมสรชนะเลิศถ้วยรางวัล 77 รายการ โดยชนะเลิศลาลิกา 27 สมัย, โกปาเดลเรย์ 31 สมัย, ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา 14 สมัย, โกปาเอบาดัวร์เต 3 สมัย และโกปาเดลาลิกา 2 สมัย โดยใน 4 รายการหลังถือเป็นสถิติสูงสุดของสโมสรสเปน ในส่วนของการแข่งขันระดับทวีปและระดับโลก สโมสรชนะเลิศถ้วยรางวัล 22 รายการ ได้แก่ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 5 สมัย, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 4 สมัย (สถิติสูงสุด), ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 5 สมัย, ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 3 สมัย และ ลาตินคัพ 2 สมัย พวกเขายังมีสถิติชนะเลิศรายการอินเตอร์-ซิตีส์แฟส์คัพ 3 สมัย ซึ่งถือถ้วยต้นแบบของการแข่งขันยูฟ่าคัพ สโมสรยังได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับหนึ่งโดยสหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลระหว่างประเทศถึงห้าครั้ง ใน ค.ศ. 1997, 2009, 2011, 2012 และ 2015 และใน ค.ศ. 2023 บาร์เซโลนาอยู่ในอันดับ 9 ตามการจัดอันดับค่าสัมประสิทธิ์สโมสรโดยสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป

บาร์เซโลนายังเป็นสโมสรเดียวของยุโรปที่ลงแข่งขันในฟุตบอลระหว่างทวีปครบทุกฤดูกาลนับตั้งแต่ ค.ศ. 1955 และเป็น 1 ใน 3 สโมสรที่ไม่เคยตกชั้นจากลีกสูงสุดอย่างลาลิกานับตั้งแต่ก่อตั้งลีกใน ค.ศ. 1929 ร่วมกับอัตเลติกเดบิลบาโอ และเรอัลมาดริด ใน ค.ศ. 2009 บาร์เซโลนากลายเป็นสโมสรแรกจากสเปนที่ชนะเลิศ 3 รายการใหญ่ ได้แก่ ลาลิกา, โกปาเดลเรย์ และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และในปีเดียวกันนั้นยังทำสถิติเป็นสโมสรแรกที่ชนะเลิศการแข่งขันมากถึง 6 รายการภายในปีเดียวกัน โดยชนะเลิศเพิ่มอีก 3 รายการได้แก่: ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ และ ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 2008–2012 ภายใต้การฝึกสอนของแป็ป กวาร์ดิออลา บาร์เซโลนาชนะเลิศการแข่งขันมากถึง 14 รายการในระยะเวลาเพียง 4 ปี ซึ่งรวมถึงการคว้าแชมป์ 5 รายการใน ค.ศ. 2011[4] โดยทีมชุดนั้นได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอล[5] และจากการชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกใน ค.ศ. 2015 ภายใต้การฝึกสอนโดย ลุยส์ เอนริเก พวกเขากลายเป็นสโมสรแรกของยุโรปที่ชนะเลิศการแข่งขันสามรายการในฤดูกาลเดียวกันได้สองครั้ง

บาร์เซโลนาเป็นหนึ่งในสโมสรที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดในโลก[6] และสโมสรมีสื่อสังคมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาทีมกีฬาทุกประเภท[7] ผู้เล่นของบาร์เซโลนาได้รับรางวัลรางวัลบาลงดอร์ 12 ครั้ง ถือเป็นหนึ่งในสองสโมสรที่มีผู้เล่นชนะรางวัลนี้มากที่สุด โดยผู้ชนะรางวัลรวมถึงตำนานอย่าง โยฮัน ไกรฟฟ์ และ ลิโอเนล เมสซิ รวมทั้งสถิติรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลกแห่งปี 6 ครั้ง โดยผู้ชนะรางวัลได้แก่ โรนัลโด, โรมารีอู, รอนัลดีนโย, รีวัลดู และเมสซิ ใน ค.ศ. 2010 ผู้เล่นสามตัวหลักที่เติบโตมาจากศูนย์ฝึกเยาวชนของสโมสร: เมสซิ, อันเดรส อินิเอสตา และชาบี ได้รับเลือกให้เป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในโลกสามอันดับแรกในการประกาศรางวัลบาลงดอร์ ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับผู้เล่นหลายคนที่ฝึกฝนมาจากสถาบันแห่งเดียวกัน นอกจากนี้ บาร์เซโลนายังมีสถิติผู้เล่นที่ได้รับรางวัลรองเท้าทองคำของยุโรปมากที่สุดจำนวน 8 ครั้ง[8]

ประวัติ

จุดกำเนิดของสโมสร (1899–1922)

"วอลเตอร์ ไวลด์" ประธานสโมสรคนแรก
"SPORT NOTES PORT NOTES Our friend and partner, Mr. Kans Kamper, from the Foot-Vall Section of the <<Sociedad Los Deportes>> and former Swiss champion, wishing to organize some matches in Barcelona, requests that everyone who likes this sport contact him, come to this office Tuesday and Friday nights from 9 to 11."
ประกาศโฆษณาของกัมเปใน โลสเดปอร์เตสแปลภาษาไทย "หมายเหตุกีฬา" เพื่อนและหุ้นส่วนของเรา นายกันส์ กัมเป จากแผนก Foot-Vall ของ 'Sociedad Los Deportes' และอดีตแชมป์ชาวสวิส มีความประสงค์จะจัดบางการแข่งขันในบาร์เซโลนา ขอให้ทุกท่านที่ชื่นชอบกีฬานี้ติดต่อเขามาที่สำนักงานนี้ในคืนวันอังคาร และศุกร์เวลา 21:00–23:00 นาที"[9]

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1899 ฌูอัน กัมเป ได้ลงประกาศโฆษณาใน โลสเดปอร์เตส ว่ามีความต้องการที่จะก่อตั้งสโมสรฟุตบอล โดยได้รับการตอบรับอย่างดีในการนัดพบกันที่ฆิมนาซิโอโซเล เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยมีผู้เล่น 11 คนมาร่วมประชุมได้แก่: วอลเตอร์ ไวลด์ (ผู้บริหารคนแรกของสโมสร), ลุยส์ ดีออสโซ, บาร์โตเมว เตร์ราดัส, ออตโต กุนเซิล, ออตโต แมเยอร์, เอนริก ดูกัล, เปเร กาบอต, กาเลส ปูคอล, ฌูแซ็ป ยูแบ็ต, จอห์น พาร์สันส์ และวิลเลียม พาร์สัน ทำให้ ฟุบบ็อลกลุบบาร์ซาโลนา ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ[9]

สโมสรประสบความสำเร็จในช่วงแรกกับการแข่งขันระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ได้ลงแข่งในกัมเปียวนัตเดกาตาลุนยาและถ้วยโกปาเดลเรย์ ในปี 1902 สโมสรชนะถ้วยรางวัลแรกในการแข่งขันโกปามากายา และร่วมลงแข่งในโกปาเดลเรย์ครั้งแรก แต่แพ้ 1–2 ให้กับบิซกายาในนัดชิงชนะเลิศ[10] กัมเปได้เป็นประธานสโมสรในปี 1908 แต่สโมสรมีปัญหาด้านการเงินเนื่องจากไม่สามารถชนะการแข่งขันได้ตั้งแต่กัมเปียนัตเดกาตาลัน ในปี 1905 เขาเป็นประธานสโมสรใน 5 วาระในระหว่างปี 1908 ถึง 1925 รวม 25 ปี ที่เขาดำรงตำแหน่ง หนึ่งในความสำเร็จคือการทำให้สโมสรมีสนามกีฬาของตัวเอง ทำให้มีรายได้ที่มั่นคง[11]

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1909 สโมสรได้ย้ายไปสนามกัมเดลาอินดุสเตรีย ที่มีที่นั่งจุ 8,000 คน จากปี 1910 ถึง 1914 บาร์เซโลนาได้ร่วมลงแข่งในถ้วยพิรินีที่ประกอบด้วยทีมที่ดีที่สุดของล็องก์ด็อก, มีดี, อากีแตน (ฝรั่งเศสใต้), ประเทศบาสก์ และกาตาลุญญา ในเวลานั้นถือเป็นการแข่งขันที่ดีที่สุดที่เปิดให้เข้าแข่งขัน[12][13] ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สโมสรได้เปลี่ยนภาษาอย่างเป็นทางการของสโมสรจากภาษาสเปนกัสติยา (Castilian Spanish) เป็นภาษากาตาลา และค่อย ๆ เพิ่มความสำคัญให้กับสัญลักษณ์ที่สำคัญของอัตลักษณ์กาตาลา เพื่อให้แฟนที่สนับสนุนสโมสรแต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรระหว่างการแข่งขันและเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์กลุ่มของสโมสร[14]

กัมเปได้รณรงค์หาสมาชิกสโมสรเพิ่ม และในปี 1922 สโมสรมีสมาชิกมากกว่า 20,000 คนและมีฐานะการเงินเพียงพอที่จะสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ สโมสรได้ย้ายไปเลสกอตส์ โดยเปิดสนามใหม่ในปีเดียวกันนี้[15] เดิมทีเลสกอตส์จุผู้ชมได้ 22,000 คน และต่อมาขยายเพิ่มเป็น 60,000 คน[16] แจ็ก กรีนเวลล์ เป็นผู้จัดการเต็มเวลาคนแรกของสโมสรและสโมสรได้เริ่มต้นพัฒนา ในช่วงระหว่างยุคของกัมเป สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาชนะถ้วยกัมเปียนัตเดกาตาลัน 11 ครั้ง ถ้วยโกปาเดลเรย์ 6 ครั้ง และถ้วยพิเรนีส 4 ครั้ง ถือเป็นยุคทองยุคแรกของสโมสร[10][11]

ริเบรา, สาธารณรัฐ และสงครามกลางเมือง (1923–1957)

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1925 ฝูงชนที่สนามกีฬาร้องเพลงชาติในการประท้วงต่อระบอบเผด็จการของมิเกล เด ริเบรา สนามถูกปิดไป 6 เดือนจากการโต้ตอบด้วยกำลังทหาร และกัมเปถูกบีบให้ถอนตัวจากการเป็นประธานสโมสร[17] จากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสโมสรสู่ความเป็นมืออาชีพ โดยในปี 1926 ผู้บริหารบาร์เซโลนาออกมาประกาศต่อสาธารณะว่าบาร์เซโลนาก้าวสู่การบริหารอย่างมืออาชีพเป็นครั้งแรก[15] สโมสรชนะการแข่งขันถ้วยสเปน และมีการแต่งบทกวีเพื่อเฉลิมฉลองในชื่อ "โอดาอาปลัตโก" เขียนขึ้นโดยสมาชิกกลุ่มรุ่น 27 ที่ชื่อ ราฟาเอล อัลเบร์ตี ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก "วีรกรรม" ของผู้รักษาประตูบาร์เซโลนา[18] เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1930 กัมเปฆ่าตัวตายหลังจากความเครียดที่มาจากปัญหาส่วนตัวและปัญหาด้านการเงิน[11]

ผู้เล่นของบาร์เซโลนาในปี 1926

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยังมีผู้เล่นในการดำรงตำแหน่งของฌูแซ็ป อัสกูลา แต่สโมสรก็ถึงยุคแห่งการเสื่อมถอย เนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องการเมืองที่ลดความสำคัญด้านกีฬาลง[19] ถึงแม้ว่าสโมสรจะได้ถ้วยกัมเปียนัตเดกาตาลันในปี 1930, 1931, 1932, 1934, 1936 และ 1938[10] ที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศ (ยกเว้นข้อพิพาทเรื่องการชนะในปี 1937) จากนั้น 1 เดือนหลังสงครามกลางเมืองสเปนเริ่มขึ้นในปี 1936 นักฟุตบอลหลายคนจากบาร์เซโลนาและอัตเลติกเดบิลบาโอก็เข้าเป็นทหารเพื่อต่อสู้กับการปฏิวัติ[20] เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ฌูแซ็ป ซุญญ็อล ประธานสโมสรและตัวแทนพรรคสนับสนุนการเมืองเสรี ถูกฆาตกรรมโดยทหารกลุ่มฟาลังเฆใกล้กับเมืองกัวดาร์รามา[21] ขนานนามความทุกข์ทรมานในช่วงนี้ของประวัติศาสตร์สโมสรบาร์เซโลนาว่า บาร์ซาลูนิซมา (barcelonisme)[22] ฤดูร้อนปี 1937 ผู้เล่นได้เดินทางไปแข่งขันที่เม็กซิโกและสหรัฐอเมริกาในนามสาธารณรัฐสเปนครั้งที่ 2 การออกแข่งขันนี้ทำให้การเงินของสโมสรมั่นคงขึ้น แต่ก็เป็นผลให้ครึ่งหนึ่งของทีมหาทางลี้ภัยในเม็กซิโกและฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1938 เมืองบาร์เซโลนาถูกโจมตีทางอากาศ มีผู้เสียชีวิต 3,000 คน ระเบิดหนึ่งลูกโจมตีสำนักงานของสโมสร[23] กาตาลุญญาเข้าดูแลอีกหลายเดือนต่อมา และในฐานะสัญลักษณ์ของกาตาลานิยมที่ไม่มีการดูแล ทำให้สโมสรมีสมาชิกลดลงเหลือ 3,486 คน[24] หลังจากสงครามการเมือง มีการสั่งห้ามธงชาติกาตาลาและสโมสรฟุตบอลที่ไม่ได้ใช้ชื่อสเปน เป็นผลบังคับให้สโมสรต้องเปลี่ยนชื่อเป็น กลุบเดฟุตบอลบาร์เซโลนา (สเปน: Club de Fútbol Barcelona) และเอาธงกาตาลาออกจากตราสโมสร[16]

ในปี 1943 บาร์เซโลนาเผชิญหน้ากับคู่แข่ง เรอัลมาดริด ในรอบรองชนะเลิศโกปาเดลเฆเนราลิซิโม นัดแรกแข่งที่เลสกอตส์โดยบาร์เซโลนาเอาชนะไปได้ 3–0 ก่อนการแข่งในนัดที่ 2 จอมพลฟรันซิสโก ฟรังโก เข้าเยี่ยมห้องเปลี่ยนชุดของทีมบาร์เซโลนา ฟรังโกเข้าเตือนพวกเขาว่าที่เขาเล่นได้นั้นเนื่องจาก "เป็นความกรุณาต่อระบอบการปกครอง" ในนัดถัดมาเรอัลมาดริดชนะการแข่งขันไปอย่างขาดลอย 11–1[25] ถึงแม้ว่ามีความลำบากในสถานการณ์การเมือง แต่บาร์เซโลนาก็ยังประสบความสำเร็จในทศวรรษ 1940 และ 1950 โดยในปี 1946 ฌูแซ็ป ซามิติเอ ผู้จัดการทีมและผู้เล่นอย่าง เซซาร์, รามัลเลตส์ และเบลัสโก นำบาร์เซโลนาชนะเลิศลาลิกาครั้งแรกตั้งแต่ปี 1929 และยังชนะอีกสองครั้งในปี 1948 และ 1949 พวกเขายังได้รับรับถ้วยละตินคัปครั้งแรกในปีนั้น ในเดือนมิถุนายน 1950 ได้เซ็นลาดิสเลา คูบาลา ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลให้การก่อร่างสร้างตัวของสโมสร

ในวันอาทิตย์ที่มีฝนตกในปี 1951 กลุ่มคนออกจากสนามกีฬาเลสกอตส์ด้วยเท้าเปล่า หลังจากสโมสรชนะราซินเดซันตันเดร์ โดยปฏิเสธการขึ้นรถรางและสร้างความประหลาดใจให้กับเจ้าหน้าที่ของจอมพลฟรันซิสโก ฟรังโก การประท้วงรถรางเกิดขึ้นในบาร์เซโลนาซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากแฟนทีมบาร์เซโลนา เหตุการณ์ที่เกิดเช่นนี้ทำให้แสดงให้เห็นความเป็นอะไรที่มากกว่ากาตาลุญญา ชาวสเปนหัวก้าวหน้ามองว่าสโมสรเป็นผู้พิทักษ์ซึ่งซื่อสัตย์ต่อสิทธิและเสรีภาพ[26][27]

ผู้จัดการเฟอร์ดินานด์ เดาชีก (สโลวัก: Ferdinand Daučík) และลัสโซล คูบาลา นำทีมคว้าถ้วย 5 รางวัล ในการแข่งขันลาลิกา, โกปาเดลเฆเนราลิซิโม (ต่อมาใช้ชื่อว่า โกปาเดลเรย์), ละตินคัป, โกปาเอบาดัวร์เต และโกปามาร์ตีนีรอสซี ในปี 1952 ต่อมาในปี 1953 สโมสรชนะเลิศในลาลิกาและโกปาเดลเฆเนราลิซิโม ได้อีกครั้ง[16]

กลุบเดฟุตบอลบาร์เซโลนา (1957–1978)

Barcelona stadium seen from above. It is a large and asymmetrically shaped dome.
สนามกีฬากัมนอว์ สนามการแข่งขันของสโมสรที่เริ่มก่อสร้างในปี 1957 ด้วยทุนจากผู้สนับสนุนสโมสร[28]

ด้วยการนำทีมของผู้จัดการเอเลเนียว เอร์เรรา กับนักฟุตบอลยอดเยี่ยมยุโรปแห่งปี 1960 ลุยส์ ซัวเรซ และนักฟุตบอลชาวฮังการี 2 คนที่ได้รับคำแนะนำจากคูบาลา คือ ซันดอร์ คอชซิส (ฮังการี: Sándor Kocsis) และซอลตัน ซีบอร์ (ฮังการี: Zoltán Czibor) ที่ทำให้ทีมชนะเลิศการแข่งขันระดับชาติ 2 รางวัลในปี 1959 และในลาลิกาและอินเตอร์-ซิตีส์แฟส์คัป ในปี 1960 และในปี 1961 พวกเขาเป็นทีมแรกที่ชนะเรอัลมาดริดได้ในการแข่งขันยูโรเปียนคัพ แต่ก็แพ้ให้กับไบฟีกาในรอบชิงชนะเลิศ[29][30][31]

ในคริสต์ทศวรรษ 1960 สโมสรประสบความสำเร็จน้อยลง และเรอัลมาดริดได้ผูกขาดตำแหน่งแชมป์แต่เพียงผู้เดียว สนามกีฬาของสโมสร "กัมนอว์" ได้สร้างเสร็จในปี 1957 ซึ่งหมายถึงสโมสรมีเงินไม่มากที่จะซื้อตัวผู้เล่นใหม่[31] แต่ก็ยังมีเรื่องที่ดีอยู่บ้าง เมื่อในช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นทศวรรษแห่งการแจ้งเกิดของฌูแซ็ป มาริอา ฟุสเต และกาเลส เรชัก สโมสรชนะเลิศถ้วยโกปาเดลเฆเนราลิซิโมในปี 1963 และถ้วยแฟส์คัปในปี 1966 สโมสรกลับมาเล่นได้ดีอีกครั้งโดยเอาชนะเรอัลมาดริด 1–0 ในโกปาเดลเฆเนราลิซิโม 1968 นัดชิงชนะเลิศที่สนามเบร์นาเบวต่อหน้าจอมพลฟรังโก โดยการนำทีมของซัลบาดอร์ อาร์ตีกัส อดีตนักบินสาธารณรัฐในฐานะผู้จัดการทีม เมื่อจบยุคระบอบเผด็จการของจอมพลฟรังโก ในปี 1974 สโมสรก็ได้เปลี่ยนชื่อทางการเป็น ฟุตบอลกลุบบาร์เซโลนา และเปลี่ยนตราสัญลักษณ์สโมสรมาเป็นแบบเดิม กับตัวอักษรดั้งเดิม[32]

ในฤดูกาล 1973–74 สโมสรซื้อตัวโยฮัน ไกรฟฟ์ จากอายักซ์ มาด้วยค่าตัว 920,000 ปอนด์ ซึ่งถือเป็นสถิติโลกในสมัยนั้น[33] โดยเขาถือเป็นนักฟุตบอลที่เป็นที่ยอมรับอย่างสูงในฮอลแลนด์ ไกรฟฟ์ได้สร้างความประทับใจอย่างรวดเร็วให้กับแฟน ๆ เมื่อเขาบอกกับสื่อยุโรปว่าที่เขาเลือกบาร์เซโลนา มากกว่าที่จะเลือกเรอัลมาดริดเพราะว่า เขาไม่สามารถเล่นกับสโมสรที่เกี่ยวข้องกับจอมพลฟรังโกได้ เขายังเป็นที่โปรดปรานเมื่อเขาตั้งชื่อลูกชายในภาษากาตาลาว่า ฌอร์ดี (Jordi) ตามชื่อนักบุญท้องถิ่น[34] อีกทั้งยังมีนักฟุตบอลคุณภาพอย่างควน มานวยล์ อาเซนซี, การ์เลส เรซัก และอูโก โซติล เข้ามาร่วมทีมในช่วงเวลานั้น ทำให้ให้ทีมชนะเลิศการแข่งขันลาลิกาในฤดูกาล 1973–74 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1960[10] โดยชนะเรอัลมาดริด 5–0 ที่สนามเบร์นาเบว ขณะแข่งขัน[35] ไกรฟฟ์ยังได้รับเลือกเป็นนักฟุตบอลยุโรปยอดเยี่ยมแห่งปี 1973 สำหรับฤดูกาลแรกของเขากับบาร์เซโลนา (เป็นการได้รับบาลงดอร์ครั้งที่ 2 ของเขา ครั้งแรกได้รับขณะเล่นให้กับอายักซ์ในปี ค.ศ. 1971) ไกรฟฟ์ยังได้รับรางวัลนี้อีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 (เป็นคนแรกที่ทำได้) ในปี 1974 ขณะที่เขาเล่นให้กับบาร์เซโลนา[36]

นุญเญซและปีแห่งความมั่นคง (1978–2000)

ในปี 1978 ฌูแซ็ป ยูอิส นุญเญซ เป็นประธานสโมสรที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกสโมสร การเลือกตั้งเช่นนี้ใกล้เคียงกับการเปลี่ยนแปลงของสเปนที่เปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 1974 หลังจบสิ้นระบบเผด็จการของจอมพลฟรังโก เป้าหมายหลักของนุญเญซคือการพัฒนาบาร์ซาสู่สโมสรระดับโลกโดยให้ความมั่นคงกับสโมสรทั้งในและนอกสนาม จากคำแนะนำของไกรฟฟ์ นุญเญซได้เลือกลามาซีอาเป็นสถาบันเยาวชนของบาร์เซโลนาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1979[37] เขาดำรงตำแหน่งประธานเป็นเวลานาน 22 ปี และมีผลต่อภาพลักษณ์ของบาร์เซโลนาอย่างมาก นุญเญซได้ถือนโยบายอย่างเคร่งครัดที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้างทำงานและวินัย โดยให้ค่าตัวนักฟุตบอลอย่างเดียโก มาราโดนา, โรมารีอู, โรนัลโด เท่ากับจำนวนเงินที่พวกเขาต้องการ[38][39]

เสื้อแข่งขันของ ดิเอโก มาราโดนา ในพิพิธภัณฑ์ของสโมสร

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1979 สโมสรชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพครั้งแรก โดยชนะฟอร์ทูนาดึสเซลดอร์ฟ 4–3 ในนัดชิงชนะเลิศที่เมืองบาเซิล ที่มีแฟนสโมสรเดินทางมาชมกว่า 30,000 คน ต่อมา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1982 มาราโดนาเซ็นสัญญาด้วยค่าตัวสถิติโลกสมัยนั้น จำนวน 5 ล้านปอนด์ กับสโมสรฟุตบอลโบคาจูเนียส์[40] ในฤดูกาลถัดมา ภายใต้การคุมทีมของ เมนอตตี บาร์เซโลนาชนะเลิศโกปาเดลเรย์โดยชนะเรอัลมาดริด ในยุคของมาราโดนากับบาร์ซาค่อนข้างสั้น ต่อมาไม่นานเขาก็ย้ายไปอยู่กับนาโปลี ในฤดูกาล 1984–85 สโมสรได้จ้าง เทอร์รี เวเนเบิลส์ เป็นผู้จัดการทีม และพาทีมชนะเลิศลาลิกาได้ พร้อมกับการนำโดยกองกลางชาวเยอรมัน แบร์นด์ ชุสเทอร์ ในฤดูกาลถัดมา สโมสรเข้าชิงชนะเลิศถ้วยยุโรปอีกครั้ง แต่ก็แพ้จุดโทษสแตอาวาบูคูเรชตี (โรมาเนีย: Steaua Bucureşti) ที่เมืองเซบิยา[38]

หลังฟุตบอลโลก 1986 ผู้ทำประตูสูงสุด แกรี ไลน์เคอร์ ได้เซ็นสัญญากับสโมสร พร้อมกับผู้รักษาประตู อันโดนี ซูบีซาร์เรตา แต่สโมสรก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับเมื่อมีชุสเทอร์ ต่อมาเวเนเบิลส์ถูกไล่ออกเมื่อเริ่มฤดูกาล 1987–88 และได้ลุยส์ อาราโกเนส มาแทน นักฟุตบอลต่อต้านต่อประธานสโมสรนุญเญซ ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า เอสเปเรีย (สเปน: Hesperia) และจบฤดูกาลด้วยชัยชนะ 1–0 ในการแข่งโกปาเดลเรย์ รอบชิงชนะเลิศกับเรอัลโซเซียดัด[38]

photo of Johan Cruyff
โยฮัน ไกรฟฟ์ นำสโมสรชนะเลิศลาลิกา 4 สมัยติดต่อกัน ในฐานะผู้จัดการทีม

ในปี 1988 โยฮัน ไกรฟฟ์ ได้กลับมายังสโมสรในฐานะผู้จัดการทีมและเขาได้รวบรวมทีมที่รู้จักในชื่อ "ทีมในฝัน" เขาได้รวมนักฟุตบอลสเปนอย่างแป็ป กวาร์ดิออลา, โคเซ มารี บาเกโร และตซีกี เบกีริสไตน์ และยังเซ็นสัญญากับดาราจากต่างประเทศอย่างโรนัลด์ กุมัน, ไมเคิล เลาดรูป, โรมารีอู และฮริสโต ชตอยชคอฟ[41] ภายใต้การฝึกสอนของไกรฟฟ์ บาร์เซโลนาชนะเลิศลาลิกา 4 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 1991–94 รวมทั้งชนะซามพ์โดเรียในนัดชิงชนะเลิศทั้งในยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1989 และถ้วยยุโรป 1992 ที่สนามเวมบลีย์ สโมสรยังชนะเลิศโกปาเดลเรย์ 1990, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 1992 และยังชนะเลิศซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา 3 ครั้ง และด้วยผลงานถ้วยรางวัล 11 รายการ ส่งผลให้ไกรฟฟ์เป็นผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของสโมสร และเขายังเป็นผู้จัดการทีมที่รับตำแหน่งติดต่อกันนานที่สุดเป็นเวลา 8 ปี[42] แต่ชะตาของไกรฟฟ์ก็ได้เปลี่ยนไปใน 2 ฤดูกาลสุดท้าย เมื่อสโมสรพลาดแชมป์หลายรายการ ทำให้เขาต้องออกจากสโมสร[38]

บ็อบบี ร็อบสัน เข้ามาทำหน้าที่ในระยะเวลาสั้น ๆ ในฤดูกาล 1996–97 เขาซื้อตัวโรนัลโดมาจากพีเอสวีไอนด์โฮเวิน และยังชนะเลิศในการแข่งขัน 3 รายการได้แก่: โกปาเดลเรย์, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ และซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา ถึงแม้ว่าการเข้ามาของร็อบสันจะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ทางสโมสรก็ยังรอตัวลูอี ฟัน คาล[43] เช่นเดียวกับมาราโดนา จากนั้น โรนัลโดก็ได้ย้ายไปอยู่กับอินเตอร์มิลาน แต่สโมสรก็ได้วีรบุรุษคนใหม่อย่างลูอิช ฟีกู, เปตริก ไคลเฟิร์ท, ลุยส์ เอนรีเก และรีวัลดู เข้ามากอบกู้ทีมและทำให้ทีมชนะเลิศโกปาเดลเรย์และลาลิกาในปี 1998 และในปี 1999 สโมสรฉลองครบรอบวาระ 100 ปี ด้วยการชนะเลิศลาลิกา และรีวัลดูเป็นนักฟุตบอลคนที่ 4 ของสโมสรที่ได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของทวีปยุโรป แต่ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในประเทศ พวกเขาก็ต้องพ่ายเรอัลมาดริดในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ส่งผลให้ฟัน คาล และนุญเญซ ลาออกในปี 2000[43]

นุญเญซออก ลาปอร์ตาเข้ามา (2000–2008)

buck-teethed footballer
ฝ่ายการตลาดของสโมสรได้วางกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ โดยนำดาราดังอย่างรอนัลดีนโยมาทำการตลาด[44]

การจากไปของนุญเญซและฟัน คาล ยังไม่อาจเปรียบได้กับการจากไปของลูอิช ฟีกู ซึ่งเป็นรองกัปตันทีม ได้กลายเป็นที่ชื่นชอบและชาวกาตาลาถือว่าเป็นพวกเดียวกับเขา แต่แล้วแฟนบาร์ซาก็ต้องคลุ้มคลั่งเมื่อฟีกูตัดสินใจย้ายไปอยู่กับทีมคู่แข่งตลอดกาลอย่างเรอัลมาดริด เมื่อเขากลับมาเยือนกัมนอว์ เขาก็ต้องพบกับการตอบรับที่ไม่เป็นมิตร และความโกรธแค้นของแฟนบอลซึ่งต่างพากันก่อกวนตลอดการแข่งขัน และมีการโยนขวดวิสกีลงมาในสนาม[45] ในส่วนของตำแหน่งประธานสโมสร ชูอัง กัสปาร์ต ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนนุญเญซ ในปี 2000 เขาดำรงตำแหน่ง 3 ปี ก่อนที่สโมสรจะเริ่มตกต่ำลงและมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้จัดการทีมหลายครั้ง ฟัน คาล มารับหน้าที่ผู้จัดการทีมเป็นครั้งที่ 2 และกัสปาร์ตไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับแฟนบอลได้ และในปี 2003 เขาและฟัน คาล ได้ลาออก[46]

หลังจากในยุคแห่งความผิดหวังของกัสปาร์ต สโมสรก็ฟื้นกลับมาอีกครั้ง ภายใต้การบริหารของประธานหนุ่ม ฌูอัน ลาปอร์ตา และผู้จัดการทีมหนุ่ม ฟรังก์ ไรการ์ด อดีตนักฟุตบอลชาวดัตช์ ในส่วนของการซื้อขายนักเตะ มีการซื้อตัวนักฟุตบอลต่างชาติเข้ามาหลายคน ทำให้สโมสรกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง บาร์ซาชนะเลิศลาลิกาและซูเปร์โกปาเดเอสปัญญาในฤดูกาล 2004–05 และรอนัลดีนโย กองกลางของทีม ได้รับรางวัลนักฟุตบอลแห่งปีของฟีฟ่า[47]

ในฤดูกาล 2005–06 บาร์เซโลนาป้องแชมป์ลาลิกาและซูเปร์โกปาเดเอสปัญญาไว้ได้[48] และยังได้แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก เอาชนะอาร์เซนอล ในรอบชิงชนะเลิศ 2–1 โดยตามหลังไปก่อน 0–1 ซึ่งอาร์เซนอลเหลือผู้เล่นจำนวน 10 คน และในช่วง 15 นาที สุดท้ายพวกเขากลับมาชนะได้ เป็นการชนะเลิศถ้วยยุโรปครั้งแรกในรอบ 14 ปี[49] พวกเขายังลงแข่งฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ 2006 แต่แพ้ อินเตร์นาเซียวนัล จากบราซิล[50]

แม้ว่าจะเริ่มต้นฤดูกาล 2006–07 ด้วยผลงานอันยอดเยี่ยม แต่พวกเขาก็จบฤดูกาลด้วยการไม่ได้ถ้วยรางวัลใด ๆ ต่อมา ในการออกทัวร์ก่อนเปิดฤดูกาลในสหรัฐ ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างซามูแอล เอโต กองหน้าประจำทีม กับไรการ์ด ผู้จัดการทีม ที่ตำหนิกันเรื่องผลงานอันย่ำแย่ของสโมสร[51][52] ในการแข่งขันลาลิกานั้น บาร์ซาครองตำแหน่งอันดับ 1 ได้เกือบทั้งฤดูกาล แต่ด้วยความไม่ลงรอยกันระหว่างผู้เล่นและผู้จัดการทีม ทำให้เรอัลมาดริดแซงกลับขึ้นมาเป็นแชมป์ ส่วนในฤดูกาล 2007–08 บาร์เซโลนาก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ผู้จัดการทีมชุดบี แป็ป กวาร์ดิออลา ขึ้นมาเป็นผู้จัดการทีม[53]

ยุคของกวาร์ดิออลา (2008–2012)

ถ้วยรางวัลแรกของกวาร์ดิออลา คือการชนะอัตเลติกเดบิลบาโอในรอบชิงชนะเลิศโกปาเดลเรย์ 2009 ไป 4–1 ทำสถิติคว้าแชมป์มากที่สุด 25 สมัย 3 วันถัดมา พวกเขาชนะเรอัลมาดริดในลาลิกา ทำให้บาร์เซโลนาชนะเลิศลาลิกาฤดูกาล 2008–09 และจบฤดูกาลด้วยการชนะแชมป์เก่าในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกคือ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 2–0 ที่สนามสตาดีโอโอลิมปีโกกรุงโรม ถือเป็นแชมป์สมัยที่ 3 ของทีม และเป็นทีมจากสเปนทีมแรกที่ได้ 3 ถ้วยรางวัลใหญ่ในฤดูกาลเดียวกัน[54][55][56] สโมสรยังชนะเลิศซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา 2009 พบกับอัตเลติกเดบิลบาโอ[57] รวมถึงยูฟ่าซูเปอร์คัพ 2009 ซึ่งพบชัคตาร์ดอแนตสก์[58] และถือเป็นสโมสรแรกของยุโรปที่ชนะเลิศได้ทั้งถ้วยรางวัลในประเทศ และถ้วยยูฟ่าซูเปอร์คัพ ต่อมา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2009 บาร์เซโลนาชนะเลิศฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ[59] ทำให้เป็นสโมสรแรกที่คว้า 6 ถ้วยรางวัลในปีเดียวกัน[60] บาร์เซโลนายังสร้างสถิติใหม่ 2 สถิติให้กับวงการฟุตบอลสเปนในปี 2010 โดยการชนะเลิศลาลิกาโดยทำไป 99 คะแนน และยังทำสถิติชนะเลิศซูเปร์โกปาเดเอสปัญญาสมัยที่ 9[61]

ลิโอเนล เมสซิ ดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของสโมสร

หลังจากที่ลาปอร์ตาออกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2010 ซันดรู รูเซ็ลย์ ได้รับเลือกเป็นประธานคนใหม่ โดยมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน เขาได้คะแนน 61.35% (คะแนน 57,088 เสียง) ซึ่งถือเป็นสถิติการลงคะแนนที่มากที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งประธานสโมสร[62] รูเซ็ลย์ได้เซ็นสัญญานำนักฟุตบอลชั้นนำเข้ามาสู่ทีม เช่น ดาบิด บียา จากบาเลนเซีย ด้วยค่าตัว 40 ล้านยูโร[63] และคาเบียร์ มาเชราโน จากลิเวอร์พูลด้วยค่าตัว 19 ล้านยูโร[64] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2010 บาร์เซโลนาชนะเรอัลมาดริดได้ถึง 5–0 และในฤดูกาล 2010–11 บาร์เซโลนายังครองแชมป์ลาลิกาได้เป็นฤดูกาลที่ 3 ติดต่อกัน ด้วยคะแนน 96 คะแนน[65] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2011 สโมสรเข้าชิงชนะเลิศโกปาเดลเรย์ แต่แพ้เรอัลมาดริด 0–1 ที่สนามเมสตายา[66] ในเดือนพฤษภาคม บาร์เซโลนาชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2011 รอบชิงชนะเลิศไปได้อีกครั้ง 3–1 ที่สนามกีฬาเวมบลีย์ กรุงลอนดอน คว้าแชมป์สมัยที่ 4[67]

ถัดมา ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 บาร์เซโลนาเซ็นสัญญากับแซ็สก์ ฟาบรากัส ผู้เล่นชื่อดังชาวสเปนจากอาร์เซนอล และป้องกันแชมป์ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญาได้อีกครั้งโดยชนะเรอัลมาดริด และถือเป็นถ้วยใบที่ 73 ของสโมสร[68] ต่อมา บาร์เซโลนาเอาชนะโปร์ตูในยูฟ่าซูเปอร์คัพ ทำให้กวาร์ดิออลานำทีมชนะถ้วยรางวัลได้ 12 ใบจาก 15 รายการ โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี ซึ่งถือเป็นสถิติการคว้าถ้วยรางวัลมากที่สุดของผู้จัดการทีมบาร์เซโลนา[69] ในเดือนธันวาคม บาร์เซโลนาชนะเลิศฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ[70] เป็นถ้วยใบที่ 13 ของกวาร์ดิออลา[71]

บาร์เซโลนาชนะเลิศรายการฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ 2011

แต่หลังจากแพ้เชลซีในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรอบรองชนะเลิศ[72] กวาร์ดิออลาได้ประกาศว่าเขาจะยุติบทบาทหลังสิ้นสุดฤดูกาล 2011–12 เขาปิดท้ายการคุมทีมด้วยถ้วยโกปาเดลเรย์ ชนะอัตเลติกเดบิลบาโอ 3–0 ซึ่งเป็นถ้วยใบที่ 14 และตีโต บีลานอบา ผู้ช่วยของกวาร์ดิออลาได้เข้ามารับตำแหน่งในฤดูกาล 2012–13[73] ก่อนจะพาบาร์เซโลนาคว้าแชมป์ลาลิกาสมัยที่ 22 โดยทำได้ถึง 100 คะแนน[74] ถือเป็นสถิติสูงสุดร่วมกับเรอัลมาดริดที่ทำได้ในฤดูกาลก่อน และลิโอเนล เมสซิ ยังเป็นผู้ทำประตูสูงสุดในฤดูกาล 46 ประตู และยังผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศโกปาเดลเรย์ และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 บีลานอบาได้ประกาศยุติบทบาทเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ซึ่งเขาตรวจพบมะเร็งต่อมน้ำลายมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2012[75]

การบริหารของโจเซป บาร์โตเมว (2014–2020)

ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 เคราร์โด "ทาทา" มาร์ติโน เข้ามาคุมทีมในฤดูกาล 2013–14 โดยพาบาร์เซโลนาคว้าแชมป์ซูเปอร์โคปาเดเอสปาญาได้ ต่อมา ซันดรู รูเซ็ลย์ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานสโมสร เนื่องจากได้รับการร้องเรียนในข้อหายักยอกเงินสโมสรในการซื้อตัวเนย์มาร์ และในนัดสุดท้ายที่พวกเขาต้องชนะอัตเลติโกเดมาดริดเพื่อครองแชมป์ลาลิกา พวกเขาทำได้เพียงเสมอ 1–1 ได้แค่รองแชมป์[76]

ต่อมา ในฤดูกาล 2014–15 เป็นฤดูกาลแห่งประวัติศาสตร์อีกครั้ง[77] สโมสรชนะเลิศสามรายการทั้งลาลิกา, โกปาเดลเรย์ และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้อีกครั้ง โดยเป็นทีมในยุโรปทีมแรกที่ทำสถิติดังกล่าวได้สองครั้ง โดยในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2015 สโมสรชนะเลิศลาลิกาสมัยที่ 23 ถือเป็นแชมป์ลาลิกาสมัยที่เจ็ดในรอบสิบปี และวันที่ 30 พฤษภาคม สโมสรชนะอัตเลติกเดบิลบาโอในโกปาเดลเรย์รอบชิงชนะเลิศที่สนามกัมนอว์ และในวันที่ 6 มิถุนายน ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรอบชิงชนะเลิศ บาร์เซโลนาชนะยูเวนตุส 3–1 คว้าแชมป์สมัยที่สองในรอบหกปี และตลอดฤดูกาล เมสซิ, ซัวเรซ และเนย์มาร์ สามประสานซึ่งได้รับการขนานนามว่า "MSN" ยิงได้ 122 ประตูทุกรายการซึ่งมากที่สุดต่อหนึ่งฤดูกาลในประวัติศาสตร์สำหรับผู้เล่นสามประสานในแนวรุกของลีกสเปน

ลุยส์ ซัวเรส หนึ่งในสามประสานหลักในแนวรุกของทีมในช่วงปี 2014–2017

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 2015 บาร์เซโลนาเริ่มต้นฤดูกาล 2015–16 ด้วยแชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพสมัยที่ 5 เอาชนะเซบิยา 5–4 ตามด้วยการชนะริเบร์เปลต ในรอบชิงชนะเลิศฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพคว้าแชมป์เป็นสมัยที่สาม โดยมีซัวเรซ, เมสซิ และอินิเอสตาเป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมสามอันดับแรกของการแข่งขัน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 ภายหลังผ่านเข้าสู่โกปาเดลเรย์รอบชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งที่ 6 ในรอบ 8 ฤดูกาล บาร์เซโลนาของลุยส์ เอนริเก ทำลายสถิติของสโมสรที่ไม่แพ้ติดต่อกัน 28 เกมในทุกรายการที่ทีมของกวาร์ดิออลาทำไว้ในฤดูกาล 2010–11 และด้วยชัยชนะเหนือราโยบาเยกาโน 5–1 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พวกเขาได้ทำลายสถิติของเรอัลมาดริดที่ไม่แพ้ใคร 34 เกมในฤดูกาลได้สำเร็จ แต่สถิติไม่แพ้ใคร 39 นัดของพวกเขาได้สิ้นสุดลงในวันที่ 2 เมษายน ด้วยการพ่ายเรอัลมาดริด 1–2 ที่กัมนอว์

ต่อมา ในวันที่ 14 พฤษภาคม บาร์เซโลนาคว้าแชมป์ลาลิกาเป็นสมัยที่หกในรอบแปดฤดูกาล และสามประสาน เมสซิ ซัวเรซ และเนย์มาร์ จบฤดูกาลด้วยการยิง 131 ประตู วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2017 บาร์เซโลนาทำสถิติกลับมาคว้าชัยชนะได้อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในรอบ 16 ทีมสุดท้ายโดยเอาชนะปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง 6–1 (ผลประตูรวม 6–5) แม้จะแพ้นัดแรกในฝรั่งเศส 0–4 และเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2017 เอร์เนสโต บัลเบร์เด อดีตผู้เล่นของสโมสร ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมแทนที่เอนริเกที่ยุติสัญญา

วันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 2017 บาร์เซโลนาได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อการลงประชามติของชาวกาตาลาในการพยายามแยกตัวออกเป็นอิสระจากประเทศสเปน[78] โดยกล่าวว่า "สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาให้ความเคารพสูงสุดต่อสมาชิกที่ของตนและจะยังคงสนับสนุนเจตจำนงของชาวกาตาลาส่วนใหญ่และร่วมดำเนินการทางกฎหมายอย่างสันติวิธี" ในฤดูกาล 2017–18 บาร์เซโลนาคว้าแชมป์ได้สองรายการทั้งในลาลิกา โดยทำไปถึง 93 คะแนน รวมทั้งโกปาเดลเรย์ เอาชนะเซบิยา 5–0 แต่ทีมล้มเหลวในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยแพ้โรมาในรอบ 8 ทีมสุดท้ายด้วยกฎการยิงประตูทีมเยือน ซึ่งบาร์เซโลนาเอาชนะมาก่อนในนัดแรกในกัมนอว์ได้ถึง 4–1 แต่กลับแพ้ 0–3 ที่กรุงโรม[79] ถัดมา ในฤดูกาล 2018–19 บาร์เซโลนาชนะเลิศลาลิกาสมัยที่ 26 แต่ก็แพ้ลิเวอร์พูลในรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกด้วยผลประตูรวมสองนัด 3–4 แม้จะชนะในนัดแรก 3–0 ที่กัมนอว์ แต่แพ้ 0–4 ที่แอนฟิลด์[80][81][82]

วันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2020 กิเก เซติเอน อดีตผู้ฝึกสอนของเรอัลเบติสเข้ามาแทนที่บัลเบร์เด[83] โดยหลังจากแพ้อัตเลติโกเดมาดริดในซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา บาร์เซโลนายังเป็นผู้นำในลาลิกาเมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ส่งผลให้ฟุตบอลทั่วโลกหยุดการแข่งขัน แต่ผลงานของพวกเขาตกต่ำลงเมื่อกลับมาแข่งขันต่อ และเสียแชมป์ให้เรอัลมาดริด กระนั้น ในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกพวกเขาชนะนาโปลีจากอิตาลีในรอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ ก่อนจะเข้าไปพบกับไบเอิร์นมิวนิก และต้องพบกับความพ่ายแพ้ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็น "ความอัปยศอดสูอย่างแท้จริง" โดยแพ้ไปถึง 2–8 เป็นการแพ้ที่ย่อยยับที่สุดครั้งหนึ่งของสโมสร[84][85] วันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 2020 เซติเอนได้ถูกปลด และเอริก อาบิดัล ผู้อำนวยการฟุตบอล ก็ถูกไล่ออกเช่นกัน โรนัลด์ กุมัน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีม และเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2020 บาร์โตเมวได้ประกาศยุติบทบาทประธานสโมสร[86]

การกลับมาของลาปอร์ตา และการอำลาของเมสซิ (2021–ปัจจุบัน)

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 2021 ฌูอัน ลาปอร์ตา กลับมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรเป็นสมัยที่ 2 จากการชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 54.28%[87] โดยบาร์เซโลนาชนะเลิศโกปาเดลเรย์สมัยที่ 31 เอาชนะอัตเลติกเดบิลบาโอไป 4–0[88] ต่อมา ในวันที่ 5 สิงหาคม สโมสรได้ออกมาแถลงว่าพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการต่อสัญญาฉบับใหม่กับ ลิโอเนล เมสซิ แม้ว่าจะตกลงเงื่อนส่วนตัวกันได้แล้วก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัญหาด้านโครงสร้างทางการเงินของสโมสร และกฎระเบียบของลาลิกา[89][90][91] และเมสซิได้เซ็นสัญญาร่วมทีมปารีแซ็ง-แฌร์แม็งในวันที่ 10 สิงหาคม[92] ต่อมา ในวันที่ 28 ตุลาคม หลังจากทีมบุกไปแพ้ราโยบาเยกาโนในลาลิกา 0–1 สโมสรได้ปลดกุมัน ออกจากตำแหน่ง จากผลงานย่ำแย่ในฤดูกาล 2021–22[93][94]

ชาบี ตำนานผู้เล่นของสโมสรได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนในวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 โดยเซ็นสัญญาไปถึง ค.ศ. 2024[95][96] ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2021 บาร์เซโลนาตกรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกและลงไปเล่นในยูฟ่ายูโรปาลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ฤดูกาล[97] และทำได้เพียงการเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ ในส่วนของการแข่งขันลาลิกา ชาบีพาสโมสรทำผลงานได้ดีขึ้นตามลำดับ โดยสามารถจบฤดูกาลด้วยอันดับที่สองจากที่เคยอยู่ในอันดับเก้าเมื่อเขาเข้ามารับตำแหน่ง แต่สโมสรก็ต้องจบฤดูกาลด้วยการไม่ชนะถ้วยรางวัลใดเลย หลังจากที่ตกรอบในฟุตบอลถ้วยอีกสองรายการทั้ง ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา และ โกปาเดลเรย์[98] ชาบีพาสโมสรชนะเลิศซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา ฤดูกาล 2022–23 เอาชนะเรอัลมาดริด 3–1 ตามด้วยการชนะเลิศลาลิกาเป็นสมัยที่ 27 ในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 หลังจากเอาชนะอัสปัญญ็อล 4–2[99] ซึ่งเป็นแชมป์คร้ั้งแรกในรอบห้าฤดูกาลหลังสุด แต่ชาบีประกาศอำลาสโมสรเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2023–24 ซึ่งสโมสรไม่สามารถคว้าถ้วยรางวัลรายการใดได้ โดยมีคะแนนน้อยกว่าเรอัลมาดริดในลาลิกาถึง 10 คะแนน และยังแพ้เรอัลมาดริดในซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา ฤดูกาล 2023–24 ด้วยผลประตู 1–4 รวมทั้งตกรอบก่อนรองชนะเลิศอีกสองรายการในโกปาเดลเรย์ และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก

ฮันส์-ดีเทอร์ ฟลิค ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนใหม่ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 ด้วยระยะเวลาการจ้างสองปี ถือเป็นผู้ฝึกสอนชาวเยอรมันคนที่สามที่ได้คุมทีม

ผู้สนับสนุน

ฉายาของผู้สนับสนุนบาร์เซโลนา คือ culer มาจากภาษากาตาลาคำว่า cul (อังกฤษ: arse; ก้น) โดยในสนามกีฬาแห่งแรก กัมเดลาอินดุสเตรีย มีเขียนคำว่า culs ไปทั่วที่นั่ง ด้านความนิยมในประเทศสเปน ความนิยมในทีมบาร์เซโลนาอยู่ที่ 25% เป็นรองเรอัลมาดริดซึ่งมี 32% ส่วนอันดับ 3 คือบาเลนเซีย[100] และในยุโรปถือเป็นสโมสรที่เป็นที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับ 2[101] จำนวนสมาชิกของสโมสรได้เพิ่มขึ้นจาก 100,000 ราย ในฤดูกาล 2003–04 เป็น 170,000 ราย ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2009[102] ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นมาจากนักฟุตบอลผู้มีชื่อเสียง เช่น รอนัลดีนโย และยุทธวิธีด้านสื่อของประธานสโมสร ฌูอัน ลาปอร์ตา ที่มุ่งไปด้านสื่อออนไลน์สเปนและอังกฤษ[103][104]

นอกจากนั้น จากข้อมูลเดือนมิถุนายน 2010 สโมสรมีสมาชิกลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ 1,335 คน จากทั่วโลก โดยเรียกว่า เปนเยส แฟนของสโมสรที่ช่วยประชาสัมพันธ์สโมสรในท้องถิ่นของตนเองจะได้รับสิทธิในการเยี่ยมชมเมื่อมายังบาร์เซโลนา[105] ส่วนผู้สนับสนุนที่มีชื่อเสียง เช่น สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ที่เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีของสเปน โฆเซ ซาปาเตโร[106][107]

ศึกแห่งศักดิ์ศรี

เอลกลาซิโก

นักเตะต่างปะทะกันในเกมที่บาร์เซโลนาเอาชนะเรอัลมาดริด 2-6 ที่สนามกีฬาซานเตียโก เบร์นาเบว ในเอลกลาซิโกปี 2009

ทุกครั้งที่บาร์เซโลนาและเรอัลมาดริดพบกัน มักจะเกิดความดุเดือดในเกมการแข่งขันระหว่างสองทีมนี้ โดยเฉพาะในลาลิกา โดยเกมการแข่งขันระหว่างบาร์ซาและเรอัลมาดริด เรียกว่า เอลกลาซิโก (สเปน: El Clásico) ตั้งแต่เริ่มมีการแข่งขันระดับประเทศ ทั้ง 2 สโมสรเหมือนเป็นตัวแทนของคู่แข่งกันทั้ง 2 ภูมิภาคของสเปน คือ กาตาลุญญาและกัสติยา รวมถึงการแข่งขันระหว่าง 2 เมืองด้วย การแข่งขันยังสะท้อนถึงความขัดแย้งทางการเมืองและความตึงเครียดของทั้ง 2 วัฒนธรรม สามารถเห็นได้จากการออกกฎหมายในช่วงสงครามกลางเมืองสเปน[108]

ในช่วงการปกครองแบบเผด็จการของ ปรีโม เด รีเบรา โดยเฉพาะจอมพลฟรันซิสโก ฟรังโก (ค.ศ. 1939–1975) วัฒนธรรมย่อยทั้งหมดถูกปราบปราม ภาษาที่ใช้ในดินแดนสเปนทั้งหมดต้องใช้ภาษาสเปน (ภาษาสเปนกัสติยา) ภาษาอื่นถูกห้ามใช้อย่างเป็นทางการ[109][110] บาร์เซโลนาเป็นเหมือนเครื่องหมายแห่งความต้องการอิสรภาพของชาวกาตาลา และบาร์ซากลายเป็นอะไรที่ "มากกว่าสโมสร" (สเปน: Més que un club) นักเขียนชาวสเปน มานวยล์ บัซเกซ มอนตัลบัน กล่าวไว้ว่า หนทางที่ดีที่สุดที่ชาวกาตาลาจะพิสูจน์ให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง คือการมาร่วมกับทีมบาร์ซา เป็นการเสี่ยงน้อยกว่าที่จะร่วมกับกลุ่มต่อต้านจอมพลฟรังโกและพอจะอนุญาตให้พวกเขาแสดงการเคลื่อนไหว[111]

ในทางกลับกัน เรอัลมาดริด แสดงให้เห็นถึงการเป็นศูนย์กลางอำนาจสูงสุดและระบอบการปกครองฟาสซิสต์[112][113] แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างสงครามกลางเมืองสเปน สมาชิกของทั้ง 2 สโมสร อย่างเช่นฌูแซ็ป ซุญญ็อล และราฟาเอล ซานเชซ เกร์รา ก็ต่างเจ็บปวดจากผู้สนับสนุนจอมพลฟรังโก

ในระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1950 บาร์เซโลนายิ่งแย่ลงไปเมื่อเกิดข้อพิพาทเรื่องการโยกย้ายทีมของอัลเฟรโด ดิ เอสเตฟาโน ที่สุดท้ายลงเอยกับทีมเรอัลมาดริด และต่อมาก็เป็นกุญแจสำคัญในชัยชนะของทีม[114] ในคริสต์ทศวรรษ 1960 เรอัลมาดริดเข้าสู่รอบแพ้คัดออกในถ้วยยุโรป ทั้ง 2 ทีมเจอกัน 2 ครั้ง[115] ส่วนการเจอกันในถ้วยยุโรปครั้งล่าสุดคือในปี 2002 ที่สื่อสเปนขนานนามว่า "นัดฟุตบอลแห่งศตวรรษ" มีผู้ชมมากกว่า 500 ล้านคน[116]

เอลเดร์บีบาร์เซลูนี

คู่แข่งของทีมบาร์ซาในท้องถิ่นเดียวกันคือ แอร์ราเซเด อัสปัญญ็อล เป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมถ์ ก่อตั้งโดยแฟนฟุตบอลสเปน ซึ่งแตกต่างจากผู้บริหารหลักของบาร์ซาที่มีหลายสัญชาติ โดยมีเจตนารมณ์ในการก่อตั้งสโมสรอย่างชัดเจนคือ ต่อต้านสโมสรบาร์เซโลนา ที่พวกเขาไม่เห็นด้วยกับบาร์เซโลนา และเห็นว่าเป็นทีมของชาวต่างชาติ[117] อัสปัญญ็อลยิ่งดูมีพลังขึ้นเมื่อชาวกาตาลามองว่า "เป็นตัวยั่วโมโหแก่มาดริด"[118] สนามกีฬาเหย้าของอัสปัญญ็อลอยู่ในย่านคนรวยที่เรียกว่า ซาร์รีอา[119][120]

ธรรมเนียมทั่วไปโดยเฉพาะในช่วงการปกครองของจอมพลฟรังโก ชาวบาร์เซโลนาส่วนใหญ่มองว่าอัสปัญญ็อลเป็นสโมสรที่อ่อนข้อให้กับการปกครองจากส่วนกลาง ในทางตรงกันข้ามบาร์ซาเป็นเหมือนจิตวิญญาณของนักปฏิวัติ[121] ในปี 1918 อัสปัญญ็อลเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งตอนนั้นเป็นประเด็นปัญหาอยู่[117] ต่อมากลุ่มผู้สนับสนุนอัสปัญญ็อลเข้าร่วมกับพวกฟาลังจิสต์ในสงครามกลางเมืองสเปน ฝั่งฟาสซิสต์ ถึงอย่างไรก็ตามความแตกต่างในอุดมการณ์นี้ ในการแข่งขันระหว่างทั้ง 2 ทีม ก็มีความสำคัญกับผู้สนับสนุนอัสปัญญ็อลมากกว่าบาร์เซโลนา เนื่องจากอุดมการณ์ที่แตกต่างกันนี้ ในยุคปัจจุบันการแข่งขันเริ่มลดการเมืองลงไป และอัสปัญญ็อลเปลี่ยนชื่อและเพลงสโมสรอย่างเป็นทางการจากภาษาสเปนเป็นภาษากาตาลา[117]

ถึงแม้ว่าจะเป็นนัดแข่งขันท้องถิ่นที่มีการแข่งขันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ลาลิกา แต่ก็เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากที่สุดเพราะบาร์เซโลนามีความโดดเด่นอย่างมาก ในตารางคะแนนในลีก อัสปัญญ็อลสามารถทำคะแนนได้เหนือกว่าบาร์เซโลนา 3 ครั้งในรอบเกือบ 70 ปี และในโกปาเดลเรย์ มีการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจากชาวกาตาลาในปี 1957 ซึ่งบาร์ซาเป็นผู้ชนะ อัสปัญญ็อลมีชัยชนะต่อบาร์ซามากที่สุด 6–0 ในปี 1951 และอัสปัญญ็อลมีชัยชนะเหนือบาร์ซา 2–1 ในฤดูกาล 2008–09 ทำให้เป็นทีมแรกที่ชนะบาร์เซโลนาได้ในสนามกัมนอว์ ในฤดูกาลที่พวกเขาชนะเลิศ 3 ถ้วยรางวัล[122]

เอซี มิลาน

สโมสรที่ถือเป็นคู่ปรับสำคัญของบาร์เซโลนาในการแข่งขันฟุตบอลยุโรปได้แก่ เอซี มิลาน[123][124] ทั้งสองทีมเคยแข่งขันกันทั้งสิ้น 19 นัด ซึ่งถือเป็นสถิติการพบกันระหว่างสองสโมสรที่มากที่สุดเป็นอันดับสองในฟุตบอลยุโรป เท่ากับการพบกันระหว่าง เรอัลมาดริด และ ยูเวนตุส (19 นัด) เป็นรองเพียงการพบกันระหว่าง เรอัลมาดริด และ ไบเอิร์นมิวนิก (24 นัด)[125] โดยบาร์เซโลนามีสถิติที่เหนือกว่าในการพบกัน โดยชนะ 8 ครั้ง แพ้ 5 ครั้ง และเสมอกัน 6 ครั้ง[126] ทั้งสองสโมสรต่างก็ประสบความสำเร็จสูงในฟุตบอลยุโรปโดยชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรวมกัน 12 สมัย[127]

การแข่งขันทางการครั้งแรกของทั้งคู่เกิดขึ้นในปี 1959 ในการแข่งขันยูโรเปียน คัพ (ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในปัจจุบัน) และบาร์เซโลนาชนะไปด้วยผลประตูรวมสองนัด 7–1 และนับตั้งแต่นั้น บาร์เซโลนาไม่เคยตกรอบเพราะเอซี มิลาน ในการแข่งขันฟุตบอลยุโรปเลย กระทั่งพวกเขาแพ้เอซี มิลาน ในรอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1994 ถึง 0–4 อย่างเหนือความคาดหมาย[128] โดยผู้จัดการทีมบาร์เซโลนาได้แก่ โยฮัน ไกรฟฟ์ ต่อมาในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2013 บาร์เซโลนาสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการกลับมาเอาชนะเอซี มิลานได้ในการแข่งขันสองนัดด้วยผลประตูรวม 4–2 ทั้งที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปก่อน 0–2 ในนัดแรกที่อิตาลี[129]

การเงินและเจ้าของ

ในปี 2010 นิตยสาร ฟอบส์ สรุปมูลค่าของสโมสรบาร์เซโลนาอยู่ที่ราว 752 ล้านยูโร (1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ติดอยู่อันดับ 4 ตามหลังสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เรอัลมาดริด และอาร์เซนอล โดยดูจากตัวเลขในฤดูกาล 2008–09[130][131] และจากข้อมูลของดาลอยต์ บาร์เซโลนามีรายได้ 366 ล้านยูโรในฤดูกาลเดียวกันนี้ ติดอันดับ 2 เป็นรองเรอัลมาดริดที่มีรายได้ 401 ล้านยูโร[132]

เหมือนกับสโมสรอื่นอย่าง เรอัลมาดริด, อัตเลติกเดบิลบาโอ และโอซาซูนา ที่บาร์เซโลนาเป็นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งแตกต่างจากบริษัทจำกัดที่ไม่สามารถซื้อขายหุ้นของสโมสร มีแต่เพียงสมาชิก[133] สมาชิกของบาร์เซโลนาเรียกว่า socis ซึ่งมีตัวแทนของกลุ่ม และเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดของสโมสร[134] จากข้อมูลปี 2010 สโมสรมี socis 170,000 คน[102]

จากการตรวจสอบบัญชีของดาลอยต์ในเดือนกรกฎาคม 2010 แสดงให้เห็นว่าบาร์เซโลนามีหนี้สุทธิ 442 ล้านยูโร เป็น 58% ของทรัพย์สินสุทธิที่ตีค่าโดยนิตยสาร ฟอบส์ ผู้บริหารทีมใหม่ของบาร์เซโลนา ซึ่งได้ให้ตรวจสอบบัญชีนี้ กล่าวไว้ว่า "ปัญหาเกิดจากโครงสร้าง" ซึ่งเป็นสาเหตุของหนี้[135]

อีเอสพีเอ็นรายงานข้อมูลในปี 2011 ว่า หนี้รวมของบาร์เซโลนามีราว 483 ล้านยูโร และหนี้สุทธิอยู่ที่ 364 ล้านยูโร[136] อีเอสพีเอ็นยังพบว่า บาร์เซโลนาเป็นสโมสรที่นักฟุตบอลมีเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดมากกว่าทีมกีฬาอาชีพใดในโลก และสูงกว่าคู่แข่งอย่างเรอัลมาดริด[137]

สถิติ

ลิโอเนล เมสซิ เป็นเจ้าของสถิติผู้เล่นที่ลงสนามมากที่สุดและทำประตูสูงสุดตลอดกาลของสโมสร
แป็ป กวาร์ดิออลา เป็นผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของสโมสร ด้วยผลงานชนะเลิศ 14 รายการ

ชาบี เคยครองสถิติในการเป็นนักฟุตบอลของสโมสรที่ลงแข่งมากที่สุด (767 นัด) รวมทั้งลงแข่งในลาลิกามากที่สุด (505 นัด)[138] ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดมาอย่างยาวนาน ก่อนที่สถิติดังกล่าวจะถูกทำลายโดย ลิโอเนล เมสซิ ในเดือนมีนาคม 2021 โดยหากนับจนถึงสิ้นสุดฤดูกาล 2020–21 ซึ่งเป็นฤดูกาลสุดท้ายของเขากับสโมร เมสซิลงสนามในการแข่งขันทางการให้กับสโมสรรวม 778 นัด[139] รวมทั้งเป็นผู้เล่นที่ลงสนามในลาลิกาให้กับทีมมากที่สุดจำนวน 520 นัด[140]

ผู้ที่ทำประตูสูงสุดตลอดกาลของบาร์เซโลนาในทุกการแข่งขัน คือ ลิโอเนล เมสซิ จำนวนประตูนับถึงฤดูกาล 2020–21 คือ 672 ประตู[141] โดยเมสซิทำลายสถิติที่ยืนระยะมากว่า 80 ปี ของ เปาลีโน อัลกันตารา (1912–27) จำนวน 369 ประตู ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2014 ในนัดแข่งขันเกมลาลิกากับโอซาซูนา โดยการแข่งขันนัดดังกล่าวเมสซิทำโปกเกอร์ คือ ยิงประตู 4 ประตูในนัดเดียว[142]

และผู้ทำประตูสูงสุดในลีก (ลาลิกา) ของบาร์เซโลนา ก็คือ ลิโอเนล เมสซิ จำนวนประตูในลีกนับถึงฤดูกาล 2020-21 คือ 474 ประตู[143] ทำลายสถิติเดิมของ เซซาร์ โรดรีเกซ จำนวน 195 ประตูในลาลิการระหว่าง ค.ศ. 1942 ถึง 1955[144] โดยการทำ 2 ประตู ในนัดพบกับ เรอัลเบติส วันที่ 9 ธันวาคม 2012 มีนักฟุตบอลเพียง 4 คนที่ทำประตูได้มากกว่า 100 ประตูในลาลิกาให้กับบาร์เซโลนา คือ ลิโอเนล เมสซิ (474), เซซาร์ โรดรีเกซ (195), ลัสโซล คูบาลา (131) และซามูแอล เอโต (108)

นอกจากนี้ ลิโอเนล เมสซิ (474 ประตูในลีก updated season 2020-21) ยังถือครองสถิติ ผู้ทำประตูสูงสุดในลาลิกาสเปนปัจจุบันอีกด้วย โดยการทำลายสถิติเดิมตั้งแต่ปี 1995 ของ เตลโม ซาร์ร่า นักฟุตบอลจากทีม อัตเลติกเดบิลบาโอ จำนวน 251 ประตู ซึ่งเมสซิทำลายสถิติดังกล่าวได้ในนัดที่ทำแฮตทริก ในเกมบาร์เซโลนาพบกับเซบิยา วันที่ 22 พฤศจิกายน 2014[145]

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2009 บาร์เซโลนาทำสถิติสำคัญคือทำได้ครบ 5,000 ประตูในการแข่งขัน ลาลิกา โดยเมสซิซึ่งยิงได้ในนัดแข่งกับราซินเดซันตันเดร์ ที่บาร์ซาชนะ 2–1[146]

ในวันที่ 18 ธันวาคม 2009 บาร์เซโลนาชนะเอสตูเดียนเตส 2–1 ทำให้ครองแชมป์ที่ 6 ในปีเดียวกัน และเป็นสโมสรฟุตบอลแรกที่สามารถถือครองถ้วย 6 ถ้วยในฤดูกาลเดียวกัน[147]

บาร์เซโลนาถือสถิติผู้ครองแชมป์มากที่สุดใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป คือ 90 แชมป์

บาร์เซโลนายังถือสถิติผู้ครองแชมป์มากที่สุดในการแข่งขัน ยูฟ่าซูเปอร์คัพ (5 สมัย/สถิติร่วมกับ เอซี มิลาน), โกปาเดลเรย์ (31 สมัย) และซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา (13 สมัย)

นักฟุตบอลที่สามารถคว้าแชมป์กับทีมบาร์เซโลนาได้มากที่สุดคือ ลิโอเนล เมสซิ จำนวน 35 แชมป์ (ค.ศ. 2004–21)

ในวันที่ 3 มีนาคม 1986 ในการชิงถ้วยฟุตบอลยุโรปที่แข่งกับยูเวนตุสรอบก่อนชิงชนะเลิศ มีผู้ชมมากที่สุดในการแข่งขันที่บาร์เซโลนาเป็นเจ้าบ้านถึง 120,000 คน[148] สนามกัมนอว์ยุคใหม่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ที่เปลี่ยนเป็นระบบที่นั่งทุกที่นั่ง ทำให้สถิติผู้ชมสูงสุดไม่สามารถทำลายไปได้ และจำนวนที่นั่งทั้งหมดของสนามคือ 98,772 ที่[149]

ผู้จัดการทีมที่คุมทีมยาวนานที่สุดของสโมสรได้แก่ แจ็ค กรีนเวลล์ ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษ ซึ่งคุมทีมยาวนาน 9 ปีจากการรับตำแหน่ง 2 ครั้ง (ค.ศ. 1917–24 และ 1931–33)[150] ส่วนผู้จัดการทีมที่คุมทีมติดต่อกันยาวนานที่สุดได้แก่ โยฮัน ไกรฟฟ์ จำนวน 8 ปี (1988-96) และผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดได้แก่ แป็ป กวาร์ดิออลา ซึ่งพาทีมคว้าตำแหน่งชนะเลิศ 14 รายการ (ค.ศ. 2008-12)[151][152]

ตราสโมสรและชุดกีฬา

diamond shaped crest surrounded by laurels and topped with a crown and a bat
ตราสโมสรแบบดั้งเดิม

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสโมสร ก็มีตราประจำสโมสร โดยตราสโมสรดั้งเดิมเป็นรูปหนึ่งในสี่ของสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด โดยมี มงกุฎแห่งอารากอน (Crown of Aragon) และค้างคาวกษัตริย์เจมส์ (bat of King James) อยู่ด้านบนสุด โดยมีกิ่งไม้ 2 กิ่งอยู่ด้านข้าง โดยใบหนึ่งเป็นต้นลอเรลและอีกใบหนึ่งเป็นใบปาล์ม[153] ในปี 1910 สโมสรได้จัดการประกวดการออกแบบตราสโมสรใหม่ โดยผู้ชนะได้แก่ การ์เลส โกมามาลา ซึ่งเป็นนักฟุตบอลของสโมสรช่วงนั้น ซึ่งตราสโมสรที่ออกแบบโดยโกมามาลากลายเป็นตราสโมสรมาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากต้นฉบับเล็กน้อย ตราสโมสรประกอบด้วยรูป กางเขนของเซนต์จอร์จอยู่ในตำแหน่งซ้ายบน และธงชาติกาตาลาอยู่ในตำแหน่งขวาบน และสีประจำสโมสรอยู่ตำแหน่งด้านล่าง[153]

สีน้ำเงินและแดงบนเสื้อนั้น มีใช้ครั้งแรกในนัดแข่งกับฮิสปาเนียในปี 1900[154] มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของการใช้สีน้ำเงินและแดงของเสื้อบาร์เซโลนา ลูกชายของประธานคนแรก อาร์เทอร์ วิตตี อ้างว่าเป็นแนวคิดของพ่อเขา ที่ใช้สีเช่นเดียวกับทีมโรงเรียนเมอร์แชนต์เทย์เลอร์สกูล ส่วนอีกคำอธิบายหนึ่ง นักเขียนที่ชื่อ โทนี สตรูเบลล์ กล่าวว่า สีทั้งสองนั้นมาจากสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ของรอแบ็สปีแยร์ ส่วนในกาตาลุญญา เป็นที่เข้าใจว่า สีทั้งสองนั้นเลือกโดยฌูอัน กัมเป ซึ่งเป็นสีเดียวกับทีมบ้านเกิด คือ สโมสรฟุตบอลบาเซิล[155]

ตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรมา บาร์เซโลนาไม่เคยมีโฆษณาบนเสื้อ จนเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2006 สโมสรมีข้อตกลงร่วมกับยูนิเซฟในสัญญา 5 ปี ว่าจะมีตราสัญลักษณ์ของยูนิเซฟบนเสื้อทีมของบาร์เซโลนา โดยตกลงกันว่าสโมสรบริจาคเงิน 1.5 ล้านยูโร ต่อปีให้กับยูนิเซฟ (0.7 เปอร์เซนต์ของรายได้สโมสร) โดยผ่านทางมูลนิธิสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา[156] โดยมูลนิธิสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาเป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1994 จากคำแนะนำของประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของบริษัทในขณะนั้น ไคย์เม คิล-อาลูคา จากแนวความคิดที่ว่าหากก่อตั้งมูลนิธิจะสามารถดึงดูดผู้สนับสนุนด้านการเงินทึ่ต้องการสนับสนุนองค์กรกีฬาที่ไม่แสวงหากำไร[157] ในปี 2004 สมาชิกสโมสรสามารถเป็นหนึ่งใน 25 ของสมาชิกกิตติมศักดิ์ โดยบริจาคเงินระหว่าง 40,000–60,000 ยูโร (คำนวณจากอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันเท่ากับ 45,800–68,700 ยูโร) ต่อปี และมีสมาชิกสมทบอีก 48 คน ที่บริจาค 14,000 ยูโร (คำนวณจากอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันเท่ากับ 16,000 ยูโร) และผู้อุปถัมป์ไม่จำกัดจำนวน บริจาคที่ 4,000 ยูโรต่อปี (คำนวณจากอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันเท่ากับ 4,600 ยูโร) แต่ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสมาชิกกิตติมศักดิ์จะสามารถเป็นส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายสโมสรหรือไม่ แต่จากข้อมูลของนักเขียน แอนโทนี คิง ระบุไว้ว่า "ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าสมาชิกกิตติมศักดิ์จะไม่เกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็มีอิทธิพลอย่างไม่เป็นทางการกับสโมสร"[158]

จนในที่สุด บาร์เซโลนาก็ยุติการไม่มีการโฆษณาบนเสื้อในฤดูกาล 2011-12 โดยได้เซ็นสัญญาเป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 150 ล้านยูโร กับ มูลนิธิกาตาร์[159]

ผู้ผลิตชุดกีฬา และผู้สนับสนุนบนเสื้อ

ไนกี้ ได้เป็นผู้ผลิตเสื้ออย่างเป็นทางการของบาร์เซโลนามาตั้งแต่ ค.ศ. 1998
ช่วงเวลา ผู้ผลิตชุดกีฬา ผู้สนับสนุนหลักบนชุด ผู้สนับสนุนรองบนชุด
1899–1982 ไม่มี ไม่มี ไม่มี
1982–1992 เมย์บา
1992–1998 กัปปา
1998–2004 ไนกี้
2004–2006 เตอูเบเตรส (แขนเสื้อซ้าย)
2006–2011 ยูนิเซฟ
2011–2013 มูลนิธิกาตาร์ เตอูเบเตรส (แขนเสื้อซ้าย) และ ยูนิเซฟ (ด้านหลังเสื้อ)
2013–2014 กาตาร์แอร์เวย์
(33,5 ล้านยูโรต่อปี) [160][161]
ยูนิเซฟ (ด้านหลังเสื้อ)
2014–2017 เบโก (แขนเสื้อซ้าย) และ ยูนิเซฟ (ด้านหลังเสื้อ)
2017–2021 ระกุเต็ง
(55 ล้านยูโรต่อปี) [162][163][164]
2021–2022 ยูนิเซฟ (ด้านหลังเสื้อ)
2022– สปอติฟาย ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ด้านหลังเสื้อ)

สนามกีฬา

an elevated view of the stadium at night
มุมมองสนามกัมนอว์ภายในสนาม

เริ่มแรกบาร์เซโลนาเล่นที่สนามกัมเดลาอินดุสเตรีย มีความจุราว 10,000 คนและสโมสรเห็นว่าสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ดีพอกับสมาชิกที่เพิ่มขึ้น[165]

ในปี 1922 ผู้สนับสนุนสโมสรมีเพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 คน และสนับสนุนเงินให้กับสโมสร ทำให้บาร์ซาสามารถที่จะสร้างสนามที่ใหญ่กว่า โดยสร้างสนามกัมเดเลสกอตส์ ที่มีความจุ 20,000 คน หลังจากสงครามกลางเมืองสเปน สโมสรเริ่มมีสมาชิกมากขึ้นและมีผู้เข้าชมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการขยับขยายสนาม โดยขยายอัฒจันทร์ใหญ่ในปี 1946 ขยายอัฒจันทร์ฝั่งทิศใต้ในปีเดียวกัน และสุดท้ายขยายอัฒจันทร์ฝั่งทิศเหนือในปี 1950 หลังการขยับขยายครั้งสุดท้าย สนามเลสกอตส์สามารถจุคนได้ 60,000 คน[166]

หลังจากต่อเติมเสร็จ สนามเลสกอตส์ก็ไม่สามารถขยับขยายห้องได้เพิ่มขึ้นอีก และจากความสำเร็จในการเป็นผู้ชนะเลิศในลาลิกาติดต่อกันในปี 1948 และ 1949 รวมถึงได้เซ็นสัญญากับนักฟุตบอล ลัสโซล คูบาลา ในเดือนมิถุนายน 1950 ที่ต่อมาเขายิงประตูให้กับสโมสร 196 ประตูใน 256 นัด ก็ยิ่งทำให้มีฝูงชนเข้ามาดูการแข่งขันมากขึ้น[166][167][168] สโมสรจึงเริ่มวางแผนการสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่[166] สนามกัมนอว์เริ่มก่อสร้างวันที่ 28 มีนาคม 1954 วางศิลาฤกษ์ก้อนแรกโดยผู้ว่า เฟลีเป อาเซโด โกลังกา ที่ทำพิธีโดยอาร์ชบิชอปแห่งบาร์เซโลนา เกรโกเรียว โมเดรโก โดยใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 1957 ด้วยค่าก่อสร้างทั้งหมด 288 ล้านเปเซตา เกินงบประมาณ 336%[166]

ส่วนหนึ่งของอัฒจันทร์ที่แสดงคำขวัญของบาร์เซโลนา "Més que un club" ที่หมายถึง 'มากกว่าสโมสร'

ในปี 1980 มีการออกแบบสนามกีฬาใหม่ให้เข้ากับเกณฑ์พิจารณาของยูฟ่า สโมสรได้หาเงินจากผู้สนับสนุน โดยจะสลักชื่อบนหินด้วยจำนวนเงินเล็กน้อย แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับจากผู้สนับสนุน โดยมีคนหลายพันคนร่วมสนับสนุน แต่ต่อมากลายเป็นข้อพิพาทเมื่อสื่อในมาดริด ยกประเด็นนี้เมื่อมีหินก้อนหนึ่งที่สลักชื่อ ประธานของเรอัลมาดริด และผู้สนับสนุนจอมพลฟรังโก ชื่อ ซานเตียโก เบร์นาเบว เยสเต[169][170][171] ต่อมาในการเตรียมงานสำหรับกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1992 ได้มีการติดที่นั่ง 2 แถว เหนือแนวหลังคาเดิม[172] ปัจจุบันสนามจุคนได้ 99,354 คน เป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป[173]

นอกจากนั้นยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น เช่น[174]

  • ซิวตัตเอสปอร์ตีบาฌูอันกัมเป (สนามฝึกซ้อมของสโมสร)
  • มาเซีย-เซนเตรเดฟอร์มาซีโอโอเรียลตอร์ต (ที่พักอาศัยของนักฟุตบอลเยาวชน)
  • มีนีเอสตาดี (ที่พักอาศัยของทีมสำรอง)
  • ปาเลาเบลากรานา (สนามฝึกซ้อมกีฬาในร่ม)
  • ปาเลาเบลากรานา 2 (สนามฝึกซ้อมในร่มแห่งที่ 2 ของสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา)
  • ปิสตาเดเคล (ลานเล่นสเกตน้ำแข็งของสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา)

เกียรติประวัติ

ระดับ รายการ ชนะเลิศ ฤดูกาล
สเปน

ระดับประเทศ

ลาลิกา 27 1928–1929, 1944–45, 1947–48, 1948–49, 1951–52, 1952–53, 1958–59, 1959–60, 1973–74, 1984–85, 1990–91, 1991–92, 1992–93, 1993–94, 1997–98, 1998–99, 2004–05, 2005–06, 2008–09, 2009–10, 2010–11, 2012–13, 2014–15, 2015–16, 2017–18, 2018–19, 2022–23
โกปาเดลเรย์ 31 1909–10, 1911–12, 1912–13, 1919–20, 1921–22, 1924–25, 1925–26, 1927–28, 1941–42, 1950–51, 1951–52, 1952–53, 1956–57, 1958–59, 1962–63, 1967–68, 1970–71, 1977–78, 1980–81, 1982–83, 1987–88, 1989–90, 1996–97, 1997–98, 2008–09, 2011–12, 2014–15, 2015–16, 2016–17, 2017–18, 2020–21
ซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา 14 1983, 1991, 1992, 1994, 1996, 2005, 2006, 2009, 2010, 2011, 2013, 2016, 2018, 2022–23
โกปาเอบาดัวร์เต 3 1948, 1952, 1953
โกปาเดลาลิกา 2 1983, 1986
ยุโรป ระดับทวีปยุโรป ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 5 1991–92, 2005–06, 2008–09, 2010–11, 2014–15
ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 4 1978–79, 1981–82, 1988–89, 1996–97
ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 5 1992, 1997, 2009, 2011, 2015
อินเตอร์-ซิตีส์แฟส์คัพ 3 1955–58, 1958–60, 1965–66
โลก ระดับโลก ฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ 3 2009, 2011, 2015
  •   เป็นทีมที่ชนะเลิศรายการดังกล่าวสูงที่สุด

ผู้เล่น

สโมสรในสเปนจำกัดให้มีผู้เล่นที่ไม่ได้มีสัญชาติยุโรปได้ไม่เกิน 3 คน ไม่รวมประเทศในกลุ่มประเทศในกลุ่มแอฟริกา แคริบเบียน และแปซิฟิก ที่ลงนามในสัญญาความตกลงกอตอนู เนื่องจากขัดต่อกฎคอลพัก (Kolpak ruling) รายชื่อผู้เล่นที่แสดงเป็นสัญชาติดั้งเดิมของแต่ละคน แต่นักฟุตบอลที่ไม่ได้มีสัญชาติยุโรปมักจะถือ 2 สัญชาติในประเทศเครือสหภาพยุโรป

ผู้เล่นชุดปัจจุบัน

ณ วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2023[175][176]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
1 GK เยอรมนี มาร์ค-อันเดร แทร์ สเตเกิน (กัปตันทีม)
2 DF สเปน เปา กูบาร์ซี
3 DF สเปน อาเลฆันโดร บัลเด
4 DF อุรุกวัย โรนัลด์ อาราอูโฆ (รองกัปตันทีม)
5 DF สเปน อิญญิโก มาร์ติเนซ
6 MF สเปน กาบิ
7 FW สเปน เฟร์รัน ตอร์เรส
8 MF สเปน เปดริ (กัปตันทีมคนที่ 4)
9 FW โปแลนด์ รอแบร์ต แลวันดอฟสกี
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
10 FW สเปน อันซู ฟาตี
11 FW บราซิล ราฟีญา
13 GK สเปน อิญญากิ เปญญา
15 DF เดนมาร์ก แอนเตรแอส เครสเตินเซิน
16 MF สเปน Fermín López
17 DF สเปน มาร์โกส อาลอนโซ เมนโดซา
19 MF สเปน ลามีน ยามัล
21 MF เนเธอร์แลนด์ แฟร็งกี เดอ โยง (กัปตันทีมคนที่ 3)
23 DF ฝรั่งเศส ฌูล กูนเด

ยืมตัวออก

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
FW ฝรั่งเศส เกลม็อง ล็องแกล (ไป อัตเลติโกเดมาดริด)

บุคลากร

ทีมงานฝ่ายเทคนิคในปัจจุบัน

ฮันส์-ดีเทอร์ ฟลิค ผู้จัดการทีมคนปัจจุบัน
ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่
ผู้จัดการทีมชุดใหญ่ ฮันส์-ดีเทอร์ ฟลิค
ผู้ช่วยผู้จัดการทีม ออสการ์ อาร์นันดัส
ผู้ช่วยผู้จัดการทีมที่ 2 เซร์ฆิโอ อัลเลเกร
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน ชูอัง บาบารา
ผู้ฝึกสอนด้านฟิตเนส ราฟา โพล
เอดู พอนส์
ฟรานเชสก์ คอส
ปาโก เซรูโย
ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู โชเซ รามอน เด ลา ฟวนเต
แมวมอง อีซีเดร รามอน
เชซุส กาซัส
ฌอร์ดี เมเลโร่
ชาวเม ตอราส
นักกายภาพบำบัด ชาวเม มินุย
ชวนโย บาว
ชาบี โลเปซ
ชาบี ลินเด
นักจิตวิทยา ชวากิน บัลเดส
แพทย์ รามอน กานัล
รีกา พรูนา
ดาเนียล เมดีนา
ผู้ประสานงาน การ์เลส นาวาล
ผู้จัดการด้านฟุตบอล เอเรียโด บราอีดา
ผู้ช่วยผู้จัดการด้านฟุตบอล การ์เลส เรแซช
ผู้จัดการสถาบัน ฌอร์ดี โรอูล่า
ผู้จัดการทีมเยาวชน ฌอร์ดี วินยาลส์

ข้อมูลล่าสุด: 5 พฤศจิกายน 2021
อ้างอิง: FC Barcelona

ฝ่ายจัดการ

ฌูอัน ลาปอร์ตา ประธานสโมสรคนปัจจุบันของบาร์เซโลนา
ตำแหน่ง ชื่อ
ประธาน ฌูอัน ลาปอร์ตา
รองประธานฝ่ายการเงินและพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ ราฟาเอล ยุสเต
รองประธานฝ่ายสังคม เอดูอาร์โด โรเมอู
รองประธานฝ่ายกีฬา ฌอร์ดี เมสเตร
ผู้บริหารฝ่ายสนับสนุนทั่วไป มาเนล อาร์โรโย
เลขานุการ โจเซป คิวเบลล์ส
เหรัญญิก เฟอร์ราน โอลิเว
ผู้บริหารฝ่ายสังคม รามอน ปอนต์

ข้อมูลล่าสุด: 9 สิงหาคม ค.ศ. 2021
อ้างอิง: FC Barcelona

อ้างอิง

  1. Camp Nou – FC Barcelona Official Page
  2. "Deloitte Football Money League 2022". Deloitte United Kingdom (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  3. Ozanian, Mike. "World's Most Valuable Sports Teams 2021". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  4. EFE, Agencia (2011-12-24). "2011: El año en el que el Barcelona de Guardiola se hizo aún más grande". Cadena SER (ภาษาสเปนแบบยุโรป).
  5. "The great European Cup teams: Barcelona 2009-2011 | Sid Lowe". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2013-05-24.
  6. MARCA.com (2014-11-13). "Barça, the most loved club in the world". MARCA (ภาษาอังกฤษ).
  7. "Social Star Awards 2013: List of winners". web.archive.org. 2013-11-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-03. สืบค้นเมื่อ 2021-06-14.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  8. "FC Barcelona - All the Barça stars that have won the Golden Boot". Mundo Deportivo USA (ภาษาสเปน). 2022-11-09.
  9. 9.0 9.1 Ball, Phil p. 89.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Carnicero, José Vicente Tejedor (21 May 2010). "Spain – List of Cup Finals". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation (RSSSF). สืบค้นเมื่อ 9 March 2010.
  11. 11.0 11.1 11.2 "History part I". FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-02. สืบค้นเมื่อ 11 March 2010.
  12. Murray, Bill; Murray, William J. p. 30.
  13. Ferrer , Carles Lozano (19 June 2001). "Coupe des Pyrenées – Copa de los Pirineos". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation (RSSSF). สืบค้นเมื่อ 12 June 2010.
  14. Spaaij, Ramón. p. 279.
  15. 15.0 15.1 Arnaud, Pierre; Riordan, James. p. 103.
  16. 16.0 16.1 16.2 "History part II". FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-30. สืบค้นเมื่อ 11 March 2010.
  17. Shubert, Adrian. p. 200.
  18. Roy, Joaquín (2001). "Football, European Integration, National Identity: The Case of FC Barcelona". European Community Studies Association (paper). p. 4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 December 2011. สืบค้นเมื่อ 23 November 2014.
  19. Burns, Jimmy. pp. 111–112.
  20. Arnaud, Pierre; Riordan, James. p. 104.
  21. Spaaij, Ramón. p. 280.
  22. Ball, Phil. pp. 116–117.
  23. Raguer, Hilari. pp. 223–225.
  24. Raguer, Hilari. pp. 232–233.
  25. Aguilar, Paco (10 December 1998). "Barça—Much more than just a Club". FIFA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-29. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  26. Ferrand, Alain; McCarthy, Scott. p. 90.
  27. Witzig, Richard. p. 408.
  28. Ball, Phil. p. 111.
  29. Stokkermans, Karel (2 June 2010). "European Champions' Cup". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation (RSSSF). สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  30. Ross, James M. (27 June 2007). "European Competitions 1960–61". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation (RSSSF). สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  31. 31.0 31.1 "History part III". FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-05. สืบค้นเมื่อ 15 March 2010.
  32. "The Crest". FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-30. สืบค้นเมื่อ 11 April 2010.
  33. MacWilliam, Rab; MacDonald, Tom. p. 180.
  34. Ball, Phil. pp. 83–85.
  35. "La Liga season 1973–74". Liga de Fútbol Profesional (LFP). สืบค้นเมื่อ 28 June 2010.
  36. Moore, Rob; Stokkermans, Karel (11 December 2009). "European Footballer of the Year ("Ballon d'Or")". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation (RSSSF). สืบค้นเมื่อ 11 April 2010.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  37. Perarnau, Martí (18 August 2010). "La Masia, como un laboratorio" (ภาษาสเปน). SPORT.es. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-12. สืบค้นเมื่อ 19 August 2010.
  38. 38.0 38.1 38.2 38.3 "History part IV". FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-04. สืบค้นเมื่อ 15 March 2010.
  39. Ball, Phil p. 85.
  40. Dobson, Stephen; Goddard, John A. p. 180.
  41. Ball, Phil. pp. 106–107.
  42. "Honours". FC Barcelona. สืบค้นเมื่อ 12 March 2010.
  43. 43.0 43.1 "History part V". FC Barcelona. 15 June 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-04. สืบค้นเมื่อ 12 March 2010.
  44. Ferrand, Alain; McCarthy, Scott. p. 110.
  45. Ball, Phil. p. 19.
  46. Ball, Phil. pp. 109–110.
  47. "Ronaldinho wins world award again". BBC News. 19 December 2005. สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  48. McCurdy, Patrick (21 November 2005). "Real Madrid 0 Barcelona 3: Bernabeu forced to pay homage as Ronaldinho soars above the galacticos". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  49. "Barcelona 2–1 Arsenal". BBC News. 17 May 2006. สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  50. "Internacional make it big in Japan". FIFA. 17 December 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-22. สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  51. "Barcelona will not punish Eto'o". BBC News. 14 February 2007. สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  52. "Barcelona defends Asian tour". AFP. soccerway.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ 11 March 2010.
  53. "Rijkaard until 30 June; Guardiola to take over". FC Barcelona. 8 May 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-04. สืบค้นเมื่อ 8 May 2009.
  54. Alvarez, Eduardo (14 May 2009). "One title closer to the treble". ESPN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-09. สืบค้นเมื่อ 30 May 2009.
  55. "Barcelona 2–0 Man Utd". BBC Sport. 27 May 2009. สืบค้นเมื่อ 30 May 2009.
  56. "Pep Guardiola's love affair with Barça continues". Thesportreview.com. 19 May 2009. สืบค้นเมื่อ 31 May 2009.
  57. "Messi leads Barcelona to Spanish Supercup win". CNN Sports Illustrated. Associated Press. 23 August 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-08. สืบค้นเมื่อ 25 December 2009.
  58. "Barcelona vs Shakhtar Donetsk". FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-29. สืบค้นเมื่อ 13 March 2010.
  59. Barcelona beat Estudiantes to win the Club World Cup. BBC Sport. 19 December 2009. สืบค้นเมื่อ 14 April 2010.
  60. "The year in pictures". FIFA.com. 13 December 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-02. สืบค้นเมื่อ 13 March 2010.
  61. "Messi, Barcelona set records in Spanish league title repeat". USA Today. 16 May 2010. สืบค้นเมื่อ 11 August 2010.
  62. "Sandro Rosell i Feliu (2010-)". FC Barcelona. FCBarcelona.cat. สืบค้นเมื่อ 5 June 2011.
  63. "Barca agree Villa move with Valencia". FCBarcelona.cat. FC Barcelona. 19 May 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-02. สืบค้นเมื่อ 4 June 2011.
  64. "Deal with Liverpool to sign Mascherano". FCBarcelona.cat. FC Barcelona. 27 August 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-31. สืบค้นเมื่อ 4 June 2011.
  65. Barcelona secure La Liga Spanish title hat-trick BBC Sport. Retrieved 30 May 2011
  66. Madrid clinch Copa del Rey เก็บถาวร 2011-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Sky Sports. Retrieved 30 May 2011
  67. Phil McNulty (28 May 2011). "Barcelona 3-1 Man Utd". BBC. สืบค้นเมื่อ 30 May 2011.
  68. "El Barça iguala en títulos al Real Madrid". MARCA.com. สืบค้นเมื่อ 18 August 2011.
  69. "Pep Guardiola superó la marca de Johan Cruyff". Sport.es. 26 August 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-09. สืบค้นเมื่อ 26 August 2011.
  70. "SANTOS-FCB: Legendary Barça (0-4)". fcbarcelona.com. 18 December 2011. สืบค้นเมื่อ 18 December 2011.
  71. "Guardiola: "Winning 13 out of 16 titles is only possible when you have a competitive mentality"". fcbarcelona.com. 18 December 2011. สืบค้นเมื่อ 18 December 2011.
  72. "Barcelona v Chelsea: Pep Guardiola keeps calm as Nou Camp critics question selection and tactics". www.telegraph.co.uk.
  73. "Tito Vilanova to replace Guardiola as Barcelona coach | Goal.com". www.goal.com.
  74. "Stat of the day | 100: Tito Vilanova's league points". www.fcbarcelona.com (ภาษาอังกฤษ).
  75. "Vilanova steps down as Barca coach". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-08-09.
  76. https://www.bbc.com/sport/football/27422328
  77. https://www.transfermarkt.com/fc-barcelona/startseite/verein/131/saison_id/2014
  78. https://www.goal.com/story/behind-the-barcelona-chaos-catalan-club-matters-beyond-football/
  79. https://www.bbc.co.uk/sport/football/43632211
  80. "Liverpool complete incredible comeback". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-08-09.
  81. UEFA.com. "Liverpool-Barcelona 2019 History | UEFA Champions League". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  82. "Liverpool 4-0 Barcelona (Agg: 4-3): Liverpool complete stunning comeback to reach Champions League final". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  83. https://www.bbc.com/sport/football/51099632
  84. "Brilliant Bayern put eight past dire Barcelona". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-08-09.
  85. Murray, Scott (2020-08-14). "Barcelona 2-8 Bayern Munich: Champions League quarter-final – as it happened". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-08-09.
  86. https://www.bbc.com/sport/football/54713209
  87. Reuters (2021-03-07). "Joan Laporta is elected as Barcelona president for a second time". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  88. "Messi stars as Barcelona thrash Athletic Bilbao to lift Copa del Rey". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2021-04-17.
  89. "Lionel Messi 'shocked' and 'surprised' at Barcelona contract collapse…". archive.is. 2021-08-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-06. สืบค้นเมื่อ 2022-05-13.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  90. "Messi leaves Barcelona due to 'economic' issues". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-08-05.
  91. "Lionel Messi leaving Barcelona after 'obstacles' thwart contract renewal". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2021-08-06.
  92. "Messi joins PSG on two-year deal". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
  93. "Koeman sacked as Barcelona head coach". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-10-28.
  94. "Official: Barcelona sack Ronald Koeman". MARCA (ภาษาอังกฤษ). 2021-10-27.
  95. https://www.theguardian.com/football/2021/nov/05/barcelona-xavi-take-over-as-coach-agreement-al-sadd
  96. https://en.as.com/en/2021/11/05/soccer/1636098067_290185.html
  97. "Barca's Champions League exit a 'resignation from the football elite'". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-08.
  98. "Barcelona's worst season since 2008 ends with loss". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-07-21.
  99. "2022/23 La Liga Champions | FC Barcelona Official Channel". www.fcbarcelona.com (ภาษาอังกฤษ).
  100. "Ficha Técnica" (PDF) (ภาษาสเปน). Centro de Investigaciones Sociológicas. May 2007. สืบค้นเมื่อ 8 August 2010.
  101. Chadwick, Simon; Arthur, Dave. pp. 4–5.
  102. 102.0 102.1 Aznar, Víctor (19 September 2009). "El FC Barcelona ya tiene 170.000 socios" (ภาษาสเปน). SPORT.es. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-14. สืบค้นเมื่อ 8 August 2010.
  103. Fisk, Peter. pp. 201–202.
  104. Brott, Steffen. p. 77.
  105. "Penyes". FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-03. สืบค้นเมื่อ 8 August 2010.
  106. Goff, Steven (29 July 2003). "Barça Isn't Lounging Around; Storied Catalonian Club Plots Its Return to the Top". The Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-22. สืบค้นเมื่อ 2021-08-30.
  107. "Spain's football team welcomed by royals". The New Nation. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 10 August 2010.
  108. Ghemawat, Pankaj. p. 2.
  109. Kleiner-Liebau, Désirée. p. 70.
  110. Phil Ball (21 April 2002). "The ancient rivalry of Barcelona and Real Madrid". The Guardian. London: Guardian News and Media. สืบค้นเมื่อ 13 March 2010.
  111. Spaaij, Ramón. p. 251.
  112. Abend, Lisa (20 December 2007). "Barcelona vs. Real Madrid: More Than a Game". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-09. สืบค้นเมื่อ 1 July 2009.
  113. Lowe, Sid (26 March 2001). "Morbo: The Story of Spanish Football by Phil Ball (London: WSC Books, 2001)". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 1 July 2009.
  114. Burns, Jimmy. pp. 31–34.
  115. García, Javier (31 January 2000). "FC Barcelona vs Real Madrid CF since 1902". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation. สืบค้นเมื่อ 21 August 2010.
  116. "Real win Champions League showdown". BBC News. 11 December 2008. สืบค้นเมื่อ 21 August 2010.
  117. 117.0 117.1 117.2 Ball, Phil. pp. 86–87.
  118. Shubert, Arthur. p. 199.
  119. "Edición del martes, 09 abril 1901, página 2 – Hemeroteca – Lavanguardia.es" (ภาษาสเปน). Hemeroteca Lavanguardia. สืบค้นเมื่อ 13 March 2010.
  120. "History of Espanyol". RCD Espanyol. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-28. สืบค้นเมื่อ 13 March 2010.
  121. Missiroli, Antonio (March 2002). "European football cultures and their integration: the 'short' Twentieth Century". Iss.Europa.eu. สืบค้นเมื่อ 1 July 2009.
  122. "Matchday 24". FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-31. สืบค้นเมื่อ 13 March 2010.
  123. "Barça 'Ghostbusters' prepare to face old foes". www.marca.com.
  124. "Barcelona-Milan: El clásico de la Champions". Mundo Deportivo (ภาษาสเปน). 2013-03-12.
  125. "Acht Fakten zum Halbfinal-Rückspiel Real Bayern". web.archive.org. 2016-03-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  126. "FC Barcelona - Record against AC Milan". worldfootball.net (ภาษาอังกฤษ).
  127. "FC Barcelona match AC Milan with five European Super Cups | FC Barcelona". web.archive.org. 2016-05-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-14. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  128. "Soccer Teams, Scores, Stats, News, Fixtures, Results, Tables - ESPN". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ).
  129. "Lionel Messi inspires brilliant comeback against AC Milan to confirm 'Barca are back!': Spanish paper reaction". www.telegraph.co.uk.
  130. "The Business Of Soccer". Forbes. 21 April 2010. สืบค้นเมื่อ 7 August 2010.
  131. "Soccer Team Valuations". Forbes. 30 June 2009. สืบค้นเมื่อ 7 August 2010.
  132. "Real Madrid becomes the first sports team in the world to generate €400m in revenues as it tops Deloitte Football Money League". Deloitte. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-05. สืบค้นเมื่อ 7 August 2010.
  133. Peterson, Marc p. 25.
  134. Andreff, Wladimir; Szymański, Stefan (2006). Handbook on the economics of sport. Edward Elgar Publishing. p. 299. ISBN 1-84376-608-6.
  135. "Barcelona audit uncovers big 2009/10 loss". Reuters. 27 July 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-09. สืบค้นเมื่อ 9 August 2010.
  136. "Barca announce €45m budget". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-12. สืบค้นเมื่อ 2011-08-21.
  137. "ESPN The Magazine – The Money Issue – 200 Best-Paying Teams in the World – ESPN". Sports.espn.go.com. 2011-04-20. สืบค้นเมื่อ 2011-05-28.
  138. "FC Barcelona Records (Team & Individual Records)". FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-02. สืบค้นเมื่อ 15 March 2010.
  139. "Leo Messi surpasses Xavi Hernández record". www.fcbarcelona.com (ภาษาอังกฤษ).
  140. "Lionel Messi's La Liga debut for Barcelona - Who were his teammates and where are they now? | Goal.com". www.goal.com.
  141. http://www.fcbarcelona.com/club/the-honours/detail/card/fc-barcelona-individual-records
  142. http://www.fcbarcelona.com/football/first-team/detail/article/leo-messi-surpasses-paulino-alcantara-and-becomes-fc-barcelona-all-time-top-scorer
  143. "Lionel Messi's record at Barcelona in numbers". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2021-08-05.
  144. "LFP – Barcelona Seasons". Liga de Fútbol Profesional Tables for other seasons may be obtained using the "Other searches" button. สืบค้นเมื่อ 8 August 2010.
  145. "ถ่อมตน! เมสซีเผยพังสถิติซัลโวลาลีก้าได้เพราะทุกคน".
  146. "Messi propels 5,000-goal Barcelona". FIFA. 2009-02-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-09. สืบค้นเมื่อ 13 March 2010.
  147. "Kings, queens and a young prince". FIFA. 23 December 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-26. สืบค้นเมื่อ 23 March 2010.
  148. "Records". FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-17. สืบค้นเมื่อ 15 March 2010.
  149. "A Five Star Stadium". FC Barcelona. สืบค้นเมื่อ 24 December 2010.
  150. "Jack Greenwell (1913-23,1931-33)". www.fcbarcelona.com (ภาษาอังกฤษ).
  151. "Stat of the day | 14: Trophies won with Pep Guardiola as coach". www.fcbarcelona.com (ภาษาอังกฤษ).
  152. Weeks, Jonny (2013-01-16). "Pep Guardiola's 14 trophies at Barcelona – in pictures". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
  153. 153.0 153.1 "The crest". FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-30. สืบค้นเมื่อ 30 July 2010.
  154. Ball, Phil p. 90.
  155. Ball, Phil pp. 90–91.
  156. "Open letter from Joan Laporta". FC Barcelona. 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-30. สืบค้นเมื่อ 21 February 2010.
  157. Desbordes, Michel p. 195.
  158. King, Anthony pp. 123–24.
  159. "Barcelona agree €150m shirt sponsor deal with Qatar Foundation". The Guardian. 10 December 2010. Retrieved on 22 December 2010.
  160. "FC Barcelona and Qatar Airways extend sponsorship agreement". FC Barcelona. 19 July 2016. สืบค้นเมื่อ 22 July 2022.
  161. "Qatar Airways no será la aerolínea del Barça". Mundo Deportivo. 25 September 2017. สืบค้นเมื่อ 22 July 2022.
  162. "Rakuten sign up as FC Barcelona's new main global partner". FC Barcelona. 16 November 2016. สืบค้นเมื่อ 22 July 2022.
  163. "A global, innovative agreement based on shared values". FC Barcelona. 16 November 2016. สืบค้นเมื่อ 22 July 2022.
  164. "FC Barcelona and Rakuten extend partnership for the 2021/22 season, exercising the option contained in the original agreement". FC Barcelona. 6 November 2020. สืบค้นเมื่อ 22 July 2022.
  165. Santacana, Carles (14 March 2009). "Cent anys del camp de la Indústria" (ภาษาคาตาลัน). FC Barcelona. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-04. สืบค้นเมื่อ 11 September 2010.
  166. 166.0 166.1 166.2 166.3 "Brief history of Camp Nou". FC Barcelona. สืบค้นเมื่อ 30 July 2010.
  167. Farred, Grant. p. 124.
  168. Eaude, Michael. p. 104.
  169. Ball, Phil pp. 20–21.
  170. Ball, Phil pp. 121–22.
  171. Murray, Bill; Murray, William J.. p. 102.
  172. Snyder, John. pp. 81–2.
  173. Stone, Peter. p. 201.
  174. "El proyecto Barça Parc, adelante" (ภาษาสเปน). FC Barcelona. 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-31. สืบค้นเมื่อ 28 July 2009.
  175. "First Team". FC Barcelona. สืบค้นเมื่อ 7 August 2022.
  176. "PREVIEW — FC Barcelona v Rayo Vallecano". FC Barcelona. 13 August 2022. สืบค้นเมื่อ 13 August 2022.

ดูเพิ่ม

  • Arnaud, Pierre; Riordan, James (1998). Sport and international politics. Taylor & Francis. ISBN 978-0-419-21440-3.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  • Ball, Phill (2003). Morbo: The Story of Spanish Football. WSC Books Limited. ISBN 0-9540134-6-8.
  • Burns, Jimmy (1998). Barça: A People's Passion. Bloomsbury. ISBN 0-7475-4554-5.
  • Chadwick, Simon; Arthur, Dave (2007). International cases in the business of sport. Butterworth-Heinemann. ISBN 0-7506-8543-3.
  • Desbordes, Michael (2007). Marketing and football: an international perspective. Butterworth-Heinemann. ISBN 0-7506-8204-3.
  • Dobson, Stephen; Goddard, John A. (2001). The economics of football. Cambridge University Press. ISBN 0-521-66158-7.
  • Eaude, Michael (2008). Catalonia: a cultural history. Oxford University Press. ISBN 0-19-532797-7.
  • Ferrand, Alain; McCarthy, Scott (2008). Marketing the Sports Organisation: Building Networks and Relationships. Taylor & Francis. ISBN 0-415-45329-1.
  • Fisk, Peter (2008). Business Genius: A More Inspired Approach to Business Growth. John Wiley and Sons. ISBN 1-84112-790-6.
  • Ghemawat, Pankaj (2007). Redefining global strategy: crossing borders in a world where differences still matter. Harvard Business Press. p. 2. ISBN 1-59139-866-5.
  • Farred, Grant (2008). Long distance love: a passion for football. Temple University Press. ISBN 1-59213-374-6.
  • Ferrand, Alain; McCarthy, Scott (2008). Marketing the Sports Organisation: Building Networks and Relationships. Taylor & Francis. ISBN 0-415-45329-1.
  • King, Anthony (2003). The European ritual: football in the new Europe. Ashgate Publishing, Ltd. ISBN 0-7546-3652-6.
  • Kleiner-Liebau, Désirée (2009). Migration and the Construction of National Identity in Spain. Vol. 15. Iberoamericana Editorial. ISBN 84-8489-476-2.
  • Murray, Bill; Murray, William J. (1998). The world's game: a history of soccer. University of Illinois Press. ISBN 0-252-06718-5.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  • Peterson, Marc (2009). The Integrity of the Game and Shareholdings in European Football Clubs. GRIN Verlag. ISBN 3-640-43109-X.
  • Raguer, Hilari (2007). The Catholic Church and the Spanish Civil War. Vol. 11. Routledge. ISBN 0-415-31889-0.
  • Shubert, Adrian (1990). A social history of modern Spain. Routledge. ISBN 0-415-09083-0.
  • Snyder, John (2001). Soccer's most wanted: the top 10 book of clumsy keepers, clever crosses, and outlandish oddities. Brassey's. ISBN 1-57488-365-8.
  • Spaaij, Ramón (2006). Understanding football hooliganism: a comparison of six Western European football clubs. Amsterdam University Press. ISBN 90-5629-445-8.
  • Witzig, Richard (2006). The Global Art of Soccer. CusiBoy Publishing. ISBN 0-9776688-0-0.

ผลงานภาพยนตร์

  • Jordi Feliú, Barça, 75 años de historia del Fútbol Club Barcelona, 1974.

แหล่งข้อมูลอื่น