ข้ามไปเนื้อหา

การก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การก คือลักษณะพิเศษทางไวยากรณ์ของคำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ คำอนุภาค หรือคำบอกตัวเลข ที่ระบุหน้าที่ของคำนั้น ๆ ในวลี อนุประโยค หรือ ประโยค คำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ ตัวกำหนด คำอนุภาค คำบุพบท คำบอกตัวเลข คำกำกับนาม และส่วนขยายในบางภาษาสามารถมีรูปผันได้หลายรูปขึ้นอยู่กับการก ขณะที่ภาษามีวิวัฒนาการ การกสามารถรวม (ตัวอย่างเช่นในภาษากรีกโบราณ อธิกรณการก (Locative) รวมเข้ากับสัมปทานการก (Dative)) ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า Syncretism

ภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษากรีกโบราณ ภาษาอาร์มีเนีย ภาษาอัสสัม ภาษาส่วนใหญ่ในกลุ่มภาษาบอลโต-สลาวิก ภาษาบาสก์ ภาษาส่วนใหญ่ในกลุ่มภาษาคอเคเซียน ภาษาเยอรมัน ภาษาไอซ์แลนด์ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาละติน ภาษาสันสกฤต ภาษาทมิฬ ภาษาทิเบต (หนึ่งในภาษาที่มีวรรณยุกต์) กลุ่มภาษาเตอร์กิก และกลุ่มภาษายูราล มีระบบการกที่ใหญ่ คำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ และตัวกำหนดต่างมีการผันคำทั้งหมด (โดยใช้วิภัตติปัจจัยเป็นปกติ) เพื่อระบุถึงการกที่มันอยู่ จำนวนของการกในแต่ละภาษานั้นแตกต่างกันไป โดยในภาษาเปอร์เซียและภาษาเอสเปรันโตมี 2 การก ภาษาอังกฤษใหม่มี 3 การกเฉพาะสรรพนามเท่านั้น ภาษาเยอรมันและภาษาไอซ์แลนด์มี 4 การก ภาษาโรมาเนียมี 5 การก ภาษาละติน ภาษาสโลวีเนีย ภาษารัสเซีย และภาษาตุรกีมีอย่างน้อย 6 การก ภาษาอาร์มีเนีย ภาษาเช็ก ภาษาลัตเวีย ภาษาลิทัวเนีย ภาษาโปแลนด์ ภาษาบอสเนีย ภาษาเซอร์เบีย ภาษาโครเอเชีย ภาษาสโลวาเกีย และภาษายูเครนมี 7 การก ภาษาสันสกฤตและภาษาทมิฬมี 8 การก ภาษาเอสโตเนียมี 14 การก ภาษาฟินแลนด์มี 15 การก ภาษาฮังการีมี 18 การก และภาษาทเซซ (Tsez) มี 64 การก

การกที่มักพบได้บ่อย ได้แก่ กรรตุการก (Nominative) กรรมการก (Accusative) สัมปทานการก และสัมพันธการก (Genitive) โดยปกติในภาษาไทยมักใช้คำบุพบทในส่วนของคำที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับการก ตัวอย่างเช่นบุพบทวลี ด้วยเท้า (ดังในประโยคที่ว่า "แดงเตะเพื่อนด้วยเท้า") ในภาษารัสเซียสามารถสื่อสารวลีเดียวกันได้ด้วยคำ ๆ เดียวโดยใช้กรณการก (Instrumental)

การกในภาษาต่าง ๆ

[แก้]

ภาษาไทย

[แก้]

ภาษาไทยแบ่งการกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  • กรรตุการก - ผู้ทำหรือผู้ใช้ให้ทำ เช่น ตำรวจจับผู้ร้าย ตำรวจ เป็นกรรตุการก
  • กรรมการก - ผู้ถูกทำ เช่น ตำรวจจับผู้ร้าย ผู้ร้ายถูกจับโดยตำรวจ ผู้ร้าย เป็นกรรมการก
  • การิตการก - ผู้ถูกใช้ให้ทำ เช่น ผู้กำกับให้ร้อยเวรไปจับผู้ร้าย ร้อยเวร เป็นการิตการก
  • วิกัติการก
    • คำที่อธิบายตำแหน่งของบทการกข้างหน้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ตำรวจยศพันตำรวจตรีจับผู้ร้าย ยศพันตำรวจตรี เป็นวิกัติการก
    • หรือคำที่เป็นบทช่วยวิกตรรถกริยา เช่น เขาเป็นตำรวจ ตำรวจ คือวิกัติการก
  • วิเศษณการก - คำที่เรียงอยู่หลังบุพบทที่ใช้เป็นบทเชื่อม เช่น ตำรวจจาก สน.บางเขน สน.บางเขน เป็นวิเศษณการก ถ้าละบุพบทเสีย ก็อยู่ติดกับบทที่มันประกอบ

กลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน

[แก้]

ภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียนมี 8 การกแต่เดิม ดังนี้ โดยยกตัวอย่างภาษาไทยประกอบ

การก สิ่งที่ระบุ ตัวอย่างคำในประโยค ตัวอย่างประโยค ปฤจฉา หมายเหตุ
กรรตุการก ประธานของกริยาแท้ ฉัน
ดำ
ช่าง
ฉันซื้อแกงเขียวหวาน
ดำฝากกระเป๋าไว้
ช่างพึ่งจะซ่อมรถเมื่อวาน
ใคร? หรือ อะไร? เทียบได้กับประธานสรรพนาม (คำสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นประธาน)
กรรมการก กรรมตรงของสกรรมกริยา แกงเขียวหวาน
กระเป๋า
รถ
พี่
ฉันซื้อแกงเขียวหวาน
ดำฝากกระเป๋าไว้
ช่างพึ่งจะซ่อมรถเมื่อวาน
ลุงข้างบ้านเรียกพี่เข้าไปพบ
ใคร? หรือ อะไร? เทียบได้กับกรรมสรรพนาม (คำสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรม)
สัมปทานการก กรรมรองของคำกริยา แก่เขา
ที่แดง
กับพ่อ
ฉันซื้อแกงเขียวหวานให้แก่เขา
ดำฝากกระเป๋าไว้ที่แดง
ช่างพึ่งจะซ่อมรถให้กับพ่อเมื่อวาน
แก่ใคร? หรือ แก่อะไร? เทียบได้กับกรรมสรรพนาม (คำสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรม)
โดยมีคำบุพบทนำหน้า เช่น ที่ กับ แก่ เป็นต้น
อปาทานการก การเคลื่อนที่ออกห่างจากสิ่งหนึ่งหรือที่มา จากร้านค้าหน้าปากซอย
จากกรุงเทพ
จากเจ้าของ
ฉันซื้อแกงเขียวหวานให้แก่เขาจากร้านค้าหน้าปากซอย
ฉันมาจากกรุงเทพ
สุนัขวิ่งหนีจากเจ้าของทันทีที่ตะโกน
จากไหน? จากใคร? มักนำหน้าด้วย "จาก" ในภาษาไทย
สัมพันธการก ผู้เป็นเจ้าของของคำนามอีกอย่าง ของเขา
ของประเทศไทย
แกงเขียวหวานของเขามาจากร้านค้า
ฉันมาจากกรุงเทพที่เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย
ของใคร? ของอะไร? มักนำหน้าด้วย "ของ" ในภาษาไทย
สัมโพธนการก ผู้ที่ถูกเรียก ตัวเอง!
นี่เธอ!
ดูก่อนอานนท์
ตัวเอง! อย่าลืมซื้อของมานะ
นี่เธอ! ซื้ออะไรมาน่ะ
ดูก่อนอานนท์...
อธิกรณการก สถานที่หรือเวลา ในประเทศไทย
ที่บ้าน
เมื่อคืน
พวกเราอาศัยอยู่ในประเทศไทย
ภรรยาของเขารอเขาอยู่ที่บ้านตั้งแต่เช้า
เมื่อคืนพวกเธอไปไหนมา?
ที่ไหน? ในไหน? เมื่อไหร่? เทียบได้กับคำบุพบทต่าง ๆ
กรณการก อุปกรณ์ วิธีการที่ใช้ หรือผู้ร่วมมือที่ทำให้เกิดการกระทำ โดยสารรถยนต์ (โดยรถยนต์)
ด้วยมือ
ให้เพื่อนทำ
นักเรียนโดยสารรถยนต์ไปโรงเรียนเป็นประจำ
จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นด้วยมือ
การบ้านนี้ฉันให้เพื่อนทำให้
อย่างไร? ใช้ใครทำ? ใช้อะไรทำ? ทำกับใคร?