คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Faculty of Political Science, Thammasat University | |
สถาปนา | 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492 |
---|---|
คณบดี | รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ |
ที่อยู่ | ท่าพระจันทร์ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 ศูนย์รังสิต 99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 |
วารสาร | รัฐศาสตร์สาร รัฐศาสตร์นิเทศ |
เพลง | มาร์ชรัฐศาสตร์ |
สี | สีดำ |
มาสคอต | สิงห์แดง |
เว็บไซต์ | www.polsci.tu.ac.th |
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อังกฤษ: Faculty of Political Science, Thammasat University) เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชา สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเป็น 1 ใน 4 คณะวิชาก่อตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นคณะวิชาลำดับที่ 3 ของมหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ผลิตบัณฑิตที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมศาสตร์และการเมืองไทยอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง การทูต หรือนักวิชาการ คณะรัฐศาสตร์เป็นคณะที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงในระบบรับตรงโดยปี พ.ศ. 2561 เป็นคณะที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่สุดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในรอบที่ 4 ของระบบ TCAS
ประวัติ
[แก้]การเรียนการสอนวิชารัฐศาสตร์ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2475 เน้นการมุ่งฝึกฝนบุคลากรเพื่อเข้าสู่ระบบราชการเป็นหลัก อีกทั้งยังมีขอบเขตเนื้อหาที่จำกัด ทั้งนี้เนื่องมาจากเนื้อหาของวิชารัฐศาสตร์ค่อนข้างขัดแย้งต่อระบอบการปกครองในช่วงนั้น หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 และเหตุการณ์สืบเนื่องอันส่งผลให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี พ.ศ. 2477 นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมของการจัดการเรียนการสอนวิชารัฐศาสตร์ในประเทศไทย กล่าวคือ สมัยแรกเริ่มนั้น ในระดับชั้นปริญญาตรี การเรียนการสอนวิชารัฐศาสตร์ได้แทรกปะปนอยู่กับเนื้อหาของหลักสูตรวิชา "ธรรมศาสตร์บัณฑิต" (ธ.บ.) ส่วนระดับชั้นปริญญาโทได้แยกหลักสูตรออกเป็น 3 สาขาอย่างชัดเจน ได้แก่ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ (ส่วนด้านการบัญชีนั้น ต่อมาได้มีหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชีซึ่งเทียบเท่าระดับปริญญาโท) ในขณะที่ระดับชั้นปริญญาเอกได้แยกเป็น 4 สาขา คือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2491 – 2492 เนื่องจากเกิดความผันผวนทางการเมืองอย่างรุนแรงจากการรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รวมทั้งการที่สภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศในช่วงนั้นที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้ก้าวขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจที่หวาดระแวงซึ่งกันและกันจนเกิดภาวะ "สงครามเย็น" ขึ้น ซึ่งได้ส่งผลให้ระบบราชการของไทยในยุคนั้นเติบโตอย่างมาก ที่สำคัญที่สุด คือ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยกลุ่มหนึ่ง มีความเห็นว่าการเรียนการสอนในหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตนั้นไม่สามารถผลิตบัณฑิตได้ตรงกับหน้าที่การงานของกระทรวงต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ การจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่อยู่ในรูปแบบ "ตลาดวิชา" ทำให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาออกไปมีอายุแตกต่างกันมาก อีกทั้งนักศึกษาจำนวนหนึ่งมีความตั้งใจที่จะออกไปมีบทบาททางสังคมและการเมือง แทนที่จะมุ่งรับราชการเพียงอย่างเดียว และการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ไม่ได้มีการฝึกฝนอบรมอย่างเพียงพอที่จะผลิตบัณฑิตออกไปประกอบวิชาชีพบางประเภท เช่น ทนายความ เป็นต้น
จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองสมัยนั้น เช่น ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม ศาตราจารย์ เดือน บุนนาค โดยมี พลเอก มังกร พรหมโยธี เป็นนายกกรรมการ ศาตราจารย์ วิจิตร ลุติตานนท์ เป็นเลขาธิการ เป็นต้น ได้ลงมติตรา "ข้อบังคับเพิ่มเติมว่าด้วยการแบ่งแยกการศึกษาเป็น 4 คณะ และ กำหนดสมัยการศึกษาและการสอบไล่ พ.ศ. 2492" ขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ ขึ้นพร้อมกันเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492
ในสมัยแรกเริ่มของการก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น คณบดีคนแรก คือ ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม และคณะกรรมการร่างหลักสูตรท่านอื่น ได้แก่ ศาสตราจารย์ เสริม วินิจฉัยกุล ศาสตราจารย์ ทวี แรงขำ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร หม่อมเจ้าลักษณเลิศ ชยางกูร ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ดร.ยวด เลิศฤทธิ์ ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบหลักสูตรของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศหลายประเทศ เช่น วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (The London School of Economics and Political Science: LSE) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญของมูลนิธิฟลูไบร์ท (Fulbright) ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วงนั้นด้วย หลังจากนั้นการจัดการเรียนการสอนของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย ได้แก่
ในปี พ.ศ. 2496 ได้มีการเปิดแผนกประจำ ซึ่งนักศึกษาจะอยู่กินและนอนที่มหาวิทยาลัยขึ้น โดยนักศึกษาจะได้รับการศึกษาด้านวิชาการและได้รับการอบรมด้านระเบียบวินัยเป็นอย่างดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการโดยตรงจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา จึงได้มีการเปิดแผนกวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในระดับชั้นปริญญาโท โดยทำการเรียนการสอนทั้งแบบภาษาอังกฤษและภาษาไทย (ซึ่งต่อมาแผนกวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ได้รับการยกฐานะเป็นคณะรัฐประศาสนศาสตร์ และได้โอนย้ายไปเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2509)
พ.ศ. 2502 คณะรัฐศาสตร์ ได้มีมติให้จัดตั้งแผนกวิชาการทูตในระดับปริญญาตรีเป็นครั้งแรก ภายหลังจากที่มีการเรียนการสอนในระดับชั้นปริญญาโทมาแล้วระยะหนึ่ง และต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2510 ได้มีการจัดตั้งแผนกวิชาบริหารรัฐกิจ และแผนกวิชารัฐศาสตร์ศึกษาในระดับปริญญาตรีเพิ่มเติม ซึ่งทำให้คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท รวม 4 สาขาวิชา คือ การปกครอง บริหารรัฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (หรือแผนกการทูตเดิม) และปรัชญาการเมือง (หรือแผนกรัฐศาสตร์ศึกษาเดิม) ซึ่งต่อมาได้ยุบรวมเหลือ 3 สาขาวิชา คือ การเมืองการปกครอง บริหารรัฐกิจ การระหว่างประเทศ จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา หลังจากยุคสงครามเย็นสิ้นสุดและเกิดกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้สภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรพิเศษในระดับปริญญาโท ได้แก่
1. หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการเมืองการปกครอง สำหรับนักบริหาร (MPE) ซึ่งจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง (ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 จึงได้ย้ายมาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต)
2. หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารจัดการสาธารณะ สำหรับนักบริหาร (EPA) ซึ่งจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
3. หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาคภาษาอังกฤษ (MIR) ซึ่งจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มีแนวคิดและเปิดหลักสูตรในระดับปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์และเปิดการเรียนการสอนในปีครั้งแรก พ.ศ. 2545 หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2552 ได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาการเมืองการปกครองสำหรับผู้บริหาร (MPE) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาในด้านการเมืองการปกครองมากยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ยังเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิตควบรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการระหว่างประเทศ ภาคภาษาอังกฤษ (BMIR) ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่จัดการเรียนการสอนทางด้านรัฐศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษแห่งแรกในประเทศไทย โดยจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สัญลักษณ์
[แก้]- สัญลักษณ์
สัญลักษณ์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ "สิงห์แดง"
- คำขวัญ
สามัคคี ประเพณี เป็นพี่น้อง
- คำกลอน
สิงห์แดงตัวน้อยๆ เจ้ายังด้อยเร่งศึกษา เมื่อเติบใหญ่จักคำรามก้องนครา ให้รู้ว่าตัวของข้าฯ คือ "สิงห์แดง"
- ต้นไม้ประจำคณะ
ต้นไม้ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ ต้นจำปี
- สีประจำคณะ
หน่วยงาน
[แก้]- ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ
- ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม
- โครงการ ASEAN Watch
- โครงการวิชาโทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
- ศูนย์ศึกษานโยบายต่างประเทศ
- โครงการธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ห้องสมุดศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม
หน่วยงานและหลักสูตร
[แก้]หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |||
---|---|---|---|
หลักสูตร | รัฐศาสตรบัณฑิต | รัฐศาสตรมหาบัณฑิต | ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐศาสตร์) |
การเมืองการปกครอง |
|
|
|
การระหว่างประเทศ |
|
|
|
บริหารรัฐกิจ |
|
|
|
การเมืองและ |
|
|
คณบดี
[แก้]รายนามคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | ||
---|---|---|
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม | 19 มิถุนายน พ.ศ. 2492 – 19 ธันวาคม พ.ศ. 2495 | |
2. ศาสตราจารย์ มาลัย หุวะนันทน์ | 20 ธันวาคม พ.ศ. 2495 – 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 | |
3. ศาสตราจารย์ ทวี แรงขำ | 2 ธันวาคม พ.ศ. 2499 – 4 เมษายน พ.ศ. 2512 | |
4. ศาสตราจารย์ ปกรณ์ อังศุสิงห์ | 5 เมษายน พ.ศ. 2512 – 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 | |
5. ศาสตราจารย์ กมล เภาพิจิตร | 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 – 7 มกราคม พ.ศ. 2518 | |
6. อาจารย์ อนันต์ เกตุวงศ์ | 8 มกราคม พ.ศ. 2518 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 | |
7. ศาสตราจารย์ ไพโรจน์ ชัยนาม | 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 – 5 มกราคม พ.ศ. 2521 | |
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร | 4 เมษายน พ.ศ. 2521 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2522 | |
9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรุณ รักธรรม | 21 กันยายน พ.ศ. 2522 – 30 ตุลาคม พ.ศ. 2523 | |
10. อาจารย์ ชัช กิจกรรม | 6 มีนาคม พ.ศ. 2524 – 5 มีนาคม พ.ศ. 2526 | |
11. รองศาสตราจารย์ ลิขิต ธีรเวคิน | 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 – 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 | |
12. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดม วงษ์น้อม | 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2530 | |
13. รองศาสตราจารย์ สุรชัย ศิริไกร | 1 กันยายน พ.ศ. 2530 – 3 ตุลาคม พ.ศ. 2533 | |
14. รองศาสตราจารย์ วิสุทธิ์ โพธิแท่น | 4 ตุลาคม พ.ศ. 2533 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2536 | |
15. อาจารย์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล | 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 – 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 | |
16. รองศาสตราจารย์ โคริน เฟื่องเกษม | 17 มกราคม พ.ศ. 2539 – 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 | |
17. รองศาสตราจารย์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ | 5 มีนาคม พ.ศ. 2542 – 14 มีนาคม พ.ศ. 2543 | |
16. รองศาสตราจารย์ โคริน เฟื่องเกษม | 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2547 | |
18. รองศาสตราจารย์ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ | 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 – 30 มกราคม พ.ศ. 2553 | |
19. รองศาสตราจารย์ ศิริพร วัชชวัลคุ | 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 – 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 | |
20. รองศาสตราจารย์ ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ | 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 – 1 เมษายน พ.ศ. 2561 | |
21. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทวิดา กมลเวชช | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 | |
22. รองศาสตราจารย์ ภูริ ฟูวงศ์เจริญ | 3 มกราคม พ.ศ. 2566 – ปัจจุบัน |
หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีและผู้รักษาการในตำแหน่งคณบดีเป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]- ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เชาวน์ สายเชื้อ ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนแรก
- ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สุขวิช รังสิตพล รองนายกรัฐมนตรี 2537,2539,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2538-2540
- ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (สิงห์แดงรุ่น 54)
- ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เลขาธิการอาเซียน
- พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ (สิงห์แดงรุ่น 6)
- พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สิงห์แดงรุ่น 38)
- ชลอ วนะภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพระนคร
- อนันต์ อนันตกูล อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สิงห์แดง รุ่น 2)
- เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
- วิเชียร ชวลิต อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
- ไมตรี อินทุสุต อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- สมศักดิ์ จังตระกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น
- ภัคธรณ์ เทียนไชย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี
- สาโรช คัชมาตย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารและนนทบุรี อดีตอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
- วิพัฒน์ วิมลเศรษฐ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทยคนแรก (สิงห์แดง รุ่น 16)
- สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม
- ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตอธิการบดีและอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศ.ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร เมธีวิจัยอาวุโส 2 สมัย ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาการบริหารการสื่อสาร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดูเพิ่ม รายชื่อบุคคลเด่นในประชาคมธรรมศาสตร์