ข้ามไปเนื้อหา

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คำสั่งของนายกรัฐมนตรี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2504 ให้นำ ครอง จันดาวงศ์ กับทองพันธุ์ สุทธิมาศ ไปประหารชีวิตในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยไม่มีการพิจารณาคดี

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" กฎหมายไทยสมัยใหม่บรรจุความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ครั้งแรกในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2453), มีการเพิ่มให้การ "ดูหมิ่น" เป็นความผิด และเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 และมีการเพิ่มโทษครั้งล่าสุดในปี 2519 มีสื่ออธิบายว่าเป็น "กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่รุนแรงที่สุดในโลก"[1] และ "อาจเป็นกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาที่เข้มงวดที่สุดไม่ว่าที่ใด"[2] นักสังคมศาสตร์ ไมเคิล คอนนอส์เขียนว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว "เป็นผลประโยชน์ของราชสำนักเสมอมา"[3]: 134 

ในประมวลกฎหมายไม่มีนิยามว่าพฤติการณ์แบบใดเข้าข่าย "ดูหมิ่น" บ้าง มีการตีความอย่างกว้างขวางซึ่งสะท้อนสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ เฉกเช่นพระมหากษัตริย์ในสมัยศักดินาหรือสมบูรณาญาสิทธิราช ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังตีความว่า กฎหมายห้ามครอบคลุมถึงการวิจารณ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถาบันพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรีและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์[4] มีข้อโต้แย้งว่า ความผิดต่อองคมนตรีเข้าข่ายความผิดนี้หรือไม่ อนึ่ง ในปี 2556 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในอดีตทุกพระองค์ด้วย[5] แม้ว่า "พยายาม" กระทำความผิด เสียดสีสัตว์ทรงเลี้ยง หรือไม่ติเตียนเมื่อพบเห็นผู้กระทำผิดก็ถูกดำเนินคดีด้วย

ผู้ใดจะฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็ได้ ทั้งนี้พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ไม่เคยฟ้องร้องเป็นการส่วนพระองค์ ตำรวจต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นทางการทุกคดี รายละเอียดของข้อหาแทบไม่มีเปิดเผยต่อสาธารณะ ผู้ต้องหามักเผชิญอุปสรรคตลอดคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอประกันตัวชั่วคราว มีการกักขังก่อนพิจารณาคดีในศาลหลายเดือน คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการกักขังโดยพลการตัดสินในปี 2555 ว่าการกักขังก่อนดำเนินคดีละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ศาลไม่ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยอย่างในคดีอาญาทั่วไป การรับสารภาพแล้วขอพระราชทานอภัยโทษถูกมองว่าเป็นวิธีการเพื่อให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด

มีการตีความ "ดูหมิ่น" กว้างขวางมากขึ้นนับแต่พุทธทศวรรษ 2520 คณะรัฐประหารมักอ้างกรณีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์เพื่อรัฐประหาร หลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีการพิจารณาความผิดดังกล่าวมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังรัฐประหารปี 2557 มีการเปลี่ยนให้ศาลทหารพิจารณาคดีดังกล่าว และในปี 2558 ลงโทษจำคุกจำเลยคนหนึ่ง 60 ปี แต่ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งเพราะยอมรับสารภาพ นับเป็นโทษสูงสุดที่เคยมีมา อีกทั้งมีการพิจารณาคดีลับด้วย กฎหมายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "โหดร้ายป่าเถื่อน"[6] บ่อนทำลายกฎหมายไทย ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์[7] บางฝ่ายออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสว่า สามารถวิจารณ์พระองค์ได้และไม่เคยตรัสให้เอาผู้วิจารณ์เข้าคุก[8] ในช่วงปี 2561–2563 ไม่มีคดีใหม่เท่าที่ทราบ แต่ทางการใช้วิธีฟ้องร้องโดยอาศัยกฎหมายอื่นแทน เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และกฎหมายปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง ตลอดจนใช้วิธีการคุกคามอย่างอื่น จนเริ่มกลับมาใช้หลังเริ่มมีการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564

โทษจำคุก 50 ปีซึ่งพิพากษาใน พ.ศ. 2567 เป็นโทษสูงสุดที่เคยมีมาในคดีเช่นนี้ ทำลายสถิติโทษจำคุก 43 ปีที่พิพากษาไว้ใน พ.ศ. 2564[9] นอกจากนี้ ยังมีการลงโทษอย่างอื่น เช่น การตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ดังกรณีของพรรณิการ์ วานิช ใน พ.ศ. 2566[10][11]

ขอบเขต

"ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่เสริมให้รัฐธรรมนูญมาตรา 8 มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงไม่มีมูลกรณีที่จะอ้างว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ได้"[12]: 20  —  คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่ 28–29/2555
การเปรียบเทียบกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์[13]: 115 
ประเทศ โทษจำคุกสูงสุด (ปี)
 เนเธอร์แลนด์ 0.3[14]
 เดนมาร์ก 1
 สเปน 2
 โมร็อกโก 3
 นอร์เวย์ 5
 สวีเดน 6
 ไทย 15

กฎหมายนี้แตกต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป เนื่องจากกฎหมายบัญญัติว่า "การดูหมิ่น" ก็เป็นความผิดด้วย การแก้ไขดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2500 และหลังจากนั้นมีการตีความคำว่า "ดูหมิ่น" ว่าหมายถึงการแสดงความไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ และสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน การตีความอย่างกว้างนี้ก่อให้เกิดข้อพิพาทมาจนถึงปัจจุบัน ผู้พิพากษาและนักวิชาการกฎหมายดูเหมือนยึดถือว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการติชมในทางใด ๆ ตั้งแต่ปี 2519 มีการตีความรวมถึงการวิจารณ์พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โครงการหลวง สถาบันพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรี และอดีตพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มโทษจากสูงสุด 7 ปี มาเป็นโทษ 3 ถึง 15 ปีอย่างในปัจจุบัน[15] ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยไม่ว่าจะกระทำภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรไทยก็ต้องรับโทษในราชอาณาจักร เพราะเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 7) ตัวอย่างเช่น กรณีคนไทยที่กระทำผิดในสหรัฐจะถูกดำเนินคดีในประเทศไทย[16]

มีข้อโต้แย้งกรณีการวิพากษ์วิจารณ์องคมนตรีในพระองค์ ว่าถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหรือไม่[17] พลตำรวจโท ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ปฏิเสธแจ้งข้อกล่าวหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยแก่นักเคลื่อนไหวที่เข้าชื่อเพื่อถอนประธานองคมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ โดยอ้างว่า กฎหมายดังกล่าวใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น[18] สองวันให้หลัง เขาถูกพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลดขั้น[19] นอกจากนี้ การเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเองก็ส่งผลให้ถูกแจ้งข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยด้วย[20]

ศาลฎีกาวินิจฉัยในปี 2556 ว่ากฎหมายนี้ใช้กับอดีตพระมหากษัตริย์ด้วย ในปีเดียวกัน มีบุคคลถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดฐาน "เตรียมการและพยายาม" กระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ กล่าวคือ เขาเก็บภาพที่อาจหมิ่นประมาทพระบรมวงศานุวงศ์ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่ยังไม่ได้โพสต์อินเทอร์เน็ต ทั้งนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าการเตรียมการกระทำความผิดเป็นความผิดอาญา[21]

ในปี 2556 ศาลสั่งลงโทษนักกิจกรรมและนักร้องคนหนึ่ง ซึ่งนอกจากลงโทษจำคุกแล้ว ยังถูกสั่งให้แต่งเพลงเพื่อส่งเสริม "ความปรองดองของชาติ" หลังพ้นโทษด้วย[22] ทั้งที่อยู่นอกเหนือจากโทษทางอาญา

การกล่าวถึง "ความพอเพียง" ซึ่งถูกมองว่าเชื่อมโยงกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ก็ทำให้ถูกดำเนินคดีได้เช่นกัน ดังกรณีของอุดม แต้พานิช ใน พ.ศ. 2567[23][24]

เนื่องจากสภาพอันไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้ ทำให้จำเลยมักไม่แย้งเนื้อหาของข้อความ และมักรับสารภาพ สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การตรวจพิจารณาตนเองและศาลเตี้ย[12]: 43–4  เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว แม้สวีเดนมีโทษจำคุกฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์สูงสุดถึง 6 ปีแต่ก็มิได้เป็นประเด็นสาธารณะมากนัก เพราะแทบไม่เคยถูกใช้เลย[13]: 119 

การดำเนินคดี

ผู้ใดจะฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ใครก็ได้ และตำรวจต้องสอบสวนอย่างเป็นทางการทุกคดี ตัวอย่างเช่นในปี 2555 ยุทธภูมิ มาตรนอก ถูกพี่ชายร่วมสายโลหิตฟ้องฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเขาถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว กรณีนี้ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือสาหรับความขัดแย้งในครอบครัว อันแสดงให้เห็นว่ามีการนำกฎหมายใช้ไปในทางที่ผิดได้ง่าย ตำรวจ อัยการและศาลมักกริ่งเกรงว่า ตนจะถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี หากไม่ดำเนินคดี[25] มีหลายกรณีที่มีการกลั่นแกล้งออนไลน์โดยการตั้งบัญชีปลอมทำให้เข้าใจผิดว่าบุคคลที่ถูกปลอมนั้นเป็นผู้โพสต์ข้อความที่มีความผิด[26] ทั้งนี้ ไม่เคยปรากฏว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเป็นผู้ฟ้องร้องด้วยพระองค์เอง

หลังรัฐประหารปี 2501,[27] รัฐประหารปี 2519[28] และรัฐประหารปี 2557 มีการโอนคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ในปี 2558 มีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผู้ต้องหาจากบ้านพัก[29] สำหรับคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร จะมีผลทำให้มีการตีความถอยกลับคืออาจมีการฟ้องคดีซ้ำได้แม้ศาลต่างประเทศพิพากษาถึงที่สุดและยังไม่พ้นโทษ, คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระมเหสี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกรัชกาล และต้องระวางความตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายทหารต่างกรรมกัน และห้ามอุทธรณ์ฎีกาในเวลาไม่ปกติ (เช่น กฎอัยการศึก)[28]

การดำเนินคดีในความผิดนี้มักควบคู่ไปกับมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ว่าด้วยการนำข้อมูลที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์[30] รายละเอียดของคดีมักไม่ค่อยเปิดเผยต่อสาธารณะ ส่วนหนึ่งเพราะสื่อเกรงว่าข้อความที่นำเสนออาจเข้าข่ายความผิดนี้เสียเอง

ผู้ถูกตั้งข้อหานี้มักไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกคุมขังในเรือนจำหลายเดือนก่อนมีการไต่สวนในศาล[25] มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนว่า กระบวนการขอให้ปล่อยชั่วคราวตลอดจนการพิจารณาเฉพาะในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะพบอุปสรรคมากมาย[31] เช่น กรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขที่ถูกปฏิเสธการขอประกันตัว 8 ครั้ง ระหว่างถูกคุมขังนาน 20 เดือนก่อนการพิจารณาคดี คณะทำงานเรื่องการคุมขังโดยพลการแห่งสหประชาชาติระบุเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ว่า การคุมขังก่อนมีการพิจารณาคดีเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ[25][a] สิทธิดังกล่าวยังอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ด้วย[34] เหตุผลของศาลที่มักใช้ห้ามประกันตัวคือ เป็นคดีมีอัตราโทษสูงและเกรงหลบหนี[34] สาวตรี สุขศรี ระบุว่า "กระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคดี 112 เป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับ บังคับให้จนมุม บังคับให้เลือกระหว่างสารภาพหรือจะสู้คดี" และ "การแสดงอคติบางอย่างของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอุดมการณ์เบื้องหลังความไม่แน่ไม่นอนในการตีความกฎหมาย เหล่านี้มันบีบให้รับสารภาพ"[34]

มีผู้ต้องขังเสียชีวิตในการคุมขัง ทั้งแขวนคอตัวเอง และอีกคนผลชันสูตรพลิกศพแจ้งว่าติดเชื้อในกระแสเลือด เช่น สุริยัน สุจริตพลวงศ์ (หมอหยอง)[35] ผู้ต้องขังในคดีนี้มักพบเห็นว่าเดินเท้าเปล่าและมีโซ่ล่ามข้อเท้าเมื่อนำตัวมาศาล[36] โดยปกติเวลาฟ้องคดีจะต้องนำตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลด้วย แต่หากผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในเรือนจำ อาจไม่ต้องนำตัวมาก็ได้ (เช่น ใช้การประชุมทางไกล) และศาลมาสามารถเบิกตัวมาสอบถามคำให้การได้ในภายหลัง[37]

การรับสารภาพว่ากระทำความผิดถูกมองว่าเป็นวิธีการเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษหากบุคคลได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน[38] คอลัมนิสต์บางกอกโพสต์คนหนึ่งเขียนว่า ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอภัยโทษให้นั้นเป็นเพราะทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวางและพระทัยตัดสินอย่างยุติธรรม[39]

แนวทางคำพิพากษา

ในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์อาจอาจมีการรบกวนความเป็นอิสระของผู้พิพากษา คดีมักไปไม่ถึงศาลสูงจึงไม่ค่อยมีตัวอย่างคำพิพากษา จำเลยมักเลือกใช้วิธีรับสารภาพแล้วขอรับพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้การรับสารภาพดังกล่าวยังเป็นการตัดตอนการเปิดเผยพยานหลักฐาน คำพิพากษาของศาลที่กลับไปกลับมาทำให้คดียืดเยื้อออกไปอีก[40] ปัจจุบันศาลพลเรือนมักลงโทษจำเลยกรรมละ 5 ปี ส่วนศาลทหารมักลงโทษจำเลยกระทงละ 10 ปี[41]

ในคดีสวรรคต ร. 8 ศาลไม่ได้วิเคราะห์จากการกระทำความผิดของจำเลย แต่พิเคราะห์จากปัจจัยแวดล้อมเช่นคำพูดเป็นลางว่าจำเลยมีเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้ายในการพิพากษาลงโทษประหารชีวิต

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเห็นว่าการพิเคราะห์ของศาลไม่ได้ดูความจริงของข้อความที่พิจารณาจนมีประโยค "ยิ่งจริงยิ่งหมิ่น" โดยยกตัวอย่างกรณีที่เอกชัย หงส์กังวานถูกตัดสินว่าผิดฐานเผยแพร่ซีดีที่บรรจุสารคดีของสำนักข่าวต่างประเทศ โดยว่า สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ข่าวสารจากประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือ มีมุมมองเชิงลึก และเป็นกลาง และไม่ได้ตั้งใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ศาลเห็นว่าจะพิจารณาในลักษณะนี้ไม่ได้ "ต้องดูความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความนั้น" ด้วย[42] ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายหมิ่นประมาท

ในบทความ อากงปลงไม่ตก สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ว่า "...ตามฟ้อง จำเลยอายุหกสิบเอ็ดปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใด...มิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวด สำหรับบุคคลที่เจนโลกโชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคม สถาบันหลักของประเทศชาติ และองค์พระประมุขอันเป็นที่เคารพสักการะ...ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก..."[43] เขาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ศาลอาญามิได้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่อำพลว่า "…ถ้าคดีใดอัยการโจทก์สามารถนำสืบพิสูจน์จนให้ศาลเห็นและเชื่อได้ว่า จำเลยมีเจตนาชั่วร้าย...จำเลยในคดีนั้นก็สมควรที่จะได้รับโทษานุโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี..."[43] และเห็นว่า พฤติกรรมที่เชื่อว่าเป็นของอำพลตามคำฟ้องนั้นร้ายแรงเสมือนน้ำผึ้งหยดเดียวที่อาจนำไปสู่ความเสียหายใหญ่หลวงได้[43]

ปีเตอร์ เลย์แลนด์ ศาสตราจารย์ประจำสำนักตะวันออกและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน อธิบายว่า

"มัน [การกระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์] อาจกระทำโดยไม่มีเจตนาทางอาญาใด ๆ ก็ได้ ไม่มีความจำเป็นสำหรับพนักงานอัยการที่จะต้องใช้หลักฐานโน้มน้าวเกี่ยวกับการมองเห็นผลล่วงหน้าในฝ่ายของจำเลยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของถ้อยแถลงหรือความประพฤติ [...] ตำรวจ พนักงานอัยการและผู้พิพากษาไม่เพียงแต่กระทำในพระปรมาภิไธยเท่านั้น แต่ยังมีความคาดหมายว่าความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของพวกเขาจะสะท้อนในผลลัพธ์ที่ยืนยันถึงพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ โดยจ่ายด้วย[ศักดิ์ศรี]ของจำเลย"[13]: 130 

อย่างไรก็ดี ฐนาพงษ์ ทอนฮามแก้ว พนักงานอัยการ ระบุว่า แม้ในคำพิพากษาฎีกาไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล แต่ศาลก็พิจารณาถึงเจตนาของจำเลยเป็นสำคัญด้วย โดยยกตัวอย่างกรณีที่ไม่ได้รับโทษ เช่น ใช้ไม้ตีพระฉายาลักษณ์ เนื่องจากโมโหเพราะขโมยของไม่ได้, เดินผ่านพระฉายาลักษณ์ที่วางกับพื้น, คว่ำพระฉายาลักษณ์ไว้รอแขวนและเรียกพระฉายาลักษณ์ว่า "ไอ้นี่" ตามภาษาถิ่น, การขว้างหนังสือถวายฎีกาใส่รถยนต์พระที่นั่ง เพราะไม่สามารถถวายต่อพระองค์ได้ เป็นต้น[44]: 210  แต่ถึงแม้ว่าเป็นการกล่าวเปรียบเทียบ กล่าวเลื่อนลอยหรือไม่ยืนยันข้อเท็จจริง หากศาลพิเคราะห์แล้วว่ามีเจตนาก็ได้รับโทษ[44]: 211 

ตัวอย่างคดีและบรรทัดฐาน

วันที่เกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหา การกระทำที่ถูกกล่าวหา
3 ตุลาคม 2549 รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ วันที่ 3 ตุลาคม ถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากคำให้สัมภาษณ์ที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2549 ที่ระบุว่า "นายกฯ ที่ได้รับการแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีทหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเถื่อน"[45]

ประเด็น: ดูหมิ่นพระราชอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

7 มิถุนายน 2551 ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล
(ดา ตอร์ปิโด)
ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยทำผิดหลายครั้ง 6 วาระ พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี รวม 6 วาระ เป็น 18 ปี ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) มาตรา 177 ที่ศาลชั้นต้นสั่งพิจารณาคดีลับขัดหรือแย้งสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 29 และ 40 หรือไม่ ซึ่งจำเลยเคยยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์อนุญาตตามตำร้อง และได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 29 และ 40 (2) ศาลอาญาจึงนัดพิพากษาคดีใหม่ในวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว พิพากษาจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาในวันที่ 12 มิถุนายน 2556 ตามศาลชั้นต้น[46]
31 สิงหาคม 2551 แฮร์รี นิโคเลดส์ ถูกตั้งข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์จากข้อความละเมิดในหนังสือ Verisimilitude ที่พิมพ์เอง หนังสือดังกล่าวขายได้ 7 เล่ม และกล่าวถึง "ความพัวพันและการคบชู้โรแมนติก" ของพระบรมวงศานุวงศ์[47] หลังยอมรับสารภาพ เขาถูกพิพากษาจำคุกสามปี[48] แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังรับโทษไปแล้วหนึ่งเดือน ถูกปล่อยตัวและเนรเทศ[49][50]

ประเด็น: กระทำความผิดนอกประเทศ

24 พฤษภาคม 2553 อำพล ตั้งนพกุล ส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือถึงเลขานุการนายกรัฐมนตรี 4 ข้อความ ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่า "ข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท โดยประการที่จะน่าทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง" พิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) และ (3) เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายสี่กรรม ลงโทษจำคุกกระทงละห้าปี รวมเป็นจำคุกยี่สิบปี[51][52]

ประเด็น: ศาลไม่พิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้ลงมือ แต่ลงโทษจากเจตนาของจำเลย

20 กรกฎาคม 2553 สนธิ ลิ้มทองกุล นำคำพูดของดารณี ชาญเชิงศิลปกุลมาเผยแพร่ซ้ำ ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โดยมองเจตนาว่ามิได้เจตนากระทำความผิด แต่เป็นการให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินคดีกับดารณีในความผิดดังกล่าว[53]

ประเด็น: กฎหมายไม่มีการห้ามฟ้องซ้ำคดีอาญา (double jeopardy)

4 กันยายน 2556 พงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง โพสต์รูปภาพและข้อความประกอบลงบนเฟซบุ๊กจำนวน 6 ข้อความ สื่อทั้งหมดยังอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 อันเป็นช่วงที่คดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยต้องพิจารณาที่ศาลทหาร วันที่ 8 สิงหาคม 2558 ศาลทหารพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จำนวน 6 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 10 ปี รวม 60 ปี แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 30 ปี[54]

ประเด็น: โทษหนักที่สุดที่เคยมีมา

6 ธันวาคม 2558 ฐนกร ศิริไพบูลย์ ถูกอัยการตั้งข้อหาว่าโพสต์ผังราชภักดิ์ โพสต์ภาพ 3 ภาพบนเฟซบุ๊กซึ่งมีเนื้อหา "เสียดสี" คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง[55]

ประเด็น: ดูหมิ่นกษัตริย์ในเชิงสัญลักษณ์

รายละเอียดบางพฤติการณ์

ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี

ในปี 2521 มีบุคคลถูกจำคุกในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เนื่องจากไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เปิดในสถานที่สาธารณะ ร่วมกับพูดว่า "เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง"[56] ในปี 2551 มีบุคคลไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ยกเท้าทั้งสองข้างพาดเก้าอี้ไปทางจอภาพยนตร์ พอเพลงจบก็ตะโกนถ้อยคำหยาบคายออกมา แล้วถูกพิพากษาจำคุก[57] แต่หากไม่มีคำพูดหรือแสดงท่าทางหยาบคาย อัยการไม่ส่งฟ้อง[56]

ในเดือนกันยายน 2550 โชติศักดิ์ อ่อนสูงและเพื่อนไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพนตร์ สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้องโดยให้เหตุผลว่า การไม่ยืนแสดงความเคารพระหว่างเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี แม้จะเป็นกิริยาที่ไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติ แต่ไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ กรณีดังกล่าวทำให้เกิดการรณรงค์ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม" เพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงและการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง เนื่องจากโชติศักดิ์และเพื่อนถูกขว้างปาสิ่งของใส่เมื่อไม่ยืน นำไปสู่การกิจกรรมรวมคนไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพนตร์ด้วย[58] มีเจ้าหน้าที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟ (SF Cinema) ชี้แจงว่าไม่มีการบังคับให้ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่โรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์กรุ๊ป (Major Group) ว่าให้ลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะยืนออกมารอด้านนอกก่อน[58]

ในปี 2562 เกิดแฮชแท็ก #แบนเมเจอร์ และ #เมเจอร์โป๊ะแตก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์หลังเมเจอร์กรุ๊ปให้ผู้ที่ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีออกจากโรงภาพยนตร์[59]

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยในอดีต

พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรีฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2548 ณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์ โฆษณาโดยการกระจายเสียงข้อความซึ่ง "มีความหมายเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต เปรียบเทียบว่า ยุคของพระองค์เหมือนต้องไปเป็นทาส ไม่มีความเป็นอิสระ มีการปกครองที่ไม่ดี ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ ๔ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ"[60] ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๗๘/๒๕๕๖ ผู้พิพากษาวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า "การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว"[60] ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้เขียนหนังสือ นายใน สมัยรัชกาลที่ 6 กล่าวว่าเมื่อได้ยินคำพิพากษาคดีนี้แล้วรู้สึกสั่นคลอนและตกใจ เพราะทราบมาว่าทีแรกมีผู้พยายามฟ้องด้วยมาตรา 112 กับตน แต่ทนายความให้เลิกความพยายามไปเพราะน่าจะไม่เข้าข่าย[61] วรเจตน์เขียนว่า คำพิพากษาดังกล่าวขัดต่อหลักกฎหมายอาญา "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย" และข้อห้ามใช้กฎหมายโดยเทียบเคียง[61]

ในปี 2560 เกิดคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 (ขณะนั้นอยู่ในรัชกาลที่ 10 แล้ว) สุดท้ายศาลไม่ได้ลงโทษในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่ลงโทษข้อหาอื่นทั้งหมด ได้แก่ อั้งยี่, ซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์ รวมจำคุกจำเลยตั้งแต่ 3 ปี ถึง 4 ปี 6 เดือน[62] ในอดีต เมื่อปี 2503 นายสุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ทั้งคู่เป็นสามีภรรยา และตั้งชื่อสุนัขด้วยพระนามราชินีและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถูกจับกุมในช่วงรัฐประหารจอมพลสฤษดิ์ ศาลฎีกาให้จำคุกนายสุวัฒน์ 5 ปี ยกฟ้องนางเพ็ญศรี (คำพิพากษาศาลฎีกา 1643/2503)[63]

การรู้เห็นแชตโดยไม่ติเตียน

กรณีฟ้องคดีเพราะไม่ห้ามปรามแชตหมิ่นฯ ทำให้เกิดมีม "กดโกรธ"

วันที่ 6 พฤษภาคม 2559 พัฒน์นรี หรือหนึ่งนุช ชาญกิจ มารดาของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถูกออกหมายจับในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย เจ้าหน้าที่ว่ามีหลักฐานเป็นข้อความสนทนาผ่านโปรแกรมแชตเฟซบุ๊กกับแนวร่วมพลเมืองโต้กลับอีกคนหนึ่ง ชื่อ บุรินทร์ อินติน ซึ่งแม้หนึ่งนุชมิได้ตอบโต้ใด ๆ แต่ ทนายจำเลยอ้างว่า ตำรวจชี้แจงว่า การไม่ห้ามปรามหรือว่ากล่าวเข้าข่ายรู้เห็นเป็นใจ ซึ่งถือเป็นความผิดด้วย[64] อัยการทหารสั่งฟ้องคดีในวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ในคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559 พัฒน์นรีร่วมกับบุรินทร์ พิมพ์ข้อความสนทนาโต้ตอบกันผ่านเฟซบุ๊ก โดยข้อความที่อัยการเห็นว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 มาจากบุรินทร์ฝ่ายเดียว แต่อัยการระบุในคำฟ้องว่า การกระทำของพัฒน์นรีและบุรินทร์เป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาทขณะนั้นเสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง[65] จากคดีนี้ทำให้เกิดมีมอินเทอร์เน็ตขึ้น เช่น "กดโกรธ", "แสร้งไม่เก็ต"[66] หรือ "ติเตียน"

ประวัติศาสตร์และพัฒนาการ

กำเนิด : "หมิ่นประมาท" และ "อาฆาตมาดร้าย"

ในสมัยศักดินา กฎหมายคุ้มครอง "การละเมิด" หลายอย่าง ซึ่งรวมความผิดต่อข้าราชบริพาร สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และการกระทำความผิดในพระราชวัง ทั้งนี้อาจพิจารณาว่าอาชญากรรมแม้เชิงสัญลักษณ์ก็กระทบกระเทือนถึงโครงสร้างทางสังคมในสมัยศักดินาอย่างใหญ่หลวง[12]: 23–25  เดิมอยู่ในกฎหมายตราสามดวง, พระราชกำหนดลักษณหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤๅเขียนถ้อยคำอันเป็นเท็จออกโฆษนาการ ร.ศ. 118[44]: 211  และพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2470[27]

กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในกฎหมายหมิ่นประมาทสมัยใหม่ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (ปี 2453) มาตรา 97 ซึ่งมุ่งพิทักษ์ชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ ในตอนแรกความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ถือเป็นความผิดต่อรัฐด้วย ในประมวลกฎหมายอาญาสมัยใหม่ฉบับแรกของสยามในปี 2461 แยกแยะระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐ มีการกำหนดโทษสำหรับผู้แสดงเจตนาร้ายหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี มกุฎราชกุมาร และผู้สำเร็จราชการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตราอื่น ๆ มีทั้งคุ้มครองเจตนาร้ายหรือการหมิ่นประมาทเจ้านายทุกรัชกาล ห้ามการสร้างความไม่จงรักภักดี หรือห้ามชักจูงให้ประชาชนละเมิดพระบรมราชโองการ[67]: 3–4  ครั้นเมื่อสื่อสิ่งพิมพ์แพร่หลาย มีการเพิ่มโทษในปี 2471 ให้การสนับสนุนหรือสอนลัทธิหรือระบบการเมืองหรือเศรษฐกิจ โดยมีเจตนาให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังเป็นความผิด[67]: 4 

หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ตัวกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งนี้เพราะคณะราษฎรประนีประนอมกับพระมหากษัตริย์ และมีการเพิ่มสถานะล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ลงในรัฐธรรมนูญหลังจากนั้นทุกฉบับด้วย อย่างไรก็ดี การบังคับใช้กฎหมายในสมัยนั้นมีข้อยกเว้นสำหรับการแสดงออกโดยสุจริต และความเห็นเชิงวิจารณ์และไม่มีอคติต่อการกระทำของรัฐบาลและเชิงปกครอง[67]: 4  การอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นยังคงเสรี สังเกตจากการอภิปรายหัวข้อยืนยันว่าจะมีระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชอำนาจของกษัตริย์หรือไม่ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2492 และกรณี หยุด แสงอุทัย นักวิชาการกล่าวบรรยายออกอากาศวิทยุว่า พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสพาดพิงปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศ โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ[12]: 30 

การแก้ไขกฎหมาย พ.ศ. 2500 : "ดูหมิ่น"

"... จำเลยทราบเรื่องราวมาในลักษณะที่เป็นข่าวเล่าต่อๆ กันมา อาจไม่เป็นความจริงก็เป็นได้ และแม้จะเป็นความจริงก็ไม่พึงนำมากล่าวต่อสาธารณชน เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้กระทำได้และที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นี้ เป็นสถาบันที่พึงเคารพสักการะของประชาชน อยู่ในฐานะละเมิดมิได้ ย่อมอยู่เหนือการติชมใดๆ ทั้งสิ้น"[12]: 38–9  —  คำพิพากษาของศาลในปี 2526
คำสั่งจากคณะรัฐประหารให้เหตุผลในการเพิ่มโทษจากจำคุกสูงสุด 7 ปี เป็นจำคุกต่ำสุด 3 ปี และสูงสุด 15 ปี

วันที่ 1 มกราคม 2500 "ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499" มีผลใช้บังคับ[67]: 18  ใจความแก้ไขกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ให้ครอบคลุม "การดูหมิ่น" ด้วย เพิ่มเติมจากการหมิ่นระมาทและการแสดงเจตนาร้าย นับเป็นการขยายขอบเขตการตีความอย่างกว้างขวาง[67]: 6  ย้ายบทบัญญัติดังกล่าวไปอยู่ในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายฉบับใหม่ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงให้ความผิดต่อพระมหากษัตริย์เป็นความผิดต่อความมั่นคงของชาติด้วย[3]: 133  ตัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่อาจดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ได้หากเป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ[67]: 6 

กระนั้นคำวินิจฉัยของศาลในระยะแรกหลังเปลี่ยนแปลงยังนำบริบทมาพิจารณาด้วย มิใช่พิจารณาจากตัวข้อความอย่างเดียว ในเดือนธันวาคม 2500 ศาลพินิจว่าคดีที่ส่งศักดิ์ สายปัญญา ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยนั้นไม่เป็นความผิด เพราะอยู่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งย่อมมีการกล่าวหาทำลายกัน[12]: 32–3 

หลังวันที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาและรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519เพียงสองอาทิตย์ คณะรัฐประหารให้เหตุผลในการแก้ไขกฎหมายนั้นว่าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น จึงแก้ไขกฎหมายให้มีโทษสูงขึ้น โดยเพิ่มจากจำคุกสูงสุด 7 ปี เป็นจำคุกต่ำสุด 3 ปี และสูงสุด 15 ปี และขยายขอบเขตของความผิด "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"[68] ธานินทร์ กรัยวิเชียรยังตีความว่า กฎหมายห้ามครอบคลุมถึงการวิจารณ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถาบันพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรีและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์[4] ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประเทศเดียวที่เพิ่มโทษของความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยกเว้นเพียงจักรวรรดิญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[13]: 115–116 

ประมาณพุทธทศวรรษ 2520 เมื่อฐานพระราชอำนาจได้เติบโตขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางในเมือง มีการสร้างความสัมพันธ์แบบญาติและความใกล้ชิดระหว่างพลเมืองกับพระมหากษิตริย์ ("พ่อ") ตลอดจนสถานะอันล่วงละเมิดมิได้สมัยใหม่[12]: 37–8  นับแต่นั้น คำวินิจฉัยของศาลและการตีความของนักวิชาการกฎหมายได้เปลี่ยนจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมืองมาเป็นพระมหากษัตริย์ไม่สามารถถูกวิจารณ์ได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ[12]: 38–9  ในพุทธทศวรรษ 2530 ยังมีนักวิชาการเริ่มตีความว่าประชาชนและพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยร่วมกันอีกด้วย[12]: 36 

สังเกตว่าได้เกิดปรากฏการณ์ที่สื่อมวลชน บุคคลทั่วไป หรือแม้แต่ในคำพิพากษาของศาล มักใช้ถ้อยคำในการกล่าวถึงการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 ที่ไม่ได้เป็นการกระทำที่ระบุไว้ในกฎหมาย (หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย) เช่น ล่วงเกิน, จาบจ้วง, ลบหลู่, อาจเอื้อม, ก้าวล่วง, ย่ำยี, ลามปาม, ขาดความเคารพสักการะ, มิบังควร, ไม่เทิดทูน, หมิ่นเหม่, กระทบกระทั่ง, ไม่เหมาะสม เป็นต้น[12]: 38  ตัวอย่างที่ศาลพิเคราะห์ว่า "ดูหมิ่น" เช่น คำปราศรัยหาเสียงของวีระ มุสิกพงศ์ ในปี 2531 ตอนหนึ่งว่า "ถ้าผมเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยงๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้ว ตื่นอีกที่ก็บ่ายสามโมง" ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการ "กล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบเปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท" หรือกรณีบุคคลใช้ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านมาเช็ดโต๊ะในปี 2519[3]: 134 

ในยุควิกฤตการเมือง

คดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ปี 2550–60[69]
ปี จำนวนคดี
2550 36
2551 55
2552 104
2553 65
2554 37
2555 25
2556 57
2557 99
2558 116
2559 101
2560 (9 เดือน) 45

ตั้งแต่ปี 2533 ถึง 2548 ระบบศาลไทยมีคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเพียงสี่หรือห้าคดีต่อปี ทว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2549 ถึงพฤษภาคม 2554 มีการพิจารณากว่า 400 คดี หรือประเมินว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,500[70] ผู้สังเกตการณ์ให้เหตุผลถึงการเพิ่มขึ้นดังกล่าวว่า เกิดจากการแยกเป็นสองขั้วเพิ่มขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 และความละเอียดอ่อนต่อพระพลานามัยที่เสื่อมลงของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระชราภาพ[70] ทั้งนี้แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 พาดพิงถึงผู้ที่พระองค์ทรงขอมิให้มองข้ามธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ก็ตาม[71]

ช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ นักการเมืองพรรคไทยรักไทยและพรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนขบวนการต่อต้านรัฐบาล พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่างฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยใส่กัน[13]: 124  ในรัฐประหารปี 2549 คณะรัฐประหารอ้างเหตุความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นสาเหตุหนึ่ง[15][72][73][74] หลังจากนั้น มีคำสั่งปิดสถานีวิทยุหลายสิบแห่งด้วยข้อหาดังกล่าว[75]

แผ่นป้ายในกรุงเทพมหานครแจ้งว่าให้งด "ถูกใจ" หรือ "แบ่งปัน" ภาพหรือเนื้อหาในสื่อสังคมเพื่อ "ร่วมกันปกป้องสถาบัน[พระมหากษัตริย์]"

ก่อนหน้ารัฐประหารปี 2549 จำเลยของคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงและบุคคลนอกรัฐธรรมนูญ แต่หลังปี 2550 มีบุคคลทั่วไปถูกฟ้องร้องด้วยเป็นจำนวนมาก[13]: 124  นอกจากนี้ก่อนหน้าปี 2550 ไม่มีจำเลยคนใดได้รับโทษจำคุกเกิน 10 ปี และยิ่งเวลาผ่านไป โทษยิ่งหนักขึ้นเรื่อย ๆ[12]: 40–1  แนวทางการพิจารณาคดีมาตรา 112 ในระยะหลังชัดเจนว่าใช้อุดมการณ์นิยมเจ้าและชาตินิยมเข้ามาตีความมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น พรรณนาความประวัติศาสตร์ชาติไทย อ้างอิงพระราชกรณียกิจ เชื่อมโยงเข้ากับความเป็นไทย และความรู้สึกของประชาชนภายในชาติ[12]: 42 

มีนักวิชาการถูกสอบสวน จำคุกหรือถูกบังคับให้ลี้ภัยจากความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ในปี 2550 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ต้องหาหลังออกข้อสอบว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จำเป็นต่อสังคมไทยหรือไม่ และสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถปฏิรูปให้เข้ากับระบบประชาธิปไตยได้หรือไม่[76] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ ถูกจับหลังเสนอแผนแปดข้อว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์[77][78] รองศาสตราจารย์ ใจ อึ๊งภากรณ์ลี้ภัยหลังหนังสือ A Coup for the Rich ของเขาตั้งคำถามถึงบทบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในรัฐประหารเมื่อปี 2549[79] ในเดือนมีนาคม 2554 มีการตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ โดยมุ่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สมาชิกกลุ่มคนหนึ่ง ถูกทำร้ายร่างกายกลางวันแสก ๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[80]

รายงานประจำปี 2557 ของฮิวแมนไรท์วอตช์ ว่า แม้การจับกุมและพิพากษาลงโทษฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยจะลดลงมากในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ยังมีการใช้กฎหมายดังกล่าวร่วมกับพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ผู้ถูกตั้งข้อหานี้มักไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกคุมขังในเรือนจำหลายเดือนก่อนมีการไต่สวนในชั้นศาล และคำพิพากษาส่วนใหญ่เป็นการลงโทษอย่างรุนแรง[25] ยิ่งลักษณ์ว่ารัฐบาลตนจะไม่ปฏิรูปกฎหมายนี้[81]

หลังรัฐประหารปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติให้อำนาจศาลทหารดำเนินคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[82] ศาลทหารลงโทษหนักกว่าศาลพลเรือนอยู่เป็นนิจ ในเดือนสิงหาคม 2558 ศาลทหารลงโทษจำคุกพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็งสำหรับการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 กระทง รวม 60 ปี ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งเพราะจำเลยรับสารภาพ นับเป็นโทษจำคุกยาวนานที่สุดสำหรับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[83][84] ทั้งนี้รัฐบาลทหารไม่ประสบความสำเร็จในการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าวจากต่างประเทศเลย[85] ไอลอว์ องค์การไม่แสวงผลกำไร รายงานว่ามีการกักขังบุคคลเป็นเวลาสูงสุด 7 วันโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา มีการใช้การพิจารณาคดีลับ มีการยึดอุปกรณ์สือ่สารส่วนบุคคลเพื่อหาหลักฐานด้วย[86]

ในปี 2558 หนังสือพิมพ์ ประชาไท สรุปการกระทำที่มีความผิดในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย เช่น การวาดกราฟิตีในห้องน้ำ ส่งท่าทางภาษามือ ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ฉีกทำลายหรือเหยียบย่ำพระบรมฉายาลักษณ์[87] มีนางพยาบาลที่แต่งชุดดำในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรถูกฟ้องคดีด้วย[88]

รัชกาลที่ 10 : แนวโน้มใหม่

"...อยากบอกคนไทยว่าวันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว..."[89][90]

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เตือนการเคลื่อนไหวละเมิดสถาบันเบื้องสูง

ไม่นานหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) ถูกดำเนินคดีฐานแบ่งปันพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซีไทย เขาเป็นคนเดียวที่ถูกจับ ทั้งที่มีคนแบ่งปันบทความดังกล่าวกว่า 2,600 คนและสำนักข่าวไม่ถูกดำเนินคดี[91] ในเดือนพฤษภาคม 2560 รัฐบาลแถลงว่าแค่การเข้าชมเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็ถือว่าละเมิดกฎหมายแล้ว[92]

ในปี 2560 มีคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเด็กอายุ 14 ปีถูกดำเนินคดีด้วย นับเป็นการดำเนินคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยครั้งแรกต่อผู้เยาว์[93] คดีที่ประเวศ ประภานุกูล ทนายความ ตกเป็นจำเลยเพราะข้อความในเฟซบุ๊ก เขาต่อสู้คดีโดยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม เพราะเห็นว่าศาลกระทำการในพระปรมาภิไธยและขาดความเป็นกลาง[93] สุลักษณ์ ศิวรักษ์ถูกฟ้องคดีเนื่องจากตั้งคำถามถึงข้อเท็จจริงของยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช[93] และมีหลายกรณีที่ทางการไม่ได้ดำเนินคดี แต่ใช้มาตรการกดดันอย่างอื่นแทน เช่น ควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน, ให้ลงนามเอกสารรับเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง, ถูกตรวจสอบอุปกรณ์สื่อสาร, ถูกให้กดยกเลิกการติดตาม (Unfollow) เพจต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หรือถูกให้พูดต่อหน้ากล้องวีดีโอเพื่อแสดงความจงรักภักดี[93]

ตั้งแต่ปี 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์การช่วยเหลือด้านกฎหมาย ระบุว่าไม่มีคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ใหม่เท่าที่ทราบ คำสั่งอัยการสูงสุดลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ออกแนวปฏิบัติใหม่สำหรับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำให้ตั้งแต่นั้นอัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่ผู้เดียว และในเดือนมิถุนายน 2561 มีการออกระเบียบใหม่ให้อัยการใช้ดุลยพินิจไม่สั่งดำเนินคดีสำหรับกรณีที่จะไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ[62] เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น ศาลยกฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ทั้งที่จำเลยรับสารภาพแล้ว และผู้ต้องขังได้รับการประกันตัวในบางคดี[62] อย่างไรก็ดี พบว่าทางการนิยมฟ้องตามกฎหมายอื่นแทน เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และกฎหมายปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง[62] เช่น จากโพสต์ #ขบวนเสด็จ ที่พูดถึงการปิดถนนให้ขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ผ่านในปี 2562 ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์[94]

ไม่นานหลังรัฐบาลประกาศจะใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้กระทำผิดระหว่างการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563 ศาลพิพากษาจำคุกหญิงคนหนึ่ง 43 ปีจากกรณีโพสต์เฟซบุ๊ก[95] ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ศาลไม่ให้ประกันตัวแกนนำผู้ประท้วง[96] อีกทั้งมีข่าวลือบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าประธานศาลฎีการับว่ามีคนนอกแทรกแซงการห้ามประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎร[97]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ธนลภย์ ผลัญชัย นักเรียนหญิงสมาชิกกลุ่มนักเรียนล้มฯ อายุ 14 ปี[98][99] ได้รับหมายเรียกในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[100]

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพุทธะอิสระ) ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและสั่งให้พรรคก้าวไกลซึ่งได้หาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เลิกการกระทำดังกล่าว โดยให้อัยการสูงสุดดำเนินการภายใน 15 วัน เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 49 โดยยึดคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่วินิจฉัยว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เป็นการล้มล้างการปกครอง[101] เป็นแนวบรรทัดฐานในการดำเนินการกับพรรคก้าวไกล[102] แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าว ธีรยุทธจึงยื่นซ้ำต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน[103] สิบวันต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดก่อน[104] แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ จึงรับคำร้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม หรือเพียงหนึ่งวันก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก[105] และส่งผลให้ สส. และ สว. จำนวนมาก ใช้เหตุผลนี้ในการไม่สนับสนุนให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ บุคคลที่ได้รับเสนอชื่อจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี[106]

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้พรรคก้าวไกลเลิกการกระทำทั้งหมดข้างต้นตามวรรค 2 ในทันที[107] ประมาณครึ่งปีหลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยุบพรรคก้าวไกล ตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง อีกทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคดังกล่าวด้วย[108] ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ได้ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค กล่าวว่าพรรคประชาชนจะใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว[109]

มาตรการ

การควบคุมไซเบอร์

สำนักงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศมี "วอร์รูม" เพื่อเฝ้าติดตามหน้าที่มีเนื้อหาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการใช้เว็บครอว์เลอร์เพื่อค้นหาอินเทอร์เน็ต เมื่อพบภาพหรือภาษาที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท สำนักงานฯ จะขอคำสั่งศาลเพื่อสกัดกั้นเว็บไซต์ ในเดือนตุลาคม 2551 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประกาศแผนใช้งบประมาณ 100–500 ล้านบาทสร้างเกตเวย์เพื่อสกัดกั้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาดังกล่าว[110] ในปี 2551 มีการสกัดกั้นเว็บไซต์กว่า 4,800 หน้า[111] จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 60,000 เว็บไซต์ในเดือนธันวาคม 2553 และเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 หน้าในปี 2554[112]

ในปี 2550 รัฐบาลไทยสั่งปิดการเข้าถึงยูทูบเพราะปล่อยให้มีคลิปวิดีโอดูหมิ่นพระมหากษัตริย์[113][114] เว็บไซต์ของฟ้าเดียวกันถูกปิดเพราะปล่อยให้มีความเห็นเชิงดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[115]

ในเดือนตุลาคม 2559 รัฐบาลตั้งศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) มีหน้าที่ติตดามสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยและการเผยแพร่ข่าวสารที่ส่งผลต่อความมั่นคง และในกองทัพบกได้เปลี่ยนจาก "ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร" เป็น "ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก" มีหน้าที่ติดตามการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ส่วนศูนย์ประสานการปฏิบัติของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้ดูแลเว็บไซต์หมิ่นพระมหากษัตริย์ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และโครงการพระราชดำริ[26] ในปี 2559 เฟซบุ๊กบล็อกผู้ใช้ในประเทศไทยมิให้เข้าถึงเพจที่เสียดสีพระราชวงศ์โดยอ้างกฎหมายนี้ ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลทหารสามารถได้ปูมแชตส่วนตัวของผู้ใช้ได้[116] ในปี 2560 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกคำสั่งห้ามติดต่อกับบุคคลออนไลน์ รวมถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์[93]

การตรวจพิจารณา

มีสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ถูกห้ามขายหรือตรวจพิจารณาเนื่องจากเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย เช่น วารสาร ดิอีโคโนมิสต์ ในปี 2545,[117] นิตยสาร ฟ้าเดียวกัน,[118] หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ในปี 2558,[119] วารสาร มารี แคลร์ ในปี 2559[120][121]

การตีสนิททางสื่อสังคม

พงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็งที่ถูกพิพากษาจำคุกเมื่อปี 2558 เล่าว่า บุคคลที่เขาติดต่อด้วยทางเฟซบุ๊กน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ปลอมตัวมาทำความรู้จักเขา เขาและบุคคลดังกล่าวพูดคุยกันทางเฟซบุ๊กราว 4-5 เดือนจนมีการนัดหมายเพื่อไปเที่ยวบ้านบุคคลดังกล่าวที่จังหวัดตาก มีการติดต่อกันตลอดทางว่าเขาเดินทางถึงไหน รวมถึงการเปลี่ยนรถที่ท่ารถ จ.พิษณุโลกด้วย เขายังระบุว่าด้วยว่าภายหลังถูกจับกุมแล้วนำมาสอบสวนในค่ายทหาร หนึ่งในเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทักเขาว่า จำข้อความสุดท้ายที่ส่งให้กันไม่ได้หรือ[122]

การใช้จิตเวชศาสตร์โดยมิชอบทางการเมือง

วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ทิวากร วิถีตน ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โพสต์รูปตนเองสวมเสื้อ "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว" ถูกตำรวจบังคับควบคุมตัว และถูกรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ในจังหวัดขอนแก่น[123] ทิวากรให้สัมภาษณ์ว่า ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเมืองในการทำให้ผู้คนเข้าใจว่าผมบ้า ผมไม่โกรธใครหากมีคำวินิจฉัยว่าผมบ้า เพราะผมเข้าใจว่าพวกเขาต้องทำตามคำสั่งเช่นกัน[124] เขาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านในวันที่ 23 กรกฎาคม

บริบทและผลกระทบทางสังคม

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงได้รับการยกย่องแบบสมมติเทพ[125]

กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์มีความสอดคล้องกับพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตีความว่าการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ก็เปรียบเสมือนดูหมิ่นประชาชนอันเป็นที่มาของพระราชอำนาจด้วย[12]: 26–7 

สถานะอันเป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้น มาจากข้อกำหนดโดยปริยายว่าพระมหากษัตริย์จะต้องทรงวางพระองค์อยู่เหนือการเมือง และละเว้นนการกระทำใด ๆ ทางการเมืองโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (The King Can Do No Wrong. The King Can Do Nothing.)[12]: 33  อย่างไรก็ดี หลังการฟื้นฟูพระราชอำนาจและบทบาทในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงมีภาพลักษณ์เป็น "กษัตริย์ประชาธิปไตย" ผู้รักษาและค้ำประกันชาติและประชาธิปไตย มีการตีความ "เหนือการเมือง" ใหม่ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อตั้งรัฐบาลและระบบรัฐสภา ทำให้พระราชกรณียกิจไม่ถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเมือง[12]: 34  จนเมื่อสถานะและพระราชอำนาจได้รับการเสริมสร้างอย่างมั่นคง ในพุทธทศวรรษ 2540 ก็มีนักกฎหมายตีความว่า พระมหากษัตริย์รงอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองทั้งปวง และทรงอยู่เหนือจากการวิพากษ์วิจารณ์ในทุกกรณี"[12]: 38  ในปัจจุบันมีผู้เห็นแย้งอยู่บ้าง เช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ระบุว่า "ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้" หมายถึงว่าผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ไม่ใช่การห้ามวิจารณ์พระมหากษัตริย์ ด้านจรัล โฆษณานันท์ มองว่า เป็นมาตรากฎหมายห้ามการละเมิดทางรัฐธรรมนูญ เช่น แก้ไขกฎหมายเพื่อเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือในทางกฎหมายอาญา[12]: 44 

เดวิด สเตร็กฟัส (David Streckfuss) นักวิชาการเรื่องความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ออกความเห็นว่าความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเป็นปัจจัยนิยามอย่างหนึ่งของ "สมบูรณาญาสิทธิราชใหม่" (neo-absolutism) ในประเทศไทย[13]: 110  โดยกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่านั้นใช้เพื่อคุ้มครองระบบอำนาจ[13]: 113  สื่อมวลชนกระแสหลักของไทยสนับสนุนการใช้กฎหมายดังกล่าว และเลี่ยงไม่รายงานข่าวเกี่ยวกับกฎหมายนี้เสีย นอกจากนี้ยังละเว้นไม่กล่าวถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง[13]: 117  ในช่วงสงครามเย็น ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และลัทธิคอมมิวนิสต์เคยเป็นบทนิยามของคนทรยศอย่างสูงสุด แต่หลังจากลัทธิคอมมิวนิสต์เสื่อมลง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ได้เริ่มใช้นิยามคนทรยศประเภทใหม่อย่างเดียว[13]: 127 

ไมเคิล คอนนอส์ ศาสตราจารย์วิชาสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม เขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะคู่คือเป็นตัวการของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง และเป็นจิตวิญญาณของชาติที่มีความเหลื่อมล้ำเห็นได้ชัดระหว่างชนชั้นต่าง ๆ ฉะนั้นจึงต้องมีภาพลักษณ์ที่ได้รับการควบคุม จากบทบาทที่มีการควบคุม การบังคับให้แสดงความเคารพต่อสถาบัน และแรงกดดันของการคล้อยตามทางสังคมทำให้คนจำนวนมากรู้สึกขมขื่นแต่มีคนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่กล้าแสดงออก อภิชนของไทยกลัวว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกล้อเลียนเหมือนกับพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรหากเปิดกว้างให้ทบทวน[3]: 133–4 

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเป็นอาวุธทางการเมืองที่ทรงอำนาจมากที่สุดในประเทศไทย และมีการกล่าวหาเพิ่มขึ้นมากในช่วงกลียุคทางการเมือง[67]: 2  กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่ากฎหมายนี้ใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการพูด[126] นักรัฐศาสตร์ ใจ อึ๊งภากรณ์ หมายเหตุว่า "กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์มิได้ออกแบบมาเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ในอดีต กฎหมายนี้ถูกใช้เพื่อปกป้องรัฐบาล ปกป้องรัฐประหาร ภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนอภิชนอนุรักษนิยมนอกกำแพงพระราชวัง"[127] ซึ่งเป็นทัศนะเดียวกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์[7] อย่างไรก็ดี คอนนอส์แย้งว่าถึงแม้ผู้ใดจะใช้เป็นอาวุธทางการเมืองก็ตาม แต่ก็ยังเป็นผลประโยชน์ของราชสำนักอยู่เป็นอาจิณ[3]: 134 

นูเดลแมน (2561) เขียนว่า กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยไม่ใช่ฉันทามติของสังคม แต่เป็นผลของระบอบเผด็จการที่คิดคำนวณขึ้นมา[128]: 24  ทำให้เกิดข่าวลือใต้ดินที่พิสูจน์ไม่ได้ส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ และแยกแยะเรื่องจริงกับเรื่องแต่งจากกันได้ยาก[128]: 25  รวมถึงอาจกระพือทัศนะสาธารณรัฐนิยม[128]: 25 

ปฏิกิริยา

สนับสนุน

ศาสตราจารย์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นักวิชาการกฎหมาย สนับสนุนกฎหมายนี้ โดยยกว่าประเทศต่าง ๆ จำกัดเสรีภาพในการพูดตามพฤติการณ์วัฒนธรรมและกฎหมายของประเทศนั้น ๆ อยู่แล้ว[13]: 129  แต่เสนอให้แก้ไขให้อัยการสูงสุดมีสิทธิ์ขาดในสืบสวนและสั่งฟ้องแต่ผู้เดียว จะอุทธรณ์คำสั่งหรือจะเอาผิดอัยการสูงสุดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิได้[129] ฐนาพงษ์ (2554) เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวหาได้เป็นบทบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยไม่มีขอบเขตชัดเจน หรือโดยเด็ดขาด มิได้ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมีความเหมาะสมเนื่องจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของไทยแล้ว[44]: 217  มีเพียงเสนอแนะเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า ควรใช้หลักเจตนาประเภทย่อมเล็งเห็นผลมาปรับใช้เพิ่มเติมเท่านั้น[44]: 220  เช่นเดียวกับน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการ ที่เห็นว่าเป็นเพียงกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องต่อระบอบประชาธิปไตย เขาว่าไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงมีผู้ใช้เป็นข้ออ้างในการเคลื่อนไหว และเสนอให้ป้องกันการแอบอ้างเท่านั้น[130]

มีข้าราชการไทยกล่าวว่ากฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไม่ต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาทของบุคคลทั่วไป มีผู้ใช้สิทธิของตนเผยแพร่ข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือสารสนเทศที่บิดเบียนเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกเกลียดชัง ทั้งนี้ผู้ต้องหาในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์มีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม มีโอกาสต่อสู้คดีและความช่วยเหลือจากทนายความ และมีสิทธิอุทธรณ์[131]

ในเดือนพฤษภาคม 2559 พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ต่างประเทศไม่เข้าใจว่าเหตุใดประเทศไทยจึงต้องมีกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพราะประเทศเหล่านั้นไม่ "ศิวิไลซ์" และมีวัฒนธรรมสูงส่งเหมือนเรา[132]

ผู้พิพากษาในคดี ทอม ดันดี กล่าวว่า พร้อมจะสั่งลงโทษรุนแรงกว่านั้น (7 ปี 6 เดือน) แต่ได้รับคำแนะนำให้สั่งลงโทษเบาลงจากรองประธานศาล[133]

คัดค้าน

"แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัว ถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน"[8]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, 4 ธันวาคม 2548

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ยกตัวอย่างจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนีซึ่งจับคนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากที่สุด แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ของเยอรมนีก็สิ้นไปในรัชกาลของพระองค์นั่นเอง สุลักษณ์ว่าเขาเสียใจที่ไม่มีปัญญาชนเห็นโทษของกฎหมายนี้ และเป็นเพียง "ปศุสัตว์เชื่อง ๆ"[7]

องค์การนิรโทษกรรมสากลมองว่า ทุกคนที่ถูกจำคุกด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์เป็นนักโทษการเมือง[134]

ในเว็บไซต์เอเชียนคอร์เรสปอนเดนท์ ให้ความเห็นว่า การใช้กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์กำลังบ่อนทำลายระบบตุลาการและกฎหมายไทยอย่างร้ายแรง[135]

บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะนิวซีแลนด์เฮรัลด์ วันที่ 12 มกราคม 2558 ว่า "การวิจารณ์พระบรมวงศานุวงศ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยแน่นอน การห้ามนั้นดูเหมือนมาจากยุคกลาง อันที่จริง การแนะว่า พระบรมวงศานุวงศ์ควรได้รับความคุ้มกันจากการวิจารณ์จะเป็นการเหยียบย่ำหลักการซึ่งเป็นมูลฐานของประชาธิปไตยสมบูรณ์ใด ๆ แต่คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองของประเทศไทยเพิ่มการฟ้องคดีอาญาความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องสงสัยว่า คณะทหารฯ จะอ้างว่าเป็นการสนองต่อชาวไทยส่วนใหญ่ซึ่งยังเคารพราชวงศ์ ทว่า ส่วนใหญ่มันชี้ไปยังพันธะซึ่งมาจากการสนับสนุนของพระมหากษัตริย์"[136]

การเรียกร้องให้ปฏิรูป

โดยที่ปรากฏเป็นทั่วไปว่าการฟ้องร้องบุคคลตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ใครก็ได้สามารถฟ้องร้องบุคคลใดก็ตามที่ตนเองคิดว่าน่าจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้และพนักงานสืบสวนมีอำนาจในการวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนสั่งฟ้อง จึงได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายเสียใหม่

  • จดหมายเปิดผนึกถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงนามโดยนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงทั่วโลก[137] มีข้อเรียกร้องสามข้อ คือ
    1. ให้หยุดการใช้มาตรการที่กดขี่ข่มเหงการแสดงความคิดเห็นของบุคคลโดยสงบเพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
    2. ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันการใช้ในทางที่ผิด และปกป้องพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ในเวทีสากล
    3. ให้พิจารณาถอนการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปัจจุบัน ปลดปล่อยนักโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นไม่ควรเป็นอาชญากรรม

กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งมีสมาชิก เช่น วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ปิยบุตร แสงกนกกุลด้วย โดยมุ่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เขาเสนอให้ลดโทษจำคุกสูงสุดเหลือไม่เกิน 3 ปี ให้มีพฤติการณ์สำหรับอภัยโทษหรือไม่เป็นความผิด และให้เฉพาะสำนักราชเลขาธิการมีอำนาจฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์[80] สาวตรี สุขศรี สมาชิกอีกคนหนึ่ง มองว่า "การนินทากาเลมันมีมาตลอดอยู่แล้ว พอมีสื่อที่คนซึ่งเห็นต่างจากคนส่วนใหญ่มาเจอกันได้ มันเลยมีการพูดเรื่องนี้ขึ้นมา บางเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ในอินเทอร์เน็ตอาจจะผิด หากเลยกรอบของกฎหมาย แต่บางเรื่องก็ไม่ได้ผิด เพียงแต่คนที่เซ็นซิทีฟ เพราะสังคมไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน อะไรที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงต้องคุมไว้ก่อน" และเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อล้มขบวนการอ้างเจ้า[138]

การเรียกร้องให้ยกเลิก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว[139] การเรียกร้องมีขึ้นเนื่องจากผู้เข้าร่วมเสาวนาอ้างว่ามีผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวนมาก ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้มีการเปิดตัวกลุ่มกิจกรรม “มาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้” โดยมีกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ จิตรา คชเดช ผู้ถูกเลิกจ้างจากความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย เป็นแกนนำ[140]

ในงานดนตรี "6 ตุลาหวังว่าเสียงลมจะพาล่องไป" เมื่อปี 2565 เกิดเหตุกระทบกระทั่งกันเมื่อผู้ร่วมการแสดงบางส่วนไม่พอใจที่มีนักกิจกรรมเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในงาน โดยผู้เข้าชมไม่พอใจนักกิจกรรมเนื่องจากผู้จัดแจ้งว่าจะหยุดงานจนกว่านักกิจกรรมจะยุติการเรียกร้องภายในงาน[141]

เชิงอรรถ

  1. บางกรณีที่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว เช่น กรณีนิรันดร์ เยาวภาว์ อดีตผู้ดูแลเว็บไซต์แมเนเจอร์ออนไลน์ กรณีเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมลงในเว็บไซต์แมเนเจอร์[32] และกฤษณ์ บุดดีจีน นปช. เพชรบูรณ์ กรณีโพสต์แถลงการณ์ปลอมเช่นเดียวกัน[33]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Cochrane, Liam (2017-01-11). "New Thai King requests constitutional changes to 'ensure his royal powers': Prime Minister". ABC News. ABC. สืบค้นเมื่อ 2017-04-20.
  2. "How powerful people use criminal-defamation laws to silence their critics". The Economist. 13 July 2017. สืบค้นเมื่อ 14 July 2017.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Connors, Michael Kelly (2003). Democracy and National Identity in Thailand. RoutledgeCurzon. ISBN 0-203-36163-6.
  4. 4.0 4.1 David Streckfuss. "Kings in the Age of Nations: The Paradox of Lèse-Majesté as Political Crime in Thailand". Comparative Studies in Society and History. 33 (3): 445–475.
  5. "คำพิพากษาคดีหมิ่นฯ อดีตกษัตริย์ ผิด ม. 112". Prachatai. 2013-11-14. สืบค้นเมื่อ 2013-11-15.
  6. Amy Sawaitta Lefevre (2013-03-21). "Thai TV Show Draws Army Wrath for Lese-Majeste Debate". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2013-03-27.
  7. 7.0 7.1 7.2 ส.ศิวรักษ์ ชี้ รปห.-112 ล้วนกระทบสถาบันกษัตริย์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
  8. 8.0 8.1 พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
  9. "Chiang Rai activist sentenced to 50 years in prison for royal defamation". Prachatai. 2024-01-19.
  10. AFP (2023-09-20). "Thai ex-MP Pannika Wanich banned for life for 'disrespecting monarchy'". New Indian Express.
  11. AFP (2023-09-20). "Thai ex-MP banned for life for 'disrespecting monarchy' | New Straits Times". New Straits Times.
  12. 12.00 12.01 12.02 12.03 12.04 12.05 12.06 12.07 12.08 12.09 12.10 12.11 12.12 12.13 12.14 12.15 12.16 อาชามาส, นพพล (2014). "ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับการประกอบสร้างสถานะอัน "ล่วงละเมิดมิได้"". นิติสังคมศาสตร์. 7 (1): 19–49. สืบค้นเมื่อ 2020-07-30.
  13. 13.00 13.01 13.02 13.03 13.04 13.05 13.06 13.07 13.08 13.09 13.10 David Streckfuss (2014). "Freedom and Silencing Under the Neo-Absolutist Monarchy Regime in Thailand, 2006–2011". ใน Chachavalpongpun, Pavin (บ.ก.). "Good Coup" Gone Bad: Thailand's Political Development since Thaksin's Downfall. Singapore: ISEAS publishing. ISBN 9789814459617.
  14. Schuetze, Christopher (2018). "Dutch Parliament reduces penalties for insulting king". The Sydney Morning Herald (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20-11-1. สืบค้นเมื่อ 2020-10-30. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |archive-date= (help)
  15. 15.0 15.1 Colum Murphy (September 2006). "A Tug of War for Thailand's Soul". Far Eastern Economic Review.
  16. ชี้‘ประเสริฐ’ไม่พ้นคดีหมิ่น กลับไทยเมื่อไหร่โดน‘ซิว’[ลิงก์เสีย]
  17. "Authorities close in on Prem's foes". Bangkok Post. 5 April 2007. สืบค้นเมื่อ 26 September 2007.
  18. "Row festers over website seeking to oust Prem". The Nation. 3 April 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 26 September 2007.
  19. "Special Branch chief demoted in reshuffle". The Nation. 5 April 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 26 September 2007.
  20. "Swiss man 'insulted' Thai king". Al Jazeera. 12 March 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 26 September 2007.
  21. New lèse-majesté precedents set by Thailand’s public prosecutors and Court[ลิงก์เสีย]. (iLaw).
  22. Singer Gets 7 Years for Lèse-Majesté, Must Write 'Reconciliation Song'. Khaosod English.
  23. ""เอ๋" ปารีณา ทนไม่ไหว ลุก แจ้งความ ม.112 "โน้ต อุดม"ปม "พอเพียง"". thairath.co.th. 2024-05-08.
  24. "ทนไม่ไหวจริงๆ ปารีณา แจ้งความดำเนินคดี 'โน้ส อุดม' ยอมรับเคยชื่นชอบ". khaosod.co.th. 2024-05-08.
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 World Report 2014: ประเทศไทย. Human Rights Watch.
  26. 26.0 26.1 1 เดือนหลังการสวรรคต: ประมวลสถานการณ์ความขัดแย้งและการดำเนินคดีมาตรา 112
  27. 27.0 27.1 วิวัฒนาการของ “กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ในรอบ 200 ปี ตามบริบทสังคมการเมือง[ลิงก์เสีย]
  28. 28.0 28.1 พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล "มาตรา 112 : ผลพวงรัฐประหาร 6 ตุลา 2519"
  29. รวบหนุ่ม นปช. เพชรบูรณ์ ต้นตอแพร่แถลงการณ์ปลอมสำนักพระราชวัง[ลิงก์เสีย]
  30. Thailand: End Harsh Punishments for Lèse-Majesté Offenses. Human Right Watch.
  31. "รอบอาทิตย์แรก ธ.ค. 54 : อากงSMS effect". iLaw. 2 ธันวาคม 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-11. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  32. "อดีตผู้ดูแลเว็บไซต์แมเนเจอร์ได้ประกันตัววงเงิน 4 แสน - เสื้อแดงเพชรบูรณ์หลักทรัพย์ไม่พร้อม ฝากขัง 12 วัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-21. สืบค้นเมื่อ 2015-02-10.
  33. ศาลทหารให้ประกัน กฤษณ์ มือโพสต์แถลงการณ์ปลอมแล้ว
  34. 34.0 34.1 34.2 คำพิพากศาล#1 สาวตรี สุขศรี 112 กับกระบวนการยุติธรรมเชิงบังคับและสร้างความกลัว
  35. รมว.ยธ. แถลง'หมอหยอง'เสียชีวิตแล้ว ติดเชื้อในกระแสเลือด
  36. The Draconian Legal Weapon Being Used to Silence Thai Dissent. Time.
  37. อัยการยื่นฟ้องแล้วคดีเจ้าสาวหมาป่า–ศาลสอบคำให้การ 2 จำเลยจันทร์หน้า
  38. Tom Dundee confesses to lèse-majesté. Bangkok Post.
  39. Royal pardon shows King's generosity and fairness. Bangkok Post.
  40. "คดี 112 จากชั้นต้นถึงอุทธรณ์ กับการให้เหตุผลของศาลที่ต่างกัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-02. สืบค้นเมื่อ 2020-08-01.
  41. 10 คำถาม-คำตอบน่ารู้เกี่ยวกับมาตรา 112[ลิงก์เสีย]
  42. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: คดีประหลาดยิ่งจริงยิ่งหมิ่น
  43. 43.0 43.1 43.2 สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ (9 May 2012). "อากงปลงไม่ตก (2)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-01-20. สืบค้นเมื่อ 2020-07-30.
  44. 44.0 44.1 44.2 44.3 44.4 ทอนฮามแก้ว, ฐนาพงษ์ (2554). เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (น.ม.). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  45. แจ้งจับ “ใจ อึ๊งภากรณ์” หมิ่นเบื้องสูง - กล่าวหา “สุรยุทธ์” นายกฯเถื่อน เก็บถาวร 2006-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ASTVผู้จัดการออนไลน์. สืบค้น 19 มกราคม 2556.
  46. "เปิดคดีประวัติศาสตร์ : ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-16. สืบค้นเมื่อ 2013-06-13.
  47. Schwartzkoff, Louise (23 February 2009). "Author denies it was a stunt". The Sydney Morning Herald.
  48. Writer jailed for Thai 'insult', BBC
  49. Thailand frees Australian writer, BBC
  50. Anonymous (25 August 2011). "US Embassy 'Disappointed' That Joe Gordon Not Blonde, Young, Female". Not The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-22. สืบค้นเมื่อ 29 September 2011.
  51. s:คำพิพากษาศาลอาญา ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๔๗๒๖/๒๕๕๔
  52. "คำพิพากษาคดีอากง sms". iLaw. 17 ตุลาคม 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-26. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  53. ศาลยกฟ้อง'สนธิ'คดีหมิ่นฯ นำคำพูด'ดา ตอปิโด'เผยแพร่[ลิงก์เสีย]
  54. โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นสถาบัน ศาลทหารสั่งจำคุก 60 ปี
  55. Pravit Rojanaphruk. "Facebooker Charged For Defaming Royal Dog 'Tong Daeng'". Khaosod English. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-16. สืบค้นเมื่อ 14-12-2015. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  56. 56.0 56.1 ผุดกิจกรรมไม่ยืนเพลงสรรเสริญหลังโซเชียลแชร์กรณีเมเจอร์สั่ง พนง. เชิญคนไม่ยืนออกจากโรงก่อน
  57. เปิดแฟ้ม 3 คดี ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และอื่นๆ
  58. 58.0 58.1 เพลงสรรเสริญพระบารมี : จาก "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร" ถึงกิจกรรม "ไม่ยืนในโรงภาพยนตร์"
  59. ‘เมเจอร์ฯ’แจง หลังทวิตเตอร์เดือด ผุดแฮชแท็ก #แบนเมเจอร์ ปมดราม่าไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯถูกเชิญออก
  60. 60.0 60.1 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๗๘/๒๕๕๖
  61. 61.0 61.1 รวมความเห็นนักวิชาการ คดีหมิ่นฯ ร.4
  62. 62.0 62.1 62.2 62.3 Changes in Thailand’s lèse majesté prosecutions in 2018
  63. "วิวัฒนาการของ "การลงโทษในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ" ในรอบ 200 ปี ตามบริบทสังคมการเมือง". freedom.ilaw.or.th.[ลิงก์เสีย]
  64. ‘แม่จ่านิว’ น้ำตานอง นอนห้องขัง ‘จนท.ระดับบิ๊ก’ ค้านประกัน ยกเหตุ’คดีสำคัญ-โทษสูง-หวั่นหนี-กันยุ่งพยาน’
  65. อัยการศาลทหารสั่งฟ้องม.112 ‘แม่จ่านิว’ คดีตอบแชท ‘จ้า’
  66. กดไลก์ได้ไหม กดโกรธรอดหรือเปล่า? สำรวจความคลุมเครือของ พ.ร.บ.คอมฯ กับยิ่งชีพ อัชฌานนท์
  67. 67.0 67.1 67.2 67.3 67.4 67.5 67.6 Ramification and Re-Sacralization of the Lese Majesty Law in Thiland
  68. Colum Murphy (2006). "A Tug of War for Thailand's Soul". Far Eastern Economic Review. {{cite journal}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  69. "List of individuals charged with Article 112 of the Criminal Code (lèse majesté)". iLAW. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-18. สืบค้นเมื่อ 17 November 2017.
  70. 70.0 70.1 Todd Pitman and Sinfah Tunsarawuth (27 March 2011). "Thailand arrests American for alleged king insult". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-30. สืบค้นเมื่อ 27 May 2011.
  71. "Royal Birthday Address: 'King Can Do Wrong'". National Media. 5 December 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 26 September 2007.
  72. Julian Gearing (3 December 1999). "A Protective Law: It's called lèse-majesté, and it is taken seriously". Asiaweek. 25 (48). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-05. สืบค้นเมื่อ 2020-07-30.
  73. "Thai coup leader says new PM within two weeks". TurkishPress. 19 September 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2007. สืบค้นเมื่อ 26 September 2007.
  74. "World Notes Thailand". Time. 15 September 1986. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-20. สืบค้นเมื่อ 26 September 2007.
  75. Reporters Without Borders, Lèse-majesté charge used to crack down on opposition media เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 May 2011
  76. กรณีบุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์, 30 มีนาคม พ.ศ. 2554
  77. SEAPA Alert: Thai history professor faces lèse majesté complaint เก็บถาวร 2012-04-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 10 May 2011
  78. Bangkok Post, Intellectuals join Somsak to defend stance, 24 April 2011
  79. British professor flees Thailand after charge of insulting king, 9 February 2009
  80. 80.0 80.1 Sinfah Tunsarawuth (September 2012), "Royal Chill", Index on Censorship, 41: 103–107, doi:10.1177/0306422012456809, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-10, สืบค้นเมื่อ 2020-07-30
  81. Achara Ashayagachat (11 May 2012). "Ampon team of lawyers say their best 'not good enough'". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 11 May 2012.
  82. "All crimes involving alleged lèse-majesté, sedition subjected to Military Court: Thai Coup makers", 25 May 2014. Prachatai English. Accessed 11 September 2016.
  83. "Running Afoul of the Thai Monarchy". New York Times. สืบค้นเมื่อ 22 September 2015.
  84. "Thailand: UPR Submission 2015". Human Rights Watch. 2015-09-21. สืบค้นเมื่อ 22 September 2015.
  85. Thai Minister Asks French Diplomat to Extradite Lèse-Majesté Suspects. Khaosod English.
  86. 2014 Situation Summary Report 2/5: Lèse-majesté cases: One step forward, three steps backward เก็บถาวร 2020-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. iLaw.
  87. [https:/ุ/www.flickr.com/photos/prachatai/22168436089/ "Prachatai Infographic 20151021"]. 21 October 2015. สืบค้นเมื่อ 1 May 2019 – โดยทาง Flickr. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  88. "3 lèse majesté complaints filed against women wearing black around King's birthday". Prachatai English. 2014-12-10. สืบค้นเมื่อ 2014-12-11.
  89. นายกฯ เผย "ในหลวง" ทรงมีพระเมตตารับสั่งไม่ให้ใช้ ม.112. 2563.
  90. “ประยุทธ์” เผย “ในหลวง” ทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้ ม.112 ซัดพวกฉวยโอกาส. 2563.
  91. Activist ‘Pai Dao Din’ Arrested For Lese Majeste. Khaosod English.
  92. Amy Sawitta Lefevre; Aukkarapon Niyomyat (2017-05-22). "Thailand extends web controls from composers of illicit content to viewers". Reuters.
  93. 93.0 93.1 93.2 93.3 93.4 1 ปี การคุมขัง ‘ไผ่ ดาวดิน’ กับสถานการณ์มาตรา 112 ในรอบปี 2560
  94. ศาลนัดสอบคำให้การคดีนักกิจกรรมโพสต์ประวัติศาสตร์กษัตริย์ต่าง ปท. และ #ขบวนเสด็จ ก.ย.นี้
  95. "Thai woman jailed for record 43 years for criticising monarchy". BBC News. 19 January 2021. สืบค้นเมื่อ 25 January 2021.
  96. "เปิดเหตุผลศาล ทำไมถึงไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำ "ราษฎร"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 22 March 2021.
  97. "'โรม'ลั่นข้อกฎหมายทำได้ เชิญประธานศาลฎีกาแจงกมธ". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2 April 2021.
  98. เด็กหญิงวัย14ปีได้รับหมายเรียก
  99. เด็กหญิงวัย 14 ปี รับหมายเรียก ม.112 อายุน้อยสุดที่ถูกดำเนินคดีข้อหานี้. 2566.
  100. เป่าเค้กวันเกิด แถลงหน้า UN ‘หยก’ เด็ก 14 ปี ฉีกหมายเรียกคดี ม.112 วอนต่างชาติ หยุด รบ.ไทย เล่นงานคนเห็นต่าง
  101. "ศาลรัฐธรรมนูญชี้ ชุมนุม 10 สิงหา 63 "ล้มล้างการปกครอง"". บีบีซีไทย. 10 พฤศจิกายน 2021. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  102. ""ธีรยุทธ" ร้อง อสส. ส่งเรื่องให้ศาล รธน. สั่ง "พิธา-ก้าวไกล" ยุติแก้ ม.112". ไทยรัฐ. 30 พฤษภาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  103. "เลือกตั้ง 2566 : ทนายความอิสระร้องศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง พิธา-ก้าวไกล เลิกล้มล้างการปกครอง-แก้ไข ม.112 เหตุมุ่งหวังประโยชน์ทางการเมือง เจตนาไม่บริสุทธิ์". เดอะสแตนดาร์ด. 16 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  104. "ศาล รธน. สั่งอัยการสูงสุด แจง รับหรือไม่รับคำร้อง พิธาหาเสียง แก้ ม.112". ประชาชาติธุรกิจ. 26 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  105. "ศาล รธน. รับคำร้อง "พิธา-ก้าวไกล" เสนอแก้ ม.112". ไทยพีบีเอส. 12 กรกฎาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  106. "จากเลือกนายกฯ สู่การอภิปรายก้าวไกลเรื่อง 'แก้มาตรา 112'". ไทยรัฐพลัส. ไทยรัฐ. 13 กรกฎาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  107. "ศาลรธน. มีมติเอกฉันท์ 9 : 0 ก้าวไกล หาเสียงแก้ม.112 ล้มล้างการปกครอง". มติชน. 31 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  108. Setboonsarng; Thepgumpanat, Chayut; Panarat (2024-08-07). "Thai court orders dissolution of anti-establishment Move Forward party". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-08-07. สืบค้นเมื่อ 2024-08-07.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  109. ""ณัฐพงษ์" กร้าวนำทัพพรรคประชาชน ชนะเลือกตั้งปี 70 เป็นรัฐบาลพรรคเดียว". Thai PBS.
  110. "Thailand firewall to block 'offensive' websites". Bangkok Post. 28 October 2008. สืบค้นเมื่อ 2 November 2008.
  111. "Media freedom threats worry internet community". Bangkok Post. 5 February 2009. สืบค้นเมื่อ 5 February 2009.
  112. Fuller, Thomas (2 October 2011). "A High-Tech War Against Slights to a Centuries-Old Monarchy". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 4 October 2011.
  113. "Thai YouTube Ban Persists Over King Clip". AP via CBS. 5 April 2007. สืบค้นเมื่อ 5 April 2007.
  114. "More Thai king videos on YouTube". BBC. 5 April 2007. สืบค้นเมื่อ 8 April 2007.
  115. AP, Thailand Shuts Down Political Web Site
  116. Facebook Blocks Thailand From Page Satirizing Monarchy. Khaosod English.
  117. "Thai police examine Economist article", John Aglionby, The Guardian, 1 Mar 2002
  118. Sulak Sivaraksa, January 25th Letter to the Prime Minister, 31 Jan 2007 เก็บถาวร 20 กุมภาพันธ์ 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  119. "New York Times Censored Again as Thailand Marks King's Birthday". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-02. สืบค้นเมื่อ 2020-07-31.
  120. "Thailand bans old edition of Marie Claire for insulting monarchy". Reuters. 2016-04-08. สืบค้นเมื่อ 9 April 2016.
  121. "Thailand bans Marie Claire magazine for lèse majesté". Prachatai English. 2016-04-08. สืบค้นเมื่อ 9 April 2016.
  122. รู้จัก ‘แซม พงษ์ศักดิ์’ : จุดเริ่มต้นคือการตั้งคำถาม จุดจบ? คือโทษจำคุก 60 ปี
  123. English, Khaosod (2020-06-22). "Man Behind Viral 'Lost Faith' Shirt Gets Cop Visit". Khaosod English (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-07-14.
  124. "Facebook user behind viral 'lost faith' shirt committed to psychiatric hospital". Prachatai English (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-07-14.
  125. Head, Jonathan (5 December 2007). "Why Thailand's king is so revered". BBC News. สืบค้นเมื่อ 17 October 2015.
  126. "Thailand's lese-majeste law explained". 6 October 2017. สืบค้นเมื่อ 1 May 2019 – โดยทาง www.bbc.com.
  127. "Swiss man faces jail for lèse majesté". The Daily Telegraph. London. 13 March 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-13. สืบค้นเมื่อ 24 November 2007.
  128. 128.0 128.1 128.2 NuDelman, Lauren (2018). ""Beyond Common Sense :" the Resurgence of Thailand's Anachronistic Lèse Majesté Law". International Immersion Program Papers (83).
  129. Lese majeste: abuse and benevolence[ลิงก์เสีย]
  130. "The king can do no wrong" และกฎหมายอาญามาตรา 112
  131. "THE USE OF THE LÈSE-MAJESTÉ LAW IN THAILAND". Royal Thai Embassy Singapore. Government of Thailand. สืบค้นเมื่อ 5 January 2018.
  132. "Address UN rights worries" (Editorial). Bangkok Post. 14 May 2016. สืบค้นเมื่อ 5 January 2018.
  133. Singer Tom Dundee gets 7 years, 6 months for lese majeste. Bangkok Post.
  134. Bangkok Post, All eyes on Article 112, 18 September 2011
  135. "Analysis: Thailand's lese majeste law erodes the judiciary". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-18. สืบค้นเมื่อ 2013-11-17.
  136. Editorial: Thai refugee right to push for democracy
  137. เช่น
    • "James C. Scott is one of the world’s leading scholars on agrarian studies, peasantry, subaltern people, and the upland ethnic minorities."
    • "Charles F Keyes is one of the leading and most respected scholars of Southeast Asia and Thailand, and highly regarded among anthropologists in the US."
    • Craig J Reynolds is a leading historian of Thailand who is very well known and highly respected among Thai scholars."
    • อ้างอิง: Thailand’s precarious politics เก็บถาวร 2009-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  138. "สาวตรี สุขศรี" แก้ ม.112 ล้มขบวนการอ้างเจ้า
  139. "นักวิชาการกล้าร้อง "ยกเลิก ม. 112, ยุบองคมนตรี"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-23. สืบค้นเมื่อ 2011-04-14.
  140. เปิดตัวกลุ่ม ‘อาร์ติเคิล112’ รณรงค์เพื่อตื่นรู้[ลิงก์เสีย]
  141. "ผู้จัดคอนเสิร์ต 6 ตุลาแถลงขอโทษ แจงให้ถือได้ไม่ผิด แต่เริ่มมีกระทบกระทั่งเลยให้เอาลง". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 8 October 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น