ข้ามไปเนื้อหา

ฆอร์เฆ ราฟาเอล บิเดลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฆอร์เฆ ราฟาเอล บิเดลา
บิเดลาใน พ.ศ. 2519
ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา
ดำรงตำแหน่ง
29 มีนาคม พ.ศ. 2519 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2524
แต่งตั้งโดยคณะเผด็จการทหาร
รองประธานาธิบดีไม่มี
ก่อนหน้าอิซาเบล เปรอน
ถัดไปโรเบร์โต เอดัวร์โด บิโอลา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด2 สิงหาคม พ.ศ. 2465
เมร์เซเดส รัฐบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา
เสียชีวิต17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 (90 ปี)
มาร์โกส ปัซ รัฐบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา
พรรคการเมืองไม่มี
คู่สมรสอาลิเซีย ราเกล ฮาร์ทริดจ์
บุตร7 คน
การศึกษาวิทยาลัยการทหารแห่งชาติ
อาชีพทหาร
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ อาร์เจนตินา
สังกัด กองทัพอาร์เจนตินา
ประจำการพ.ศ. 2487–2524
ยศ พลโท
บังคับบัญชากองทัพอาร์เจนตินา
ผ่านศึกปฏิบัติการคอนดอร์ (สงครามสกปรก)
ประวัติอาชญากรรม
ข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ, การละเมิดสิทธิมนุษยชน, การใช้อำนาจโดยมิชอบ, การบังคับให้บุคคลสูญหาย
โทษจำคุกตลอดชีวิต
สถานที่ถูกลงโทษเรือนจำมาร์โกส ปัซ

ฆอร์เฆ ราฟาเอล บิเดลา (สเปน: Jorge Rafael Videla; 2 สิงหาคม พ.ศ. 2465 – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556) เป็นทหารและผู้เผด็จการชาวอาร์เจนตินาซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอาร์เจนตินาตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2519 จนถึง 29 มีนาคม พ.ศ. 2524 ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง ในทวีปอเมริกาใต้รวมถึงประเทศอาร์เจนตินาอยู่ในช่วงปฏิบัติการคอนดอร์ซึ่งเป็นการปราบปรามนักลัทธิคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา

เขาขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีจากการรัฐประหารรัฐบาลของอิซาเบล เปรอน ซึ่งเป็นภริยาของฆวน เปรอน อดีตประธานาธิบดี[1] และเขาปกครองประเทศอาร์เจนตินาด้วยความโหดร้าย[1] ในสมัยของเขามีการจับกุมและคุกคามนักเคลื่อนไหว นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักศึกษา สื่อมวลชน รวมถึงประชาชนภายในประเทศ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 13,000[2] ถึง 30,000 ราย[3] และสูญหายนับพันรายโดยไม่ทราบชะตากรรม โดยเขาได้ใช้สารพัดวิธีการลงโทษและปราบปรามผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลของเขา เช่น การซ้อมทรมาน การใช้เก้าอี้ไฟฟ้า การบังคับให้บุคคลสูญหาย การลักพาตัว การวางยาพิษ การบุกบ้านผู้อื่นยามวิกาล การขับรถยนต์ฟอร์ดไม่มีเลขป้ายทะเบียนไล่ชนเหยื่อ การฝังทั้งเป็น รวมถึงการโยนเหยื่อลงจากเครื่องบินระหว่างบินเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก[1] เป็นต้น นอกจากนี้เขายังถูกกล่าวหาในเรื่องของการลักพาตัวเด็กทารกที่เกิดจากมารดาซึ่งเป็นนักโทษทางการเมืองในสมัยที่เขายังมีอำนาจ[4] การฆาตกรรมนักโทษการเมืองในเรือนจำและอ้างว่านักโทษยิงตัวเอง[1] รวมถึงการปกป้องผู้ลี้ภัยที่เป็นนาซีที่อยู่ในประเทศ จนเขาได้รับการขนานนนามว่าเป็น "ฮิตเลอร์แห่งปัมปา"[5] นอกจากนี้ในสมัยของเขายังประสบกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและการก่อการร้ายในประเทศ และเขาไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ นำไปสู่การลงจากตำแหน่งของเขาใน พ.ศ. 2524[1]

ในปี พ.ศ. 2525 หลังจากที่เขาลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้อำนาจโดยมิชอบ และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ เขาได้กล่าวกับศาลใน พ.ศ. 2553 ว่าจะรับผิดชอบในสิ่งที่เขาก่อไว้ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งหมด[6] เขาถูกกักบริเวณที่บ้านของเขา[7] ก่อนจะถูกศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตในกรณีการเสียชีวิตของนักโทษการเมือง 31 รายระหว่างที่เขามีอำนาจ[8][9][10] และยังถูกพิพากษาให้จำคุก 50 ปี ในข้อหาลักพาตัวเด็กทารกในเรือนจำ[11] ระหว่างที่เขารับโทษทางกฎหมายเขาได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ที่เรือนจำในมาร์โกส ปัซ จากการลื่นล้มในห้องน้ำ สิริอายุได้ 90 ปี[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ฮอร์เก ราฟาเอล วิเดลา: เผด็จการอาร์เจนตินาผู้ขึ้นชื่อเรื่องการบังคับสูญหาย
  2. "Una duda histórica: no se sabe cuántos son los desaparecidos". 6 October 2003.
  3. "40 years later, the mothers of Argentina's 'disappeared' refuse to be silent". TheGuardian.com. 28 April 2017. สืบค้นเมื่อ 23 March 2018.
  4. "El exdictador Videla llama terroristas a las madres de los bebés robados en Argentina". Abc.es. 27 June 2012.
  5. "Jorge Videla, el Hitler de la Pampa | elmundo.es". Elmundo.es. สืบค้นเมื่อ 2021-07-25.
  6. "Argentina's Videla: 'Troops followed my orders' BBC news". Bbc.co.uk. 6 July 2010. สืบค้นเมื่อ 27 December 2010.
  7. Rosario Gabino (10 October 2008). "Argentina: Videla a la cárcel". BBC News. สืบค้นเมื่อ 27 December 2010.
  8. Life sentence for ex-Argentina leader on Al Jazeera English 23 December 2010 (video)
  9. Popper, Helen (22 December 2010). "Former Argentine dictator Videla jailed for life". Reuters. สืบค้นเมื่อ 23 December 2010.
  10. อดีตผู้นำทหารสังหารหมู่ประชาชนในอาร์เจนติน่า ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต
  11. "El dictador Videla, condenado a 50 años de cárcel por el robo de niños". สืบค้นเมื่อ 5 July 2012.
  12. "Videla murio golpe cabeza cuando resbalo-ducha", El Comericio

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]