ข้ามไปเนื้อหา

ถุงน้ำดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถุงน้ำดี
(Gallbladder)
ถุงน้ำดี คือ หมายเลข 5
ถุงน้ำดีและอวัยวะใกล้เคียง
รายละเอียด
คัพภกรรมForegut
ระบบระบบทางเดินอาหาร
หลอดเลือดแดงหลอดเลือดแดงถุงน้ำดี
หลอดเลือดดำหลอดเลือดดำถุงน้ำดี
ประสาทปมประสาทซิลิแอค, เส้นประสาทเวกัส[1]
ตัวระบุ
ภาษาละตินVesica biliaris
MeSHD005704
TA98A05.8.02.001
TA23081
FMA7202
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์
โครงสร้างของถุงน้ำดีและระบบท่อน้ำดี

ถุงน้ำดี (อังกฤษ: Gallbladder) เป็นอวัยวะในช่องท้องที่ทำหน้าที่ในการเก็บสะสมน้ำดี (bile) เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร โดยจะมีโครงสร้างที่ติดต่อกับตับซึ่งเป็นอวัยวะที่ผลิตน้ำดี และลำไส้เล็กตอนต้น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการปล่อยน้ำดีออกสู่ทางเดินอาหาร

กายวิภาคศาสตร์

[แก้]

ถุงน้ำดีจะวางตัวอยู่ทางพื้นผิวด้านหน้าของตับ โดยทั่วไปจะมีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร และมีสีเขียวคล้ำซึ่งเป็นสีของน้ำดีที่เก็บสะสมอยู่ภายใน ถุงน้ำดีจะมีทางติดต่อกับตับและลำไส้เล็กตอนต้นโดยระบบท่อน้ำดี (biliary tract) โดยจะมีท่อถุงน้ำดี (cystic duct) เป็นท่อที่ต่อออกมาโดยตรงจากถุงน้ำดี ซึ่งจะไปเชื่อมต่อกับท่อน้ำดีใหญ่ในตับ (common hepatic duct) เพื่อรวมเป็นท่อน้ำดีใหญ่ (common bile duct) ซึ่งท่อน้ำดีใหญ่นี้จะไปเชื่อมรวมกับท่อตับอ่อน (pancreatic duct) แล้วเปิดออกสู่รูเปิดขนาดใหญ่ในลำไส้เล็กตอนต้น ซึ่งเรียกว่า เมเจอร์ ดูโอดีนัล แอมพูลา (major duodenal ampulla)

ระบบไหลเวียนเลือดของถุงน้ำดี

[แก้]

หลอดเลือดแดงที่นำเลือดออกซิเจนสูงมาเลี้ยงถุงน้ำดี คือหลอดเลือดแดงถุงน้ำดี (cystic artery) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของหลอดเลือดแดงตับ ส่วนหลอดเลือดดำที่นำเลือดออกจากถุงน้ำดีคือ หลอดเลือดดำถุงน้ำดี (cystic vein) ซึ่งจะเทเข้าสู่หลอดเลือดดำพอร์ทัลต่อไป นอกจากนี้ ทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำของถุงน้ำดีจะวางตัวขนานไปกับท่อถุงน้ำดีอีกด้วย

เส้นประสาท

[แก้]

ถุงน้ำดีจะถูกควบคุมโดยการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ โดยมีเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) และปมประสาทซิลิแอค (celiac ganglion) ที่อยู่ในช่องท้อง เป็นโครงสร้างจากระบบประสาทที่มาเลี้ยง

หน้าที่การทำงาน

[แก้]

ถุงน้ำดีมีหน้าที่ในการเก็บสะสมน้ำดีได้ประมาณ 50 มิลลิลิตร (1.7 ออนซ์)[2] โดยการหลั่งของน้ำดีจะถูกกระตุ้นเมื่ออาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบถูกลำเลียงเข้ามาในลำไส้เล็ก ซึ่งจะทำให้มีการหลั่งของฮอร์โมนคอลิซิสโทไคนิน (cholecystokinin) ทำให้มีการหลั่งน้ำดีออกมา นอกจากนี้ ถุงน้ำดียังมีหน้าที่ในการทำให้น้ำดีที่ผลิตจากตับมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาศัยการดูดซึมน้ำโดยเซลล์เยื่อบุผิวของถุงน้ำดี

โรคของถุงน้ำดี

[แก้]
  • นิ่วในถุงน้ำดี (gallstone หรือ cholelithiasis) เป็นโรคของถุงน้ำดีที่พบได้บ่อย โดยที่นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากการตกผลึกของคอเลสเตอรอล เลซิทิน และกรดน้ำดี ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของน้ำดี เมื่อนิ่วผ่านลงมาในท่อน้ำดีก็จะทำให้เกิดการปวดท้อง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างมื้ออาหาร ในกรณีที่ก้อนนิ่วไปอุดตันส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบท่อน้ำดี จะทำให้เกิดอาการปวดบิดรุนแรง ที่เรียกว่า ไบเลียรี่ โคลิค (biliary colic) ซึ่งต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที ผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดียังมีอาการดีซ่าน และอาจเกิดความผิดปกติของตับอีกด้วย
  • ถุงน้ำดีอักเสบ (cholecystitis) เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดีและทำให้เกิดอาการปวดท้อง โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการมีนิ่วในถุงน้ำดีจนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณนั้น
  • มะเร็งถุงน้ำดี (cancer of gallbladder) เป็นโรคที่พบได้ไม่มาก แต่อันตรายถึงชีวิต โดยมักจะมีสาเหตุมาจากนิ่วในถุงน้ำดี การบริโภคแอลกอฮอล์มากๆ หรือโรคอ้วน ผู้ป่วยจะมีอาการของดีซ่าน น้ำหนักลด มีน้ำคั่งในช่องท้อง และมีโอกาสเสียชีวิตสูงมากแม้ว่าจะทำการรักษาโดยการผ่าตัด

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ginsburg, Ph.D., J.N. (2005-08-22). "Control of Gastrointestinal Function". ใน Thomas M. Nosek, Ph.D. (บ.ก.). Gastrointestinal Physiology. Essentials of Human Physiology. Augusta, Georgia, United State: Medical College of Georgia. pp. p. 30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-01. สืบค้นเมื่อ 2007-06-29.
  2. Encyclopædia Britannica Gallbladder Anatomy