ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ
ศาลท้าวมหาพรหม | |
---|---|
ศาสนา | |
ศาสนา | ศาสนาฮินดู |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
เทพ | พระพรหม |
เทศกาล | พิธีบวงสรวงท้าวมหาพรหม |
หน่วยงานกำกับดูแล | มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม |
ปีที่อุทิศ | พ.ศ. 2499 |
ที่ตั้ง | |
ที่ตั้ง | โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ แยกราชประสงค์ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน |
ประเทศ | ประเทศไทย |
สถาปัตยกรรม | |
สถาปนิก | ระวี ชมเสรี และหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล |
ประเภท | สถาปัตยกรรมไทย |
ผู้ก่อตั้ง | สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว |
เสร็จสมบูรณ์ | พ.ศ. 2499 |
ทิศทางด้านหน้า | ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ |
ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ เป็นศาลหนึ่งในบรรดาศาลบริเวณแยกราชประสงค์ ประดิษฐานบูชาท้าวมหาพรหม ตั้งอยู่หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2494 พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ให้สร้างโรงแรมเอราวัณขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ ว่ากันว่า ในช่วงแรกของการก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ปลายปี พ.ศ. 2499 บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมได้ติดต่อพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ (อั๋น สุวรรณภาณุ) นายแพทย์ใหญ่กองทัพเรือ ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องการนั่งทางใน ให้หาฤกษ์วันเปิดโรงแรม[1]
พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม "เอราวัณ" นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจากพระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม[2]
จึงได้มีการตั้งศาลพระพรหม ผู้ออกแบบตัวศาล คือ ระวี ชมเสรี และ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ส่วนรูปท้าวมหาพรหมนั้นปั้นด้วยปูนพลาสเตอร์ปิดทอง ผู้ออกแบบและปั้น คือ จิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เสร็จแล้วอัญเชิญมาประดิษฐานหน้าโรงแรมเอราวัณเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499[2][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]
ตามแผนงานครั้งแรก รูปท้าวมหาพรหมจะเป็นโลหะหล่อสีทอง แต่เนื่องจากระยะเวลาจำกัดด้วยฤกษ์การเปิดโรงแรม จึงได้เปลี่ยนวัสดุเป็นปูนปั้นปิดทองแทน[3][ลิงก์เสีย]
รูปท้าวมหาพรหมนี้สร้างขึ้นในเวลาเดียวกับรูปพระพรหมที่ศาลบนดาดฟ้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งก็สร้างตามคำแนะนำของพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ เช่นเดียวกัน[3]
ปัจจุบัน ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ อยู่ในความดูแลของ "มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม" เป็นที่รู้จักและเคารพนับถือกันมาก เชื่อกันว่า ถ้าบนบานด้วยละครรำ จะประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ จึงมีการรำละครชาตรีแก้บนทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวต่างชาติ เช่น ชาวจีนจัดทัวร์มาไหว้สักการะโดยเฉพาะ และชาวจีนที่มีชื่อเสียงหลายคนเคยเดินทางมาที่นี่ เช่น เหลียง เฉาเหว่ย, หง จินเป่า, เซียะ ถิงฟง เป็นต้น[3][ลิงก์เสีย] เหริน ต๋าหัว และ หมี เสว่ ก็เดินทางมาสักการะหลังเหตุระเบิดในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558[ต้องการอ้างอิง]
การทุบทำลายใน พ.ศ. 2549
[แก้]กลางคืนวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 ชายเสียสติผู้หนึ่งใช้ค้อนทุบทำลายศาล ทำให้รูปท้าวมหาพรหมแตก จึงบูรณะขึ้นใหม่ทั้งศาลและรูปท้าวมหาพรหม แล้วเสร็จในปลายเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน[4]
มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ ได้ทำพิธีอัญเชิญรูปที่บูรณะเสร็จแล้วกลับมาประดิษฐานในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เวลา 11:39 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่องศาของดวงอาทิตย์ส่องตรงศาลพอดี โดยอัญเชิญเป็นขบวนจากกรมศิลปากรมาจนถึงศาลท้าวมหาพรหม ส่วนชายผู้ที่ใช้ค้อนทุบทำลายศาลดังกล่าว ภายหลังเกิดเหตุได้ถูกผู้เห็นเหตุการณ์ทุบตีจนเสียชีวิต[4] [5] [6]
การระเบิดใน พ.ศ. 2558
[แก้]วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 18:55 นาฬิกา มีระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ใกล้กับศาลท้าวมหาพรหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่า เป็นระเบิดทีเอ็นทีหนัก 5 กิโลกรัม บรรจุในท่อที่อยู่ในบริเวณศาล มีรัศมีการทำลายล้าง 30 เมตรจากจุดระเบิด มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 70 คน และเสียชีวิตทันทีถึง 16 คน[7]
รูปท้าวมหาพรหมเสียหายทั้งหมด 12 จุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนคาง ใช้งบประมาณในการบูรณะ 70,000 บาท ใช้เวลาบูรณะประมาณ 9 วัน[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "หนุ่มเพี้ยนบุกทุบท้าวมหาพรหมพังทั้งองค์!! ชาวบ้านแค้นรุมยำดับอนาถ". ผู้จัดการออนไลน์. 2009-03-21.
- ↑ 2.0 2.1 "เทวดาสี่แยกราชประสงค์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-28. สืบค้นเมื่อ 2022-03-18.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Kornkit Disthan, เฟซบุก, August 27, 2015 (retrieved on August 26, 2015)
- ↑ 4.0 4.1 "ทุบพังทั้งองค์ พระพรหมเอราวัณ ลางร้าย คลั่ง หรือลับลวงพราง!". คมชัดลึก. 2018-03-21.
- ↑ "เปิดฮวงจุ้ยราชประสงค์ ย้อนคดีทุบพระพรหม ไขขั้นตอนบูรณะ". ไทยรัฐ. 2015-08-22.
- ↑ "ครบรอบ 61 ปี วันตั้งศาลท้าวมหาพรหม ชาวไทย-ต่างชาติแห่สักการะแน่น". ไทยรัฐ. 2017-05-09.
- ↑ ‘เสียชีวิต16ราย’ระเบิดราชประสงค์เจ็บกว่า70 เก็บถาวร 2015-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คมชัดลึก, August 27, 2015 (retrieved on August 17, 2015)
- ↑ กรมศิลป์ฯบูรณะพระพรหม ระดมช่างสิบหมู่ซ่อมแซม, เดลินิวส์, August 30, 2015 (retrieved on August 26, 2015)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ภาพถ่ายทางอากาศของ ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์