ข้ามไปเนื้อหา

นครรัฐเชียงแสน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไชยบุรีศรีเงินยางเชียงแสน

พ.ศ. 2157/2158 ไทยสากล–พ.ศ. 2347 ไทยสากล
สถานะประเทศราชของราชวงศ์ตองอู
(2157/2158-2171, 2175-2205/2206, 2215/2216-2295)
ส่วนหนึ่งของเชียงใหม่
(2171-2175)
นครรัฐเอกราชโดยพฤตินัย
(2205/2206-2215/2216, 2295-2300)
ประเทศราชของราชวงศ์โก้นบอง
(2300-2347)
ถู่ซือของราชวงศ์ชิง
(2309-2310)
เมืองหลวงเชียงแสน
ภาษาทั่วไปไทยวน
การปกครองราชาธิปไตย
ประวัติศาสตร์ 
• พระเจ้าอะเนาะเพะลูนสถาปนาเจ้าฟ้ากาเผือก
พ.ศ. 2157/2158 ไทยสากล
• เจ้าฟ้าหลวงทิพเนตรปกครองล้านนา
พ.ศ. 2175 ไทยสากล
• พระเจ้าสเน่ห์มินแยกเชียงแสนออกจากเชียงใหม่
พ.ศ. 2247/2248 ไทยสากล
• ถูกทำลายในสงครามเชียงแสน
พ.ศ. 2347 ไทยสากล
ก่อนหน้า
ถัดไป
2157/2158:
เชียงใหม่
2347:
นครเชียงใหม่
2347:
นครน่าน
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเป็นส่วนหนึ่งของ
- ภาคเหนือของไทย
- บางส่วนของรัฐฉานและลาว

นครรัฐเชียงแสน (จีน: 景線[1]) เป็นประเทศราชของราชวงศ์ตองอูและราชวงศ์โก้นบอง โดยถูกแยกออกจากเมืองเชียงใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองดินแดนล้านนาตอนบน[2] ภายหลังถูกผนวกเข้ากับนครเชียงใหม่และนครน่านภายใต้การปกครองของสยาม

ประวัติศาสตร์

[แก้]

เมืองเชียงแสนถูกแยกออกจากเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2157/2158 ไทยสากล[note 1] (จ.ศ. 976) หลังจากพระเจ้าอะเนาะเพะลูนทรงตีเมืองเชียงใหม่แตก พระยาจ่าบ้านเจ้าเมืองเชียงแสนได้นำช้างไปถวายเพื่อสวามิภักดิ์ พระเจ้าอะเนาะเพะลูนจึงทรงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากาเผือก ในเวลานั้นเชียงใหม่ยังไม่มีเจ้าเมือง เมืองเชียงแสนจึงได้ขึ้นตรงกับกรุงหงสาวดี

เมืองเชียงแสนถูกผนวกกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ระหว่างที่เจ้าพลศึกซ้ายไชยสงครามแข็งเมืองต่อพม่าและจับตัวเจ้าฟ้าหลวงทิพเนตรมาขังไว้ที่เชียงใหม่ หลังจากพระเจ้าตาลูนตีเมืองเชียงใหม่แตกในปี พ.ศ. 2175 ไทยสากล จึงทรงให้เจ้าฟ้าหลวงทิพเนตรกลับไปครองเชียงแสนดังเดิม พร้อมทั้งให้ปกครองหัวเมืองทั้งหมดของล้านนายกเว้นเมืองเชียงใหม่

ความขัดแย้งระหว่างพม่า, ราชวงศ์หมิงใต้ และราชวงศ์ชิง[3] ทำให้เมืองเชียงแสนในรัชสมัยของเจ้าฟ้าแสนเมืองถูกรุกรานโดยอาณาจักรอยุธยาและจีนฮ่อ[4][5] ในสงครามตองอู–อยุธยา (ค.ศ. 1662–1664) จนทำให้ชาวเมืองเชียงแสนต้องทิ้งเมืองไปเป็นระยะหนึ่ง และทำให้เชียงแสนตัดขาดจากกรุงอังวะเป็นช่วงสั้นๆ ก่อนที่พม่าจะกลับเข้ามาควบคุมเมืองเชียงแสนอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ. 2216 ไทยสากล โดยพระเจ้ามังกะยอดินทรงตั้งให้ฟ้าส่างกุ่งเป็นโป่ชุก (ตำแหน่งแม่ทัพของพม่า[2]) ปกครองเมืองเชียงแสน

ในปี พ.ศ. 2221/2222 ไทยสากล (จ.ศ. 1040) ฟ้าส่างกุงแต่งตั้งให้รถส่างหลาม[6]เป็นเมียวหวุ่น (ตำแหน่งผู้ปกครองเมือง[2]) แห่งเชียงแสน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองเมืองเชียงแสนโดยระบบเมียวหวุ่นควบคู่ไปกับเจ้าฟ้าเชียงแสน ต่อมาการปกครองเมืองเชียงแสนถูกแทรกแซงจากเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2247/2248 ไทยสากล (จ.ศ. 1066) โดยผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ให้จับกุมตัวเมียวหวุ่นเชียงแสนไปประหารที่เมืองเชียงใหม่ แล้วตั้งเมียวหวุ่นคนใหม่ขึ้นมาแทน ในปีเดียวกัน (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุเป็นปี จ.ศ. 1063[6] หรือ 1064[7]) พระเจ้าสเน่ห์มินเสด็จมาประทับที่เมืองเชียงแสน ทรงยกให้เมืองเชียงแสนขึ้นกับกรุงอังวะโดยตรงเทียบเท่าเชียงใหม่อีกครั้ง

การโค่นล้มเมียวหวุ่นเชียงใหม่โดยกบฏตนบุญเทพสิงห์ทำให้ดินแดนล้านนาขาดเสถียรภาพทางการเมืองในปลายพุทธศตวรรษที่ 23 เมืองเชียงแสนกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจสูงสุดในการปกครองล้านนาของพม่า และเป็นเป้าหมายในการโจมตีของเมืองอื่นๆที่ต่อต้านพม่า[8] เมื่อราชวงศ์ตองอูล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2295 ไทยสากล เมืองเชียงแสนได้รับอิสรภาพเป็นช่วงสั้นๆและถูกรุกรานโดยเมืองเชียงใหม่ ลื้อ แมน อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และเมืองลำพูนอย่างต่อเนื่อง[2] จนกระทั่งเมืองเชียงแสนและเมืองอื่นๆในล้านนาเข้าสวามิภักดิ์กับราชวงศ์โก้นบองที่สามารถรวบรวมอาณาจักรพม่าได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2300 ไทยสากล[9] การขยายอำนาจของราชวงศ์ใหม่ผลักดันให้เหล่าเจ้าฟ้าไทใหญ่ขอความช่วยเหลือจากจีน นำไปสู่สงครามจีน–พม่า กองทัพจีนเข้าโจมตีรัฐเชียงแขงและรัฐเชียงตุงในปี พ.ศ. 2309 และสามารถยึดครองได้สำเร็จ นาซ้าย (จีน: 吶賽[10]) แห่งเชียงแสนเข้าสวามิภักดิ์ต่อจีนและได้รับการแต่งตั้งเป็นถู่ซือ อย่างไรก็ตาม เชียงแสนกลับไปอยู่ภายใต้อำนาจพม่าอีกครั้งในปีถัดมา[4][11]

สงครามเชียงใหม่ พ.ศ. 2317 ทำให้อิทธิพลของพม่าหมดไปจากดินแดนล้านนาตอนล่าง เมืองเชียงแสนกลายเป็นศูนย์กลางการปกครองเพียงแห่งเดียวและฐานทัพของพม่าในการทำสงครามกับสยาม จนกระทั่งถูกกองทัพสยาม นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครน่าน และอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ผนึกกำลังร่วมกันเข้ายึดครองในปี พ.ศ. 2347 ไทยสากล ในสงครามเชียงแสน เมืองเชียงแสนถูกเผาทำลายและเมืองในการปกครองถูกผนวกเข้ากับนครเชียงใหม่และนครน่าน[8]

อาณาเขต

[แก้]

นครรัฐเชียงแสนมีพื้นที่ปกครองครอบคลุมเมืองต่างๆในดินแดนล้านนาตอนบน เช่น เมืองเชียงแสน เชียงราย พะเยา ฝาง เชียงของ และเทิง นอกจากนี้ ยังมีการจดบันทึกถึงการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตจากหลักฐานต่างๆ ดังนี้

ในรัชสมัยของเจ้าฟ้ากาเผือก พระเจ้าอะเนาะเพะลูนได้พระราชทานเมืองละคร (ลำปาง) ให้เป็นเมืองขึ้นของเชียงแสน[4][5]

หลังจากพระเจ้าตาลูนตีเมืองเชียงใหม่แตกในปี พ.ศ. 2175 ไทยสากล ทรงตั้งให้เจ้าฟ้าหลวงทิพเนตร "เป็นใหญ่แก่ลานนาทั้งมวลคือว่า เชียงราย พะเยา เมืองฝาง หาง สาด ชะวาด น้อย ยาง มัน เมืองตวน ปุ เรง เมืองกก พู เพียง เชียงตุบ เมืองกาย สามท้าว เมืองม้า ท่าล่อ เมืองวะ เชียงขาน บ้านยู้ เมืองหลวย เมืองยอง เมืองสิง นอ เมืองหลวง ภูคา ภูคะทาง และเชียงชี เชียงของ เทิง เมืองล่อ น่าน แพร่ ละคร ทั้งมวล" [4][5] ต่อมาดินแดนล้านนาตอนล่างถูกยึดครองโดยอาณาจักรอยุธยาในสงครามตองอู–อยุธยา (ค.ศ. 1662–1664)

ในปี พ.ศ. 2258/2259 ไทยสากล (จ.ศ. 1077) พระเจ้าตะนินกันเหว่มีพระราชโองการให้หัวเมืองไทใหญ่บางส่วนเข้ามาอยู่ใต้การปกครองของเชียงแสน ได้แก่ เมืองกาย เมืองไร เมืองเลน ภะยาก กะแลง เชียงลาบ เมืองหลวงปูคา[6][4]

ในปี พ.ศ. 2270/2271 ไทยสากล (จ.ศ. 1089) จากการแยกตัวเป็นอิสระของเมืองเชียงใหม่ ราชสำนักพม่าจึงได้โอนเมืองแพร่ น่าน ละคร พะเยา เมืองฝาง เมืองสาด เชียงของ เมืองเทิง เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของเชียงแสน[4] อย่างไรก็ตาม เชียงแสนไม่สามารถควบคุมเมืองในดินแดนล้านนาตอนล่างได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้นำไปสู่การก่อตั้งนครลำปางในปี พ.ศ. 2275/2276 ไทยสากล (จ.ศ. 1094)[7]

ในปี พ.ศ. 2291 ไทยสากล เกิดสงครามระหว่างรัฐเมืองยองและรัฐเชียงแขง[4] ชาวเชียงแขงได้หลบหนีเข้ามาในเขตของเชียงรุ่ง ทำให้แม่ทัพผู้ปกครองยูนนานและกุ้ยโจวทำการสืบสวนและถวายรายงานต่อราชสำนักจีน โดยมีความเห็นว่ารัฐเมืองยองและรัฐเชียงแขงเป็นประเทศราชของเชียงแสน[1][12]

การปกครอง

[แก้]
โบราณสถานวัดเชตวัน ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของเจ้าฟ้าหลวงทิพเนตร ตามพระราชโองการของพระเจ้าตาลูน[13]

นครรัฐเชียงแสนถูกปกครองโดยเจ้าฟ้าเชียงแสน และมีตำแหน่งขุนนางท้องถิ่นช่วยว่าราชการ เช่น นาซ้ายและนาขวา ซึ่งทั้งหมดถูกควบคุมโดยผู้ปกครองที่ถูกแต่งตั้งจากราชสำนักพม่า เช่น เมียวหวุ่น (อังกฤษ: Myo Wun, ตำแหน่งผู้ปกครองเมือง), โป่ (อังกฤษ: Bohmu, ตำแหน่งแม่ทัพ), สิกเก (อังกฤษ: Sitkè, ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ปกครองเมือง) หรือ นาขาม (อังกฤษ: Naknan, ตำแหน่งผู้ตรวจการ) อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งผู้ปกครองท้องถิ่นสามารถดำรงตำแหน่งขุนนางพม่าได้ เช่น เจ้าฟ้าหน่อเมืองและเจ้าฟ้าลมเสน ซึ่งทรงเคยดำรงตำแหน่งเมียวหวุ่นและสิกเกมาก่อน[4][6]

สาเหตุในการแยกการปกครองเมืองเชียงแสนออกจากเชียงใหม่คือ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่มีอำนาจมากเกินไป และเพื่อควบคุมผลประโยชน์ทางการค้ากับเชียงตุง จีน และไทใหญ่ที่กำลังขยายตัว จากการเป็นศูนย์กลางทางการค้าทำให้ราชสำนักพม่าเรียกเก็บภาษีจากราษฎรในอัตราสูง ซึ่งมีการเรียกเก็บภาษีเป็นทอง ทองแดง และหอยเบี้ย[14] การเก็บภาษีของขุนนางพม่ามักถูกตีความว่าเป็นการปกครองชาวพื้นเมืองอย่างกดขี่ อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งว่า สภาพการณ์เช่นนี้ไม่เป็นจริงทุกช่วงสมัย ดังที่ปรากฏในพื้นเมืองเชียงแสนว่า มีช่วงเวลาที่เมียวหวุ่นสามารถปกครองเมืองเชียงแสนได้อย่างปกติ มีการทำนุบำรุงพุทธศาสนาและจัดงานรื่นเริงหลายครั้ง[15]

รายพระนามเจ้าฟ้าเชียงแสนและผู้ปกครองเมืองเชียงแสน

[แก้]
พระนาม เริ่ม (พ.ศ. ไทยสากล) สิ้นสุด (พ.ศ. ไทยสากล) หมายเหตุ
เจ้าฟ้ากาเผือก 2157/2158 2162/2163 เดิมเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน
นางฟ้ากาเผือก 2162/2163 2171 ราชเทวีในเจ้าฟ้ากาเผือก
เจ้าฟ้าหลวงทิพเนตร 2171 2171 เดิมเป็นขุนนางเชียงแสน
เจ้าพลศึกซ้ายไชยสงครามประกาศเอกราชต่อพม่า เจ้าฟ้าหลวงทิพเนตรถูกจับตัวไปเชียงใหม่ (2171)
เชียงแสนตกอยู่ภายใต้การปกครองของเชียงใหม่ (2171)
พญาศรีสองเมืองวิไชยปราการ 2171 2175 เดิมเป็นเจ้าเมืองลำปาง
พระเจ้าตาลูนตีเชียงใหม่แตก เชียงแสนกลับมาเป็นประเทศราชของพม่า (2175)
เจ้าฟ้าหลวงทิพเนตร 2175 2193/2194 ครั้งที่ 2
เจ้าฟ้าหมวกคำ 2193/2194 2198/2199 พระโอรสในเจ้าฟ้าหลวงทิพเนตร
เจ้าฟ้าแสนเมือง 2198/2199 2205/2206 พระโอรสในเจ้าฟ้าหมวกคำ
เจ้าฟ้าแสนเมืองขาดราชการจากอังวะ เชียงแสนกลายเป็นรัฐอิสระ (2205/2206)
เจ้าฟ้าแสนเมือง 2205/2206 2215/2216
พระเจ้ามังกะยอดินส่งแม่ทัพมาควบคุมเมืองเชียงแสน เชียงแสนกลับมาเป็นประเทศราชของพม่า (2215/2216)
เจ้าฟ้าอินทร์เมือง 2215/2216 2221/2222 พระโอรสในเจ้าฟ้าแสนเมือง
เจ้าฟ้าเฉลิมเมือง 2221/2222 2235/2236 พระโอรสในเจ้าฟ้าอินทร์เมือง
เจ้าฟ้าเมืองหลวง 2235/2236 2238/2239
เจ้าฟ้าหน่อเมือง 2238/2239 2243/2244 พระโอรสในเจ้าฟ้าเฉลิมเมือง
เจ้าฟ้าลมเสน 2243/2244 2254/2255 พระอนุชาในเจ้าฟ้าหน่อเมือง
เจ้าฟ้าลักที 2254/2255 กันยายน 2267

(เดือน 12 แรม 7 ค่ำ)

พระโอรสในเจ้าฟ้าลมเสน
เจ้าฟ้ายอดงำเมือง 2267 2271/2272 พระโอรสในเจ้าฟ้าลักที
พญาหาญ 2271/2272 พฤษภาคม 2284

(เดือน 8 ออก 2 ค่ำ วัน 3)

มาจากเมืองพง
เจ้าฟ้างาม 2284 2295 พระโอรสในเจ้าฟ้ายอดงำเมือง
ราชวงศ์ตองอูล่มสลาย เชียงแสนกลายเป็นรัฐอิสระ (2295)
เจ้าฟ้างาม 2295 2300
ราชวงศ์โก้นบองรวบรวมอาณาจักรพม่าได้สำเร็จ เชียงแสนกลับมาเป็นประเทศราชของพม่า (2300)
เจ้าฟ้างาม 2300 มกราคม 2304

(เดือน 4 ออก 2 ค่ำ วัน 7)

ว่างตำแหน่ง มกราคม 2304 - 2304/2305 (จ.ศ. 1123)
เจ้าฟ้าคำปิว 2304/2305 2309/2310 พระโอรสในพญาหาญ
ว่างตำแหน่ง 2309/2310 (จ.ศ. 1128) - 2310
นาซ้าย รักษาการเจ้าเมืองเชียงแสน สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ชิงระหว่างสงครามจีน–พม่า (พฤศจิกายน 2309)

พม่าส่งกองทัพมาควบคุมเมืองเชียงแสน เชียงแสนกลับมาเป็นประเทศราชของพม่า (เมษายน 2310)

เจ้าฟ้านาขวา 2310 มิถุนายน 2347

(เดือน 9 ออก 8 ค่ำ วัน 5)

พระนัดดาในเจ้าฟ้างาม
สงครามเชียงแสน (2347)

หมายเหตุ

[แก้]
  1. เทียบตามปฏิทินสุริยคติไทย โดยยึดวันปีใหม่คือ 1 มกราคม

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "高宗純皇帝實錄 卷之三百三十一 乾隆十三年 十二月 二十九日" [Veritable Records of Emperor Gaozongchun Volume 331 13th Year of Qianlong 12th Month 29th Day], ชิงสือลู่ [Veritable Records of the Qing] (ภาษาจีน), Academia Sinica, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-12, สืบค้นเมื่อ 2024-05-11
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 แซ่เซียว, ลัดดาวัลย์ (2002). 200 ปี พม่าในล้านนา. กรุงเทพฯ: โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค. pp. 87–98. ISBN 9747206099. สืบค้นเมื่อ 2024-05-01.
  3. นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ (1962). พระราชพงศาวดารพม่า เล่ม 2 (PDF). พระนคร: ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์. p. 12. สืบค้นเมื่อ 2024-05-01.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 อ๋องสกุล, สรัสวดี (2003). เอียวศรีวงศ์, นิธิ (บ.ก.). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. pp. 111, 116–117, 122, 124, 169–170, 228, 236–237. ISBN 9742726612.
  5. 5.0 5.1 5.2 กรมศิลปากร, บ.ก. (19 April 1936), "พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน" [Phongsawadan Mueang Ngoen Yang Chiang Saen], ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๑ [Collection of Historical Archives] (PDF), พระนคร: โรงพิมพ์อักษรโสภณ, สืบค้นเมื่อ 2024-05-01
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 สำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, บ.ก. (1971), ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ [Tamnan Phuen Mueang Chiang Mai] (PDF), แปลโดย โชติสุขรัตน์, สงวน, พระนคร: สำนักนายกรัฐมนตรี, p. 82, สืบค้นเมื่อ 2024-05-01
  7. 7.0 7.1 ประชากิจกรจักร, พระยา (1973). พงศาวดารโยนก (7th ed.). กรุงเทพฯ: บุรินทร์การพิมพ์. pp. 416, 429. สืบค้นเมื่อ 2024-05-01.
  8. 8.0 8.1 อินปาต๊ะ, บริพัตร (2017). การฟื้นฟูรัฐน่านในสมัยราชวงศ์หลวงติ๋น พ.ศ. 2329-2442 (วิทยานิพนธ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. pp. 65–67. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-19. สืบค้นเมื่อ 2024-04-09.
  9. Harvey, Godfrey Eric (1925). History of Burma: from the Earliest Times to 10 March, 1824: The Beginning of the English Conquest. United Kingdom: Longmans, Green and Company. p. 241. สืบค้นเมื่อ 2024-04-10.
  10. "高宗純皇帝實錄 卷之七百七十 乾隆三十一年 十月 十二日" [Veritable Records of Emperor Gaozongchun Volume 770 31st Year of Qianlong 10th Month 12th Day], ชิงสือลู่ [Veritable Records of the Qing] (ภาษาจีน), Academia Sinica, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-12, สืบค้นเมื่อ 2024-05-11
  11. Kato, Kumiko (2022). "Qing China's View of the Eastern Shan States and Northern Thailand in the 1760s" (PDF). 名古屋大学人文学研究論集. 5: 235–249. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-10-13. สืบค้นเมื่อ 2024-05-11.
  12. Kato, Kumiko (2021). "Qing China's View of the Eastern Shan States and Northern Thailand in the Mid-eighteenth century" (PDF). 名古屋大学人文学研究論集= The journal of humanities, Nagoya University. 4: 313–324. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-12-19. สืบค้นเมื่อ 2024-05-11.
  13. "วัดเชตวัน". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 13 July 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-08. สืบค้นเมื่อ 2023-12-07.
  14. อินทรีย์, สหภัส (October 2012). "ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเชียงตุงกับล้านนา พ.ศ. 2101-2317" (PDF). สารนิพนธ์ ศศ.ม. (ประวัติศาสตร์เอเชีย). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ: 68–69, 75. สืบค้นเมื่อ 2024-04-09.
  15. Kirigaya, Ken (2015). "Lan Na under Burma: A "Dark Age" in Northern Thailand?" (PDF). The Journal of the Siam Society. 103: 284, 287. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-02-10. สืบค้นเมื่อ 2024-05-01.