ข้ามไปเนื้อหา

บี.กริม เพาเวอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บี.กริม เพาเวอร์
ประเภททรัพยากร/พลังงานและสาธารณูปโภค
อุตสาหกรรมทรัพยากร
ก่อตั้งพ.ศ. 2421 (146 ปี)
ผู้ก่อตั้งแบรนด์อาร์ด กริม
แอร์วิน มุลเลอร์
สำนักงานใหญ่5 อาคาร ดร. เกฮาร์ด ลิงค์ ถนนกรุงเทพกรีฑา แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม.
บุคลากรหลักปกรณ์ ทวีสิน(ประธานกรรมการ)
ฮาราลด์ ลิงก์ (ประธาน​เจ้าหน้าที่บริหาร)​
พนักงาน
1,750 Edit this on Wikidata
เว็บไซต์bgrimmpower.com

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: B.Grimm Power Public Company Limited; SET:BGRIM) เป็นบริษัทประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ประวัติ

[แก้]
สยามดิสเป็นซารี่

ปี พ.ศ. 2421 นายแบรนด์อาร์ด กริม และเภสัชกรชาวเยอรมัน และนายแอร์วิน มุลเลอร์ พ่อค้าชาวออสเตรีย ได้ตั้งร้านขายยาสัญชาติเยอรมันแห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม และเคมีภัณฑ์ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในชื่อว่า "สยามดิสเป็นซารี่"[1] บี.กริม ได้รับ พระราชทานตราแผ่นดินแบบอาร์มจากรัชกาลที่ 5 และได้รับการ แต่งตั้งให้เป็น "เภสัชกรหลวงแห่งราชสำนักไทย" และได้ร่วมกับตระกูลสนิทวงศ์ดำเนินโครงการขุดคลองรังสิตที่มีความยาว 1,500 กิโลเมตร ต่อมาบริษัทได้วางระบบโทรเลขในประเทศไทย เป็นครั้งแรก นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า บี.กริมแอนด์โก (B.Grimm & Co) เช่น กระบี่ แว่นตา จนถึงกระเบื้องที่ใช้สร้างวัดพระแก้ว เป็นต้น[2]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คนเยอรมันตกเป็นเชลยของรัฐบาลอังกฤษ ทำให้นายอดอล์ฟ ลิงก์และภรรยา นางเออร์ม่า พร้อมทั้งบุตรชายทั้งสอง คือ นายเฮอร์เบิร์ตและดร.เกฮาร์ด ถูกส่งไปค่ายกักกันในประเทศอินเดีย แต่ธุรกิจยังคงดำเนินต่อ เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2463 ครอบครัวลิงก์ จึงกลับมากรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินกิจการ ได้จัดตั้งสำนักงานแห่งใหม่ในเขตวังบูรพา นายเฮอร์เบิร์ตได้เปิดบริษัทใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2492 ส่วนน้องชายซึ่งเป็นหุ้นส่วนได้ขยายกิจการในทวีปยุโรป ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2507 บริษัทเพิ่มแผนกที่ดูแลด้านวิศวกรรม อุปกรณ์การแพทย์ การผลิตไฟฟ้า โทรคมนาคม เครื่องปรับอากาศและ วิศวกรรมเครื่องกล และตั้งแต่ปี 2531 บริษัททำธุรกิจด้านพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิตและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงร่วมทุนกับบริษัทอื่น[3]

บริษัทก่อตั้ง บริษัท บอร์เนียว (1993) จำกัด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 เป็นผู้ประกอบการการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายแรกของไทยจากโครงการโรงไฟฟ้า ABP1 (บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด) ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ร่วมและได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2541 จนกระทั่งในปี 2554 ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด และเริ่มลงทุนโครงการไฟฟ้าในต่างประเทศ ต่อมาได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559 ในชื่อ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และได้ทำการระดมทุนสาธารณะโดยการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560[4] โดยมีทุน จดทะเบียน 5,400,000,000 บาท

ธุรกิจ

[แก้]

ไฟฟ้าและพลังงาน

[แก้]
โรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ของ บริษัท กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์ จำกัด ที่จังหวัดนครปฐม

บี.กริม เพาเวอร์ มีคู่สัญญาขายไฟฟ้าดังนี้

  • สัญญาขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ภายใต้ โครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP
  • สัญญาขายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้า อุตสาหกรรมผ่านโครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำ ของผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 130 ราย ซึ่งตั้งอยู่ในนิคม 6 แห่งคือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง, สวนอุตสาหกรรมบางกะดี, นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ มาบตาพุด
  • สัญญาขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ภายใต้ โครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP จากโรงไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์, โครงการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 และโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม
  • สัญญาขายไฟฟ้ากับ กฟน. ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหรับหน่วยงานราชการและ สหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560

บี.กริม เพาเวอร์ เริ่มลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2558 ได้ลงทุนในประเทศเวียดนามตั้งแต่ปี 2542 และลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาวตั้งแต่ปี 2558 และธุรกิจสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ในประเทศกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2561

จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บี.กริม เพาเวอร์ มีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 19 แห่ง, Backup for power trading 1 แห่ง, พลังงานแสงอาทิตย์ 25 แห่ง, พลังน้ำ 9 แห่ง, พลังลม 2 แห่ง และโรงงานขยะอุตสาหกรรม 1 แห่ง สำหรับสัดส่วนรายได้ บริษัทมีรายได้การขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ร้อยละ 65.1, รายได้การขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมในประเทศไทย ร้อยละ 23.0, รายได้การขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามร้อยละ 2.8, รายได้การขายไฟฟ้าให้ กฟภ. / กฟน ร้อยละ 1.8, รายได้การขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าลาวร้อยละ 0.6 และรายได้การขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าเวียดนามร้อยละ 3.7[5]

ระบบภายในอาคารและอุตสาหกรรม

[แก้]

บี.กริม เป็นพันธมิตรกับ บริษัท แคร์เรียร์ ประเทศไทย ผู้จัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ มีบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องกับด้านการผลิต และจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ คือ บี.กริม แอร์คอนดิชั่นนิ่ง, บี.กริม แคเรียร์ (ประเทศไทย) จำกัด และแคเรียร์ ไทยแลนด์ รวมถึงการร่วมกันกับบริษัท เบเจอร์ บี.กริม (ประเทศไทย) จำกัด

กลุ่มธุรกิจสุขภาพ

[แก้]

บริษัทเป็นผู้จัดหาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ป้อนตลาด โดยร่วมทุนกับ 4 บริษัท คือ เมอร์ค ประเทศไทย, เกท์ทิงเก ประเทศไทย, ไซส์ส ประเทศไทย และซีเมนส์ ประเทศไทย

ธุรกิจไลฟ์สไตล์

[แก้]

นำเข้าแบรนด์ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและนำเข้าแบรนด์หรู จากยุโรปเช่น Boucheron, Nina Ricci, LA, Martina Valmont, ร้านปารีสสปา, ร้านอาหาร โปรวองซ์ (Provence) รวมถึงการจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านงานศิลปะ ภายใต้ เดอะเม็ท กรุงเทพ (MET Store Thailand) รวมทั้งนำเข้าเครื่องเคลือบนิมเฟนเบิร์กประติมากรรมชั้นสูงจากฝีมือมนุษย์ จากประเทศเยอรมนี และได้ก่อตั้ง โปโล แอนด์ อีเควสเทรียน คลับ

กลุ่มธุรกิจคมนาคม

[แก้]

บี.กริมได้ร่วมทุนกับ ซีเมนส์ เป็นผู้จัดระบบให้บริการแบบครบวงจรแก่บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (BTS) และ รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) และยังเป็นดำเนินโครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างสุวรรณภูมิเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพ (Airport Link) และร่วมทุนกับบริษัทเดินเรือ มี 3 บริษัท คือ บริษัท บี.กริม มาลิไทม์, พีซีเอ็ม ทรานสปอร์ต แอนด์ อินดัสเตรียล ซัพพลาย และบริษัท แพนเรลล์ ประเทศไทย

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

[แก้]

บริษัทเริ่มต้นสร้างอาคารสำนักงาน 20 ชั้น ชื่อ อัลม่า ลิงก์ บนถนนชิดลม ในปี 2532 และอาคาร ดร.เกฮาร์ด ลิงก์ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ[6]

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล

[แก้]

บริษัททำเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้ามาสิ (Masii) และการบริการทางการด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน เก็ตมี (Getmii)

อ้างอิง

[แก้]
  1. "น้อมนำพระราชดำริ ร.9 ธุรกิจ บี.กริม สุจริต-ไม่เอาเปรียบ". ประชาชาติธุรกิจ. 29 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ (12 ตุลาคม 2560). "HARALD LINK ถอดรหัสอาณาจักรบี.กริม สูตรบริหารองค์กรร้อยปี". ฟอบส์ไทยแลนด์. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ประวัติของบี.กริม". บี.กริม. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "'บีกริม' เทรดวันแรกเหนือจอง 5%". กรุงเทพธุรกิจ. 20 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "รายงานประจำปี 2562". ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ประกายดาว แบ่งสันเทียะ (18 กุมภาพันธ์ 2561). ""บี.กริม" ยุคโกลบอล เคล็ดลับดันธุรกิจแสนล้าน". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)