ข้ามไปเนื้อหา

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) เป็นรูปแบบหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย โดยมีนัยหมายถึงกระบวนการทางประชาธิปไตยที่มีความเชื่อมั่นในพลังอำนาจจากการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองมากยิ่งขึ้น โดยการปรึกษาหารือ ร่วมถกแถลงอภิปรายข้อปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อโน้มน้าวพลเมืองคนอื่น และกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์และความเห็นแตกต่างกันด้วยข้อมูลและเหตุผล อันจะนำไปสู่การแสวงหาทางออกที่เห็นพ้องต้องกัน หรือ ฉันทามติ ในการแก้ไขปัญหาสาธารณะ ตลอดจนการตัดสินใจทางการเมืองต่างๆ (Kurian, 2011: 385)[1]

อรรถาธิบาย

[แก้]

ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาการปกครองสมัยใหม่ที่ใช้กันอยู่ทั่วทุกมุมโลกในปัจจุบัน ทำให้กระบวนการเลือกตั้ง และการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากได้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็น และสำคัญประการแรกๆ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ แต่กระบวนการเลือกตั้งก็อาจไม่ใช่ปัจจัยที่เพียงพอเสียแล้วในการสร้างคุณค่าให้แก่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน เพราะคุณภาพของประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้นอยู่ที่การเคารพทั้งการตัดสินใจของเสียงข้างมาก ในขณะเดียวกันก็จะต้องธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อย ด้วยเหตุนี้ แนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือจึงเข้ามาตอบโจทย์จุดอ่อนของประชาธิปไตยเสียงข้างมาก และพยายามช่วยให้เราสามารถบรรลุคุณค่าของประชาธิปไตยทั้งสองมิติไปได้พร้อมๆ กัน

อนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั้นอยู่ที่กระบวนการ “ปรึกษาหารือ” (deliberation) ของประชาชน นั่นเพราะกระบวนการปรึกษาหารือนี้จะช่วยทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองที่มากไปกว่าแค่การเข้าคูหาเพื่อเลือกตั้งเท่านั้น หรือที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยแบบสี่วินาที (four seconds democracy) เพราะในกระบวนการปรึกษาหารือนี้ ประชาชนทุกๆ คนจะร่วมกันใช้ข้อมูลและเหตุผลเป็นเครื่องมือหลักในการแสดงออกซึ่งจุดยืน ตลอดจนมีโอกาสที่จะโน้มน้าวจิตใจของพลเมืองคนอื่นๆ ให้คล้อยตามเหตุผลของตนได้อย่างเท่าเทียมกันทั้งเสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อย เพื่อที่สุดท้ายจะนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองหนึ่งๆ ร่วมกันอย่างเข้าใจ ดังที่ฮาเบอร์มาส (Habermas, 1975)[2] ได้กล่าวถึงกระบวนการปรึกษาหารือในระบอบประชาธิปไตยว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้มีอำนาจที่อยู่เหนือตัวเราขึ้นไป หากแต่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจของพลเมืองทุกๆ คนที่เข้าร่วมในกระบวนการปรึกษาหารือ

ด้วยเหตุนี้ในระบอบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ กระบวนการปรึกษาหารือของประชาชน ทุกๆฝ่ายจึงได้ถูกนำมาวางไว้ก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินใจสำคัญในทางการเมืองใดๆ เช่น ก่อนหน้าที่จะมีการออกกฎหมายโดยรัฐสภา หรือก่อนการพิพากษาตัดสินคดีความของศาล หรือแม้แต่ก่อนการออกนโยบายสาธารณะใดๆ ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมาก นั่นก็เพราะในบางครั้งเสียงข้างมากที่เลือกตั้งรัฐบาลเข้าไปอาจไม่เห็นพ้องต้องกันกับรัฐบาล หรือ ผู้ที่สนับสนุนนโยบายสาธารณะหนึ่งๆ ของรัฐบาลเสมอไปในทุกๆ กรณี ดังนั้นกระบวนการปรึกษาหารือของประชาชนจะช่วยทำให้การออกกฎหมาย คำตัดสินพิพากษาคดีของศาล (ในกรณีใช้ระบบลูกขุน) หรือ การออกนโยบายสาธารณะใดๆ นั้นเป็นไปตามความเห็นพ้องต้องกันจากประชาชนทุกๆฝ่ายของสังคม และจะช่วยอุดช่องว่างของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ประชาชนมีโอกาสแสดงเจตจำนงอิสระ หรือ อัตตาณัติของตนเพียงครั้งเดียวคือตอนเข้าคูหาเพื่อไปเลือกตั้งผู้แทน โดยที่ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น หรือ ที่มาที่ไปของนโยบายนั้นๆ ร่วมกับพลเมืองคนอื่นๆ ภายในรัฐเลย (ไชยันต์, 2549)

กระบวนการปรึกษาหารือของประชาชนนั้นอาจกระทำได้ในหลายวิธี เช่น การจัดให้มีเวทีเสวนาแบบเปิด (open forum) หรือ ประชาเสวนาหาทางออก (deliberation) เพื่อเปิดกว้างให้สาธารณชนได้มีโอกาสเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในประเด็นสำคัญทางการเมืองต่างๆ หรือ การใช้โพลล์เสวนา (deliberative polling: DP) ในการบ่งบอกว่าอะไรคือสิ่งที่สาธารณชนทั้งหมดคิดเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ หรือ เกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ว่าสาธารณชนได้มีโอกาสขบคิดกันอย่างกว้างขวาง (extensive reflection) และได้มีหนทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงเสมอกัน เป็นต้น (ไชยันต์, 2549)[3]

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย

[แก้]

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เผชิญกับช่วงเวลาที่เกิดปัญหาจากวิกฤติการณ์ และความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงชนิดที่สร้างรอยร้าวขนาดใหญ่ให้แก่สังคมไทยด้วยการแบ่งแยกผู้คนออกเป็นฝักเป็นฝ่ายที่คอยเข้าห้ำหั่น และประหัตถ์ประหารกันในทางการเมืองอยู่ตลอดเวลาอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ดังสะท้อนให้เห็นผ่านเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงนับตั้งแต่เหตุการณ์ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 และ วิกฤติการณ์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมของปี พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553 ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และจิตใจของผู้คนชาวไทยอย่างร้ายแรง

ด้วยเหตุนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2554 - 2555 จึงได้เกิดกระแสเรียกร้องให้สร้าง “ความปรองดองแห่งชาติ” ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (หรือ คอป.) ตลอดจนการเสนอแผนปรองดองฉบับต่างๆ จากหลายๆ ฝ่ายออกสู่สาธารณชนโดยหวังว่าอาจเป็นหนึ่งในหนทางที่จะสามารถช่วยประสานความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมไทยให้คลี่คลายลงไปได้บ้าง

ในสภาพการณ์ของกระแสเรียกร้องให้มีการปรองดองแห่งชาติเกิดขึ้นดังกล่าวนี้เอง ที่ดูเหมือนกระบวนการปรึกษาหารือ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทางการเมืองไทยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มี “สุนทรียเสวนา” (dialogue) ตามรายงานการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการปรองดองของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมุ่งเน้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทั้งภายในกลุ่ม และระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในสังคม เพื่อปรับความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การร่วมกันหาทางออกหรือแนวทางในการปรับโครงสร้างทางการเมือง และสังคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่แต่ละฝ่ายให้การยอมรับนั่นเอง (รายงานสถาบันพระปกเกล้า, 2555: 17)[4]

อย่างไรก็ตาม ในโลกสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนสูง ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือคงไม่อาจแทนที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้ เป็นแต่เพียงกระบวนการเสริมเพื่อลดจุดอ่อนของประชาธิปไตยแบบตัวแทนและตัดสินด้วยเสียงข้างมาก กระบวนการปรึกษาหารือในระบอบประชาธิปไตยจากการพูดคุย และถกเถียงกัน จะนำไปสู่การสร้างสัญญาประชาคมใหม่ทั้งต่อพลเมืองด้วยกัน และระหว่างพลเมืองกับผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างกันที่จะทำให้พลเมืองของรัฐนั้นสามารถร่วมกันจรรโลงสังคม และสร้างกฎระเบียบใหม่ที่เป็นธรรมในสังคมได้อย่างที่พวกเขาต้องการได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิง

[แก้]
  1. Kurian, George Thomas (2011). The encyclopedia of political science. Washington: CQ Press.
  2. Habermas, Jürgen (1975). The legitimation crisis. Boston: Beacon Press.
  3. ไชยันต์ ไชยพร (2549). แนวคิด “Deliberative Democracy and Deliberative Polls” (1). เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2006q4/2006november20p7.htm เก็บถาวร 2013-01-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  4. สถาบันพระปกเกล้า (2555). รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.kpi.ac.th/kpith/images/stories/2012/reconciliation/ส่วนหน้า.pdf[ลิงก์เสีย].