ปลาฉลามปากเป็ด
ปลาฉลามปากเป็ด ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ยุคครีเตเชียสตอนปลายจนถึงปัจจุบัน[1] | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Acipenseriformes |
วงศ์: | Polyodontidae |
สกุล: | Polyodon Lacépède, 1797 |
สปีชีส์: | P. spathula |
ชื่อทวินาม | |
Polyodon spathula (Walbaum in Artedi, 1792) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของปลาฉลามปากเป็ด (สีแดงหมายถึงพื้นทื่ ๆ สูญพันธุ์แล้ว) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาฉลามปากเป็ด (อังกฤษ: American paddlefish, Mississippi paddlefish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Polyodon spathula) เป็นปลากระดูกแข็งในอันดับปลาสเตอร์เจียน (Acipenseriformes)
ลักษณะ
[แก้]ถึงแม้มีรูปร่างโดยผิวเผินคล้ายปลาฉลามและมีคำว่าปลาฉลามอยู่ในชื่อ แต่ทางอนุกรมวิธานไม่จัดเป็นปลาฉลามซึ่งเป็นปลากระดูกอ่อนแต่อย่างใด ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคครีเตเชียสกว่า 100 ล้านปีมาแล้ว พบในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา ในลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีและแม่น้ำมิสซูรี รวมถึงแม่น้ำโอไฮโอ ปลาฉลามปากเป็ดมีความยาวได้ถึง 6 ฟุต และมีน้ำหนักเกือบถึง 100 กิโลกรัม โดยสถิติตัวที่ใหญ่ที่สุดบันทึกได้ในปี ค.ศ. 1916 มีความยาว 1.96 เมตร น้ำหนัก 90 กิโลกรัม[3] ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือจะงอยจมูกที่ยาวและแบนคล้ายปากของเป็ด ซึ่งเต็มไปด้วยรูสีดำเล็ก ๆ ซึ่งสามารถตรวจจับกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งใช้หาอาหารและนำร่องในการว่ายน้ำไปยังแหล่งผสมพันธุ์ เมื่อจะงอยจมูกนั้นสัมผัสกับกระแสไฟฟ้าที่แพลงตอนสัตว์ซึ่งเป็นอาหารปล่อยออกมา และส่งผ่านประสาทสัมผัสไปยังสมอง โดยจะอ้าปากกรองกินแพลงตอนสัตว์เวลาว่ายน้ำ เหมือนปลาฉลามวาฬ หรือปลาฉลามบาสกิน[3] ปลาฉลามปากเป็ดเป็นปลามีอายุยืนได้ถึง 30 ปี และอาจได้ถึง 60 ปี ปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้[4] แพร่พันธุ์โดยการวางไข่ครั้งละหลายหมื่นฟอง ไข่ปลาสามารถเอามาใช้เป็นไข่ปลาคาเวียร์ได้ เช่นเดียว กับไข่ของปลาสเตอร์เจียน[5][5] โดยมีราคาซื้อขายที่น้ำหนัก 400 ออนซ์ ราว 200 ดอลลาร์สหรัฐ[3]
แต่ปลาฉลามปากเป็ดเป็นปลาที่เจริญวัยช้ามากประมาณ 7-9 ปีในตัวผู้และ 10-12 ปีในตัวเมีย มีการวางไข่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในรอบ 2-5 ปี ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปลาจะว่ายทวนน้ำไปยังแม่น้ำโอเซส ในรัฐมิสซูรีเพื่อวางไข่ ปลาตัวเมียที่มีไข่สมบูรณ์จะมีน้ำหนักของไข่มากถึงร้อยละ 25 ของน้ำหนักตัว ไข่ใช้เวลาฟักเป็นตัว 7 วันหรือ 1 สัปดาห์ และใช้เวลากว่า 6 เดือนในการเติบโตจนได้ความยาวประมาณ 1 ฟุต โดยปลาจะวางไข่ในเวลากลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงสัตว์นักล่า[3]
ความคุ้มครองทางกฎหมายและการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
[แก้]ในปัจจุบันมีการคุ้มครองโดยกฎหมายในระดับนานาชาติ โดยเป็นสัตว์ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) โดยห้ามส่งออกหรือนำเข้าโดยปราศจากใบอนุญาต ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[6][7] แม้ปลาฉลามปากเป็ดเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง โดยสูญพันธุ์ไปแล้วในพื้นที่ 4 รัฐของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และการสร้างเขื่อนขวางกั้นแหล่งน้ำที่ปลาจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ ซึ่งการทำบันไดปลาโจนไม่สามารถใช้ได้กับปลาฉลามปากเป็ด อีกทั้งการลักลอบจับด้วยเนื่องจากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากปลาไม่สามารถวางไข่ได้ก็จะแก่ตัวลงและตายไปตามอายุขัย[3] แม้ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วด้วยวิธีการผสมเทียม[3] และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย แต่เลี้ยงให้รอดได้ยากมาก เนื่องจากเป็นปลาที่ชอบกระโดด อ่อนไหวง่ายกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำ อีกทั้งระบบเผาผลาญอาหารในร่างกายก็เป็นไปอย่างรวดเร็วด้วย จึงเป็นปลาที่ต้องกินอาหารอยู่แทบตลอดเวลา
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ปลาฉลามปากเป็ด[ลิงก์เสีย]
- ↑ จาก IUCN
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 ปลาพันธุ์อสูร-ฉลามปากเป็ด
- ↑ D.L. Scarnechhia, Brad Schmitz (2010). "Paddlefish". Species of Concern. Montana Chapter of the American Fisheries Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ August 28, 2014.
- ↑ 5.0 5.1 "ชวลิต วิทยานนท์, อภิชาต เติมวิชชากร, รจิต จาละ และประพันธ์ ลีปายะคุณ. ปลาหายากใน พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและ CITES. สถาบันพิพิธภัณท์สัตว์น้ำ และ กองอนุรักษ์ทรัพยากรประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-02. สืบค้นเมื่อ 2007-04-23.
- ↑ "ชวลิต วิทยานนท์ และคณะ. การตรวจสอบกิจกรรมเกี่ยวกับปลาตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และ CITES. สถาบันพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำและกองอนุรักษ์ทรัพยากรประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-02. สืบค้นเมื่อ 2007-04-23.
- ↑ "ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดของสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าและส่งออก" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-03-17. สืบค้นเมื่อ 2007-04-23.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Polyodon spathula ที่วิกิสปีชีส์