ปลาหมอตาล
ปลาหมอตาล | |
---|---|
ปลาหมอตาลในสีที่นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Anabantiformes |
อันดับย่อย: | Anabantoidei |
วงศ์: | Helostomatidae Gill, 1872 |
สกุล: | Helostoma Cuvier, 1829 |
สปีชีส์: | H. temminckii |
ชื่อทวินาม | |
Helostoma temminckii Cuvier, 1829 | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาหมอตาล หรือที่นิยมเรียกกันว่า ปลาจูบ (อังกฤษ: Kissing gourami; ชื่อวิทยาศาสตร์: Helostoma temminckii) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ Helostomatidae จัดเป็นปลาเพียงชนิดเดียวและสกุลเดียวเท่านั้นที่อยู่ในวงศ์นี้[2]
มีรูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบนมากกว่าปลาหมอไทย หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็กยืดหดได้ ริมฝีปากหนา นัยน์ตาอยู่ในระดับเดียวกันกับมุมปาก มีเกล็ดขนาดปานกลางปกคลุมส่วนหัวและลำตัว ฟันละเอียด ตาอยู่เหนือมุมปาก ครีบหลังและครีบก้นมีก้านครีบแข็งและอ่อน ครีบท้องมีก้านครีบแข็ง 5 ซี่ เกล็ดเล็กมีอยู่ที่เส้นข้างตัว 44-48 เกล็ด เส้นข้างลำตัวขาดตอนตรงบริเวณใต้ก้านครีบอ่อนของครีบหลัง ครีบท้องและครีบก้นยาว ลำตัวเป็นสีเขียวปนเทา หลังมีสีเทาปนดำ ท้องสีขาว มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจเช่นเดียวกับปลาในวงศ์ Osphronemidae จึงสามารถอาศัยในแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนละลายในปริมาณที่ต่ำได้
ปลาหมอตาล มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง และมีพฤติกรรมที่แปลกไปกว่าปลาชนิดอื่น คือ เมื่อจะต่อสู้หรือข่มขู่กัน จะใช้ปากตอดกันคล้ายกับการจูบที่แสดงออกถึงความรักของมนุษย์จึงเป็นที่มาของชื่อ "ปลาจูบ"[3] วางไข่แบบไข่ลอยบนผิวน้ำ
พบกระจายพันธุ์ในแหล่งน้ำทั่วไปรวมถึงนาข้าวหรือท้องร่องสวนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 12-20 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุดได้ถึง 30 เซนติเมตร สำหรับในประเทศไทยพบเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่าน และพบบางส่วนในป่าพรุทางภาคใต้
กินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์น้ำตลอดจนถึงแมลงและแพลงก์ตอน โดยใช้ปากที่ยืดหดได้นี้ตอดกิน จึงนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามเพื่อความเพลิดเพลินและทำความสะอาดภายในตู้ปลา โดยนิยมเลี้ยงกันในตัวที่มีสีพื้นลำตัวเป็นสีขาวนวลหรือสีชมพู ในขณะที่ปลาที่มีสีตามธรรมชาติจะนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจเพื่อการบริโภค
นอกจากนี้แล้วยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น ใบตาล, อีตาล, ตาล, ปากง่าม, อีโก๊ะ หรือ วี ในภาษาใต้ เป็นต้น[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Vidthayanon, C. 2012. Helostoma temminckii. In: IUCN 2013. IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.1. <www.iucnredlist.org>. Downloaded on 17 October 2013.
- ↑ Fishbase.org
- ↑ "ปลาจูบ/ปลาหมอตาล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-02-05.
- ↑ "ปลาหมอตาล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-18. สืบค้นเมื่อ 2011-02-05.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- การเลี้ยงปลาหมอตาล เก็บถาวร 2011-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน