ข้ามไปเนื้อหา

หนังสือปฐมกาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระธรรมปฐมกาล)

หนังสือปฐมกาล[1] (อังกฤษ: Book of Genesis; ฮีบรู: בראשית; แอราเมอิก: ܣܦܪܐ ܕܒܪܝܬܐ; กรีก: Γένεση) มาจากภาษากรีกว่า “การเกิด” หรือ “ที่มา” เป็นหนังสือที่กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโลก มนุษย์ และอิสราเอล ซึ่งเป็นตัวแทนของชนชาติที่พระเจ้าได้เลือกไว้ (ซึ่งมีความนัยทางเทววิทยา) ชื่อ "ปฐมกาล" แปลมาจากคำแรกของคัมภีร์ฮีบรูคำว่า בראשית (B'reshit or Bərêšîth) แปลว่า "ในปฐมกาล..." (in the beginning...)[2]

ผู้เขียน

[แก้]

หนังสือปฐมกาลเป็นหนังสือเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม (โทราห์) และเป็นเล่มแรกในหมวดเบญจบรรณ ชาวยิวเชื่อว่าโมเสสเป็นผู้เขียนขึ้น เนื้อหากล่าวถึงประวัติการสร้างโลกของพระยาห์เวห์ จนถึงลำดับลูกหลานของวงศ์วานอิสราเอล และการเข้าสู่อียิปต์ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องที่รู้จักกันแพร่หลายดี เช่น อาดัมกับเอวา เรือโนอาห์ หอบาเบล ฯลฯ

สำหรับศาสนายูดาห์ ความสำคัญทางคริสต์ศาสนวิทยาเน้นพันธสัญญา (Covenants) ซึ่งเป็นพันธสัญญาระหว่างพระยาห์เวห์กับชาติที่ได้รับเลือก (Chosen People) คือชาวยิว เกี่ยวกับดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promised Land) ที่พระเจ้าทรงประทาน สำหรับศาสนาคริสต์ ตีความหมายมาสู่ความเชื่อว่า พระเยซูเปรียบได้กับอาดัมคนใหม่ และพันธสัญญาใหม่เป็น “บทสรุปของพันธสัญญาเดิม”

โครงสร้างของ หนังสือปฐมกาล ประกอบด้วย ประวัติศาสตร์ช่วงต้น (primeval history) (ปฐมกาล 1-11) กับ ลำดับพงศาวลี (biblical Patriarchs) ขณะที่ โครงเรื่องเกี่ยวกับโยเซฟ (บุตรยาโคบ) เป็นเรื่องเล่าต่างหาก ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าหนังสือปฐมกาลเขียนโดยผู้ไม่ออกนามและมีการแก้ไขระหว่างศตวรรษที่ 10 ถึง 5 ก่อนคริสตกาล[3]

เนื้อหาโดยสรุป

[แก้]
อาดัมและเอวาโดยทิเชียน (Titian)
อาดัมและเอวาโดยทิเชียน (Titian)

หนังสือปฐมกาลเริ่มต้นด้วยการทรงสร้างของพระเจ้า ทั้งการสร้างฟ้าสวรรค์ โลก สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อาดัมและเอวามนุษย์คู่แรก รวมทั้งการกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความบาปอันเป็นเหตุให้มนุษย์ถูกขับออกจากสวนเอเดน และหนังสือปฐมกาลก็นำไปสู่เหตุการณ์ที่สำคัญของมนุษยชาติ 2 เหตุการณ์ ได้แก่ การสร้างหอบาเบล และปรากฏการณ์เรือโนอาห์ในเหตุการณ์น้ำท่วมโลก

ต่อมากล่าวถึง การทรงเรียกอับราฮัม และพันธสัญญาที่ทรงกระทำต่อเขาและภรรยา[4] และยังกล่าวไปถึงรุ่นลูกของอับราฮัม ซึ่งได้แก่ อิสอัค และอิชมาเอล บรรพบุรุษของชนชาติอิสราเอลและปาเลสไตน์ รุ่นหลานของอัมราฮัมได้แก่ยาโคบ ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า อิสราเอล และรุ่นเหลน ได้แก่ โยเซฟ ผู้ซึ่งนำพาอิสราเอลเข้าไปพำนักอยู่ในแผ่นดินอียิปต์

หนังสือปฐมกาลยังกล่าวถึงยุคก่อนหน้าที่ชนชาติอิสราเอลจะเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งอธิบายถึงพื้นฐานแนวความคิดทางด้านชาตินิยม ศาสนา รวมไปถึงประวัติศาสตร์ กฎหมาย และประเพณีต่าง ๆ ของชนชาติยิวอีกด้วย

เนื้อหาโดยย่อ

[แก้]

กำเนิดโลก

[แก้]

ในหนังสือปฐมกาล พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างสรรพสิ่ง[5] โดยทรงใช้เวลาในการสร้างโลกทั้งสิ้น 6 วัน และทรงใช้เวลาอีก 1 วันเพื่อพักผ่อน จึงเป็นที่มาของการกำหนดให้ 1 สัปดาห์ มี 7 วัน และกำหนดให้มี 1 วันเป็นวันพักผ่อน ที่มักพบในพระคัมภีร์ว่า "วันสะบาโต" ชาวยิวเคร่งครัดในวันสะบาโตมาก ไม่ทำอะไรในวันนั้น กิจกรรมที่อนุญาตให้ทำในวันนั้นมีจำนวนจำกัดมาก การไม่เคารพวันสะบาโต เสมือนการไม่ยำเกรงพระเจ้าเลยทีเดียว

ลำดับการทรงเนรมิตสร้างโลกของพระเจ้าเป็นดังนี้[6]

  • วันที่ 1 ทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน แผ่น‍ดิน​ก็​ร้าง​และ​ว่าง‍เปล่า[7] ทรงแยกความสว่างออกจากความมืด พระเจ้าทรงเรียกความสว่างนั้นว่า วัน และความมืดนั้นว่า คืน มีเวลาเย็นและเวลาเช้า[8]
  • วันที่ 2 พระเจ้าทรงสร้างภาคพื้น แล้วทรงแยกน้ำที่อยู่ใต้ภาคพื้น ออกจากน้ำที่อยู่เหนือภาคพื้น พระเจ้าจึงทรงเรียกภาคพื้นนั้นว่า ฟ้า[9]
  • วันที่ 3 พระเจ้าทรงแยกแผ่นดินออกจากแผ่นน้ำ และทรงเรียกแผ่นน้ำนั้นว่า ทะเล ทรงเนรมิตให้เกิดพืช ทั้งผัก หญ้า และต้นไม้นานาชนิด
  • วันที่ 4 พระเจ้าทรงสร้างดวงสว่างต่าง ๆ ของภาคพื้นฟ้า เพื่อแยกวันออกจากคืน ให้เป็นหมายกำหนดฤดู วัน ปี[10] และทรงสร้างดาวต่าง ๆ
  • วันที่ 5 พระเจ้าทรงสร้างสัตว์ทะเล และนกในอากาศ และทรงอวยพระพรแก่สัตว์เหล่านั้นว่า "จง​มี​ลูก‍ดก​ทวี​มาก‍ขึ้น​จน​เต็ม​น้ำ​ใน​ทะเล และ​ให้​นก​ทวี​มาก​ขึ้น​บน​แผ่น‍ดิน‍โลก"[11]
  • วันที่ 6 พระเจ้าทรงสร้างสัตว์บนแผ่นดิน ได้แก่ สัตว์ใช้งาน สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ป่า และทรงสร้างมนุษย์ โดยตรัสว่า "ให้​เรา​สร้าง​มนุษย์​ตาม​ฉายา​ของ​เรา ตาม​อย่าง​ของ​เรา ให้​ครอบ‍ครอง​ฝูง‍ปลา​ใน​ทะเล ฝูง‍นก​ใน​ท้อง‍ฟ้า​และ​ฝูง‍สัตว์‍ใช้‍งาน ให้​ปก‍ครอง​แผ่น‍ดิน‍โลก​ทั้ง‍หมด และ​สัตว์‍เลื้อย‍คลาน​ทุก​ชนิด​บน​แผ่น‍ดิน​ทั้ง‍หมด"[12]
  • วันที่ 7 ในวันที่เจ็ดก็ทรงพักการงานทั้งสิ้นของพระองค์ที่ได้ทรงกระทำ พระเจ้าจึงทรงอวยพระพรแก่วันที่เจ็ด ทรงตั้งไว้เป็นวันบริสุทธิ์ (Sabbath) เพราะ​ใน​วัน‍นั้น​พระ‍องค์​ทรง​หยุด‍พัก​จาก​การ‍งาน​ทั้ง‍ปวง​ที่​พระ‍เจ้า​ทรง​เนร‌มิต‍สร้าง​และ​ทรง​กระ‌ทำ[13]

กำเนิดมนุษย์

[แก้]
การกำเนิดมนุษย์
การกำเนิดมนุษย์

ในหนังสือปฐมกาล บทที่ 2[14] กล่าวถึงไว้ว่า พระเจ้าทรงปั้นมนุษย์ด้วยผงคลีดิน แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ บนโลกใบนี้ เนื่องจากพระเจ้าทรงระบายลมปราณให้แก่มนุษย์ด้วย เรามักรู้จักลมปราณที่ว่าในนามของวิญญาณ และนั่นจึงไม่มีความแตกต่างกัน ที่เมื่อร่างกายของมนุษย์สูญสลาย ก็กลับกลายไปเป็นดินเช่นเดิมนั่นเอง เช่นเดียวกับสัตว์ทั้งโลก เมื่อตายไปก็เป็นดินทั้งนั้น

พระเจ้าทรงสร้างสวนแห่งหนึ่งไว้ที่เอเดน ซึ่งคาดว่าอาจอยู่ในพื้นที่ของประเทศอิรักในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากปฐมกาลได้กล่าวถึงแม่น้ำไทกริส และยูเฟรติสไว้ ซึ่งในสวนแห่งเอเดนนี้พระเจ้าทรงบัญชาไว้แก่มนุษย์ว่า "ผล‍ไม้​ทุก‍อย่าง​ใน​สวน​นี้ เจ้า​กิน​ได้​ตาม‍ใจ‍ชอบ แต่​ผล​ของ​ต้น‍ไม้​แห่ง​การ​รู้​ถึง​ความ​ดี​และ​ความ​ชั่ว​นั้น ห้าม​เจ้า​กิน เพราะ​ใน​วัน​ใด​ที่​เจ้า​กิน เจ้า​จะ​ต้อง​ตาย​แน่"[15]

ในครั้งแรก พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ผู้ชาย ชื่อ อาดัม ต่อมาทรงเห็นว่าไม่ควรให้มนุษย์อยู่คนเดียว จึงทรงสร้างคู่อุปถัมภ์ที่เหมาะสมให้ โดยทรงชักกระดูกซี่โครงอันหนึ่งออกมาขณะอาดัมกำลังหลับ และนำกระดูกซี่โครงนั้นมาสร้างเป็นมนุษย์ผู้หญิง ชื่อ เอวา

ความบาป

[แก้]

ปฐมบาป เข้ามาในโลกครั้งแรก จากการไม่เชื่อฟังพระเจ้า ของมนุษย์ เอวา ถูกล่อลวงโดยมารในรูปของงู ให้สงสัยในคำสั่งของพระเจ้า และไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระองค์ พระเจ้าจึงมอบความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ให้ผู้หญิง นั่นคือการอุ้มท้อง และการคลอดลูก เพื่อเตือนให้มนุษย์ระลึกถึงความเจ็บปวดจากการมีบาป ดังพระดำรัสของพระเจ้า ว่า "เรา​จะ​เพิ่ม​ความ​ทุกข์​ลำ‌บาก​มาก​ขึ้น​แก่​เจ้าและ​เมื่อ​เจ้า​มี‍ครรภ์ เจ้า​จะ​คลอด‍บุตร​ด้วย​ความ​เจ็บ‍ปวด ถึง‍กระ‌นั้น เจ้า​จะ​ยัง​ปรารถ‌นา​ใน​สามี​ของ​เจ้า และ​เขา​จะ​ปก‍ครอง​ตัว​เจ้า"[16]

อาดัม ไม่เชื่อฟังพระเจ้าเพราะเชื่อเอวา ดังนั้น ผู้ชายจึงถูกลงโทษให้ต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ดังที่พระเจ้าทรงตร้สไว้ว่า "เจ้า​จะ​ต้อง​หา‍กิน​ด้วย​เหงื่อ​อาบ‍หน้าจน​เจ้า​กลับ​ไป​เป็น​ดิน เพราะ​เจ้า​ถูก​นำ​มา​จาก​ดิน และ​เพราะ​เจ้า​เป็น​ผง‍คลี​ดิน และ​เจ้า​จะ​กลับ​เป็น​ผง‍คลี​ดิน​ดัง‍เดิม"[17] การไม่เชื่อฟังพระเจ้าของอาดัม และเอวา ทำให้ทั้งสองคนถูกขับออกจากสวนเอเดน ต้องทำมาหาเลี้ยงตนเอง และสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่อมาอีกมากมาย

กาลเวลาต่อมาคาอิน (บุตรชายคนโตของอดัมและอีฟ) ได้ทำการสังหารอาเบล (บุตรชายคนเล็กของอดัมและอีฟและน้องชายของตน) จึงถือว่าเป็นการฆาตกรรมครั้งแรกของมนุษย์ พระเจ้าได้ทราบความในภายหลังจึงได้ลงโทษสาปให้คาอินทำไร่การเกษตรไม่ได้และกลายเป็นคนพเนจรร่อนเร่ไปมาในโลก คาอินได้ทูลอ้อนวอนต่อพระเจ้าว่า "โทษที่ได้รับนั้นหนักหนากว่าจะรับได้และเมื่อร่อนเร่ไปในโลกแล้วอาจจะโดนคนอื่นฆ่าตายได้" แต่พระเจ้าได้ทำสัญลักษณ์ไว้ในตัวคาอินว่า "ผู้ใดได้สังหารนายคาอิน ผู้นั้นจะได้รับโทษทัณฑ์ถึงเจ็ดเท่า" หลังจากนั้นคาอินได้เดินทางไปยังเมืองโนดทางด้านทิศตะวันออกของเอเดน สร้างเมืองและให้กำเนิดทายาทเป็นเวลาต่อมา

ในปฐมกาลช่วงถัดมา ลำดับถึงพงศ์พันธุ์ของอาดัมและเอวาต่อเรื่อยมา น่าสังเกตว่า ยิ่งมนุษย์ห่างไกลพระเจ้ามากขึ้น อายุขัยของมนุษย์ก็ยิ่งสั้นลงไปด้วยเช่นกัน ตามหลักพระคัมภีร์แล้ว มนุษย์ทุกคนบนโลก ล้วนแล้วแต่เป็นญาติพี่น้องกัน เพราะเราต่างสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษคนเดียวกันทั้งสิ้น

เรือโนอาห์

[แก้]
โนอาห์ต่อนาวา วาดโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส ประมาณ ค.ศ. 1675 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Magyar Szépművészeti Múzeum บูดาเปสต์

เมื่อมนุษย์ห่างจากพระเจ้า ความบาปต่าง ๆ ก็ครอบงำมนุษย์มากขึ้น พระเจ้าทรงเห็นว่าความชั่วร้ายของมนุษย์มีมากบนแผ่นดิน และทรงเห็นว่าเค้าความคิดในใจของเขาล้วนเป็นเรื่องชั่วร้ายเสมอไป จึงทรงดำริว่า จะกวาดล้างมนุษย์ไปเสียจากแผ่นดินโลก ทั้งมนุษย์ สัตว์เลื้อยคลาน และนกในอากาศด้วย[18]

แต่ด้วยทรงเห็นว่าโนอาห์เป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระเจ้า เป็นคนชอบธรรม ดีพร้อมในสมัยของเขา และดำเนินกับพระเจ้า พระองค์จึงทรงบอกเหตุการณ์น้ำท่วมโลกให้โนอาห์ทราบ พร้อมทั้งทรงมอบแผนผังรูปแบบเรือที่ใช้ในการช่วยชีวิตของโนอาห์ให้รอดพ้นจากการถูกล้างโลกในครั้งนั้น เป็นที่มาของ เรือโนอาห์ นั่นเอง เนื่องจากตามพระประสงค์ของพระเจ้า ต้องการให้โนอาห์นำสิ่งมีชีวิตบนโลกขึ้นไปบนเรือด้วยอย่างละคู่ พระเจ้าทรงบัญชาอย่างไร โนอาห์ก็ทำตามนั้นทุกประการ[19]

เมื่อถึงกำหนดของพระเจ้า พระองค์ทรงบอกให้โนอาห์ขึ้นไปอยู่บนเรือ และทรงบันดาลให้ฝนตก 40 วัน 40 คืนติดต่อกัน และทรงปิดตาน้ำทั้งหมด จนน้ำท่วมโลก ผู้คน สัตว์ และพืชทุกชนิดที่อาศัยบนโลกก็เสียชีวิตไปทั้งสิ้น และทรงให้น้ำท่วมโลกอยู่เป็นเวลาถึง 150 วัน[20]

ภายหลัง เมื่อพระเจ้าทรงระลึกถึงโนอาห์ จึงทรงทำให้น้ำลดลง โดยใช้เวลาประมาณ 150 ว้น เมื่อน้ำลดลงแล้วโนอาห์ และครอบครัวจึงกลับมาอาศัยอยู่บนแผ่นดินตามปกติ พระเจ้าทรงอวยพระพรให้แก่โนอาห์ และมอบบัญญัติบางประการ เช่น "ห้าม​กิน​เนื้อ​พร้อม​กับ​ชีวิต​ของ​มัน คือ​เลือด​ของ​มัน"[21] ซึ่งเป็นเหตุผลที่ชาวยุโรปไม่รับประทานเลือด นอกจากนี้พระเจ้ายังทรงมีพันธสัญญาแก่โนอาห์ว่า "เรา​จะ​ตั้ง​พันธ‌สัญญา​ของ​เรา​ไว้​กับ​พวก‍เจ้า​ว่า​จะ​ไม่​ทำ‍ลาย​มนุษย์​และ​สัตว์​ทั้ง‍ปวง​โดย​ให้​น้ำ‍ท่วม​อีก และ​จะ​ไม่‍ให้​มี​น้ำ​มา​ท่วม​ทำ‍ลาย​โลก​อีก‍ต่อ‍ไป...เรา​ตั้ง​รุ้ง​ของ​เรา​ไว้​ที่เมฆ และรุ้ง​นั้น​จะ​เป็น​เครื่อง‍หมาย​แห่ง​พันธ‌สัญญา​ระหว่าง​เรา​กับ​โลก"[22] ฉะนั้นตราบใดที่ยังเห็นรุ้งกินน้ำ ก็เป็นเหมือนคำสัญญาของพระเจ้าว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลก (ทั้งใบ) อีก[23]

หอบาเบล

[แก้]
ภาพวาดหอบาเบล โดย ปีเตอร์ บรูเค็ล
ภาพวาดหอบาเบล โดย ปีเตอร์ บรูเค็ล

หอบาเบล เกิดจากความสามัคคีของมนุษย์ ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมโลก จากลูกหลานของโนอาห์ ได้ขยายพงศ์พันธุ์แผ่ไพศาลออกไป แต่ทั่วทั้งโลกต่างพูดภาษาเดียวกัน และมีศัพท์สำเนียงเดียวกัน[24] ผู้คนในยุคนั้นจึงได้ร่วมกันสร้างหอบาเบล โดยมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างเป็นหอเทียมฟ้า สร้างชื่อเสียงไว้ และเป็นแหล่งรวมอารยธรรมของมนุษย์ไว้ด้วยกัน[25]

การสร้างหอบาเบล เป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับมนุษยชาติ ซึ่งความภาคภูมิใจนี้ ก็นำมาซึ่งความหยิ่งผยอง คิดท้าทายพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงบันดาลให้เกิดภาษาที่แตกต่างกัน ทำให้มนุษย์สื่อสารกันไม่เข้าใจ การก่อสร้างหอบาเบลจึงหยุดชะงักลงเพียงนั้น[26]

คำว่า "บาเบล" ที่ใช้ตั้งชื่อหอคอยนี้ มาจากรากศัพท์ภาษาฮีบรู ที่แปลว่า วุ่นวาย นั่นเอง[27] และจากการสร้างหอบาเบล ทำให้มีพระธรรมข้อที่น่าประทับใจที่คริสตชนมักใช้ให้กำลังใจกัน กล่าวไว้ว่า แล้วพระเจ้าตรัสว่า "ดู‍สิ คน​เหล่า‍นี้​เป็น​ชน‍ชาติ​เดียว​หมด มี​ภาษา​เดียว นี่​เป็น​เพียง​เบื้อง‍ต้น​ของ​สิ่ง​ที่​พวก‍เขา​จะ​ทำ และ​บัด‍นี้​ไม่‍มี​อะไร​ยับ‍ยั้ง​ทุก‍สิ่ง​ที่​พวก‍เขา​คิด​จะ​ทำ"[28]

กำเนิดอิสราเอล

[แก้]

ภายหลังจากยุคของโนอาห์อีกหลายลำดับ ทายาทชื่อ อับราฮัม ซึ่งยำเกรงพระเจ้า และอธิษฐานต่อพระองค์เป็นประจำ พระเจ้าตรัสกับอับราฮัม ให้อพยพครอบครัวไปยังดินแดนที่พระเจ้าประทานให้ เป็นที่ซึ่งน้ำดินดี อุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งอวยพรให้พงษ์พันธุ์ของอับราฮัมเป็นพงษ์พันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งในขณะนั้นภรรยาของอับราฮัมเป็นหมัน

อับราฮัมได้ย้ายออกจากเมือง เดินทางไปตามที่พระเจ้าทรงนำ และผ่านไปยังเมืองโสโดม และเมืองโกโมรา โดยโลทหลานชายของอับราฮัมที่เดินทางมาด้วย ได้ตั้งหลักแหล่งที่เมืองโสโดมนี้ แต่ต่อมาเมืองนั้นก็ถูกพระเจ้าลงโทษโดยให้กลายเป็นเกลือทั้งเมือง (รวมทั้งผู้คน สัตว์ สิ่งของ) ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าปัจจุบันทะเลสาบเดดซี หรือ ทะเลตาย คือที่ตั้งของเมืองโสโดม และเมืองโกโมรา ในอดีตนั่นเอง

ภรรยาของอับราฮัมชื่อ นางซาราห์ ซึ่งเดิมทีนางเป็นหมัน เมื่ออับราฮัมอายุได้ 99 ปี พระเจ้าทรงให้พันธสัญญาว่า อับราฮัมจะเป็นบิดาของชนชาติใหญ่ นางซาราห์จึงยกนางฮาร์กา สาวใช้ ให้เป็นภรรยาของอับราฮัม นางฮาร์กาตั้งครรภ์ และคลอดบุตรชายชื่อ อิชมาเอล เมื่ออิชมาเอลอายุได้ 13 ปี นางซาราห์ก็ตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายชื่อ อิสอัค ในระหว่างนั้นมีเหตุให้อับราฮัมต้องขับไล่นางฮาการ์และอิชมาเอลออกจากครอบครัวไป ส่วนอิสอัคได้รับการเลี้ยงดูจากบิดา จนเติบใหญ่และมีบุตรชาย ชื่อยาโคบ ซึ่งภายหลังได้รับฉายาใหม่ว่า อิสราเอล และเป็นที่มาของชื่อประเทศอิสราเอลในทุกวันนี้ เพราะเชื่อว่าชาวยิวทุกเผ่าล้วนเป็นลูกหลานของยาโคบ

ยาโคบ หรือ อิสราเอล มีบุตรชายทั้งสิ้น 12 คน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการแบ่งเผ่าพันธุ์ของอิสราเอลออกเป็น 12 เผ่า และ โยเซฟ บุตรชายคนสุดท้องของ ยาโคบ เป็นบุคคลที่ช่วยให้ชาวอิสราเอลสามารถหนีภัยแล้งไปพำนักอยู่ในประเทศอียิปต์ และก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ในภายหลัง ซึ่งได้บันทึกไว้ในหนังสืออพยพ

มุมมองของศาสนาคริสต์ต่อหนังสือปฐมกาล

[แก้]

ในคริสตจักรยุคแรก มุ่งเน้นการศึกษาหนังสือปฐมกาลในเชิงทฤษฎีที่อ้างอิงอยู่บนพื้นฐานความเชื่อของชาวยิว ผู้เขียนพระวรสารนักบุญยอห์น ได้ใช้รูปแบบเปรียบเทียบระหว่างหนังสือปฐมกาล บทที่ 1 และพระวรสารนักบุญยอห์น บทที่ 1 โดยเปรียบพระลักษณะพระเจ้า มุ่งถึงการนำเสนอความเป็นตรีเอกภาพของพระเจ้ามากขึ้น โดยใช้คำว่า "พระ‍วาทะ​" (Word) รวมเข้ากับคำว่า "พระเจ้า" ดังกล่าวไว้ว่า "ใน​ปฐม‍กาล​พระ‍วาทะ​ทรง​ดำรง​อยู่ และ​พระ‍วาทะ​ทรง​อยู่​กับ​พระ‍เจ้า และ​พระ‍วาทะ​ทรง​เป็น​พระ‍เจ้า"[29]

ศาสนาคริสต์ ได้นำเสนอความแตกต่างจากศาสนายูดาห์มากขึ้น เมื่อมีการนำเสนอภาพของพระเยซู ที่ทรงเป็นเสมือน อาดัม ที่ถูกส่งลงมาบังเกิดใหม่ เพื่อไถ่ความบาปให้แก่มนุษยชาติ และคริสตจักรก็เปรียบเสมือนเรือโนอาห์ที่ช่วยให้มนุษย์ผู้ชอบธรรมได้รับความรอด จากการรับบัพติสมา และพันธสัญญาของพระเจ้าที่มีต่ออับราฮัมที่ทรงอวยพระพรแก่ลูกหลานที่สืบเชื้อสายของอับราฮัมโดยสายเลือด กลับกลายเป็นลูกหลานของอับราฮัมที่สืบเชื้อสายโดยความเชื่อที่มีต่อองค์พระเยซู

นอกจากนี้ ยังมีภาพเปรียบเทียบในหนังสือปฐมกาล ที่ปรากฏชาย 3 คนเพื่อแจ้งข่าวการเกิดของอิสอัค แก่อับราฮัม[30] กับโหราจารย์ 3 คนที่แจ้งข่าวการประสูติของพระเยซู[31] อีกด้วย

มุมมองของศาสนาอิสลามต่อหนังสือปฐมกาล

[แก้]

ในคัมภีร์อัลกุรอานและคัมภีร์ไบเบิล มีทั้งส่วนที่เหมือน และส่วนที่แตกต่างกัน โดยพื้นฐานทั้งสองมีโครงเริ่มแรกเหมือนกัน โดยเนื้อหาในแง่ประวัติศาสตร์นั้น พระคัมภีร์ในทั้งสองศาสนามีความสอดคล้องกันตั้งแต่พระเจ้าทรงสร้างโลก การสร้างมนุษย์ ความบาป เรือโนอาห์ เหตุการณ์น้ำท่วมโลก เรื่องราวของอับราฮัม การทำนายฝันของโยเซฟ จนกระทั่งโมเสสเข้าเฝ้าพระเจ้า แต่ในมุมมองของคัมภีร์อัลกุรอานมองว่าหนังสือปฐมกาลมีความคลาดเคลื่อนของเนื้อหา ที่แตกต่างในหลายประเด็น และคัมภีร์อัลกุรอานค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องของกฎบัญญัติสูงมาก

ตัวอย่างของเนื้อหาส่วนที่มีความแตกต่าง

[แก้]
  • เรื่องเหตุการณ์น้ำท่วมโลก เนื้อหาคัมภีร์ทั้งสองศาสนากล่าวเหมือนกันว่าเหตุการณ์น้ำท่วมโลกนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก (แม้มีคริสต์ศาสนิกชนบางกลุ่มความเชื่อ ไม่เชื่อเช่นนั้นก็ตาม) ในคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า ภรรยา (วาอิละฮฺ) และบุตรชาย (กันอาน) ของโนอาห์ ไม่เชื่อฟังพระเจ้า พวกเขาไม่ยอมขึ้นเรือและเสียชีวิตในเหตุการณ์น้ำท่วมโลก[32] ซึ่งในพระธรรมปฐมกาลในคัมภีร์ไบเบิลนั้น ได้นับบุตรชายทั้งสามคนของโนอาห์ขึ้นไปบนเรือทั้งสิ้น[33][34][35]


  • เรื่องราวของโลท (ลูฎ) ในคัมภีร์ไบเบิล กล่าวถึงโลทน้อยมาก ในขณะที่ในคัมภีร์อัลกุรอาน จัดให้โลท อยู่ในหมวดหมู่อัครสาวกและผู้พยากรณ์เหมือนกับอับราฮัม (อิบรอฮีม) ลุงของเขา แต่อ้างถึงฐานะในหมวดหมู่ดังกล่าวจากคัมภีร์โทราห์ของศาสนายูดาห์ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าภรรยาของโลทได้ติดตามโลทออกจากเมืองโสโดม และได้หันหลังกลับไปมองเมืองนั้น จึงถูกสาปให้เป็นเสาเกลือ[36] แต่ในคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า ภรรยาของโลท เมื่อได้ยินเสียงกึกก้องของการลงโทษ นางได้เหลียวหลังไปดูหมู่บ้านของพวกนาง ทันใดนั้นก้อนหินก็หล่นลงมาฆ่านางตายทันที[37]


  • การถวายบุตรแด่พระเจ้า ของอับราฮัม ในคัมภีร์อัลกุรอานเชื่อว่าบุตรที่ถูกถวายแด่พระเจ้าคืออิชมาเอล และเชื่อว่าอิชมาเอล คือ บุตรหัวปี ซึ่งบุตรทั้งสองคนเป็นผู้สืบเชื้อสายของอับราฮัมเหมือนกัน อิสอัค (อิสฮัค) และลูกหลานได้รับมรดก และรับพันธสัญญาของพระเจ้ามีบุตรหลานมากมายเป็นศาสดาพยากรณ์ เช่นเดียวกับที่ทางสายอิชมาเอลที่มีมุฮัมมัดเป็นศาสดาในยุคหลัง ในขณะที่คัมภีร์ไบเบิลนั้น อิสอัคเป็นบุตรที่พระเจ้าให้นำไปถวาย[38] และพระเจ้าได้ตั้งพันธสัญญาขึ้นต่ออับราฮัม ว่าเชื้อสายของเขา (อิสอัค ผู้เป็นบุตรหัวปีของนางซาราห์ภรรยาหลวง) จะเป็นต้นเชื้อสายของผู้ที่จะเสด็จมาภายหลัง (ทางศาสนาคริสต์เล็งถึงการมาบังเกิดของพระเยซูคริสต์)[39][40] และกล่าวถึงการอวยพรของพระเจ้าต่อเชื้อสายของอับราฮัมทางฝั่งอิชมาเอล (บุตรหัวปีของนางฮาการ์ทาสรับใช้ของนางซาราห์) ว่า "ดูเถิด เราได้อวยพรเขาและจะกระทำให้เขามีลูกดกทวีมากขึ้นอุดมบริบูรณ์อย่างยิ่ง เขาจะให้กำเนิดเจ้านายสิบสององค์และเราจะกระทำให้เขาเป็นชนชาติใหญ่ชนชาติหนึ่ง"

การเปรียบเทียบกับช่วงเวลาในประวัติศาสตร์โลก

[แก้]

บนพื้นฐานของหนังสือปฐมกาลศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ ต่างยึดเอาหนังสือปฐมกาล และหนังสือเล่มต่อ ๆ มาเป็นเครื่องช่วยในการคำนวณอายุเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏตามหลักฐานของพระคัมภีร์ เชื่อว่าโลกนี้ถูกสร้างเมื่อ 4 พันปีก่อนคริสตกาล (the beginning of the 4th millennium BC.) โดยนับตั้งแต่วันเริ่มแรกสร้างโลกของพระเจ้า การกำเนิดอาดัม และเอวา และเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์ และวันแรกของการสร้างโลกที่คำนวณด้วยวิธีการนี้ ที่เป็นที่ยอมรับและกล่าวอ้างถึงมากที่สุด คือเวลา 9 โมงเช้า ของวันที่ 23 เดือนตุลาคม เมื่อ 4004 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งบิช๊อป เจมส์ ยูเซอร์ (Anglican Bishop James Ussher) เป็นผู้คำนวณขึ้น

แต่การคำนวณอายุโลกด้วยวิธีการดังกล่าว ก่อให้เกิดข้อกังขาขึ้นอย่างมาก รวมทั้งนักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีโดยส่วนใหญ่ต่างก็ไม่ยอมรับการคำนวณอายุโลกด้วยวิธีการดังกล่าว นอกจากนี้ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และชีววิทยา ล้วนแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับผลการคำนวณดังกล่าว เนื่องจากหลักฐานบางอย่างระบุอายุของโลกไว้กว่า 4 พันล้านปีด้วยซ้ำไป ประเด็นอายุของโลกจึงยังคงเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างศาสนศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือปฐมกาล, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  2. "biblestudytools.net". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-03-21.
  3. โดยประมาณ พัฒนาการของคณะผู้เชี่ยวชาญพระคริสตธรรมพิจารณาช่วงเวลาในปฐมกาลและเบญจบรรณ มีขึ้นตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20, "Source Analysis" เก็บถาวร 2001-02-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Barry Bandstra, วิทยาลัย Hope, มิชิแกน.
  4. หนังสือปฐมกาล 22:3, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  5. หนังสือปฐมกาล 1:1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  6. webinspirer.com
  7. หนังสือปฐมกาล 1:1-2, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  8. หนังสือปฐมกาล 1:4-5, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  9. หนังสือปฐมกาล 1:7-8, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  10. หนังสือปฐมกาล 1:14, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  11. หนังสือปฐมกาล 1:22, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  12. หนังสือปฐมกาล 1:26, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  13. หนังสือปฐมกาล 2:2-3, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  14. หนังสือปฐมกาล บทที่ 2, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  15. หนังสือปฐมกาล 2-16-17, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  16. หนังสือปฐมกาล 3:16, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  17. หนังสือปฐมกาล 3:19, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  18. หนังสือปฐมกาล 6:5-7, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  19. หนังสือปฐมกาล 6:9-22, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  20. หนังสือปฐมกาล 7:1-24, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  21. หนังสือปฐมกาล 9:4, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  22. หนังสือปฐมกาล 9:11-13, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  23. หนังสือปฐมกาล บทที่ 8, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  24. หนังสือปฐมกาล 11:1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  25. หนังสือปฐมกาล 11:4, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  26. หนังสือปฐมกาล 11:6-9, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  27. หนังสือปฐมกาล บทที่ 11, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  28. หนังสือปฐมกาล 11:6, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  29. พระวรสารนักบุญยอห์น 1:1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  30. หนังสือปฐมกาล บทที่ 8, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  31. พระวรสารนักบุญมัทธิว บทที่ 2, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  32. คัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับภาษาไทย ฮูด 11:40-43
  33. หนังสือปฐมกาล 9:18-19, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  34. จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1 3:20, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  35. จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 2 2:5, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  36. หนังสือปฐมกาล 19:26, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  37. คัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับภาษาไทย ฮูด 11:81[1]
  38. หนังสือปฐมกาล 22:1-11, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  39. หนังสือปฐมกาล 17:7, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  40. พระวรสารนักบุญมัทธิว 1:1-17, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
ก่อนหน้า
-
หนังสือปฐมกาล
คัมภีร์ฮีบรู /
พันธสัญญาเดิมของศาสนาคริสต์
ถัดไป
หนังสืออพยพ