ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ14 กรกฎาคม พ.ศ. 2398
สิ้นพระชนม์7 สิงหาคม พ.ศ. 2456 (58 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ (14 กรกฎาคม พ.ศ. 2398 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2456) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4

พระประวัติ

[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4 เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 1217 ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2398 มีพระโสทรภราดาและพระโสทรภคินี 9 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสวตรวรลาภ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากนกวรรณเลขา, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญฤทธิเดช และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์

พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิมีศักดิ์เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี โดยขรัวตาของพระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ คือ พระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) เป็นหลานปู่ของจำปา ณ เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นญาติของเจ้าจอมมารดาทองสุก ในรัชกาลที่ 1 พระราชธิดาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 4 เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์[1]

พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ เมื่อแรกทรงพระเยาว์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ (ในรัชกาลที่ 1) ทรงพระเมตตารับไปทรงเลี้ยงดู กระทั่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าพลับสิ้นพระชนม์ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิทรงได้รับมรดก และสืบทอดงานของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับสืบมานั่นคือ การร้อยตาข่ายดอกไม้สดประดับฐานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเวลาพระราชพิธี และร้อยมาลัยประดับพระโกศพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 1 มาตลอดพระชนม์ชีพ

พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ ทรงได้รับการศึกษาอักขรสมัยตามแบบอย่างพระราชกุมารีในราชสำนักเป็นเบื้องต้น แต่ทรงมีความรู้เชี่ยวชาญในด้านนาฏศาสตร์ และโหราศาสตร์อีกส่วนหนึ่งด้วย

ในรัชกาลที่ 5 พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ เป็นพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์หนึ่งซึ่งสนิทชิดชอบกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับพระมหากรุณาพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ฝ่ายใน เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 2 เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้น 2 และเมื่อถึงรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 เป็นพระเกียรติยศ ด้วยเป็นเจ้านายฝ่ายในพระองค์หนึ่งซึ่งสนิทสนมกับพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ 5 ทุกพระองค์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 9 ขึ้น 6 ค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช 1275 ตรงกับวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2456[2] พระชันษา 58 ปี มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 ณ พระเมรุ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร[3]

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า พระองค์น่าจะทรงเป็น "เสด็จ" ในเรื่องสี่แผ่นดิน[ใคร?] เนื่องจากทรงเป็นเจ้านายที่รัชกาลที่ 5 ทรงสนิทสนมมากพระองค์หนึ่ง อีกทั้งตำหนักของพระองค์ก็มีลักษณะเหมือนตำหนักของ "เสด็จ" อีกด้วย

พระเกียรติยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2398 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 — 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 — 7 สิงหาคม พ.ศ. 2456 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ข้อมูลโดยสังเขปหม่อมราชวงศ์ศุภดิศ ดิศกุล - สายสกุลของท้าวมังสี (ขำ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-03. สืบค้นเมื่อ 2013-05-18.
  2. ข่าวสิ้นพระชนม์
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเพลิงพระศพและศพที่พระเมรุวัดราชาธิวาส พุทธศักราช ๒๔๕๗ เล่ม 31, ตอน 0 ง, 21 มิถุนายน พ.ศ. 2457, หน้า 658
  4. ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า และถวายบังคมพระบรมรูป เนื่องในวันคล้ายกับวันพระบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ตามสุริยตคติ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 16, ตอน 34, 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442, หน้า 498
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2436/035/374_1.PDF
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 21, ตอน 32, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447, หน้า 570
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 25, ตอน 39, 27 ธันวาคม พ.ศ. 2451, หน้า 1153
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 28, ตอน 0 ง, 23 เมษายน พ.ศ. 2454, หน้า 130
  9. ข้อมูลโดยสังเขปหม่อมราชวงศ์ศุภดิศ ดิศกุล - ราชสกุลสายพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ)
  10. ธงทอง จันทรางศุ. ในกำแพงแก้ว. กรุงเทพฯ : เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2550, หน้า 113