ข้ามไปเนื้อหา

วิกฤตการณ์การเงินโชวะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประชาชนแห่ถอนเงินจากธนาคาร เดือนมีนาคม ค.ศ. 1927

วิกฤตการณ์การเงินโชวะ (ญี่ปุ่น: 昭和金融恐慌โรมาจิโชวะ คิงยู เคียวโก) เป็นวิกฤตการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1927 ปีแรกของรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ ไม่นานก่อนหน้าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก วิกฤตครั้งนี้ทำให้รัฐบาลของวะกะสึกิ เรชิโร ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และนำไปสู่การให้ ไซบะสึ เข้ามาจัดการภาคธนาคารของญี่ปุ่น

วิกฤตการณ์ทางการเงินโชวะเกิดขึ้นจากการที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัวอย่างมากภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภาคเอกชนต่างเพิ่มการลงทุนอย่างหนักหน่วงเพื่อเพิ่มกำลังผลิต ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจภายหลังปี ค.ศ. 1920 และ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ในปี ค.ศ. 1923 ก็ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำขึ้น ซึ่งทำให้กิจการจำนวนมากต้องปิดตัวลง จนรัฐบาลต้องเข้าแทรกแทรงธนาคารกลางญี่ปุ่น ให้ออก "ตราสารธรณีภิบัติภัย" ซึ่งเป็นตราสารหนี้แบบซื้อลดขึ้น เพื่อประคับประคองกิจการของธนาคารพาณิชย์ จนกระทั่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1927 เมื่อรัฐบาลจะทำการซื้อตราสารคืน ทำให้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วว่า ธนาคารพาณิชย์ที่ถือครองตราสารอาจจะล้มละลาย ส่งผลให้เกิดการแห่ถอนเงินใน 37 ธนาคารทั่วญี่ปุ่น ทำให้ต้องพึ่ง ไซบะสึ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่แถวหน้าของประเทศ อาทิ มิตซูบิชิ, ซุมิโตะโมะ เป็นต้น เข้ามาจัดการปัญหา รัฐบาลพยายามตราพระราชกฤษฎีกาเป็นการฉุกเฉินขึ้นเพื่อเปิดทางให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นขยายวงเงินกู้เพื่อรักษากิจการของธนาคารเหล่านี้ แต่ก็ถูกยับยั้งโดยคณะองคมนตรี และนายกรัฐมนตรีถูกกดดันจนลาออก

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทะนะกะ กิอิชิ ได้ควบคุมสถานการณ์ด้วยการประกาศวันหยุดธนาคารเป็นเวลาสามสัปดาห์และออกวงเงินกู้ฉุกเฉิน แม้จะบรรเทาปัญหาไปได้ แต่ก็ทำให้ธนาคารรายย่อยหลาย ๆ แห่งต้องปิดกิจการลง อย่างไรก็ตาม 5 เครือบริษัทผู้นำในไซบะสึนั้นมีอิทธิพลเหนือภาคธนาคารญี่ปุ่นไปจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

อ้างอิง

[แก้]
  • Smitka, Michael (1998). The Interwar Economy of Japan : Colonialism, Depression, and Recovery, 1910-1940. Routledge. ISBN 0-8153-2706-4.
  • Yamamura, Kozo (1998). The Economic Emergence of Modern Japan. Vol. 1. Cambridge University Press. ISBN 0-521-58946-0.