ข้ามไปเนื้อหา

ศีรษะมาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศีรษะมาร  
ผู้ประพันธ์จินตวีร์ วิวัธน์
ประเทศไทย
ภาษาไทย
ประเภทวิทยาศาสตร์–เหนือธรรมชาติ
สำนักพิมพ์โชคชัยเทเวศร์ (พ.ศ. 2531)[2]
รวมสาส์น (พ.ศ. 2536)[1]
กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง (พ.ศ. 2557)[3]
วันที่พิมพ์พ.ศ. 2531[1]
หน้าเล่ม 1: 453 หน้า
เล่ม 2: 451 หน้า
ISBN9786167735252

ศีรษะมาร เป็นนิยายแนวลึกลับผสมวิทยาศาสตร์และพลังจิตหรือปรจิตวิทยา[1] แต่งโดยจินตวีร์ วิวัธน์ นามปากกาของจินตนา ภักดีชายแดน ถือเป็นนิยายที่มีความยาวมากที่สุดเรื่องหนึ่งของเธอ[3] แม้จะมีเนื้อหาเช่นนวนิยายสยองขวัญ แต่มีการผสานศาสตร์เร้นลับเข้ากับวิทยาศาสตร์บางประการเพื่ออธิบายอำนาจเหนือธรรมชาติของตัวละครหลักคือปิลันธา เช่น การแทรกจิตด้วยคลื่นความคิด (Telephathy), การใช้จิตควบคุมการลอยตัว (Levitation) และการใช้จิตเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของวัตถุ (Telekinesis)[1] ซึ่งสำแดงด้วยการใช้พลังจิตทำให้ศีรษะที่ขาดจากร่างของเธอลอยไปลอยมาอย่างอิสระ[4]

เนื้อหาเป็นเรื่องราวของปิลันธาหรือปี๋ หญิงสาวผู้มีพลังจิต เธอประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรงเป็นผลให้ศีรษะและลำตัวขาดออกจากกัน แต่ด้วยอำนาจวิเศษเธอจึงไม่ตายและได้รับการช่วยเหลือจากปีติ ลุงซึ่งเป็นแพทย์ช่วยรักษาและคงสภาพศีรษะของปิลันธาไว้ได้ แต่ร่างกายกลับเน่าเปื่อยไม่คงสภาพ เธอมีชีวิตรอดได้ด้วยการดูดเลือดผู้อื่นเพื่อเป็นพลังงาน และใช้ศีรษะเคลื่อนที่ไปมาไล่ฆ่าผู้อื่นในยามวิกาล[4][5] ด้วยเหตุนี้ปิลันธาจึงแสวงหาร่างของหญิงที่งามมากพอให้ศีรษะของเธอได้สวมใส่สำหรับมัดใจชาย โดยเฉพาะสักการคู่หมั้นของวิฬารี เธออำพรางรอยแผลที่คอด้วยผ้าพันคอ[1][5]

ศีรษะมาร เป็นที่กล่าวขวัญกันเป็นอย่างมากเมื่อช่วงที่ทำเป็นละครโทรทัศน์ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เมื่อปี พ.ศ. 2536[3][5] ผลิตโดยค่ายดาราวิดีโอ บทโทรทัศน์โดยลุลินารถ กำกับการแสดงโดยจรูญ ธรรมศิลป์ นำแสดงโดยชฎาพร รัตนากร, บิลลี่ โอแกน, อุษณีย์ รักกสิกรณ์ และภาณุเดช วัฒนสุชาติ ถือเป็นละครสยองขวัญที่ถูกกล่าวถึงมากจนถึงปัจจุบัน[6]

เนื้อเรื่อง

[แก้]

ปิลันธา วิเชียรภัทธ หรือ ปี๋ เป็นหญิงผู้มีดวงหน้าสวยงามแต่กลับมีใจคอโหดร้ายเจ้าอารมณ์ เธออาศัยอยู่กับศาสตราจารย์ นายแพทย์ปีติ วิเชียรภัทธ ศัลยแพทย์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นลุงของเธอ กับพร ชายแก่ร่างผอมซึ่งเป็นคนรับใช้คนสนิท ปิลันธามีความสามารถพิเศษผิดกับผู้อื่นคือมีพลังจิต เคลื่อนย้ายสิ่งของต่าง ๆ ไปมาได้ กระทั่งคืนหนึ่ง ปิลันธาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้กระจกรถตัดคอเธอจนขาดออกจากร่างแต่เธอกลับไม่ตาย ปิลันธาใช้พลังจิตที่มีบังคับร่างกายให้หิ้วหัวที่ขาดของตัวเองเดินกลับไปบ้านเพื่อให้ปีติช่วยให้เธอกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ด้วยความสงสาร ปีติให้ปิลันธาลงไปซ่อนในห้องทดลองใต้ดิน และใช้น้ำยาวิทยาศาสตร์หรือสารสังเคราะห์สีเหลืองอ่อนและเหลืองแก่ที่ตนเองคิดค้น เพื่อคงสภาพร่างกายของปิลันธาทั้งสองส่วนไว้ ด้วยความหวังที่จะทำการต่อศีรษะเข้ากับร่างกายให้ปิลันธากลับมามีชีวิตปรกติดังเดิม[1] จากการช่วยเหลือของปีติ ปิลันธาใช้ผ้าพันคอปิดบังรอยแผลระหว่างหัวกับตัวที่คอไปพลาง แลดูเผิน ๆ ก็เหมือนคนปรกติไม่มีผิด[7] แม้จะพูดไม่ได้อย่างปรกติ แต่เธอสื่อสารด้วยการแทรกจิตด้วยคลื่นความคิดแทน[1]

คืนหนึ่ง ปิลันธาอยากออกไปยังโลกภายนอก จึงหนีออกจากห้องใต้ดินต่อรถหลายทอดออกไปไกลถึงย่านหนองแขม พรซึ่งเป็นคนใช้คนสนิท ตามออกไปด้วยความเป็นห่วงแต่กลับถูกโจรทำร้าย ปิลันธาเห็นเช่นนั้นจึงถอดหัวออกจากร่าง เข้าไปกัดคอโจรจนขาดใจตาย เหตุนี้เองที่ทำให้ปิลันธารับรู้ว่าเลือดของมนุษย์เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงศีรษะของเธอได้ดีเสียยิ่งกว่าน้ำยาวิทยาศาสตร์ของลุงเสียอีก นับตั้งแต่นั้น ปิลันธามักลอบไปดูดเลือดคนในยามวิกาลเสมอ ๆ[7] แม้น้ำยาวิทยาศาสตร์นั้นสามารถคงสภาพศีรษะของปิลันธาไว้ได้ แต่ร่างกายนั้นกลับเน่าเปื่อยมีกลิ่นศพโชยออกมา[1] ด้วยเหตุนี้เธอจึงเสาะแสวงหาหญิงสาวที่มีรูปร่างสะสวยมาแทนที่ร่างกายที่เน่าเปื่อยอยู่ตลอด จนเกิดเป็นคดีหญิงสาวหายตัวลึกลับ[1][7]

ต่อมาวิฬารี หรือ แมวเหมียว หลานสาวของหนึ่งของปีติและเป็นลูกพี่ลูกน้องของปิลันธาเดินทางกลับจากต่างประเทศพร้อมกับสักการ ซึ่งเป็นคนรัก ปิลันธาที่แอบไปเห็นเขาก็สนใจ เมื่อเธอใช้พลังจิตบังคับสักการ แต่กลับไม่เป็นผลก็ยิ่งทวีความสนใจในชายคนนี้ขึ้นไปอีก และพยายามแย่งมาเป็นของเธอ[1][7] พรเห็นเช่นนั้นจึงตักเตือนปิลันธาด้วยความหวังดี แต่ปิลันธาโกรธมากจึงทำให้พรตาบอด ครั้นปีติทราบว่าปิลันธาทำร้ายพรก็เข้าไปต่อว่าอีก ปิลันธาโกรธจัดจนควบคุมตัวเองไม่ได้ เข้าทำลายข้าวของในห้องทดลองของปีติ ปีติโกรธจัดจึงผลักปิลันธาออกไปจนชนผนัง ทำให้น้ำกรดชนิดเข้มข้นพิเศษที่เก็บอยู่บนตู้ตกลงมาราดรดตัวปิลันธา ศีรษะและร่างกายของเธอแหลกเหลวไปต่อหน้าปีติ ปิลันธาร้องทรมานด้วยความเจ็บปวด ใบหน้าที่สวยงามมลายหาย ดวงตาที่เคยสวยงามก็หลุดห้อยลงมาน่าสยดสยอง เธอขอให้ปีติผ่าตัดเอาสมองออกจากร่างนี้ บัดนี้ปิลันธาคงเหลือแต่ก้อนสมอง แต่ก้อนสมองของปิลันธานี้มีพลังจิต ยังบังคับให้ปีติช่วยให้เธอมีร่างกายกลับคืนดังเดิม โดยเฉพาะการยึดร่างของวิฬารีเพราะหวังจะครองรักกับสักการ ระหว่างนั้นปีติได้ออกแบบอุปกรณ์สำหรับดูดเลือดแก่ก้อนสมอง ปิลันธาที่เหลือเพียงก้อนสมอง สามารถลอยไปลอยมาเพื่อดูดเลือดคนต่อไปอีก[7]

คืนหนึ่ง วิฬารีเดินออกมาจากบ้าน แล้วพบเข้ากับก้อนสมองลอยได้ ปิลันธาใช้พลังจิตทำให้วิฬารีสลบ ก้อนสมองลอยเข้าไปเกาะที่ศีรษะของวิฬารีแล้วบังคับร่างให้ไปที่ห้องทดลองใต้ดิน หวังให้ปีติผ่าตัดร่างวิฬารีให้เป็นของเธอ ขณะเดียวกัน สักการพบว่าวิฬารีหายตัวไปจึงออกตามหา จนพบว่าร่างของวิฬารีอยู่ในห้องใต้ดินของปีติ และพบว่าวิฬารีถูกก้อนสมองของปิลันธาควบคุมอยู่[7] สักการเข้าไปช่วยขณะที่ปิลันธาทำร้ายวิฬารีเจียนตาย สักการยืนยันว่าขอกอดศพวิฬารีดีกว่าจะต้องเอาสมองของคนอื่นมาใส่ร่างของวิฬารี สุดท้ายก้อนสมองถูกกระสุนปืนยิงแหลกกระจาย ทว่าดวงจิตของปิลันธายังไม่ไปไหน เธอยังคงวนเวียนอยู่ในห้องทดลองชั้นใต้ดินเพื่อเฝ้ารอโอกาสที่จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ตัวละคร

[แก้]
  • ปิลันธา วิเชียรภัทธ หรือ ปี๋ — หญิงวัยเบญจเพส ผู้ที่มีรูปโฉมงดงามแต่ทว่ามีจิตใจโหดร้ายทารุณ มักรังแกสิ่งมีชีวิตเป็นนิจศีล เธอเป็นบุตรของปิลันธน์ เป็นหลานสาวของปีติ และเป็นลูกพี่ลูกน้องของวิฬารี ปิลันธาสูญเสียบิดาไปแต่เด็ก จึงได้รับการดูแลจากพรและแส ซึ่งเป็นพ่อบ้านแม่บ้าน เธอมีพลังจิตหลายประการ เป็นต้นว่า การควบคุมสิ่งของให้เคลื่อนไหว ลอยตัว หรือแม้แต่สะกดจิต ปีติซึ่งเป็นลุงจึงให้ความสนใจกับหลานสาวคนนี้ ปิลันธาไม่คงแก่เรียน ลาออกจากโรงเรียนเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กระนั้นก็เป็นคนมีความรู้ถึงระดับบัณฑิตมหาวิทยาลัย หลังเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้คอขาดออกจากร่าง ก็ได้จัดพิธีศพและเผาร่างที่เน่าเปื่อยไป แต่เมื่อเธอได้ร่างหญิงสาวมาทดแทนร่างเดิม ปิลันธาได้ใช้ชื่อใหม่ว่า "ปรียา" โดยแสร้งว่าเป็นญาติห่าง ๆ มาอาศัยและรักษาตัวในคฤหาสน์วิเชียรภัทธ
  • วิฬารี อนรรฆเกียรติ หรือ แมวเหมียว — หญิงสาวอายุ 20 ปีเศษ เป็นลูกสาวเพียงคนเดียวของประวีณ อนรรฆเกียรติ (สกุลเดิม วิเชียรภัทธ) เป็นหลานสาวของปีติ และเป็นลูกพี่ลูกน้องของปิลันธา เพราะมารดาเป็นพี่สาวของปีติและปิลันธน์ วิฬารีและมารดาใช้ชีวิตต่างแดนมาตลอด สำเร็จการศึกษาด้านเลขานุการจากต่างประเทศ วิฬารีมีคู่หมั้นชื่อสักการ และเลี้ยงแมวไว้ตัวหนึ่งชื่อทอม
  • สักการ ศีขรินทร์ หรือ สัก — เป็นดอกเตอร์หนุ่มด้านศึกษาศาสตร์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสหรัฐ เขามีใบหน้าคมเข้ม ผิวขาว และสูงใหญ่กว่าชายไทยทั่วไป สักการรักใคร่ชอบพอกับวิฬารีซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นน้อง และยังเป็นชายที่ปิลันธาหมายปอง เมื่อกลับไทย เขาประกอบกิจเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
  • ปีติ วิเชียรภัทธ — เป็นศัลยแพทย์ชื่อดัง เป็นบุรุษร่างผอม ผิวคล้ำ โหนกแก้มสูง หน้าตอบ เกิดในตระกูลขุนนางเก่า มีบิดาเป็นทูต เป็นพี่ชายของปิลันธน์ บิดาของของปิลันธา จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และศัลยแพทย์จากสหรัฐ เคยสมรสกับหญิงงามชาวอเมริกันแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมาหย่าร้างเพราะปีติให้ความสำคัญกับการทดลองมากเกินไป อดีตภรรยาก็ไปสมรสใหม่ เมื่อผิดหวังกับความรักเขาจึงเดินทางกลับมาเปิดคลินิกในประเทศไทย โดยมีปิลันธาคอยช่วยเหลือ
  • ปิลันธน์ วิเชียรภัทธ — เป็นบิดาของปิลันธา เกิดในตระกูลขุนนางเก่ายุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีบิดาเป็นทูต มีปู่เป็นพระยา และเป็นน้องชายของปีติและประวีณ ส่วนเครือญาติอื่น ๆ ที่มีก็กระจัดพลัดพรายไปทั่ว ปิลันธน์มีหลายโรครุมเร้าจนเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร ด้วยเหตุนี้ปิลันธาจึงตกอยู่ในการดูแลของพรและแส
  • ประวีณ อนรรฆเกียรติ — เป็นมารดาของวิฬารี เป็นพี่สาวของปีติและปิลันธน์ เธอเป็นนักการทูตเช่นบิดาและครองโสดมานาน ภายหลังได้สมรสกับสามีซึ่งเป็นนักการทูตเช่นกันและทำงานอยู่ต่างประเทศมาตลอด
  • พร — พ่อบ้านคนสนิทและเป็นญาติฝั่งมารดาของปิลันธา เขาเป็นชายแก่ร่างผอมแต่แข็งแรงผิดกับรูปลักษณ์ เขาเป็นผู้เลี้ยงดูปิลันธามาตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ว่าปิลันธาจะต้องการอะไร พรจะหามาให้ทุกอย่าง พรรักปิลันธามากเพราะเป็นลูกสาวคนเดียวของปิลันธน์ เจ้านายซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว พรเป็นคนใช้เพียงคนเดียวที่อาศัยกับเจ้านายบนตึกใหญ่ ต่างจากคนใช้และคนครัวอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในเรือนเล็ก
  • แส — แม่บ้านคนสนิทและญาติฝั่งมารดาของปิลันธา เธอเลี้ยงดูปิลันธามาตั้งแต่เด็ก แต่แสเสียชีวิตไปนานแล้ว
  • ทิพย์ — คนครัวร่างท้วมประจำคฤหาสน์วิเชียรภัทธ เป็นคนเก่าแก่พอ ๆ กับพร
  • จันทร์ — แม่บ้านประจำคฤหาสน์วิเชียรภัทธ เป็นคนเก่าแก่พอ ๆ กับทิพย์ เป็นมารดาของจำปี
  • จำปี — แม่บ้านประจำคฤหาสน์วิเชียรภัทธ เป็นลูกสาวของจันทร์
  • ยง — คนสวนประจำคฤหาสน์วิเชียรภัทธ
  • ยุพา — หญิงวัย 20 ปีเศษ เป็นสาวใช้ที่พรส่งให้วิฬารีเมื่อกลับไทย ทั้งสองอาศัยอยู่ร่วมกันในตึกเล็กในคฤหาสน์วิเชียรภัทธ
  • ประเสริฐ หรือ เสริฐ — หัวหน้าแก๊งอันธพาล มีอุปนิสัยรวมกลุ่มกับลูกน้องลักเล็กขโมยน้อยและโทรมหญิง เคยถูกปิลันธาดูดเลือดพร้อมกับสุริยัน
  • ย้ง — ลูกน้องของประเสริฐ เป็นหนุ่มลูกครึ่งจีนหน้าจืด ผิวเหลือง หน้าเสี้ยม ตาชั้นเดียว และติดยาเสพติดจนร่างกายผ่ายผอม
  • หอย — ลูกน้องของประเสริฐ เป็นผู้พบปิลันธาที่คอขาดพร้อมกับย้ง
  • สุริยัน หรือ ยัน — ลูกน้องของประเสริฐ มีหน้าตาดีพอใช้ เป็นผู้ที่ถูกปิลันธาดูดเลือดต่อหน้าประเสริฐ เขากลายเป็นคนไข้ของรุ่งยศ
  • รำไพ ดาวแจ่ม — สาวรุ่นวัย 22 ปี เธอมีเรือนร่างงดงามอวบอัด ผิวกายสีน้ำผึ้ง ทว่าดวงหน้าแบนไม่สะสวยผิดกับเรือนร่าง เธอคบหากับสุริยันราวสองเดือน แต่รำไพหายตัวไปอย่างลึกลับจากห้องนอนของตัวเอง
  • รวย — แม่ค้าผลไม้ในตลาดวัย 40 ปี เป็นมารดาของรำไพ
  • ชัยชิต ภักดีอมร หรือ ชิต — หนุ่มนักหนังสือพิมพ์ เป็นชายผิวสองสี ตัวสูงกว่ามาตรฐานชายไทย หน้ายิ้มระรื่น และเป็นเพื่อนสนิทของสักการ ชัยชิตจบการศึกษาจากต่างประเทศ เคยเป็นนักข่าวมาก่อน ก่อนเข้าเป็นนักหนังสือพิมพ์ สารไทย ของบิดาตนเอง
  • รุ่งยศ ลาภานันท์ หรือ หมอ — เป็นนายแพทย์หนุ่มเพื่อนสนิทของสักการ มีใบหน้าเคร่งขรึม สูงโปร่ง ผิวคล้ำ และมีศีรษะเถิกจึงถูกสักการแซวว่าหัวล้านอยู่เสมอ
  • รพินทร์ ปฏิภาณไพบูลย์ — เป็นตำรวจยศร้อยตำรวจโท เป็นเพื่อนของชัยชิตและรุ่งยศ ที่ร่วมสืบคดีผีหัวขาดดูดเลือด
  • ทอมแมวสีสวาดของวิฬารีที่นำมาจากประเทศอังกฤษ เป็นแมวช่างประจบและพะเน้าพะนอ คอยรับคำสั่งเป็นภาษาอังกฤษถนัดกว่าภาษาไทย เป็นที่รักของวิฬารีและเหล่าคนใช้ แต่จู่ ๆ ทอมก็หายไปจากตึกเล็ก ซึ่งแท้จริงแล้วทอมถูกปิลันธาจับไปฟาดพื้นจนตายที่เรือนร้างภายในคฤหาสน์
  • สุวณี หรือ สุ — นางแบบซึ่งเป็นเพื่อนของชัยชิต
  • เพ็ญทิวา หรือ เป้า — น้องสาวของเพื่อนชัยชิต
  • เด่นทิพย์ ทศพร หรือ เด่น — นางแบบผู้มีชื่อเสียงในสังคม มีหุ่นผอมบาง นัยน์ตาสีน้ำตาล แม้หน้าตาไม่สะสวยมาก แต่แต่งตัวดี มีเสียงแหบเสน่ห์ เป็นเพื่อนคนหนึ่งของสุวณี เธอชอบสักการอย่างออกนอกหน้าและพยายามตีสนิท

การเผยแพร่

[แก้]

นวนิยาย

[แก้]

ศีรษะมาร เคยตีพิมพ์ครั้งแรก โดยพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร บางกอก ช่วง พ.ศ. 2529–2530[3] ก่อนรวมเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2531 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โชคชัยเทเวศร์[2] ตีพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยสำนักพิมพ์รวมสาสน์[1] ปัจจุบันสำนักพิมพ์กรู๊ฟ พับลิชชิ่งนำ ศีรษะมาร มาตีพิมพ์ และแบ่งนวนิยายเรื่องนี้ออกเป็นสองเล่ม เพื่อสะดวกในการอ่าน[3]

ละครโทรทัศน์

[แก้]

ศีรษะมาร (พ.ศ. 2536)

[แก้]
ศีรษะมาร
ประเภทละครโทรทัศน์
สร้างโดยดาราวิดีโอ
เขียนโดยจินตวีร์ วิวัธน์
กำกับโดยจรูญ ธรรมศิลป์
แสดงนำบิลลี่ โอแกน
ชฎาพร รัตนากร
อุษณีย์ รักกสิกรณ์
ภาณุเดช วัฒนสุชาติ
ผู้ประพันธ์ดนตรีแก่นเรื่อง"ศีรษะมาร" โดยฉันทนา กิติยพันธ์
จำนวนตอน19 ตอน
การผลิต
ความยาวตอน70 นาที /ตอน
ออกอากาศ
เครือข่ายสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
ออกอากาศ10 ธันวาคม พ.ศ. 2536 –
13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537

ศีรษะมาร ถูกทำเป็นละครโทรทัศน์ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เมื่อปี พ.ศ. 2536[3][5] ผลิตโดยค่ายดาราวิดีโอ บทโทรทัศน์โดยลุลินารถ กำกับการแสดงโดยจรูญ ธรรมศิลป์ นำแสดงโดยชฎาพร รัตนากร, บิลลี่ โอแกน, อุษณีย์ รักกสิกรณ์ และภาณุเดช วัฒนสุชาติ ถือเป็นละครสยองขวัญที่ถูกกล่าวถึงมากจนถึงปัจจุบัน[6] ส่วนเพลงประกอบละครก็ใช้ชื่อ "ศีรษะมาร" เช่นกัน ขับร้องโดยฉันทนา กิติยพันธ์[5]

ตัวละคร แสดงโดย
สักการ ศีขรินทร์ บิลลี่ โอแกน
ปิลันธา วิเชียรภัทธ (ปี๋) ชฎาพร รัตนากร
หยาดทิพย์ ราชปาล (วัยเด็ก)
ปิติ วิเชียรภัทธ ภาณุเดช วัฒนสุชาติ
วิฬารี อนรรฆเกียรติ (แมวเหมียว) อุษณีย์ รักกสิกรณ์
รพินทร์ อติเทพ ฤทธิไกรวัล
รุ่งยศ พิทยา ณ ระนอง
ชัยชิต ภักดีภมร มาฬิศร์ เชยโสภณ
ยุพา สุรางคณา สุนทรพนาเวช
เด่นทิพย์ ทศพร ศิตา เมธาวี
พร ชุมพร เทพพิทักษ์
ทิพย์ เมตตา รุ่งรัตน์
ยง มอริส เค
จันทร์ มนทิพย์ พันธุ์เพ็ง
สุริยันต์ สิงห์แก้ว ศรีวิลา
ประเสริฐ พิพัฒน์พล โกมารทัต
ย้ง สมศักดิ์ รัตนกุล
สุรางค์ ดวงฤดี พูนพิพัฒน์
เฉลิม ชลิต เฟื่องอารมย์
บัว จันทนา ศิริผล

ศีรษะมาร (พ.ศ. 2565)

[แก้]
ศีรษะมาร
ประเภทละครโทรทัศน์
สร้างโดยแบร์ อิน มายด์ สตูดิโอส์
เขียนโดยจินตวีร์ วิวัธน์
กำกับโดยกรัณย์ คุ้มอนุวงศ์
แสดงนำหยาดทิพย์ ราชปาล
กฤษฎา พรเวโรจน์
เกวลิน ศรีวรรณา
วิลลี่ แมคอินทอช
ชินวุฒ อินทรคูสิน
ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม
รักษ์ณภัค วงศ์ธนทัศน์
ผู้ประพันธ์ดนตรีแก่นเรื่อง"ไม่มีวันสลาย" โดยนุชประวีณ์ ข้องรอด
จำนวนตอน32 ตอน
การผลิต
ความยาวตอน60 นาที /ตอน
ออกอากาศ
เครือข่ายช่อง 8
ออกอากาศ8 สิงหาคม พ.ศ. 2565 –
29 กันยายน พ.ศ. 2565

ศีรษะมาร เป็นที่กล่าวขวัญกันเป็นอย่างมาก[ใคร?] ออกอากาศทางช่อง 8 ในปี พ.ศ. 2565 ผลิตโดยค่าย บริษัท แบร์ อิน มายด์ สตูดิโอส์ จำกัด บทโทรทัศน์โดย ชนิกานต์ แตงน้อย, พัชรินทรา, มิติ, ฟรานเชสก้า ฮัว กำกับการแสดงโดย กรัณย์ คุ้มอนุวงศ์ นำแสดงโดย หยาดทิพย์ ราชปาล, กฤษฎา พรเวโรจน์, เกวลิน ศรีวรรณา, วิลลี่ แมคอินทอช, ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม, ชลิดา กล่ำปาน และ รักษ์ณภัค วงศ์ธนทัศน์

ตัวละคร แสดงโดย รายละเอียด
ปิลันธา วิเชียรภัทร (ปี๋) หยาดทิพย์ ราชปาล ไฮโซสาวผู้มีพลังจิต ประสบอุบัติเหตุจนศีรษะขาดแต่ไม่ตาย
นพ.ดร.สักการ ศีขรินทร์ (หมอสักการ) กฤษฎา พรเวโรจน์ แพทย์นิติเวชผู้ไขคดีปริศนา
วิฬารี อนรรฆเกียรติ (แมวเหมียว) เกวลิน ศรีวรรณา
มาชิดา สุทธิกุลพานิช (วัยเด็ก)
นักข่าวสาว เป็นน้องสาวต่างมารดาของปี๋
ดร.ปิติ วิเชียรภัทร วิลลี่ แมคอินทอช นักวิทยาศาสตร์ผู้เป็นอาของปี๋
กรณ์ กนกรัตน์ ชินวุฒ อินทรคูสิน พี่ชายกรรณ/ไฮโซที่ตามจีบปี๋
พร ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม ผู้ติดตามผู้ซื่อสัตย์ของปี๋
ปูเป้ รักษ์ณภัค วงศ์ธนทัศน์ สาวสวยมีฐานะคอยร้ายจะตามลวงความลับของปี๋
สุดา สโรชา วาทิตตพันธ์ แม่ของวิฬารี

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 มิรายญิ์ (2554). จินตวีร์ปริทัศน์ (PDF). p. 5-9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-09-20. สืบค้นเมื่อ 2019-09-20.
  2. 2.0 2.1 "ศีรษะมาร : จินตวีร์ วิวัธน์". บล็อกแก๊ง. 24 กรกฎาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 พงศกร จินดาวัฒนะ (25 พฤษภาคม 2562). "ศีรษะมาร". กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-20. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 อรัณย์ หนองพล (10 ตุลาคม 2561). "คุณนายลั่นทม อีแพง คุณปี๋ ฯลฯ ผีผู้หญิงในละคร แรงเฮี้ยนที่ไม่ใช่แค่ความน่ากลัว". The Standard. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Piyakul Phusri (15 กันยายน 2560). "Haunted Theme Songs ไตเติ้ลหลอน ละครผี". ฟังใจ. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 "10 ละครสยองขวัญ ในความทรงจำ นึกถึงทีไรขนลุกทุกที". สุดสัปดาห์. 13 มิถุนายน 2560. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 ศุภโชติ ไชยโย. "แนะนำให้อ่าน 'ศีรษะมาร'". อ่านเอา. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)