ข้ามไปเนื้อหา

ศาสนาอิสลาม

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อิสลาม)

ศาสนาอิสลาม (อังกฤษ: Islam) เป็นศาสนาเอกเทวนิยมและศาสนาอับราฮัม บัญญัติไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของอิสลามซึ่งสาวกถือว่าเป็นพระวจนะคำต่อคำของพระเป็นเจ้า (อัลลอฮฺ) และสำหรับสาวกส่วนใหญ่ เป็นคำสอนและตัวอย่างเชิงบรรทัดฐาน (เรียกว่า สุนัต และประกอบด้วยหะดีษ) ของมุฮัมมัด (ประมาณ 570–8 มิถุนายน 632) เป็นศาสดา (นบี) องค์สุดท้ายของพระเป็นเจ้า สาวกของศาสนาอิสลาม เรียกว่า มุสลิม

มุสลิมเชื่อว่า พระเจ้าเป็นหนึ่งและหาที่เปรียบไม่ได้ และจุดประสงค์ของการดำรงอยู่ คือ เพื่อรักและรับใช้พระเป็นเจ้า[1] มุสลิมยังเชื่อว่า ศาสนาอิสลามเป็นบรรพศรัทธาฉบับสมบูรณ์และเป็นสากลที่สุดซึ่งได้ประจักษ์มาหลายครั้งก่อนหน้านั้น ผ่านศาสดาซึ่งรวมอาดัม โนอาห์ อับราฮัม โมเสส และพระเยซู[2] พวกเขายึดมั่นว่า สารและวิวรณ์ถูกแปลผิดหรือเปลี่ยนแปลงบางส่วนตามกาล[3] แต่มองว่าอัลกุรอานภาษาอาหรับเป็นทั้งวิวรณ์สุดท้ายและไม่เปลี่ยนแปลงของพระเป็นเจ้า[4] มโนทัศน์และหลักศาสนามีเสาหลักทั้งห้าของอิสลาม ซึ่งเป็นมโนทัศน์พื้นฐานและการปฏิบัติตนนมัสการที่ต้องปฏิบัติตาม และกฎหมายอิสลามที่ตามมา ซึ่งครอบคลุมแทบทุกมุมของชีวิตและสังคม โดยกำหนดแนวทางในหัวเรื่องหลายหลาก ตั้งแต่การธนาคารไปจนถึงสวัสดิการ ชีวิตครอบครัวและสิ่งแวดล้อม[5][6]

มุสลิมส่วนใหญ่เป็นนิกายซุนนีย์ คิดเป็น 75–90% ของมุสลิมทั้งหมด[7] นิกายใหญ่ที่สุดอันดับสอง คือ ชีอะฮ์ คิดเป็น 10–20%[8] ประเทศมุสลิมใหญ่ที่สุด คือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีชาวมุสลิม 12.7% ของโลก ตามมาด้วยปากีสถาน (11.0%) อินเดีย (10.9%) และบังกลาเทศ (9.2%)[9][10] นอกจากนี้ ยังพบชุมชนขนาดใหญ่ในจีน รัสเซียและยุโรปบางส่วน ด้วยสาวกกว่า 1,500 ล้านคน หรือ 22% ของประชากรโลก[11][12] อิสลามจึงเป็นศาสนาใหญ่ที่สุดอันดับสองและศาสนาหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกศาสนาหนึ่ง[13]

ศัพทมูลวิทยาและความหมาย

บทแห่งศรัทธา

พระเป็นเจ้า

หลักมูลที่สุดของศาสนาอิสลาม คือ เอกเทวนิยมอย่างเคร่งครัด เรียก เตาฮีด (อาหรับ: توحيد) พระเป็นเจ้าพรรณนาในบทที่ 112 ของคัมภีร์อัลกุรอานว่า "จงกล่าวเถิด "พระองค์คืออัลลอฮฺ พระผู้ทรงเอกะ อัลลอฮฺนั้นทรงอิสระ พระองค์ไม่ทรงประสูติบุตร และไม่ทรงถูกประสูติ และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์"" (112:1-4) มุสลิมและยิวบอกเลิกหลักตรีเอกานุภาพของคริสต์ศาสนิกชนและเทวภาวะของพระเยซู โดยเปรียบเทียบกับพหุเทวนิยม ในศาสนาอิสลาม พระเป็นเจ้าอยู่เกินความเข้าใจซึ้งใด ๆ และมุสลิมไม่คาดหวังเห็นพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าถูกพรรณาและอ้างถึงในหลายพระนามหรือลักษณะเฉพาะบางอย่าง ที่พบบ่อยที่สุดคือ อัร-เราะห์มาน (Al-Rahmān) หมายถึง "พระผู้ทรงเมตตา" และอัล-ราฮีม (Al-Rahīm) หมายถึง "พระผู้ทรงปรานี"

มุสลิมเชื่อว่าการสรรสร้างทุกสิ่งในเอกภาพถูกทำให้มีโดยพระโองการบริบูรณ์ของพระเป็นเจ้า "จงเป็น แล้วมันก็เป็นขึ้นมา" และความมุ่งหมายของการดำรงอยู่คือเพื่อบูชาพระเป็นเจ้า มองว่าพระองค์เป็นพระเป็นเจ้าเฉพาะบุคคลซึ่งทรงสนองเมื่อใดก็ตามที่บุคคลต้องการหรือเป็นทุกข์เรียกหาพระองค์ ไม่มีคนกลาง เช่น นักบวช เพื่อติดต่อพระเป็นเจ้าซึ่งว่า "เรานั้นใกล้ชิดเขายิ่งกว่าเส้นโลหิตชีวิตของเขาเสียอีก" มีกล่าวถึงธรรมชาติส่วนกลับในหะดีษกุดซีย์ "เราเป็นอย่างที่ผู้รับใช้ของเราคิด (คาด) ว่าเราเป็น"

อัลลอฮฺเป็นคำไม่มีพหูพจน์หรือเพศที่มุสลิมและคริสต์ศานิกชนและยิวที่พูดภาษาอารบิกอ้างถึงพระเป็นเจ้า ส่วน "อิเลาะห์" (อาหรับ: إله‎) เป็นคำที่ใช้กับเทวดาหรือเทพเจ้าโดยรวม

เทวทูต

ความเชื่อในเทวทูตเป็นหลักมูลต่อศรัทธาศาสนาอิสลาม คำภาษาอารบิกสำหรับทูตสวรรค์ (อาหรับ: ملك) หมายถึง "ทูต" เหมือนคำเดียวกันในภาษาฮีบรู (malakh) และกรีก (angelos) ตามคัมภีร์อัลกุรอาน เทวทูตไม่มีเจตจำนงเสรี ฉะนั้นจึงบูชาและเชื่อฟังพระเป็นเจ้าโดยทำตามอย่างสมบูรณ์ กิจของเทวทูตมีการสื่อสารวิวรณ์จากพระเป็นเจ้า การเฉลิมพระเกียรติพระเป็นเจ้า การบันทึกทุกกิริยาของบุคคล และการเอาวิญญาณของบุคคลเมื่อถึงกาลมรณะ มุสลิมเชื่อว่าเทวทูตทำจากแสง พรรณนาว่าเทวทูตเป็น "ทูต มีปีก สองหรือสามหรือสี่ (คู่) [อัลลอฮฺ]ทรงเพิ่มในการสร้างตามที่พระองค์ทรงประสงค์..."

หลักคำสอน

หลักคำสอนของศาสนาอิสลามแบ่งไว้ 3 หมวดดังนี้

  1. หลักการศรัทธา
  2. หลักจริยธรรม
  3. หลักการปฏิบัติ

หลักการศรัทธา

สติปัญญาและสามัญสำนึกจะพบว่า จักรวาลและมวลสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ มิได้อุบัติขึ้นมาด้วยตัวเอง เป็นที่แน่ชัดว่า สิ่งเหล่านี้ได้ถูกอุบัติขึ้นมาโดยพระผู้สร้าง ผู้ทรงสูงสุดเพียงพระองค์เดียว ที่ไม่แบ่งภาค หรือแบ่งแยกเป็นสิ่งใด ไม่ถูกบังเกิด ไม่ถูกกำเนิด และไม่ให้กำเนิดบุตร ธิดาใด ๆ ผู้ทรงสร้าง และบริหารสรรพสิ่งด้วยอำนาจและความรอบรู้ที่ไร้ขอบเขต ทรงกำหนดกฎเกณฑ์ที่โดยทั่วไปไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือไว้ทั่วทั้งจักรวาลหรือที่เข้าใจว่าเป็น"กฎธรรมชาติ" ทรงขับเคลื่อนจักรวาลด้วยระบบที่ละเอียดอ่อน มีเป้าหมาย ซึ่งไม่มีสรรพสิ่งใดถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร้สาระ

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตา ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาอย่างประเสริฐจะเป็นไปได้อย่างไร ที่พระองค์จะปล่อยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ไปตามลำพัง โดยไม่ทรงเหลียวแล หรือปล่อยให้สังคมมนุษย์ และสิ่งมีชีวิต กำเนิดขึ้น แล้วดำเนินไปตามยถากรรมของตัวเอง สภาวะแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่จึงเป็นความพอดีอย่างที่สุดที่ผู้ใช้ปัญญา ไม่สามารถอธิบายได้ด้วย "ความบังเอิญ" สอดคล้องตามทฤษฎีความน่าจะเป็นทางคณิตศาสตร์

พระองค์ทรงขจัดความสงสัยเหล่านี้ ด้วยการประทานกฎการปฏิบัติต่าง ๆ ผ่านบรรดาศาสดา ให้มาสั่งสอนและแนะนำมนุษย์ไปสู่การปฏิบัติ สำหรับการดำเนินชีวิต แน่นอนมนุษย์อาจมองไม่เห็นผล หรือได้รับประโยชน์จากการทำความดี หรือได้รับโทษจากการทำชั่ว ของตนในชีวิตบนโลกนี้ ที่เป็นเพียงโลกแห่งการทดสอบ โลกแห่งการตอบแทนที่แท้จริงยังมาไม่ถึง

จากจุดนี้ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า ต้องมีสถานที่อื่นอีก อันเป็นสถานที่ตรวจสอบการกระทำของมนุษย์ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้าเป็นความดีพวกเขาจะได้รับรางวัลเป็นผลตอบแทน แต่ถ้าเป็นความชั่วก็จะถูกลงโทษไปตามผลกรรมนั้น ศาสนาได้เชิญชวนมนุษย์ไปสู่หลักการศรัทธา และความเชื่อมั่นที่สัตย์จริง พร้อมพยายามผลักดันมนุษย์ ให้หลุดพ้นจากความโง่เขลาเบาปัญญา ระบอบการกดขี่ การแบ่งชั้นวรรณะ และบังเกิดสันติสุขของมนุษยชาติโดยรวมในที่สุด

หลักจริยธรรม

ศาสนาสอนว่า ในการดำเนินชีวิตจงเลือกสรรเฉพาะสิ่งที่ดี อันเป็นที่ยอมรับของสังคม จงทำตนให้เป็นผู้ดำรงอยู่ในศีลธรรม พัฒนาตนเองไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ดี เป็นคนที่รู้จักหน้าที่ ห่วงใย มีเมตตา มีความรัก ซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น รู้จักปกป้องสิทธิของตน ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นผู้มีความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว และหมั่นใฝ่หาความรู้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นคุณสมบัติของผู้มีจริยธรรม ซึ่งความสมบูรณ์ทั้งหมดอยู่ที่ความยุติธรรม

หลักการปฏิบัติ

ศาสนาสอนว่า กิจการงานต่าง ๆ ที่จะทำนั้น มีความเหมาะสมกับตนเองและสังคม ขณะเดียวกันต้องออกห่างจากการงานที่ไม่ดี ที่สร้างความเสื่อมเสียอย่างสิ้นเชิง

ส่วนการประกอบคุณงามความดีอื่น ๆ การถือศีลอด การนมาซ และสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งเหล่านี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นบ่าวที่จงรักภักดี และปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ กฎเกณฑ์และคำสอนของศาสนา ทำหน้าที่คอยควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ทั้งที่เป็นหลักศรัทธา หลักปฏิบัติและจริยธรรม

เราอาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ละเมิดคำสั่งต่าง ๆ ของศาสนา มิได้ถือว่าเขาเป็นผู้ที่ศรัทธาอย่างแท้จริง หากแต่เขากระทำการต่าง ๆ ไปตามอารมณ์และความต้องการใฝ่ต่ำของเขาเท่านั้นเอง

ศาสนาอิสลามในความหมายของอัล-กุรอานนั้น หมายถึง "แนวทางในการดำเนินชีวิต ที่มนุษย์จะปราศจากมันไม่ได้" ส่วนความแตกต่างระหว่างศาสนากับกฎของสังคมนั้น คือศาสนาได้ถูกประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้า ส่วนกฎของสังคมเกิดขึ้นจากความคิดของมนุษย์ อีกนัยหนึ่ง ศาสนาอิสลามหมายถึง การดำเนินของสังคมที่เคารพต่ออัลลอหฺ และเชื่อฟังปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์

อัลลอฮ์ ตรัสเกี่ยวกับศาสนาอิสลามว่า "แท้จริง ศาสนา ณ อัลลอฮฺ คืออิสลาม และบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์มิได้ขัดแย้งกัน นอกจากภายหลังที่ความรู้มาปรากฏแก่พวกเขาเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากความอิจฉาริษยาระหว่างพวกเขาเอง และผู้ใดปฏิเสธต่อบรรดาโองการของอัลลอฮ์แล้วไซร้ แน่นอน อัลลอฮ์ทรงเป็นผู้ทรงรวดเร็วในการชำระ" (อัลกุรอาน อาลิอิมรอน:19)

ศาสนวินัย นิติศาสตร์และการพิพากษา

  1. วาญิบ คือหลักปฏิบัติภาคบังคับที่มุกัลลัฟ (มุสลิมผู้อยู่ในศาสนนิติภาวะ) ทุกคน ต้องปฏิบัติตาม ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงทัณฑ์ เช่นการปฏิบัติตาม ฐานบัญญัติของอิสลาม (รุกน) ต่าง ๆ การศึกษาวิทยาการอิสลาม การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เป็นต้น
  2. ฮะรอม คือกฎบัญญัติห้ามที่มุกัลลัฟทุกคนต้องละเว้น ผู้ที่ไม่ละเว้นจะต้องถูกลงทัณฑ์
  3. ฮะลาล คือกฎบัญญัติอนุมัติให้มุกัลลัฟกระทำได้ อันได้แก่ การนึกคิด วาจา และการกระทำที่ศาสนาได้อนุมัติให้ เช่น การรับประทานเนื้อปศุสัตว์ที่ได้รับการเชือดอย่างถูกต้อง การค้าขายโดยสุจริตวิธี การสมรสกับสตรีตามกฎเกณฑ์ที่ได้ระบุไว้ เป็นต้น
  4. มุสตะฮับ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ซุนนะฮฺ (ซุนนะห์, ซุนนัต) คือกฎบัญญัติชักชวนให้มุสลิม และมุกัลลัฟกระทำ หากไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนศาสนวินัย โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรม เช่นการใช้น้ำหอม การขริบเล็บให้สั้นเสมอ การละหมาดเหนือการละหมาดภาคบังคับหรือการละหมาดนอกเวลา ละหมาดต่างสถานที่
  5. มักรูฮฺ คือกฎบัญญัติอนุมัติให้มุกัลลัฟกระทำได้ แต่พึงละเว้น คำว่า มักรูหฺ ในภาษาอาหรับมีความหมายว่า น่ารังเกียจ โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรม เช่นการรับประทานอาหารที่มีกลิ่นน่ารังเกียจ การสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ขัดต่อกาลเทศะ เป็นต้น
  6. มุบาฮฺ คือสิ่งที่กฎบัญญัติไม่ได้ระบุเจาะจง จึงเป็นความอิสระสำหรับมุกัลลัฟที่จะเลือกกระทำหรือละเว้น เช่นการเลือกพาหนะ อุปกรณ์เครื่องใช้ หรือ การเล่นกีฬาที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติห้าม

ฐานบัญญัติอิสลาม (รุกุน) ของซุนนีย์

  1. การปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอหฺและมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอหฺ (ชะฮาดะฮ์)
  2. ดำรงการละหมาด วันละ 5 เวลา
  3. จ่ายซะกาต
  4. ถือศีลอดในเดือนรอมะฎอนทุกปี
  5. บำเพ็ญฮัจญ์ หากมีความสามารถ

อ้างอิง

  1. ดู
    • อัลกุรอาน 51:56
    • "God". Islam: Empire of Faith. PBS. สืบค้นเมื่อ 2010-12-18. For Muslims, God is unique and without equal.
  2. "People of the Book". Islam: Empire of Faith. PBS. สืบค้นเมื่อ 2010-12-18.
  3. ดู
    • Accad (2003): According to Ibn Taymiya, although only some Muslims accept the textual veracity of the entire Bible, most Muslims will grant the veracity of most of it. * Esposito (1998), pp.6,12
    • Esposito (2002b), pp.4–5
    • F. E. Peters (2003), p.9
    • F. Buhl; A. T. Welch. "Muhammad". Encyclopaedia of Islam Online.
    • Hava Lazarus-Yafeh. "Tahrif". Encyclopaedia of Islam Online.
  4. Bennett (2010), p.101
  5. Esposito (2002b), p.17
  6. ดู
    • Esposito (2002b), pp.111,112,118
    • "Shari'ah". Encyclopædia Britannica Online.
  7. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Sunni-eb
  8. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Shia
  9. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ pewmuslim1
  10. "Number of Muslim by country". nationmaster.com. สืบค้นเมื่อ 2007-05-30.
  11. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ mgmpPRC
  12. "The World Factbook". CIA Factbook. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-05. สืบค้นเมื่อ 2010-12-08.
  13. "The List: The World's Fastest-Growing Religions". Foreign Policy. May 14, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-21. สืบค้นเมื่อ 2010-05-16.