อุปรากร
อุปรากร หรือ โอเปร่า (อังกฤษ: opera) เป็นศิลปะการแสดงบนเวทีชนิดหนึ่ง โดยมีลักษณะเป็นแบบละครที่ดำเนินเรื่องโดยใช้ดนตรีเป็นหลักหรือทั้งหมด อุปรากรถือเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีคลาสสิก ตะวันตก มีความใกล้เคียงกับละครเวทีในเรื่องฉาก การแสดง และเครื่องแต่งกาย แต่สิ่งสำคัญที่แยกอุปรากรออกจากละครเวทีทั่วไป คือ ความสำคัญของเพลง ดนตรีที่ประกอบการร้อง ซึ่งอาจมีตั้งแต่วงดนตรีขนาดเล็กจนไปถึงวงออร์เคสตราขนาดใหญ่
ประวัติ
[แก้]อุปรากรกำเนิดขึ้นในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 16 ณ ประเทศอิตาลี สามารถสืบค้นต้นกำเนิดได้ถึงสมัยกรีกโบราณ ซึ่งมีการแสดงที่เรียกว่า tragedies ลักษณะเป็นการขับร้องประสานเสียงประกอบบทเจรจา ในสมัยกลางและเรเนส์ซองส์มีการแสดงที่ใช้การขับร้องดำเนินเรื่อง เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 16 กลุ่มนักดนตรีอิตาเลียนที่เมืองฟลอเรนซ์ได้ศึกษาประวัติเกี่ยวกับละครร้องย้อนไปถึงยุคกรีกโบราณดังกล่าว ในที่สุดจึงคิดรูปแบบการประพันธ์ที่เรียกว่า อุปรากร ขึ้น ผู้ประพันธ์เพลงที่ได้พัฒนารูปแบบของอุปรากร คือ เพรี ราวต้นศตวรรษที่ 17 มอนเทเวร์ดีได้ปรับรูปแบบอุปรากรให้สมบูรณ์ขึ้น ทำให้คล้ายกับรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อุปรากรเป็นการแสดงที่ผู้ขับร้องนำบทพระเอกและนางเอกเป็นสตรีล้วน ตั้งแต่ยุคคลาสสิกเป็นต้นมา ผู้ขับร้องนำทั้งพระเอกและนางเอกใช้ผู้ขับร้องเป็นชายและหญิงแท้จริง ว็อล์ฟกัง อมาเดอุส โมทซาร์ท เป็นผู้หนึ่งที่พัฒนารูปแบบอุปรากรในยุคคลาสสิกให้มีมาตรฐาน โดยไว้หลายเรื่องด้วยกัน ในยุคโรแมนติกการประพันธ์อุปรากรมีรูปแบบหลากหลาย บางเรื่องมีความยาวมาก สามารถแสดงได้ทั้งวันทั้งคืน
องค์ประกอบของอุปรากร
[แก้]- 1. เนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องที่นำมาเป็นบทขับร้อง เป็นเรื่องที่มาจากตำนาน เทพนิยายโบราณ และวรรณกรรมต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงมาทำเป็นบทร้อง และที่แต่งขึ้นใหม่โดยเฉพาะ โดยมีคีตกวีเป็นผู้แต่งทำนอง คีตกวีบางคนก็มีความสามารถแต่งเนื้อเรื่องหรือบทละคร และดนตรีประกอบด้วย
- 2. ดนตรี ดนตรีในอุปรากรเป็นสิ่งที่ทำให้อุปรากรมีชีวิตจิตใจ มักเริ่มด้วยบทโหมโรง (Overture) และดนตรีประกอบบทขับร้อง ทั้งดำเนินเรื่องและเจรจากันตลอดทั้งเรื่อง ดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญ จนอุปรากรได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานของคีตกวี (Composer) มากกว่าที่จะคิดถึงผู้ประพันธ์เนื้อเรื่อง เช่น เรื่อง Madame Butterfly ของ Giacomo Puccini (1878-1924) จาโกโม ปุชชีนี เป็นคีตกวีที่แต่งดนตรีประกอบ ผู้แต่งละครมาดามบัตเตอร์ฟลาย คือ David Belasco (ได้โครงเรื่องมาจากเรื่องสั้นของ John Luther Long) ผู้แต่งเนื้อเรื่องให้เป็นบทขับร้อง คือ Luigi lllica และ Giuseppe Giacosa ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายแล้ว ก็จะยกย่องให้เป็นงานของปุชชินี มักไม่มีใครนึกถึงนักประพันธ์บทขับร้อง หรืออุปรากรเรื่อง การ์เมน ของฌอร์ฌ บีแซ ที่มีพร็อสแปร์ เมรีเม เป็นผู้ประพันธ์เรื่อง และมี Henri Meilhac และ Ludovic Halevy เป็นผู้ร้อยกรองบทขับร้อง แต่คนก็จะพูดกันถึงแต่เพียงว่า อุปรากรเรื่องคาร์เมนของบิเซต์ ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบเป็นวงออร์เคสตรา
- 3. ผู้แสดง ผู้แสดงอุปรากรนอกจากจะต้องเป็นนักร้องที่มีเสียงไพเราะ มีพลังเสียงดี แข็งแรง ฝึกฝนเป็นนักร้องอุปรากรโดยเฉพาะแล้ว ยังเป็นนักแสดงผู้มีบทบาทยอดเยี่ยมด้วย เน้นในเรื่องน้ำเสียง ความสามารถในการขับร้องและบทบาทมากกว่าความสวยงามและรูปร่างของผู้แสดง มักให้นักร้องเสียงสูงทั้งหญิงและชายแสดงเป็นตัวเอกของเรื่อง โดยทั่วไป น้ำเสียงที่ใช้ในการขับร้องแบ่งเป็น 6 ระดับเสียง คือ เป็นน้ำเสียงนักร้องชาย 3 ระดับ และน้ำเสียงนักร้องหญิง 3 ระดับ ดังนี้
1. โซปราโน (Soprano) เป็นระดับเสียงสูงสุดของนักร้องหญิง
2. เมซโซโซปราโน (Mezzo - Soprano) เป็นระดับเสียงกลางของนักร้องหญิง
3. คอนทรัลโต หรือ อัลโต (Contralto or Alto) เป็นเสียงระดับต่ำสุดของนักร้องหญิง
4. เทเนอร์ (Tenor) เป็นเสียงระดับสูงสุดของนักร้องชาย
5. บาริโทน (Baritone) เป็นเสียงระดับกลางของนักร้องชาย
6. เบส (Bass) เป็นเสียงระดับต่ำสุดของนักร้องชาย
ลักษณะของอุปรากร
[แก้]- 1. ลิเบรตโต (Libretto) คือเนื้อเรื่อง หรือบทละครของอุปรากร บางครั้งอาจดัดแปลงมาจากนวนิยายหรือบทละครอื่น ๆ บางครั้งก็เป็นบทที่ผู้ประพันธ์แต่งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับคีตกวี เช่น ดา ปองเต (Da Ponte) เขียนบทบางเรื่องให้กับโมสาร์ท เช่น เรื่อง Don Giovanni, บัวตา (Boita) เขียนบทบางเรื่องให้กับแวร์ดี เช่น เรื่อง Otella บางครั้งบทก็เป็นของผู้ประพันธ์เพลงเอง เช่น วากเนอร์ ประพันธ์ Lohengrin และ The Flying Dutchman และเมน็อตตี (Menotti) ประพันธ์ The Telephone เป็นต้น
- 2. เพลงโหมโรง (Overture) คือ บทประพันธ์ที่ใช้บรรเลงนำก่อนการแสดงอุปรากร บางครั้งใช้คำว่า พรีลูด (Prelude) เป็นเพลงที่แสดงถึงอารมณ์โดยรวมของอุปรากรที่จะแสดง กล่าวคือ ถ้าเป็นเรื่องเศร้า เพลงโหมโรงก็จะมีทำนองเศร้าอยู่ในที เป็นต้น บางครั้งเพลงโหมโรงอาจรวมเอาทำนองหลักจากอุปรากรฉากต่าง ๆ ไว้ก็ได้ เพลงโหมโรงนี้มักเป็นเพลงสั้น ๆ ประมาณ 5-10 นาที ปกติจะใช้วงออร์เคสตราทั้งวงบรรเลง ลักษณะของเพลงโหมโรงมักรวมเอาองค์ประกอบต่าง ๆ ของดนตรีไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านความดัง – ค่อย สีสัน ลีลาต่าง ๆ จึงทำให้เพลงโหมโรงเป็นบทเพลงที่ชวนฟัง เพลงโหมโรงของอุปรากรบางเรื่องมีความไพเราะเป็นที่นิยมฟังและบรรเลงเป็นบทเพลงแรกของการแสดงคอนเสิร์ตโดยทั่วไป เช่น “Overture of The Marriage of Figaro” ของโมสาร์ท “The Barber of Seville Overture” ของ รอสซินี “Fidelio” ของเบโธเฟ่น “Overture of Carmen” ของบิเซต์ เป็นต้น
- 3. เรซิเททีฟ (Recitative) คือบทสนทนาในอุปรากรที่ใช้การร้องแทนการพูด อย่างไรก็ตามมักจะไม่เป็นทำนองที่ไพเราะมากนัก จะเน้นที่คำพูดมากกว่า แต่ก็มีดนตรีและการร้องช่วยทำให้บทสนทนาน่าสนใจ เป็นลักษณะการร้องอีกประเภทหนึ่ง
- 4. อาเรีย (Aria) คือ บทร้องเดี่ยวในอุปรากร มีลักษณะตรงกันข้ามกับเรซิเททีฟ เนื่องจากเน้นการร้องและดนตรีมากกว่าเน้นการสนทนา อาเรียเป็นบทร้องที่ตัวละครเดี่ยวร้อง จัดเป็นบทร้องที่เต็มไปด้วยลีลาของดนตรีที่งดงาม ยากแก่การร้อง กล่าวได้ว่าอาเรียเป็นส่วนที่ทำให้อุปรากรมีความเป็นเอกลักษณ์ได้เลยทีเดียว
- 5. บทร้องประเภทสอง สาม สี่ และมากกว่านี้ของตัวละคร (Duo, Trio, and Other Small Ensembles) บทร้องที่มีนักร้องสองคนแทนที่จะเป็นคนเดียวในลักษณะของอาเรีย เรียกว่า ดูโอ (Duo) ถ้าเป็น 3 คนร้องเรียกว่า ทริโอ (Trio) สี่และห้าคนร้องเรียกว่า ควอเต็ต (Quartet) และควินเต็ต (Quintet) และอาจมีมากกว่าห้าคนก็ได้ เช่น บทร้อง 6 คน (Sextet) “Lucia” จากเรื่อง Rigoletto เป็นบทร้องที่มีชื่อเสียงมาก
- 6. บทร้องประสานเสียง (Chorus) ในอุปรากรบางเรื่องที่มีฉากประกอบไปด้วยผู้เล่นจำนวนมากมักจะมีการร้องประสานเสียงเสมอ บทร้องประสานเสียงที่มีชื่อเสียง เช่น “The Anvil Chorus” จาก Il Trovatore, “The Pilgrim’s Chorus” จาก “Tannhauser, The Triumphal Chorus” จาก Aida
- 7. ออร์เคสตรา (Orchestra) วงออร์เคสตรานอกจากจะเล่นเพลงโหมโรงแล้ว ยังใช้ประกอบการร้องในลักษณะต่าง ๆ ตลอดเรื่อง ในบางครั้งออร์เคสตราจะบรรเลงโดยไม่มีผู้ร้อง เพื่อให้การร้องหรือเรซิเททีฟแต่ละตอนต่อเนื่องหรือสร้างอารมณ์ให้เข้มข้นขึ้น บางครั้งวงออร์เคสตราจะมีบทบาทมาก เช่น อุปรากรของวากเนอร์ มักจะเน้นการบรรเลงของวงออร์เคสตราเสมอ
- 8. ระบำ (Dance) ในอุปรากรบางเรื่องอาจมีบางฉากที่มีการเต้นรำประกอบ โดยทั่วไปมักเป็นการแสดงบัลเลต์ที่สวยงาม ซึ่งเป็นของคู่กันกับอุปรากรแบบฝรั่งเศส (French Opera) บางครั้งอาจจะเป็นระบำในลักษณะอื่น ๆ เช่น ระบำพื้นเมือง การเต้นรำแบบต่าง ๆ เช่น วอล์ทซ (Waltz) เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง
- 9. องก์ และฉาก (Acts and Scenes) อุปรากรก็เช่นเดียวกับละครทั่ว ๆ ไป มีการแบ่งเป็นองก์ และแบ่งย่อยลงไปเป็นฉาก เช่น คาร์เมน (Carmen) เป็นอุปรากร 4 องก์ เป็นต้น
- 10. ไลท์โมทีฟ (Leitmotif) ในอุปรากรบางเรื่อง ผู้ประพันธ์จะมีแนวทำนองต่าง ๆ แทนตัวละครแต่ละตัว หรือแทนเหตุการณ์ สภาพการณ์ แนวทำนองเหล่านี้จะปรากฏอยู่ตลอดเวลาเพื่อแทนตัวละครหรือเหตุการณ์นั้น ๆ วากเนอร์เป็นผู้หนึ่งที่ชอบใช้ไลท์โมทีฟ เช่น Ring motive ในอุปรากรชุด The Ring และ Love motive จากอุปรากรเรื่อง Tristan and Isolde
ประเภทของอุปรากร
[แก้]- 1. อุปรากร (Opera) โดยทั่วไปเป็นที่เข้าใจว่า หมายถึง โอเปร่า ซีเรียส (Opera seria) หรือ Serious opera หรือ Grand opera ซึ่งเป็นอุปรากรที่ผู้ชมต้องตั้งใจชมเป็นอย่างมาก เพราะการดำเนินเรื่องใช้บทร้องลักษณะต่าง ๆ และเรซิเททีฟ ไม่มีการพูดสนทนา จัดว่าเป็นศิลปะดนตรีชั้นสูง การชมอุปรากรประเภทนี้จึงต้องมีพื้นความรู้และความเข้าใจในองค์ประกอบของอุปรากร โดยเฉพาะด้านดนตรีเพื่อความซาบซึ้งอย่างแท้จริง เรื่องราวของอุปรากรประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องความเก่งกาจของพระเอกหรือตัวนำ หรือเป็นเรื่องโศกนาฏกรรม (Heroic or Tragic drama)
- 2. อุปรากรชวนหัว (Comic Opera) คือ อุปรากรที่มีเนื้อเรื่องสนุกสนาน ตลกขบขันล้อเลียน มักมีบทสนทนาที่ใช้พูดแทรกระหว่างบทเพลงร้อง อุปรากรประเภทนี้ดูง่ายกว่าประเภทแรก เนื่องจากเนื้อเรื่องสนุกสนาน มีบทสนทนาแทรก ดนตรีและเพลงที่ฟังไม่ยากเกินไป อุปรากรชวนหัวมีหลายประเภท เช่น Opera–comique (ฝรั่งเศส) Opera buffa (อิตาเลียน) Ballad opera (อังกฤษ) และ Singspiel (เยอรมนี)
- 3. โอเปเรตตา (Operetta) จัดเป็นอุปรากรขนาดเบา เนื้อเรื่องส่วนใหญ่สะท้อนชีวิตในสังคม มีการสอดแทรกบทตลกเบาสมองอยู่ด้วย บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักกระจุ๋มกระจิ๋ม คล้ายกับอุปรากรชวนหัว โดยปกติใช้การพูดแทนการร้องในบทสนทนา
- 4. คอนทินิวอัส โอเปร่า (Continuous opera) เป็นอุปรากรที่ผู้ประพันธ์ใช้ดนตรีเชื่อมโยงเรื่องราวตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ มิใช่เป็นการร้องหรือสนทนาที่เป็นช่วง ๆ ลักษณะของคอนทินิวอัส โอเปร่านี้วากเนอร์เป็นผู้นำและใช้เสมอในอุปรากรที่เขาเป็นผู้ประพันธ์
ตัวอย่างอุปรากรที่สำคัญ
[แก้]- 1. Opera, Serious Opera
- Don Giovanni โดย โมสาร์ท
- The Magic Flute โดย โมสาร์ท
- Alceste โดย กลุ๊ค
- La Bohème โดย ปุชชีนี
- Hensel and Gretel โดย ฮุมเปอร์ดิง
- Julius Caesar โดย ฮันเดล
- Lohengrin โดย วากเนอร์
- Madama Butterfly โดย ปุชชีนี
- The Mastersingers of Nuremberg โดย วากเนอร์
- Norma โดย เบลลินี
- Orpheus and Eurydice โดย กลุ๊ค
- Otello โดย แวร์ดี
- Parsifal โดย วากเนอร์
- Pelleas et Melisande โดย เดอบูซี
- Prince Igor โดย โบโรดิน
- The Rake's Progress โดย สตราวินสกี้
- Rigoletto โดย แวร์ดี
- The Ring of the Nibelung (ชุดอุปรากร 4 เรื่อง) โดย วากเนอร์
- Romeo et Juleitte โดย กูโนด์
- The Tale of Hoffmann โดย ออฟเฟนบาค
- Tosca โดย ปุชชินี
- Tristan and Isolde โดย วากเนอร์
- La Traviata โดย แวร์ดี
- William Tell โดย รอสซินี
- Fidelio โดย เบโธเฟน
- 2. Comic Opera, Operetta
- The Abduction From The Seraglio โดย โมสาร์ท
- The Barber of Seville โดย รอสซินี
- The Bartered Bride โดย สเมทานา
- Die Fledermaus โดย โยฮัน สเตราส์
- Hary Janos โดย โคดาย
- H.M.S. Pinafore โดย เซอร์อาร์เธอร์ ซัลลิแวน
- The Marriage of Figaro โดย โมสาร์ท
อ้างอิง
[แก้]- คมสันต์ วงค์วรรณ์. ดนตรีตะวันตก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2551
- ณรุทธ์ สุทธจิตต์. สังคีตนิยม ความซาบซึ้งในดนตรีตะวันตก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2548
- กรมวิชาการ. กระทรวงศึกษาธิการ. ดนตรีคลาสสิก...บทเพลงและการขับร้อง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา. 2545