ข้ามไปเนื้อหา

เซ็นทรัล โคราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซ็นทรัล โคราช
เซ็นทรัล โคราช logo
แผนที่
ที่ตั้ง990, 998 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
พิกัด14°59′47″N 102°07′01″E / 14.996349°N 102.116892°E / 14.996349; 102.116892
เปิดให้บริการ3 พฤศจิกายน 2560 (2560-11-03)
ผู้บริหารงาน(บริษัท ซีพีเอ็นโคราช จำกัด)
ในเครือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
พื้นที่ชั้นขายปลีก56,000 ตร.ม.(พลาซา)
350,000 ตร.ม.(พื้นที่รวม)
จำนวนชั้น4 ชั้น / ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น (ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล/โซนพลาซา)
9 ชั้น / ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น (อาคารจอดรถ)
23 ชั้น / ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น (โรงแรมเซ็นทารา)
22 ชั้น / ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น (คอนโดมิเนียมเอสเซ็นท์ อาคาร A)
17 ชั้น / ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น (คอนโดมิเนียมเอสเซ็นท์ อาคาร B)
34 ชั้น / (คอนโดมิเนียมเอสเซ็นท์ โครงการ2)
ที่จอดรถรถยนต์ 3,600 คัน
รถจักรยานยนต์ 1,800 คัน
เว็บไซต์www.centralpattana.co.th

เซ็นทรัล โคราช (อังกฤษ: Central Korat) หรือชื่อเดิม เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา (CentralPlaza Nakhon Ratchasima) เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม และคอนโดมิเนียม มีพื้นที่รวมเฉพาะส่วนศูนย์การค้าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของศูนย์การค้าโดยกลุ่มเซ็นทรัล รองจากเซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัล เวสต์เกต ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 65 ไร่ [1] ติดถนนมิตรภาพขาเข้าเมืองนครราชสีมา โดยมีพื้นที่คาบเกี่ยว 2 ตำบลคือตำบลในเมืองและตำบลบ้านเกาะ ดำเนินการโดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 10,596 ล้านบาท[2] รองรับกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดนครราชสีมากว่า 2.8 ล้านคน และจังหวัดใกล้เคียง

ตัวอาคารภายนอกออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากกลีบดอกสะเลเต หรือ ดอกมหาหงส์ โดยใช้โทนสีขาวตัดสีส้มเฉดชมพู ส่วนภายในศูนย์การค้าตกแต่งในธีม สีสันแห่งชีวิต (Seasons of Life) ในบรรยากาศสีสัน 5 ฤดูกาล โดยตกแต่งฤดูละชั้น ทั้งหมด 5 ชั้นรวมชั้นใต้ดิน ทั้งนี้ เซ็นทรัล โคราช ถือเป็นศูนย์การค้าในกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาแห่งที่ 4 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถัดจาก เซ็นทรัล อุดรธานี ขอนแก่น และ อุบลราชธานี เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560[1]

ประวัติ

[แก้]

ก่อนโครงการเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมาจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2560 นั้น มีข่าวเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ก่อนการเปิดให้บริการของศูนย์การค้า เดอะมอลล์ โคราช ที่เปิดให้บริการปี พ.ศ. 2543 เสียอีก ครั้งนั้นได้เลือกทำเล บนพื้นที่ของ เทอร์มินอล 21 โคราช ในปัจจุบัน โดยมีเจ้าของคือ กลุ่มไทยสงวน แต่โครงการนี้ได้ระงับโครงการลงหลังจากเจ้าของพื้นที่ไทยสงวน ได้ทำการทุบปั๊มด้วยทุนตัวเองกับเงินก้อนงวดแรกจากกลุ่มเซ็นทรัล และเซ็นทรัลก็หันมาลงทุนเปิดบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขานครราชสีมาก่อนแทนที่จะสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา จนมีการฟ้องร้องกัน ระยะยาวนานเกือบ 4 ปี [3] กอปรด้วยพิษเศรฐกิจ ค่าเงินบาทลอยตัว และศูนย์การค้า เดอะมอลล์ โคราช เปิดให้บริการแล้ว ทำให้เป็นเหตุให้โครงการเซ็นทรัลในจังหวัดนครราชสีมาหยุดชะงัก และระงับโครงการอย่างไม่มีกำหนด และเบนเข็มการพัฒนาโครงการไปยัง เซ็นทรัลพลาซา รัตนาธิเบศร์ แทน ส่วนผลการฟ้องร้องทั้งคู่ต่างยอมความกัน

ผ่านไป 16 ปี ข่าวการพัฒนาของกลุ่มเซ็นทรัลในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาก็เริ่มมีข่าวขึ้นมาอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2556 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อที่ดินบริเวณถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ขนาด 52 ไร่ จากนายบุญชัย พรมนะกิจ มูลค่าประมาณ 5-6 ร้อยล้านบาท[4] และยื่นแบบขอก่อสร้างโครงการเป็นที่เรียบร้อย ก่อนประกาศเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการใน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 โดยมีกำหนดเปิดภายในปี พ.ศ. 2559

การแถลงข่าวครั้งแรกตั้งเป้าเปิดให้บริการเป็นศูนย์การค้าลำดับที่ 28 ของบริษัท (ปัจจุบันลำดับที่ 28[5] เป็นของเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต) มีเนื้อที่โครงการรวม 250,000 ตร.ม. เน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนขึ้นไป เช่นเดียวกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา สาขาในกรุงเทพมหานคร มีผู้เช่าหลักในขณะนั้นคือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ท็อปส์ มาร์เก็ต เพาเวอร์บาย บีทูเอส ซูเปอร์สปอร์ต ออฟฟิศเมท และบ้านแอนด์บียอนด์ และชูจุดเด่นบริเวณพื้นที่ภายนอกอาคารในรูปแบบของแฮงก์เอาท์เซ็นเตอร์แบบเดียวกับอาคารกรูฟของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารบลอสซัม แอท เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ โดยมีกำหนดเปิดให้บริการครั้งแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 แต่อย่างไรก็ตามงานก่อสร้างกลับไม่คืบหน้า[6]ตามกำหนดการเดิม

จนกระทั่งมีข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่าเซ็นทรัลพัฒนาได้ซื้อที่ดิน[4]ผืนใหม่ริมถนนมิตรภาพบริเวณเยื้องกับมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และติดปากซอย 30 กันยา ซึ่งมีขนาดพื้นที่รวมกว่า 65 ไร่ โดยได้กว้านซื้อที่ดินหลายแปลง จากร้านนิวเซียงกง มอเตอร์, อาคารพาณิชย์ 8 ห้องด้านหน้า และจากนายวัฒนา อัศวเหม 53 ไร่ [1] โดยมีคลองสาธารณะพาดผ่านกลางพื้นที่ โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดตั้งแต่เดือน เมษายน พ.ศ. 2557 โดยทางเซ็นทรัลปิดเงียบ ให้รอการชี้แจงในการแถลงข่าวครั้งถัดไป ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การแถลงข่าวครั้งที่สองถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 โดยมีรายละเอียดคือประกาศย้ายทำเลจากที่ดินผืนเดิมไปอยู่ที่ดินผืนใหม่ที่พึ่งซื้อ ปรับแผนการลงทุนเป็น 9,500 ล้านบาท มีเนื้อที่โครงการรวม 250,000 ตร.ม. เน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน และมีผู้เช่าหลักคือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ เพาเวอร์บาย บีทูเอส ซูเปอร์สปอร์ต ออฟฟิศเมท บ้านแอนด์บียอนด์ และโรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า 10 โรง พร้อมโรงภาพยนตร์สี่มิติหนึ่งโรง พร้อมเพิ่มโรงแรม 25 ชั้น จำนวน 350 ห้องต่อยอดขึ้นไปบนตัวอาคาร และปรับให้ชั้นดาดฟ้าของศูนย์การค้าเป็นสวนหย่อมลอยฟ้าขนาดใหญ่เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจกลางเมือง

แบบครั้งที่สองถูกนำไปก่อสร้างจริงในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 และมีการยื่นขอปรับแบบการก่อสร้างหลายครั้งโดยเฉพาะในส่วนของโรงแรม รวมถึงยังมีการประกาศพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม เอสเซ็นท์ โดย บริษัท ซีพีเอ็น เรสซิเดนซ์ จำกัด ในบริเวณพื้นที่ด้านหน้าอาคาร จนกระทั่งในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เซ็นทรัลพัฒนาได้มีการประกาศปรับแบบการก่อสร้างของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมาอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3

การแถลงข่าวครั้งที่สามจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 โดยมีการปรับรายละเอียดใหม่ทั้งหมด คือลดจำนวนชั้นจาก 5+1 ชั้น เป็น 4+1 ชั้น ปรับแผนการลงทุนเป็นการลงทุนโครงการแบบผสม ประกอบไปด้วยศูนย์การค้า โรงแรม อาคารชุด และศูนย์การประชุม รวมถึงพัฒนาตลาดลีลาชีวิต (ตลาดมาร์เก็ต มาร์เก็ต) พร้อมสวนสาธารณะ พร้อมบึงขนาดเล็กบริเวณด้านหน้าศูนย์การค้า มูลค่าโครงการทั้งหมดอยู่ที่ 10,596 ล้านบาท มีเนื้อที่โครงการรวม 355,000 ตร.ม. เน้นกลุ่มลูกค้าหลากหลายกลุ่ม และมีผู้เช่าหลักคือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ เพาเวอร์บาย ธิงค์สเปซ บีทูเอส ซูเปอร์สปอร์ต ออฟฟิศเมท และโรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า 9 โรง พร้อมโรงภาพยนตร์สี่มิติหนึ่งโรง และเปิดให้บริการระยะที่ 1 ในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของโครงการจะตามมาในภายหลัง สำหรับที่ดินผืนเดิมบริเวณถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ก็จะยังไม่มีการขายทอดตลาด แต่เซ็นทรัลพัฒนาจะเก็บไว้เพื่อดูโอกาสในการขยายสาขาในอนาคตเพิ่มเติมต่อไป

การแถลงข่าวครั้งที่สี่จัดขึ้นเมื่อ 19 กันยายน 2560 ณ โรงแรมแคนทารี่ โคราช ครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา อย่างเป็นทางการ ถือเป็นศูนย์การค้าแห่งที่ 31 [5] ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และมีผู้บริหารระดับสูงมาร่วมในงานแถลงข่าวมากมาย โดยได้ชี้แจงเรื่องการยืนยันการเปิดตามกำหนดวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 และ เผยภาพการตกแต่งจำลองภายในศูนย์การค้าตามฤดูต่างๆ[7]

การจัดสรรพื้นที่

[แก้]

เซ็นทรัล โคราช ตั้งอยู่บนพื้นที่ 65 ไร่ พัฒนาเป็นอาคารศูนย์การค้า ความสูง 4 ชั้น รวมชั้นใต้ดินอีก 1 ชั้น พร้อมอาคารจอดรถ ความสูง 9 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน 2 ชั้น การออกแบบภายนอกได้แรงบันดาลใจจากดอกมหาหงส์ ส่วนภายในศูนย์การค้าออกแบบด้วยแนวคิด "Season of life" โดยในแต่ละชั้นจะสะท้อนถึงบรรยากาศฤดูต่าง ๆ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ เซ็นทรัลพัฒนายังมีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบโครงการในลักษณะพาณิชยกรรมแบบประสม ประกอบด้วยโรงแรมเซ็นทารา[5] ความสูง 23 ชั้น + ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 252 ห้อง และโครงการคอนโดมิเนียมเอสเซ็นท์ โครงการที่ 1 18 และ 21 ชั้น สองอาคาร และโครงการที่ 2 33 ชั้น 1 อาคาร[5]ในส่วนของอาคารศูนย์การค้า ประกอบไปด้วยร้านค้าและผู้เช่าต่าง ๆ กว่า 500 ร้านค้า ซึ่งเปิดให้บริการบางส่วนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เซ็นทรัล โคราช ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญดังนี้[2]

  • เซ็นทรัล เดอะสโตร์ แอท โคราช
  • ท็อปส์
  • เพาเวอร์บาย
  • ซูเปอร์สปอร์ต
  • บีทูเอส ธิงค์สเปซ
  • ออฟฟิศเมท
  • สวนสนุกดรากอนเวิลด์ โดย ฟันแพลเน็ต
  • ศูนย์ออกกำลังกาย ฟิตเนสไลฟ์สไตล์
  • โรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า 9 โรง
  • ศูนย์ประชุมโคราช ฮอลล์
  • ลานเดิ่นคนชุม สวนสาธารณะพร้อมลู่วิ่งและเลนปั่นจักรยาน
  • ตลาดเซ็นซ่า มาร์เก็ต (เดิมชื่อตลาดด๊ะดาด ครีเอทีฟ มาร์เก็ต)
  • อาคารชุดเพื่อการพักอาศัย เอสเซ็นท์ โคราช โครงการ 1
  • อาคารชุดเพื่อการพักอาศัย เอสเซ็นท์ โคราช โครงการ 2
  • โรงแรมเซ็นทาราโคราช

พื้นที่จัดสรรในอนาคต

[แก้]
  • บ๊าวซ์อิงค์
  • อาคารชุดเพื่อการพักอาศัย เอสเซ็นท์ โคราช โครงการ 2[8]

การคมนาคม

[แก้]

การเดินทางมายังศูนย์การค้าเซ็นทรัล โคราช สามารถเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ดังนี้[9]

  • รถสองแถวประจำทางสาย 1 (แยกอัมพวัน - สนามกีฬากลาง - ซ.30กันยา)
  • รถสองแถวประจำทางสาย 4 (สนามม้า - ร.ร.บุญเหลือวิทยานุสรณ์)
  • รถสองแถวประจำทางสาย 5 (หมู่บ้านรุ่งอรุณวิลล์ - ม.วงษ์ชวลิตกุล)
  • รถสองแถวประจำทางสาย 6 (บ้านเกาะ - โคกเพชร)
  • รถสองแถวประจำทางสาย 7 (โคกไผ่ - หัวทะเล)
  • รถสองแถวประจำทางสาย 4287 (สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1 - อ.ขามทะเลสอ)
  • รถสองแถวประจำทางสาย 4424 (สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1 - บ.หัวสระ)
  • รถสองแถวประจำทางสาย 4453 (สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1 - บ.ระงมพัฒนา)
  • รถสองแถวประจำทางสาย 4699 (สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1 - บ.ลองตอง)

อ้างอิง

[แก้]