ข้ามไปเนื้อหา

ไซอิ๋ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไซอิ๋ว
หนังสือเรื่องไซอิ๋ว ฉบับภาษาจีน สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16
ผู้ประพันธ์อู๋เฉิงเอิน
ชื่อเรื่องต้นฉบับ西遊記
ผู้แปลจำนวนมาก
ประเทศจีน
ภาษาภาษาจีน
สำนักพิมพ์จำนวนมาก
วันที่พิมพ์ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1590
ชนิดสื่อหนังสือ
ไซอิ๋ว
ชื่อเรื่อง ไซอิ๋ว เขียนเป็นอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และอักษรจีนตัวย่อ (ล่าง)
อักษรจีนตัวเต็ม西遊記
อักษรจีนตัวย่อ西游记
ความหมายตามตัวอักษร"บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก"
ภาพวาดเรื่องไซอิ๋ว จากพระราชวังฤดูร้อน ที่ ประเทศจีน แสดงภาพตัวละครเอกของเรื่อง (จากซ้าย) ซึงหงอคง, ม้ามังกร, พระถังซัมจั๋ง, ตือโป๊ยก่าย, ซัวเจ๋ง

ไซอิ๋ว (จีนตัวย่อ: 西游记; จีนตัวเต็ม: 西遊記; พินอิน: Xī yóu jì ซีโหยวจี้; อังกฤษ: Journey to the West แปลตรงตัวว่า บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก) เป็นนิยายคลาสสิกของจีน แต่งขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1590 ช่วงราชวงศ์หมิง ประพันธ์โดย อู๋เฉิงเอิน[1]

ไซอิ๋วเป็นเรื่องของการเดินทางไปยังอมรโคยานทวีป(西牛贺州/西牛货洲) เพื่ออัญเชิญคัมภีร์พระพุทธศาสนาของหลวงจีนชื่อ ถังซัมจั๋ง (อ้างอิงจากผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ มีนามว่าพระเสวียนจั้ง 玄奘大師) โดยมีสัตว์ 3 ตัวเป็นเพื่อนร่วมทาง คือ เห้งเจีย (ปีศาจลิง) ตือโป๊ยก่าย (ปีศาจหมู) และซัวเจ๋ง (ปีศาจในแม่น้ำ) ซึ่งระหว่างการเดินทางต้องพบกับการขัดขวางของเหล่าปีศาจมากมาย ด้วยเนื้อหาที่เป็นการผจญภัย และมีสัตว์เป็นตัวเอก ทำให้ไซอิ๋วได้รับความนิยมจากหมู่เยาวชนมากที่สุดในวรรณกรรมเอกทั้ง 4 เรื่อง เป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับสามก๊ก(三國演義) ความฝันในหอแดง (紅樓夢) และซ้องกั๋ง (水滸傳)

การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง ดราก้อนบอล เป็นหนึ่งในงานที่ได้รับอิทธิพลจากไซอิ๋ว

หลักฐานภาพจิตรกรรมฝาผนังตุนหวง พระเสวียนจั้ง เดินทางมีสัมภาระจูงเสือเดินทางไปด้วย

ในแวดวงของสื่อบันเทิงมีการนำเนื้อหาของนิยายเรื่องนี้มาสร้างใหม่เป็นเวอร์ชั่นที่หลากหลาย เช่น ละครทีวี ชุด ไซอิ๋ว ศึกเทพอสูรสะท้านฟ้า, ภาพยนตร์เรื่อง ไซอิ๋ว สุดยอดราชาวานร (2021) เป็นต้น

ตัวละครเอกของเรื่อง

[แก้]
ซึงหงอคง

ซึงหงอคง ซุนหงอคง ซุนอู้คง(孫悟空)หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ซึงเห้งเจีย ซุนเห้งเจีย(孫行者) ตั้งฉายาตัวเองว่าฉีเทียนต้าเชิ่ง/齊天大聖 (แปลว่า มหาเทพเสมอฟ้า) ในหนังสือยังเรียกอีกว่า วานรใจ(心猿),จินกง(金公) เป็นวานรหินที่เกิดจากศิลาวิเศษซึ่งปริแตกและโดนลม ณ ดินแดนตงเซิ่งเสินโจว/ตังเซ่งสิ่งจิว/บูรพวิเทหทวีป(東勝神洲) เมืองเง่าล่ายก๊ก/แคว้นเอ้าไหล(傲來國) ภูเขาฮวยก๊วยซัว/เขาฮัวกั่ว(花果山) เป็นอ๋อง/ราชาปกครองอยู่ ณ ถ้ำม่านน้ำจุ๊ยเลียมต๋อง/ถ้ำสุ่ยเหลียน(水簾洞) สี่ห้าร้อยปี ภายหลังใช้เวลาแปดเก้าปี เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ไปขอเป็นศิษย์ของพระอาจารย์สุภูติ (โผเถโจ๊ซือ/ผู่ถีจู่ซือ/菩提祖師) ณ กายสิทธิ์มณฑป เขาองคุลีวงจันทร์ ถ้ำตรีดารา สำเร็จวิชาแปลงกายเจ็ดสิบสองอย่าง อาวุธที่ใช้คือแท่งเหล็กกายสิทธิ์ที่ได้จากวังมังกร ก็คือกระบองทองสารพัดนึก ในนิยายซ่อนนัยว่าเป็นธาตุทอง นับแต่นั้นเป็นต้นมา ซึงหงอคงอาละวาดแดนสวรรค์ ตั้งฉายาตัวเองว่ามหาเทพเสมอฟ้า ถูกพระยูไล(พระตถาคต, พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในความเชื่อของพุทธมหายาน) สะกดเอาไว้ใต้ภูเขาเบญจคีรี ห้าร้อยปีให้หลัง พระถังซัมจั๋งเดินทางสู่ตะวันตกเพื่ออัญเชิญพระคัมภีร์ ระหว่างเดินผ่านภูเขาเบญจคีรี (ภูเขาห้ายอด) ดึงยันต์ศักดิ์สิทธิ์ออก ซึงหงอคงจึงรอดพ้น ซึงหงอคงซาบซึ้งบุญคุณ ภายหลังได้รับการชี้แนะของเจ้าแม่กวนอิม กราบพระถังซัมจั๋งเป็นอาจารย์ ได้ชื่อใหม่ว่า ซึงเห้งเจีย(孫行者) ร่วมเดินทางสู่ตะวันตก ตลอดเส้นทางอัญเชิญพระคัมภีร์ ซึงหงอคงปราบปีศาจสยบมาร ทำความชอบมากมาย กระนั้นก็ยังถูกพระถังซัมจั๋งผู้เป็นอาจารย์เข้าใจผิด ขับไล่ออกจากกลุ่มหลายครั้งหลายครา ในที่สุดคณะศิษย์อาจารย์ทั้งสี่ เดินทางจนถึงวัดลุ่ยอิม/วัดเหลยอิน(雷音寺) ได้รับพระคัมภีร์ ผลบุญครบถ้วนสมบูรณ์ สำเร็จมรรคผล ได้รับการแต่งตั้งจากพระยูไล ให้เป็นชนะศึกพุทธะ/ยุทธชัยพุทธะ (鬥戰勝佛) ซึงหงอคงมีความเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ ขี้เล่น กล้าหาญ มีความภักดี รังเกียจความชั่วร้าย ถือเป็นตัวแทนของปฏิภาณไหวพริบ สติปัญญาและความกล้าหาญในวัฒนธรรมจีน ดังนั้นซึงหงอคงจึงเป็นวีรบุรุษที่เด็กผู้ชายชาวจีนทั่วไปยกย่องชื่นชม

唐僧圖
ถังซัมจั๋ง

พระถังซัมจั๋ง/ถังซันจั้ง(唐三藏)ในนิยายเป็นตัวละครสมมติ มีความแตกต่างจากพระเสวียนจั้งในประวัติศาสตร์จริง พระถังซัมจั๋งในนิยายเดิมแซ่เฉิน มีชื่อว่ากังลิ้ว/เจียงหลิว (江流兒) หรือผู้ลอยมากับแม่น้ำ มีนามในทางสงฆ์ว่าเสวียนจั้ง (玄奘) ได้รับฉายาซัมจั๋ง/ซันจั้ง (三藏) ฮ่องเต้ถังไท่จงพระราชทานแซ่ถัง(唐) เป็นพระจินฉานจื่อ สาวกองค์ที่สองของพระยูไล กลับชาติมาเกิด ในนิยายซ่อนนัยว่าเป็นธาตุไฟ เขาเป็นบุตรที่ติดครรภ์ บิดามารดาประสบกับเคราะห์กรรมที่เลวร้าย เติบโตอยู่ในวัดตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นออกบวชที่วัดฮั่วเซิงซื่อ สุดท้ายย้ายมาจำวัด ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดที่มีชื่อเสียงในนครหลวง พระถังขยันพากเพียร สติปัญญาสูงส่ง มีความโดดเด่นท่ามกลางหมู่สงฆ์ สุดท้ายได้รับเลือกโดยฮ่องเต้ถังไท่จง เข้าพิธีสาบานตนเป็นพี่น้องกัน ออกเดินทางสู่ตะวันตก เพื่ออัญเชิญพระคัมภีร์ ระหว่างการเดินทาง พระถังซัมจั๋งรับศิษย์ด้วยกันสามคน : ซึงหงอคง ตือโป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง สุดท้ายผลบุญครบถ้วนสมบูรณ์ ได้รับการแต่งตั้งจากพระยูไล เป็นบุญกุศลพุทธะ/ฉันทนัสสิริพุทธะ (旃檀功德佛) มือถือคฑาเก้าห่วงที่เจ้าแม่กวนอิมประทานให้ กายห่มจีวรศักดิ์สิทธิ์

ตือโป๊ยก่าย

ตือโป๊ยก่าย/จูปาเจี้ย(豬八戒)เรียกตัวเองว่าจูกังเลี่ย/ตือกังเลี๊ยก(豬剛鬣) มีชื่อในทางสงฆ์ว่าจูอู้เหนิง/ตือหงอเหนง(豬悟能) ในหนังสือยังเรียกอีกว่ามู่หมู่ เดิมเป็นแม่ทัพเทียนเผิง(天蓬元帥/ทีผ่งหง่วนส่วย)บนสวรรค์ แต่เนื่องจากลวนลามนางฟ้าฉางเอ๋อ(嫦娥) จึงถูกลงโทษให้มาเกิดบนโลกมนุษย์ แต่ผิดพลาดเข้าสู่ครรภ์หมู ทำให้กลายเป็นตัวคนหัวหมู นับแต่นั้นมาจึงขานแซ่ตนเองว่าจู/ตือ ซึ่งแปลว่าหมู เรียกตนเองว่าจูกังเลี่ย/ตือกังเลี๊ยก รับศีลถือบวชโดยเจ้าแม่กวนอิม ตั้งชื่อว่าอู้เหนิง/หงอเหลง แต่งงานกับลูกสาวชาวบ้านที่หมู่บ้านสกุลเกา/กอ(高)ต่อมาถูกหงอคงปราบ พระถังซัมจั๋งตั้งชื่อให้ใหม่ว่าตือโป๊ยก่าย(豬八戒) ในนิยายซ่อนนัยว่าเป็นธาตุไม้ ภายหลังผลบุญครบถ้วนสมบูรณ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพุทธพิธีทูต/วิสุทธิมณฑลทูต (淨壇使者) อาวุธของตือโป๊ยก่ายคือคราดเก้าซี่ มีชื่อเต็มว่า 上寶沁金鈀 ตือโป๊ยก่ายรู้เพียงวิชาแปลงกายสามสิบหกอย่าง [2]

ซาเหอซ่าง

ซาเหอซ่าง(沙和尚)มีชื่อในทางสงฆ์ว่าซาอู้จิ้ง/ซัวหงอเจ๋ง(沙悟凈) ในนิยายใช้ชื่อว่าซัวเจ๋ง(沙僧) เดิมเป็นขุนศึกเปิดม่านบนสวรรค์ เนื่องจากทำโคมหลิวหลีแตกในงานเลี้ยงชุมนุมท้อทิพย์ ทำให้เจ้าแม่ซีหวังหมู่(西王母)โกรธ ถูกเนรเทศสู่โลกมนุษย์ เป็นปีศาจริมแม่น้ำหลิวซาเหอ จึงใช้ซา (ซัว) เป็นแซ่ ในนิยายซ่อนนัยว่าเป็นธาตุดิน รับศีลถือบวชโดยเจ้าแม่กวนอิม ตั้งชื่อว่าอู้จิ้ง ต่อมาพระถังซัมจั๋งรับไว้เป็นศิษย์ ตั้งชื่อให้ใหม่ว่าซาเหอซ่าง(沙和尚) อาวุธที่ใช้คือพลั่วพระธรรมปราบมาร ภายหลังผลบุญครบถ้วนสมบูรณ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอรหันต์ร่างทอง (金身羅漢) มีชื่อเต็มว่าโพธิสัตว์อรหันต์ร่างทองแปดรัตนะ (八寶金身羅漢菩薩)

ม้ามังกรขาว

ม้ามังกรขาว(白龍馬)เป็นโอรสองค์ที่สามของเจ้ามังกรเอ๋ายุ่น(เหง่าหยุ่ง/敖閏)แห่งทะเลซีไห่/ทะเลตะวันตก(西海)(เอ้า/เง๊า(敖)เป็นแซ่ของราชนิกูลเผ่าพันธุมังกรที่ปกครองทะเลทั้งสี่ทิศ) ในนิยายชื่อเอ๋าเลี่ย敖烈 ในนิยายซ่อนความหมายว่าเป็น "จิตอาชา" เนื่องจากจุดไฟเผาไข่มุกวิเศษของตำหนักมังกร มีโทษประหาร แต่เจ้าแม่กวนอิมช่วยไว้ สั่งให้รอคณะพระถังซัมจั๋งเดินทางผ่านมาอยู่ที่ภูเขาเสอผานซาน(蛇盤山)ภายหลังกินม้าขาวพาหะนะของพระถังซัมจั๋งลงไป ในนิยายซ่อนนัยว่าเป็นธาตุน้ำ หลังจากพระถังซัมจั๋งรับไว้เป็นศิษย์ ได้ถอดเขาถอดเกล็ด แปลงกายเป็นม้าขาว(白馬) แทนที่พาหนะตัวเดิม เดินทางอัญเชิญพระคัมภีร์ ภายหลังผลบุญครบถ้วนสมบูรณ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นม้ามังกรสวรรค์แปดเหล่า (八部天龍馬) (ไซอิ๋วฉบับภาษาไทยแปลว่า หมู่นาคมหาเศรษฐี) ไม่มีอาวุธประจำตัว ในการออกฉากครั้งแรก ต่อสู้กับซุนหงอคงด้วยร่างมังกร ไม่ได้ใช้อาวุธ ต่อมาในการสู้รบกับปีศาจขุยมู่หลาง หลอกเอาดาบวิเศษมาจากปีศาจขุยมู่หลาง จึงใช้ดาบเป็นอาวุธ

บนเส้นทางสู่ตะวันตก อัญเชิญพระคัมภีร์ สู้รบกับเหล่าปีศาจมารร้ายชนิดต่าง ๆ สุดท้ายไปถึงไซที/ซีเทียน/สุขาวดี(西天) อัญเชิญพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์กลับมา คณะศิษย์อาจารย์ทั้งห้า ใช้เวลาสิบสี่ปี ผจญเภทภัยเก้าเก้าแปดสิบเอ็ดประการ ส่วนที่คลาสสิกที่สุดได้แก่ซุนหงอคงอาละวาดแดนสวรรค์ (大鬧天宮)รับโป๊ยก่ายหมู่บ้านสกุลเกา(豬八戒重返高老莊)รับซัวเจ๋งแม่น้ำหลิวซาเหอ(流沙河收徒)สามสังหารปีศาจกระดูกขาว(三打白骨精)ผลยิ่มเซียมก้วย(偷吃人叁果)ถ้ำแมงมุมผานซือต้ง(孫悟空大戰盤絲洞)ผจญภูเขาเปลวเพลิง(被困火焰山)ราชาวานรตัวจริงตัวปลอม(真假美猴王)เป็นต้น ระหว่างต่อสู้กับปีศาจมารร้าย แสดงให้เห็นความโดดเด่นต่าง ๆ ของคณะศิษย์อาจารย์ เรื่องราวสนุกสนาน ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี ก็ยังเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hu Shih (1942). Introduction. [[Monkey (novel)|]]. New York: Grove Press. pp. 1–5.
  2. ในนิยายเขียนไว้ว่าวิชาแปลงกายเจ็ดสิบสองอย่างเป็นวิชาขั้นสูงสุด ซุนหงอคง เทพเจ้าเอ้อหลาง ราชาปีศาจกระทิง ต่างมีวิชาแปลงร่างเจ็ดสิบสองอย่าง ตือโป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง แปลงร่างได้สามสิบหกอย่าง เหตุที่เทพเอ้อหลางชนะซึงหงอคงได้ เป็นเพราะมี "สุนัขเห่าฟ้า" คู่กาย

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]