เกรทโอลด์วัน
เกรทโอลด์วัน หรือ เฒ่าผู้ยิ่งใหญ่ เป็นศัพท์ซึ่งใช้เรียกสิ่งสมมุติในวรรณกรรมกลุ่มตำนานคธูลู ซึ่งมีที่มาจากบทประพันธ์ของเอช. พี. เลิฟคราฟท์ แม้เกรทโอลด์วันที่มีชื่อเสียงที่สุดจะมาจากผลงานของเลิฟคราฟท์เอง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตัวละครจากงานเขียนของนักประพันธ์คนอื่น
โดยรวมแล้ว เกรทโอลด์วัน (ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า โอลด์วัน[1] โดยนักประพันธ์) มีอำนาจที่ด้อยกว่าเอาเตอร์ก็อด แต่ก็ได้รับการบูชาจากลัทธิต่างๆทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์
ลักษณะโดยทั่วไป
[แก้]ไม่ใช่ความตายที่สามารถคงอยู่ได้ตลอดกาล,
และหลังห้วงเวลาอันแปลกประหลาด แม้ความตายก็อาจมรณาได้
—อับดุล อัลฮาเซรด, นีโครโนมิคอน
เกรทโอลด์วันเป็นสิ่งโบราณจากต่างดาวซึ่งมีอำนาจมหาศาลและส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่โต มีร่างกายเป็นสสารซึ่งไม่เข้ากับความเข้าใจของมนุษย์เพราะมาจากมิติเวลาที่แตกต่างกัน เกรทโอลด์วันได้รับการบูชาจากลัทธิต่างๆทั้งมนุษย์โลกและเหล่าอมนุษย์
เกรทโอลด์วันทั้งหมดอยู่กักขังไว้ในอาณาเขตต่างๆกัน ตั้งแต่ใต้มหาสมุทร ใต้พื้นโลก ไปจนถึงดวงดาวอันไกลโพ้น ซึ่งมีทฤษฎีอธิบายเรื่องนี้ไว้สองแนว คือ
- เกรทโอลด์วันถูกเนรเทศโดยเหล่าเอลเดอร์ก็อดเนื่องจากกระทำผิดบางอย่าง
- เกรทโอลด์วันเข้าสู่สภาวะจำศีลเนื่องจากสภาวะบางอย่างในจักรวาล[2] และรอคอยเวลาที่เหมาะสมเพื่อจะตื่นขึ้นมาอีกครั้ง[3]
ตัวอย่างของเกรทโอลด์วัน
[แก้]กลาคิ
[แก้](อังกฤษ: Glaaki) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง The Inhabitant of the Lake ประพันธ์โดยแรมซีย์ แคมเบลในปี พ.ศ. 2507 กลาคิมีลักษณะเป็นทากขนาดยักษ์และมีเงี่ยงอยู่ทั่วตัว ซึ่งเงี่ยงนี้ดูคล้ายโลหะแต่ก็เป็นอวัยวะของกลาคิ กลาคิยังสามารถยืดสายระยางซึ่งมีดวงตาอยู่ที่ปลายออกจากร่างเพื่อใช้มองภายนอกขณะที่ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำ เชื่อกันว่าเดิมทีกลาคิถูกขังไว้ในอุกกาบาตซึ่งตกลงมาบนโลก ทำให้เกิดทะเลสาบในหุบเขาเซเวิร์นซึ่งกลาคิอาศัยอยู่
กลาคิจะหาสาวกของตนโดยการใช้เงี่ยงเสียบสังหารมนุษย์และฉีดสารเคมีซึ่งทำให้ฟื้นขึ้นมาเป็นทาสผีดิบ กลาคิเป็นเกรทโอลด์วันซึ่งทรงความรู้โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับเกรทโอลด์วันตนอื่นๆ ลัทธิของกลาคิมีคัมภีร์สำคัญคือ The Revelations of Glaaki ซึ่งสาวกผีดิบได้เขียนในขณะที่กลาคิหลับใหลและไม่ถูกควบคุม
กอล กอรอธ
[แก้](อังกฤษ: Gol-goroth) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง The Gods of Bal-Sagoth ประพันธ์โดยโรเบิร์ต อี. โฮเวิร์ดในปี พ.ศ. 2474มีลักษณะเป็นคางคกยักษ์สีดำมีผิวเป็นไทเทเนียมและมีหนวดมากมายปกคลุมหลังของมัน อย่างไรก็ตามเมื่อมีคนมองมัน มันจะกลายร่างเป็นสิ่งที่คนกลัวหรืออาจเป็นสิ่งที่แย่กว่านั้น
กาทาโนธอ
[แก้](อังกฤษ: Ghatanothoa) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น Out Of The Aeons ซึ่งประพันธ์ร่วมกันโดยเอช. พี. เลิฟคราฟท์และเฮเซล เฮรัลด์ ในปี พ.ศ. 2478 มีขนาดใหญ่โตและรูปร่างอันน่าหวาดกลัว ผู้ที่จ้องมองกาทาโนธอจะกลายเป็นมัมมี่ที่มีชีวิต โดยที่ร่างกายจะกลายเป็นหนังแห้งๆและไม่สามารถขยับได้ แต่อวัยวะภายในรวมถึงสมองจะยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ทำให้ยังมีสติรับรู้ตามปกติ ผู้ที่กลายสภาพเป็นมัมมี่จะเสียสติและมีเพียงการทำลายสมองเท่านั้นที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้[4] กาทาโนธอถูกพามาจากดาวยุกกอธ (ดาวพลูโต) โดยสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวในยุคโบราณและและขังไว้ในภูเขายาดิธ-โกในทวีปมูด้วยประตูกลขนาดใหญ่และสร้างป้อมปราการทับไว้ ซึ่งพลังที่เปลี่ยนมนุษย์เป็นมัมมี่ทำให้ชาวมูทั้งเคารพและหวาดกลัวกาทาโนธอ
ในงานประพันธ์ชุดตำนานโซธิคของลิน คาเตอร์ ระบุว่ากาทาโนธอเป็นทายาทตนแรกของคธูลูและอิด ยาห์
ในเรื่องอุลตร้าแมนทีก้า สัตว์ประหลาดตัวสุดท้าย เทพแห่งความชั่วร้าย กาทาโนโซอา (邪神 ガタノゾーア) มาจากชื่อของกาทาโนทอซึ่งเมื่อเขียนเป็นอักษรคาตากานะจะเขียนได้ทั้ง ガタノトーア และ ガタノゾーア
กลูน
[แก้](อังกฤษ: Gloon)ปรากฏตัวในเรื่องสั้นชื่อ The temple ประพันธ์โดย เอช.พี. เลิฟคราฟท์ มีลักษณะเป็นหนอนตัวเป็นเมือกแต่มันปกปิดร่างที่แท้จริงของมันในรูปปั้นของเทพไดอะไนซัสที่งดงามสะดุดตา อาศัยอยู่ใต้มหาสมุทรในวิหารที่มีศิลปะแบบกรีซโบราณ มีความสามารถทำให้ผู้คนรู้สึกหลงใหลในตัวของมันจนเกิดเป็นความบ้าคลั่ง
คธิลลา
[แก้](อังกฤษ: Cthylla) กล่าวถึงครั้งแรกในนิยาย The Transition Of Titus Crow ซึ่งประพันธ์โดยไบรอัน ลัมลีย์ในปี พ.ศ. 2518โดยไม่ได้กล่าวถึงลักษณะแต่อย่างใด จนกระทั่งทีนา แอล เจนส์ ได้ระบุลักษณะของคธิลลาไว้ในเรื่องสั้น In His Daughter's Darkling Womb (พ.ศ. 2540) ว่าเป็นปลาหมึกยักษ์ขนาดใหญ่ มีความสามารถในการเปลี่ยนรูปร่าง โดยจะมีตาตั้งแต่สามถึงหกดวง มีครีบซึ่งสามารถขยายให้ใหญ่ขึ้นจนเป็นปีกบินได้ โดยปกติจะมีหนวดหกเส้นแต่สามารถยืดออกมาได้อีกเป็นสิบสองเส้น ซึ่งหนวดแต่ละเส้นจะมีกงเล็บที่แหลมคมอยู่เป็นจำนวนมาก
คธิลลาเป็นทายาทตนที่สี่ของคธูลูและอิด ยาห์ คธิลลาอยู่ในร่องลึกเยห์และได้รับการคุ้มกันโดยเหล่าอมุษย์ดีพวันและยุกก์ เนื่องจากคธิลลาจะให้กำเนิดคธูลูอีกครั้งเมื่อถูกทำลายในอนาคต
คธุกกา
[แก้](อังกฤษ: Cthugha) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The House on Curwen Street ซึ่งประพันธ์โดยออกัสต์ เดอเลธในปี พ.ศ. 2487 มีลักษณะเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ คธุกกาถูกขังไว้ในดาวฟอมัลโฮต์(Fomalhaut) ในกลุ่มดาวปลาใต้ ใน The Dweller in Darkness ซึ่งเป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องของเดอเลธที่แต่งในปีเดียวกัน ตัวเอกของเรื่องได้พยายามเรียกคธุกกามาเพื่อขับไล่ร่างอวตารของไนอาลาโธเทป คธุกกามีบริวารเป็นดวงไฟขนาดเล็กซึ่งเรียกว่า แวมไพร์เพลิง
คธูลู
[แก้]ควาชิล อุททาอุส
[แก้](อังกฤษ: Quachil Uttaus) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง The Treader of the Dust ซึ่งประพันธ์โดยคลาก แอชตัน สมิธ มีรูปร่างคล้ายกับเด็กตัวเล็กๆ แต่เหี่ยวแห้งเหมือนมัมมี่ มีส่วนคอที่เล็กเหมือนข้อกระดูกและใบหน้าเรียบๆที่เต็มไปด้วยรอยเหี่ยวย่น มือของควาชิล อุททาอุสเป็นกงเล็บ ซึ่งเนื้อของสิ่งมีชีวิตที่ถูกควาชิล อุททาอุสสัมผัสจะแตกสลายเป็นฝุ่นผง
ชอกนาร์ ฟาวกน
[แก้](อังกฤษ: Chaugnar Faugn) ปรากฏตัวครั้งแรกในนิยาย The Horror from the Hills (พ.ศ. 2474) ของแฟรงก์ เบลค์นาพ ลอง มีลักษณะคล้ายรูปปั้นที่ผสมลักษณะของมนุษย์ ช้างและหมึกเข้าด้วยกัน ชอกนาร์ ฟาวกนจะใช้งวงดูดเลือดของเหยื่อเป็นอาหาร
ชาร์ และ ลอยกอร์
[แก้](อังกฤษ: Zhar and Lloigar) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Lair of the Star-Spawn (พ.ศ. 2475) ซึ่งเป็นผลงานประพันธ์ร่วมกันของออกัสต์ เดอเลธและมาร์ค สคอเรอร์ เป็นเกรทโอลด์วันที่มาจากดาวอาร์คตุรุส ถูกขังไว้ใต้นครอลาโอซาร์ในที่ราบแห่งสุงในประเทศพม่า เกรทโอลด์วันทั้งสองนั้นมีร่างกายที่เชื่อมต่อกัน ทั้งคู่เป็นเป็นกลุ่มขนาดใหญ่โตของหนวดระยางจำนวนมากแต่ลอยกอร์จะมีปีกอยู่ด้วย ทั้งสองเป็นเทพที่ มนุษย์โจโจ บูชา ชาร์นั้นสามารถสร้างกายทิพย์ได้เมื่อสาวกสวดมนต์เรียก ส่วนลอยกอร์นั้นจะสร้างกายทิพย์ได้เมื่อดาวอาร์คตุรุสอยู่บนท้องฟ้า ชาร์นั้นมีโทรจิตสำหรับสื่อสารกับเหล่าสาวก ส่วนลอยกอร์มีพลังในการควบคุมลมซึ่งใช้จับเหยื่อ
ชุดด์ เมล
[แก้](อังกฤษ: Shudde M'ell) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง The Burrowers Beneath (พ.ศ. 2517)ของไบรอัน ลัมลีย์ ชุดด์ เมลเป็นคโธเนียนที่มีความยาวถึงหนึ่งไมล์
โซธ โอมมอก
[แก้](อังกฤษ: Zoth-Ommog) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง Out of the Ages ซึ่งประพันธ์โดยลิน คาเตอร์ โซธ โอมมอกเป็นทายาทตนที่สามของคธูลูและอิด ยาห์ มีรูปร่างเป็นทรงกรวย หัวเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีฟันแหลมคมเหมือนไทรันโนซอรัส เร็กซ์ บนหัวมีหนวดระยางจำนวนมากเหมือนเส้นผม ที่คอมีแขนขนาดใหญ่แบบปลาดาวสี่แขนยื่นออกมารอบด้าน โซธ โอมมอกถูกขังไว้ที่ก้นทะเลใกล้กับพอนเปย์และรุลูเยห์และมีเผ่าพันธุ์รูปร่างคล้ายหนอนตัวแบนที่เรียกว่ายุกก์คอยรับใช้
แซมมานัส
[แก้](อังกฤษ: Summanus) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น What Dark God? ซึ่งประพันธ์โดยไบรอัน ลัมลีย์ในปี พ.ศ. 2518 โดยได้แนวคิดมาจากเทพเจ้าชื่อเดียวกันของชาวโรมัน แซมมานัสมีฉายาว่า กษัตริย์แห่งราตรี และ ความน่าสะพรึงกลัวที่ย่างกรายในความมืด (Monarch of Night, The Terror that Walketh in Darkness) แซมมานัสมีลักษณะเป็นมนุษย์ไม่มีปากและสวมเสื้อผ้าปิดบังหนวดระยางซึ่งใช้ดูดเลือดจากเหยื่อ
ไซโนโธกลีส
[แก้](อังกฤษ: Cynothoglys) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Prodigy of Dreams ซึ่งประพันธ์โดยโธมัส ลิกอทติ มีฉายาว่าเทพสัปเหร่อ ปรากฏตัวเป็นสิ่งไร้รูปร่างที่มีแขนข้างเดียว ซึ่งไซโนโธกลีสจะใช้จับผู้ที่เรียกมันมาและทำให้ตายโดยไร้ความเจ็บปวด
ซูชาคอน
[แก้](อังกฤษ: Zushakon) ปรากฏตัวในเรื่องสั้น The bells of horror ซึ่งประพันธ์โดย Henry Kuttner ซูชาคอนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่างเป็นกระแสน้ำวนสีดำขนาดใหญ่ ถูกเคารพบูชาโดยกลุ่มชนพื้นเมืองของอเมริกันที่ได้นับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความตายที่น่ากลัว ซูชาคอนยังมีผู้รับใช้เป็นกลุ่มคนลึกลับที่เรียกตัวเองว่า Hidden one
ทซาธอกกวา
[แก้]ดูบทความหลักที่ ทซาธอกกวา
เทพเจ้าสีเขียว
[แก้](อังกฤษ: The green god) ปรากฏตัวในเรื่อง The horror unter warrendawn ซึ่งประพันธ์โดย Ramsey Campbell เทพเจ้าสีเขียวมีลักษณะคล้ายพืชบางชนิดที่เกาะติดอยู่รูปปั้นหินรูปหน้ามนุษย์อาศัยอยู่ในถ้ำใต้ดิน และได้รับเครื่องเส้นตลอดเวลาจากเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่างคล้ายกระต่าย
นุก และ เยบ
[แก้](อังกฤษ: Nug and Yeb) ปรากฏตัวครั้งแรกใน The Last Test ซึ่งประพันธ์โดยเอช. พี. เลิฟคราฟท์ มีฉายาว่า ความเหลวไหลแฝด นุก และ เยบ เป็นหนึ่งในลูกๆของชุบ นิกกูรัธกับยอก โซธอท มีลักษณะคล้ายกับชุบ นิกกูรัธผู้เป็นมารดา นุกนั้นเป็นผู้ให้กำเนิดคธูลู คธานิดกับฮัสเทอร์ และเป็นหนึ่งในเทพที่เหล่ากูลนับถือ ส่วนเยบนั้นเป็นเหมือนนักบวชผู้นำลัทธิที่บูชาแอบฮอธ[5]
ชื่อของเกรทโอลด์วันทั้งสองนั้นคล้ายกับ นุตและเกบ ในตำนานของไอยคุปต์
เนียกธา
[แก้](อังกฤษ: Nyogtha) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Salem Horror ของเฮนรี คัทเนอร์ (พ.ศ. 2480) มีลักษณะเป็นเงามืดที่ไม่มีรูปร่างแน่ชัด
บอครุก
[แก้](อังกฤษ: Bokrug) ปรากฏตัวในเรื่องสั้น The Doom That Came to Sarnath ของเอช. พี. เลิฟคราฟท์ (พ.ศ. 2463) มีรุปร่างคล้ายกิ้งก่าขนาดยักษ์ เป็นเทพที่สิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เรียกว่า ธุมฮา แห่งอิบ ในดินแดนแห่งมนาร์ นับถือ บอครุกนั้นหลับอยู่ในทะเลสาบซึ่งกั้นระหว่างอิบและเมืองซานาธ ในวันครบรอบหนึ่งพันปีหลังจากที่อิบถูกมนุษย์ในซานาธทำลาย บอครุกก็ได้ขึ้นมาจากทะเลสาบและเรียกภูติผีของธุมฮาขึ้นมาทำลายซานาธก่อนจะหายตัวไป
บาออท ซัคคามอกก์
[แก้](อังกฤษ: Baoht Z'uqqa-Mogg) ปรากฏตัวครั้งแรกในเกมเล่นตามบทบาท Call of Cthulhuของบริษัทเคโอเซียม เป็นเกรทโอลด์วันที่อยู่บนดาวแชกไก มีรูปร่างเหมือนแมงป่องขนาดยักษ์ ส่วนหัวมีดวงตาและหนวดประสาทจำนวนมาก มีกรามเหมือนมดซึ่งชุ่มไปด้วยพิษ และมีปีกขนาดใหญ่ ฝูงแมลงมีพิษมักอยู่ใกล้กับบาออท ซัคคามอกก์
เบียทิส
[แก้](อังกฤษ: Byatis) ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในเรื่องสั้น The Shambler From the Stars ของโรเบิร์ต บลอค (พ.ศ. 2478) แต่ไม่มีรายละเอียดใดๆมากกว่าเป็น อสรพิษมีเครา เบียทิสมีบทบาทสำคัญในเรื่อง The Room in the Castle ของแรมซีย์ แคมเบล (พ.ศ. 2507) ซึ่งระบุว่าเบียทิสมีตาเดียวเหมือนไซคลอปส์ มีก้ามแบบปู จมูกยาวเหมือนงวงช้างและมีระยางงอกจากใบหน้าเหมือนเครา เบียทิสมีขนาดใหญ่โตมากและระยางที่งอกมานั้นบางเส้นก็หนาพอๆกับตัวมนุษย์ ผู้ที่มองดวงตาของเบียทิสจะถูกสะกดให้เข้าไปใกล้และจับกิน และเบียทิสก็จะมีขนาดใหญ่โตขึ้นทุกครั้งที่ได้กินเหยื่อ เบียทิสนั้นถูกขังไว้ใต้ประตูกลใต้ปราสาทในหุบเซเวิร์น
ผู้ฝังกายในอ่าว
[แก้](อังกฤษ: Dweller in the Gulf) ปรากฏตัวในเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของคลาก แอชตัน สมิทซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2475 ผู้ฝังกายในอ่าวอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พิ้นผิวของดาวอังคารและได้รับการบูชาโดยนิกายของเผ่าพันธุ์ตาบอด ไอไฮ (Aihai) ซึ่งสามารถทำพิธีเรียกมาได้โดยการลูบคลำรูปเคารพ ผู้ฝังกายในอ่าวมีลักษณะเป็นเต่าขนาดใหญ่ที่มีกระดองอ่อนนุ่ม ส่วนหัวเป็นทรงสามเหลี่ยมและไม่มีดวงตา มีหางสองหางซึ่งส่วนปลายเป็นปุ่มดูด ผู้ฝังกายในอ่าวจะใช้ปุ่มดูดนี้ควักดวงตาของผู้ที่พบเห็นและทำให้กลายเป็นข้ารับใช้ของตน
ยวนเดห์
[แก้](อังกฤษ: Yhoundeh) ปรากฏตัวในเรื่องสั้น The Door to Saturn ของคลาก แอชตัน สมิท เป็นเทพีที่มีส่วนหัวเป็นกวาง ลัทธิของยวนเดห์นั้นเป็นศัตรูกับทซาธอกกวา ซึ่งนักบวชของยวนเดห์เคยทำการกวาดล้างลัทธิของทซาธอกกวาไปจากดินแดนไฮเปอบอเรีย แต่เมื่อลัทธิของยวนเดห์เสื่อมลงก็ทำให้ลัทธิของทซาธอกกวากลับมาอีก
ในจดหมายของสมิทถึงโรเบิร์ท บาโลวนั้นระบุว่ายวนเดห์เป็นภรรยาของไนอาลาโธเทป[6]
ยิก
[แก้](อังกฤษ: Yig) หรือ ยิก อสรพิษเทพ ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Curse of Yig ซึ่งเอช. พี. เลิฟคราฟท์ ประพันธ์ร่วมกับซีเลีย บิชอปในปี พ.ศ. 2471 สามารถปรากฏร่างเป็นงูขนาดใหญ่ งูมีปีกค้างคาว หรือมนุษย์ครึ่งงูก็ได้ ยิกนั้นเป็นที่มาของเทพงูในตำนานทั่วโลก เช่นเกวตซัลโกอัตล์ ยิกมีอำนาจเหนืองูทั้งปวง ผู้ที่ทำร้ายงูจะถูกยิกทรมานก่อนแปลงร่างให้เป็นงูตัวหนึ่ง
ยิโกลูนัค
[แก้](อังกฤษ: Y'golonac) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น Cold Print ซึ่งประพันธ์โดยแรมซีย์ แคมเบลในปี พ.ศ. 2514 ยิโกลูนัคเป็นเทพแห่งความวิปริตและลามก ถูกกักขังไว้หลังกำแพงอิฐในซากโบราณสถานลึกลับ แต่สามารถเรียกมาได้โดยการอ่านชื่อของยิโกลูนัคที่เขียนไว้ในคัมภีร์ Revelations of Glaaki บางครั้งยิโกลูนัคจะสิงร่างของมนุษย์และปรากฏตัวเป็นชายร่างอ้วนไม่มีหัวและมีปากอยู่ที่ฝ่ามือทั้งสองข้าง ยิโกลูนัคเป็นหนึ่งในเกรทโอลด์วันไม่กี่ตนที่สามารถสื่อสารด้วยภาษามนุษย์ได้ ยิโกลูนัคจะตามหามนุษย์ที่ชมชอบเรื่องวิปริตลามกเพื่อให้เป็นบริวาร ผู้ที่เรียกยิโกลูนัคมาอาจจะได้รับข้อเสนอให้เป็นนักบวชของยิโกลูนัคหรือถูกกินเป็นอาหาร
ยิทธอกธา
[แก้](อังกฤษ: Ythogtha) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง Out of the Ages ซึ่งประพันธ์โดยลิน คาเตอร์ ยิทธอกธาเป็นทายาทตนที่สองของคธูลูและอิด ยาห์ มีรูปร่างคล้ายอมุษย์ดีพวัน หรือครึ่งกบครึ่งมนุษย์ แต่มีขนาดใหญ่โต ส่วนหัวมีหนวดระยางจำนวนมากยื่นออกมาเหมือนแผงคอและเคราโดยมีตาเดียวอยู่ตรงกลาง ง่ามนิ้วเป็นพังผืดและปลายนิ้วมือเป็นปากแบบดูดเลือด[7] ยิกธอกธาถูกขังไว้ในร่องลึกเยห์ โดยมีเผ่าพันธุ์รูปร่างคล้ายหนอนตัวแบนที่เรียกว่ายุกก์คอยรับใช้
ยิบ ทสตลล์
[แก้](อังกฤษ: Yibb-tstll) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง The Sister City ซึ่งประพันธ์โดยไบรอัน ลัมลีย์ (พ.ศ. 2512) มีลักษณะคล้ายมนุษย์ที่มีร่างกายใหญ่โตและปกคลุมด้วยกลุ่มหนวดระยาง ส่วนหัวนั้นมีดวงตาที่สามารถแยกออกมาได้ มีปีกค้างคาวที่ดูคล้ายกับผ้าคลุมที่มีเหล่าไนท์กอนท์จำนวนมากดูดน้ำนมอยู่ ผู้ที่สัมผัสกับเลือดสีดำของยิบ ทสตลล์จะถูกแปลงสภาพไปโดยที่ไม่อาจคาดเดาได้
ยิบ ทสตลล์เฝ้ามองสรรพสิ่งจากศูนย์กลางของจักรวาล ในบรรดาเทพทั้งหมดจึงมีเพียงยอก โซธอทที่มีความรู้มากกว่ายิบ ทสตลล์
รลิม ไชคอธ
[แก้](อังกฤษ: Rlim Shaikorth) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Coming of the White Worm ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องชุดไฮเปอร์บอเรียน ของคลาก แอชตัน สมิธ รลิม ไชคอธเป็นหนอนสีขาวขนาดใหญ่ ในปากไม่มีลิ้นหรือฟัน ดวงตากลวงโบ๋และมีหยดเลือดไหลออกมาเป็นระยะ รลิม ไชคอธนั้นอยู่บนภูเขาน้ำแข็ง ยิคลิธ ซึ่งลอยไปในมหาสมุทร เมื่อเข้าใกล้เรือหรือแผ่นดิน รลิม ไชคอธก็จะทำให้เกิดความเย็นจัดและแช่แข็งมนุษย์ ศพที่ถูกรลิม ไชคอธแช่แข็งนั้นจะไม่อุ่นขึ้นแม้จะใช้ไฟให้ความร้อน
ราห์น เทกอธ
[แก้](อังกฤษ: Rhan-Tegoth) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Horror in the Museum (พ.ศ. 2475) ซึ่งเอช. พี. เลิฟคราฟท์เขียนในนามของเฮเซล ฮีลด์ มีลักษณะเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดมหึมา มีขาเป็นหนวด 6 เส้น ส่วนปลายของหนวดเป็นก้ามปู มีหัวทรงกลมที่ปกคลุมด้วยขนหรือเส้นใย มีปากเป็นหนวดคล้ายงวง
Rhan-Tegothเดิมอาศัยอยู่ในตัวหนอนทะเลบนดาวYuggothก่อนที่จะมาโลกเมื่อ 3 ล้านปีก่อนคริสตกาล บนโลกมันได้อาศัยอยู่ใต้ผืนแผ่นดินอลาสก้าและทำการจำศีลอย่างยาวนานที่นั่น หลังจากนั้นร่างของมันก็ถูกค้นพบโดย จอร์จ โรเจอร์ และได้ย้ายร่างของ Rhan-Tegoth ไปในพิพิธภัณฑ์ในลอนดอนในปี1926 (เป็นเหตุการณ์ในเรื่อง the Horror in the Museum) จนมันหายตัวไปแล้วปรากฏตัวอีกครั้งใน Sheffield ในสหราชอาณาจักรในประมาณยุค 1980s และเดินทางไปเรื่อยๆจนถึงอเมริกาในประมาณยุค 1990s ต่อมาได้รับการบูชาจากมนุษย์กินคน Gnoph-keh แต่คนส่วนใหญก็ไม่รู้ถึงการมีตัวตนของ Rhan-Tegoth อยู่ดี
โรกอก
[แก้](อังกฤษ: Rhogog) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น Sacristans of Rhogog (พ.ศ. 2534) ของไมเคิล เซนท์ พอล โรกอกเกิดจากเลือดของคธูลูที่กระเซ็นลงบนพื้นขณะที่ต่อสู้กับฮัสเทอร์ มักปรากฏกายเป็นเหมือนต้นไม้สีดำขนาดใหญ่และมีความร้อนสูง
วุลธูม
[แก้](อังกฤษ: Vulthoom) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของคลาก แอชตัน สมิทในปี พ.ศ. 2478มีลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดยักษ์ที่มีดอกรูปร่างคล้ายมนุษย์เพศหญิง แต่แท้จริงแล้ววุลธูมเป็นมนุษย์ต่างดาวที่ถูกเนรเทศออกจากเผ่าพันธุ์ของตัวเอง วุลธูมนั้นอาศัยอยู่บนดาวอังคารและคอยเฝ้ารอวันที่มันจะได้ครอบครองโลกอย่างช้าๆ
หนอนผู้กัดกินในยามราตรี
[แก้](อังกฤษ: The Worm that Gnaws in the Night) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น Shaggai ซึ่งประพันธ์โดยลิน คาเตอร์ในปี พ.ศ. 2514มีลักษณะเป็นหนอนขนาดใหญ่มหึมาซึ่งมันอยู่ใต้พื่นผิวของดาวShaggaiและค่อยๆกัดกินดาวดวงนี้มานาน จนกระทั่งมี Outer god ตนนึงมาทำการกวาดล้าง ทำให้เผ่าพันธุ์แมลงชานศูนย์พันธุ์แล้วหนอนผู้กัดกินในยามราตรีก็ได้ถูกปลุกขึ้นมา
อฟูม ชาห์
[แก้](อังกฤษ: Aphoom-Zhah) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Acolyte of the Flame ซึ่งประพันธ์โดยลิน คาเตอร์ในปี พ.ศ. 2528 แต่คาเตอร์ได้กล่าวถึงอฟูม-ชาห์ครั้งแรกในเรื่อง The Horror in the Gallery ปีพ.ศ. 2519 อฟูม-ชาห์เป็นเชื้อสายของคธุกกาและมีฉายาว่า ผู้ปกครองแห่งขั้วโลก (Lord of the Pole) เพราะถูกเอลเดอร์ก็อดกักขังไว้ในขั้วโลกเหนือ อฟูม-ชาห์มีลักษณะเป็นเปลวไฟสีเทาซึ่งทำให้ทุกอย่างที่สัมผัสแข็งตัว เมื่อเอลเดอร์ก็อดได้กักขังนั้นอฟูม-ชาห์ได้พยายามดิ้นรนจนขั้วโลกเหนือกลายเป็นน้ำแข็งไป
อาร์วัซซา
[แก้](อังกฤษ: Arwassa) ปรากฏตัวครั้งแรกในเกมเล่นตามบทบาท Call of Cthulhuของบริษัทเคโอเซียม มีฉายาว่า ผู้ตะโกนอันไร้เสียง อาร์วัซซามีลำตัวคล้ายมนุษย์ที่ลอยอยู่กลางอากาศ แต่แขนขาจะเป็นสายระยางสี่เส้น มีคอยาวและส่วนหัวจะเป็นปากกว้างที่ไม่มีฟัน อาร์วัซซาจะส่งเสียงร้องออกมาตลอดเวลา ซึ่งเสียงของอาร์วัซซานั้นทำให้สัตว์ต่างๆตื่นกลัวแต่มีความถี่สูงเกินกว่าที่มนุษย์จะได้ยิน ถึงกระนั้นผู้ที่อยู่ในบริเวณของเสียงก็จะค่อยๆเสียสติไป อาร์วัซซาจะใช้โทรจิตสื่อสารกับสาวกซึ่งจะหาเครื่องสังเวยรวมถึงมนุษย์มาให้อาร์วัซซากินทั้งเป็น
อิธาควา
[แก้](อังกฤษ: Ithaqua) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้นชื่อเดียวกันซึ่งประพันธ์โดยออกัสต์ เดอเลธโดยรับอิทธิพลมาจากเรื่อง The Wendigo ของอัลเจอร์นอน แบล็กวูดซึ่งมีที่มาจากเรื่องเล่าของอินเดียนแดงอีกที[8] มีฉายาว่า ผู้เดินกับสายลม (Wind Walker) อิธาควาเป็นยักษ์รูปร่างคล้ายมนุษย์ที่มีดวงตาเรืองแสงสีแดง อิธาควาอยู่ในพื้นที่อาร์กติกและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นที่มาของตำนานเวนดิโกตามความเชื่อของชาวอินเดียนแดง อิธาควาจะล่านักเดินทางและสังหารอย่างโหดเหี้ยม แม้ลัทธิที่บูชาอิธาควาจะมีสาวกเพียงจำนวนน้อย แต่ผู้คนที่หวาดกลัวก็จะมอบเครื่องสังเวยแก่อิธาควาเพื่อมิให้ถูกทำร้าย สาวกของอิธาควาจะได้รับอำนาจทำให้ทนต่อความหนาวเย็นได้ อิธาควายังมีเผ่าพันธุ์ แชนแทค ซึ่งมีลักษณะคล้ายมังกรเป็นผู้รับใช้
ในงานประพันธ์ของไบรอัน ลัมลีย์ อิธาควาเป็นผู้ปกครองของโบเรีย ดินแดนแห่งน้ำแข็งและมักเดินทางมายังโลกเพื่อจับตัวมนุษย์ไปเป็นสาวก อิธาควาพยายามมีลูกกับมนุษย์เพื่อให้ได้ทายาทซึ่งมีอำนาจมากกว่าตนเองที่ถูกเอลเดอร์ก็อดสะกดไว้และช่วยปลดปล่อยเกรทโอลด์วันตนอื่นๆ แต่ทายาททั้งหมดของอิธาควานั้นเมื่อโตขึ้นมาแล้วก็ล้วนแต่ต่อต้านอิธาควาทั้งสิ้น
ไอฮอร์ท
[แก้](อังกฤษ: Eihort) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น Before the Storm ซึ่งประพันธ์โดยแรมซีย์ แคมเบลในปีพ.ศ. 2523 แต่ถูกกล่าวถึงก่อนหน้านั้นในเรื่อง The Franklyn Paragraphs (พ.ศ. 2516) มีฉายาว่า เทพแห่งเขาวงกต
ไอฮอร์ทอยู่ในอุโมงอันซับซ้อนใต้หุบเขาเซเวิร์น มีลักษณะเป็นเยลลีไร้สีรูปร่างคล้ายไข่ใบใหญ่ซึ่งตั้งบนขาจำนวนมาก ในลำตัวทรงไข่นี้จะมีไข่ใบเล็กอัดแน่นและจะปรากฏดวงตาออกมาเป็นระยะ เมื่อจับมนุษย์ได้ ไอฮอร์ทจะต่อรองให้ฝังตัวอ่อนไว้ในตัวหรือไม่ก็ถูกฆ่าตาย ซึ่งถ้ายอมให้ไอฮอร์ทฝังตัวอ่อนไว้ในที่สุดแล้วตัวอ่อนก็จะโตและทำให้เสียชีวิตอยู่ดี คัมภีร์Revelations of Glaaki ระบุว่าตัวอ่อนของไอฮอร์ทจะปรากฏบนโลกหลังจากที่มนุษย์ชาติล่มสลายไปแล้ว[9]
แอทลัค นาชา
[แก้](อังกฤษ: Atlach-Nacha) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Seven Geases ซึ่งประพันธ์โดยคลาก แอชตัน สมิทในปีพ.ศ. 2477 บางครั้งก็เรียกว่า แอทลัค นาคา
แอทลัค นาชาเป็นหนึ่งในเทพซึ่งอยู่ใต้ภูเขาวูรมิธาเดรธ มีลักษณะเป็นแมงมุมขนาดใหญ่แต่มีใบหน้าคล้ายกับมนุษย์และดวงตาสีแดง แอทลัค นาชานั้นชักใยทำรังอยู่เหนือหุบเหวที่แยกโลกภายนอกกับโลกแห่งความฝันไว้ เชื่อว่าเมื่อแอทลัค นาชาสร้างรังจนสมบูรณ์ก็จะทำให้เหล่าอสุรกายในโลกแห่งความฝันมายังโลกภายนอกได้อย่างอิสระ แมงมุมทั้งมวลนั้นเชื่อฟังแอทลัค นาชาและมีเหล่าแมงมุมสีม่วงขนาดยักษ์แห่งเลงซึ่งอยู่ในโลกแห่งความฝันเป็นเผ่าพันธุ์รับใช้
แม้ว่าเรื่อง The Seven Geases จะกล่าวถึงแอทลัค นาชาเป็นเพศชาย แต่ในงานประพันธ์หลังจากนั้นมักระบุว่าแอทลัค นาชาเป็นหญิงมากกว่า
ฮัสเทอร์
[แก้]{{บทความหลักที่ฮัสเทอร์}}
อ้างอิง
[แก้]- Harms, Daniel (1998). The Encyclopedia Cthulhiana (21nd ed.). Oakland, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-119-0.
- Lovecraft, H.P. (1982). The Best of H. P. Lovecraft: Bloodcurdling Tales of Horror and the Macabre (1st ed.). Ballantine Books. ISBN 0-345-35080-4.
- Price, Robert M. (1996). "Introduction". ใน Robert M. Price (บ.ก.). The New Lovecraft Circle. New York, N.Y.: Random House. ISBN 0-345-44406-X.
- Blackwood, Algernon (1998) [1910]. "The Wendigo". ใน Robert M. Price (บ.ก.). The Ithaqua Cycle (1st ed.). Oakland, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-124-7.
- Derleth, August (1998) [1941]. "Ithaqua". ใน Robert M. Price (บ.ก.). The Ithaqua Cycle (1st ed.). Oakland, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-124-7.
- Lumley, Brian (1993) [1975]. "Born of the Winds". Fruiting Bodies and Other Fungi. Tor. ISBN 0-14-017302-1.
- Lumley, Brian (1991) [1975]. The Transition of Titus Crow. Grafton. ISBN 0-586-20838-0.
- Price, Robert M. (1998). "Introduction: Ghost Riders in the Sky". ใน Robert M. Price (บ.ก.). The Ithaqua Cycle: The Wind-Walker of the Icy Wastes (1st ed.). Oakland, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-124-7.
- Petersen, Sandy (1989). Call of Cthulhu (5th ed.). Oakland, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-148-4.
- H. P. Lovecraft; Adolphe de Castro (1989) [1928]. "The Last Test". ใน S. T. Joshi (บ.ก.). The Horror in the Museum and Other Revisions. Sauk City, WI: Arkham House. ISBN 0-87054-040-8.
- Scott David Aniolowski; Sandy Petersen; Lynn Willis (2006). Malleus Monstrorum: Creatures, Gods & Forbidden Knowledge. Hayward, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-179-4.
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ศัพท์ "Old Ones" มีความหมายหลายอย่างในเรื่องของเลิฟคราฟท์ แม้ส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึงเกรทโอลด์วัน แต่บางครั้งก็ใช้ระบุถึงสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวที่เรียกว่าเอลเดอร์ธิงแทน (Harms, "Old Ones", The Encyclopedia Cthulhiana, pp. 228-9).
- ↑ Harms, "Great Old Ones", pp. 126-7.
- ↑ Lovecraft, "The Call of Cthulhu" (1928) , The Best of H. P. Lovecraft, p. 88.
- ↑ Lovecraft & Heald, "Out of the Aeons", The Horror in the Museum and Other Revisions, p. 272.
- ↑ Harms, "Nug and Yeb", Encyclopedia Cthulhiana, pp. 216-7.
- ↑ http://www.eldritchdark.com/writings/correspondence/59/from-clark-ashton-smith-to-robert-barlow-(1934-09-10)
- ↑ Harms, "Ythogtha", The Encyclopedia Cthulhiana, p. 349. (Note: Ythogtha's physical appearance is never described in any of the five stories of the Xothic legend cycle.)
- ↑ Price, "Ghost Riders in the Sky", "Who Has Seen the Wind?", The Ithaqua Cycle, pg. xi
- ↑ Harms, "Eihort", Encyclopedia Cthulhiana, p. 96.