บุญชู ตรีทอง
บุญชู ตรีทอง | |
---|---|
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง | |
ดำรงตำแหน่ง 29 กันยายน พ.ศ. 2535 – 11 ธันวาคม พ.ศ. 2537 | |
นายกรัฐมนตรี | ชวน หลีกภัย |
รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย | |
ดำรงตำแหน่ง 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 | |
นายกรัฐมนตรี | บรรหาร ศิลปอาชา |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | อิสระ |
คู่สมรส | ปริศนา ตรีทอง |
บุญชู ตรีทอง (21 พฤษภาคม พ.ศ. 2488) อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลชวน หลีกภัย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง
ประวัติ
[แก้]นายบุญชู ตรีทอง เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ที่ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นบุตรของนายส่วยจิ่ง และนางยุ้น ตรีทอง สมรสกับนางปริศนา ตรีทอง มีบุตรธิดา 2 คน
นายบุญชู ตรีทอง สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง ประกาศนียบัตรการศึกษา (ป.กศ.) สาขาการสื่อสารโทรคมนาคม จากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และระดับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อปี พ.ศ. 2511
นิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย ฉบับเดือนกรกฎาคม 2557 ประกาศยกย่อง 48 สุดยอดคนใจบุญจาก 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Heroes of Philanthropy) โดยเขามีชื่อติด 1 ใน 4 รายชื่อคนไทย หลังจากที่เขาบริจาคทรัพย์สินกว่า 25 % เพื่อการศึกษา โดยบริจาคที่ดิน 365 ไร่ บริเวณอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เพื่อก่อสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง รวมถึงบริจาคเงินจำนวน 100 ล้านบาทสร้างอาคารเรียนหลังแรก รวมไปถึงการสร้างห้องสมุด และให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก ณ ต่างประเทศ และภายในประเทศ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่จะมาเป็นอาจารย์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในอนาคต[1]
งานการเมือง
[แก้]นายบุญชู ตรีทอง ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง ในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 สังกัดพรรคความหวังใหม่ ต่อมาในการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2538 จึงย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทย และปี พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคไทยรักไทย
ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย (สมัยแรก) บุญชู ตรีทอง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง[2] ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกของนายบุญชู ต่อมาในรัฐบาลของพรรคชาติไทย นำโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี จึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งในระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าว เขามีส่วนในการผลักดันให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549[3]
ในปี 2557 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลำปาง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
บทบาทด้านการศึกษา
[แก้]นายบุญชู ตรีทอง เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาในจังหวัดลำปาง โดยการบริจาคที่ดิน จำนวน 365 ไร่ บริเวณอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เพื่อก่อสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง [4] ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนที่รองรับนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดลำปางจำนวนมาก รวมทั้งการบริจาคเงินสร้างอาคารหอประชุมใหญ่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โดยใช้ชื่อ อาคารบุญชู ตรีทอง โดยในปัจจุบันเป็นที่ทำการของสมาคมนักเรียนเก่าบุญวาทย์วิทยาลัย และเป็นสถานที่สำหรับจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ทั้งยังเป็นสถานสำหรับจัดงานสำคัญต่างๆของภาครัฐและเอกชนในจังหวัดลำปาง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2538 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[5]
- พ.ศ. 2537 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[6]
- พ.ศ. 2545 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ‘เมื่อถึงจุดหนึ่งผมก็หยุด’ บุญชู ตรีทอง เปิดใจเหตุใดหันมาปลูกปัญญา ทุ่มให้การศึกษา
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๘ ราย)
- ↑ "เปิดรายชื่อ ทั้ง 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี !!!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2011-06-02.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-09-29. สืบค้นเมื่อ 2009-12-19.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2010-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๕, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2017-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2488
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากอำเภอห้างฉัตร
- นักการเมืองจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน
- รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยแบบบัญชีรายชื่อ
- พรรคความหวังใหม่
- พรรคชาติไทย
- นักการเมืองพรรคไทยรักไทย
- บุคคลจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย
- บุคคลจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ภ.
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์